ขจัดทุกข์ด้วยปัญญา "ผู้เห็นกับผู้เป็น"



ผู้หญิงคนหนึ่งเกิดมีมรสุมเข้ามาในชีวิต จึงหาที่พึ่งเข้าวัดปฏิบัติธรรม วันหนึ่งเธอเดินมาหาหลวงพ่อแล้วพูดกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อคะ วันนี้หนูเครียดมากเลย” หลวงพ่อหันไปมองด้วยความเมตตาแล้วพูดกับเธอว่า “โยมพูดใหม่ซิ ให้โยมพูดใหม่” เธอได้สติ จึงพูดใหม่ว่า “หลวงพ่อคะ วันนี้หนูเห็นความเครียดมากเลย” หลวงพ่อพูดว่า “นั่นแหละ พูดถูกแล้ว หน้าที่ของโยมคือเป็นผู้เห็นความเครียด ไม่ใช่เป็นผู้เครียดซะเอง”

ความจริงหัวใจของการปฏิบัติธรรมมีเท่านี้ คือทำตัวเป็นผู้รู้เป็นผู้ดูอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับใจของเรา ถามว่ามีอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับใจของเรา? ว่าโดยย่อมี3อย่างคือความสุข ความทุกข์และความเฉยๆ การเป็นผู้รู้ผู้ดูนี้ เริ่มใหม่ๆอาจจะไม่คุ้นเคย และคิดว่าไม่มีประโยชน์อะไร แต่ความจริงแล้วการเป็นผู้รู้ผู้ดูความรู้สึกของตนเองนี้ ให้ผลที่แตกต่างจากการเป็นผู้เป็นความรู้สึกต่างๆมาก

ความเครียดนี้ก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง ถ้าเราเห็นได้ทัน หรือทันได้เห็น ความเครียดก้อนนั้นไม่ว่าจะมากหรือน้อย จะใหญ่หรือเล็ก ก็จะค่อยๆสลายตัวไปต่อหน้าต่อตา และจะเครียดใหม่เมื่อเราไปคิดถึงเรื่องที่ทำให้เครียดอีก ท่านผู้รู้จึงแนะนำว่าขั้นต่อไปให้รู้ทันความคิดด้วย

เหตุผลที่ความเครียดสลายตัวไปเมื่อรู้ทันเพราะว่า ความเครียดเป็นอกุศล ส่วนการรู้การเห็นเรียกว่า “สติ” เป็นกุศล ตามหลักคืออกุศลกับกุศลย่อมอยู่ด้วยกันไม่ได้ หรือไม่ถูกกัน ดังนั้นวิธีดับความทุกข์ในใจที่ถูกต้องตามหลักในพุทธศาสนาคือดับด้วยสติเป็นด่านแรก สติในความหมายที่แท้จริงคือรู้ความทุกข์ลงในปัจจุบันนั่นเอง

ในตอนแรกการรู้ทันอารมณ์จะยากหน่อย แต่พอฝึกรู้บ่อยๆเข้า ก็จะชำนาญ การรู้จะไวขึ้น ได้ครูบาอาจารย์เตือนหน่อยเดียวก็จะตั้งสติได้ทัน เหมือนที่ผู้หญิงคนนี้ ที่เมื่อหลวงพ่อเตือนให้พูดใหม่ เธอก็มีสติเป็นผู้รู้ผู้ดูได้ทันที

ในการดำเนินชีวิต ทุกคนย่อมต้องเคยผ่านปัญหาต่างๆมาทั้งนั้น หลายคนมักคิดว่าปัญหากับความทุกข์จะมาพร้อมกัน ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ปัญหาส่วนปัญหา ความทุกข์ส่วนความทุกข์ ปัญหาแก้โดยใช้ปัญญา ส่วนความทุกข์แก้ที่ใจ

แม้ว่าปัญหาจะยังแก้ไม่ได้ แต่ถ้าเราสามารถลดความเครียด ความกระวนกระวายใจลงได้ด้วยสติ สติจะเปิดโอกาสให้ปัญญาทำงานได้สะดวก ทำให้เห็นช่องทาง เห็นวิธีในการต่างๆในการแก้ไขปัญหา เพราะสติกับปัญญานั้นต่างก็เป็นกุศลเหมือนกัน สามารถทำงานด้วยกันเป็นอย่างดี การแก้ไขปัญหาจึงได้ทางออกที่ดีเสมอ ได้ทั้งทางออก ได้ทั้งสติ ได้ทั้งปัญญาและความสุขใจมาพร้อมๆกัน

นี้คือหลักการนำธรรมะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ได้ทั้งในครอบครัว ใช้ได้ทั้งในที่ทำงาน ขอให้ทุกท่านลองนำไปประยุกต์ใช้เถิด จะเกิดประโยชน์เป็นอันมาก

หมายเลขบันทึก: 674388เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2020 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2020 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท