พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๑๙ เทฺวธาวิตักกสูตร เรื่องการตรึกตรองสองส่วน


๑๙. เทฺวธาวิตักกสูตร  ว่าด้วยวิตก ๒ ประเภท

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อน เราเป็นโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘ถ้ากระไร เราควรจัดวิตกออกเป็น ๒ ประเภท  จึงได้จัดกามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตกเป็นประเภทที่ ๑ และจัดเนกขัมมวิตก อพยาบาทวิตก และอวิหิงสาวิตก เป็นประเภทที่ ๒

อกุศลวิตก ๓

ภิกษุทั้งหลาย กามวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘กามวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่กามวิตกนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้างเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้นไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง’ กามวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง’ กามวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง’กามวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน’ กามวิตกก็ดับสูญไป

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นย่อมละ บรรเทา ทำกามวิตกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ให้หมดสิ้นไป

ภิกษุทั้งหลาย พยาบาทวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้  วิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘วิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่วิหิงสาวิตกนั้นเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้างเป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นบ้าง’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไปเมื่อเราพิจารณาเห็นว่า ‘เป็นเหตุดับปัญญา เป็นส่วนแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน’ วิหิงสาวิตกก็ดับสูญไป เรานั้นย่อมละ บรรเทา ทำวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ให้หมดสิ้นไป

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใดๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตกนั้นๆ ถ้าเธอยิ่งตรึกตรองถึงกามวิตกมาก เธอก็ละทิ้งเนกขัมมวิตก กระทำแต่กามวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อกามวิตก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงพยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิหิงสาวิตกมาก เธอก็ละทิ้งอวิหิงสาวิตก กระทำแต่วิหิงสาวิตกให้มาก จิตของเธอนั้นก็น้อมไปเพื่อวิหิงสาวิตก

ในสารทสมัยเดือนท้ายแห่งฤดูฝน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวังโคทั้งหลายในที่มีข้าวกล้าหนาแน่น เขาต้องตีต้อนโคทั้งหลายไปจากที่นั้นๆ กั้นไว้ ห้ามไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคนเลี้ยงโคมองเห็นการฆ่า การถูกจองจำ การเสียทรัพย์การถูกติเตียน เพราะโคทั้งหลายเป็นต้นเหตุ แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกันได้เห็นโทษ ความเลวทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย และเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นฝ่ายผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

กุศลวิตก ๓

ภิกษุทั้งหลาย เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้ เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘เนกขัมมวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่เนกขัมมวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลยหากเราจะพึงตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย หากเราจะตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกนั้นตลอดทั้งคืนทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากเนกขัมมวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึกตรองนานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่านเมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิประคองไว้ด้วยดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า ‘จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย’

ภิกษุทั้งหลาย อพยาบาทวิตกย่อมเกิดขึ้นแก่เราผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่อย่างนี้  อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น เรานั้นย่อมทราบชัดอย่างนี้ว่า ‘อวิหิงสาวิตกนี้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว’ แต่อวิหิงสาวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่น เป็นเหตุทำปัญญาให้เจริญ ไม่เป็นส่วนแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน ถ้าเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นอยู่ตลอดคืน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หากเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นอยู่ตลอดวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย หากเราจะพึงตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดทั้งคืนทั้งวัน เราก็จักมองไม่เห็นภัยอันจะเกิดจากอวิหิงสาวิตกนั้นได้เลย แต่เมื่อเราตรึกตรองอยู่นานเกินไป ร่างกายก็เหน็ดเหนื่อย เมื่อร่างกายเหน็ดเหนื่อย จิตก็ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ เรานั้นตั้งจิตไว้ในภายใน ทำให้สงบ ทำให้เกิดสมาธิ ประคองไว้ด้วยดีข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราปรารถนาไว้ว่า ‘จิตของเราอย่าฟุ้งซ่านอีกเลย’

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงวิตกใดๆ มาก เธอก็มีใจน้อมไปในวิตกนั้นๆ มาก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงเนกขัมมวิตกมาก เธอก็จะละกามวิตกได้ทำเนกขัมมวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้นก็จะน้อมไปเพื่อเนกขัมมวิตก ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอพยาบาทวิตกมาก ฯลฯ ถ้าภิกษุยิ่งตรึกตรองถึงอวิหิงสาวิตกมาก เธอก็จะละวิหิงสาวิตกได้ ทำอวิหิงสาวิตกอย่างเดียวให้มาก จิตของเธอนั้นก็จะน้อมไปเพื่ออวิหิงสาวิตก

ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน คนเลี้ยงโคต้องคอยระวัง โคทั้งหลายในที่ใกล้บ้านทุกๆ ด้าน เมื่อเขาไปสู่โคนต้นไม้หรือที่แจ้ง จะต้องทำสติอยู่เสมอว่า ‘นั้นฝูงโค’แม้ฉันใด เราก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องทำสติอยู่เสมอว่า ‘เหล่านี้เป็นธรรมคือกุศลวิตก’

ภิกษุทั้งหลาย เราได้ปรารภความเพียร มีความเพียรไม่ย่อหย่อนแล้วมีสติมั่นคง ไม่เลอะเลือน มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง เรานั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขามีสติ อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้วเราบรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ และไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

วิชชา ๓

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นน้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง เป็นต้น  เรานั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้ เราบรรลุวิชชาที่ ๑ นี้ในปฐมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ววิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาทมีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิดด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบกายทุจริต เป็นต้น เราเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล เราบรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ในมัชฌิมยามแห่งราตรีกำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้ว ความสว่างก็เกิดขึ้นเหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ เรานั้นได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยนี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธนี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา’ เมื่อเรารู้เห็นอย่างนี้ จิตจึงหลุดพ้นจากกามาสวะบ้างจิตจึงหลุดพ้นจากภวาสวะบ้าง จิตจึงหลุดพ้นจากอวิชชาสวะบ้าง เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ เราบรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ในปัจฉิมยามแห่งราตรี กำจัดอวิชชาได้แล้ว วิชชาก็เกิดขึ้น กำจัดความมืดได้แล้วความสว่างก็เกิดขึ้น เหมือนบุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจอยู่ฉะนั้น

ทรงชี้ทางผิดและทางถูก

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมีเนื้อฝูงใหญ่พากันเข้าไปอาศัยบึงใหญ่ในป่าดง มีชายคนหนึ่งผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น เปิดทางที่ไม่สะดวก ผูกเนื้อต่อตัวผู้ ซุ่มนางเนื้อต่อไว้เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมา เนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมาตายเหลือจำนวนน้อย แต่ยังมีชายคนหนึ่งผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัยแก่ฝูงเนื้อนั้น เขาเปิดทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจของฝูงเนื้อนั้น ปิดทางที่ไม่สะดวก กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ ทำลายนางเนื้อต่อแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ สมัยต่อมาเนื้อฝูงใหญ่ก็ต้องมีจำนวนมากขึ้น คับคั่ง ล้นหลาม แม้ฉันใด ข้ออุปมานี้ก็ฉันนั้นเราได้ทำขึ้นก็เพื่อจะให้เธอทั้งหลายรู้ความหมายของเนื้อความในอุปมานั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้

คำว่า บึงใหญ่ นี้ เป็นชื่อแห่งกามทั้งหลาย

คำว่า เนื้อฝูงใหญ่ นี้ เป็นชื่อของหมู่สัตว์ทั้งหลาย

คำว่า ชายผู้ปรารถนาความพินาศ ไม่ต้องการจะเกื้อกูล ไม่ประสงค์ความปลอดภัย นี้ เป็นชื่อของมารใจบาป

คำว่า ทางที่ไม่สะดวก นี้ เป็นชื่อของมิจฉามรรค(ทางผิด)มีองค์ ๘ คือ

๑. มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิด       ๒. มิจฉาสังกัปปะ ดำริผิด

๓. มิจฉาวาจา เจรจาผิด       ๔. มิจฉากัมมันตะ กระทำผิด

๕. มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพผิด           ๖. มิจฉาวายามะ พยายามผิด

๗. มิจฉาสติ ระลึกผิด                  ๘. มิจฉาสมาธิ ตั้งจิตมั่นผิด

คำว่า เนื้อต่อตัวผู้ นี้ เป็นชื่อแห่งความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

คำว่า นางเนื้อต่อ นี้ เป็นชื่อของอวิชชา

คำว่า ชายผู้ปรารถนาประโยชน์ ต้องการจะเกื้อกูล ประสงค์ความปลอดภัยนี้ เป็นชื่อของตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำว่า ทางที่ปลอดภัย มีความสวัสดี ไปได้ตามชอบใจ นี้ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ              ๒. สัมมาสังกัปปะ

๓. สัมมาวาจา              ๔. สัมมากัมมันตะ

๕. สัมมาอาชีวะ            ๖. สัมมาวายามะ

๗. สัมมาสติ                ๘. สัมมาสมาธิ

ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวมาแล้วนี้ เราได้เปิดทางที่ปลอดภัยมีความสวัสดีที่พวกเธอควรดำเนินไปได้ตามใจชอบให้แล้ว และปิดทางที่ไม่สะดวกให้ด้วย กำจัดเนื้อต่อตัวผู้ให้แล้ว และทำลายนางเนื้อต่อให้แล้ว กิจใดที่ศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล เอื้อเฟื้อ อาศัยความอนุเคราะห์จะพึงกระทำแก่สาวกทั้งหลายกิจนั้นตถาคตก็ได้กระทำแก่เธอทั้งหลายแล้ว นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความเดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของตถาคตสำหรับเธอทั้งหลาย”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

เรียบเรียงโดย ดร.ศักดิ์  ประสานดี

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูล ปัณณาสก์ [๒. สีหนาทวรรค] ๙. เทฺวธาวิตักกสูตร 206 – 215                                                                

                                                                 

หมายเลขบันทึก: 677388เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2020 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2020 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท