เด็กติดเกมจะเก่ง กล้า แกร่ง ด้วยกิจกรรมอะไร


ขอบพระคุณกรณีศึกษา 10 ครอบครัว ที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ คลินิกกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ตอบโจทย์ "ทำอย่างไรให้เด็กติดเกมกับคุณพ่อคุณแม่...คิดเป็น...?"

เชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ วัย 8-18 ปี ที่กำลังติดเกม คือ ใช้เวลาเล่นเกม 5 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน คลิกเรียนรู้ในรายการรู้เท่ารู้ทัน: ปลดกับดักความคิดเด็กติดเกม และคลิกพลิกชีวิตเด็กติดเกม ซึ่งเป็นค่ายเจ็ดวันดีงามของคุณหมอชาญวิทย์ 

ผมเองกำลังค้นหาออกแบบโปรแกรมกิจกรรมบำบัดจิตสังคมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ แต่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาที่น่าจะใช้เวลานานด้วยบทบาทหลายหน้าที่ในฐานะอาจารย์ กระบวนกร นักบำบัด นักวิจัย นักเขียน และผู้ที่ต้องการเวลาดูแลสุขภาพและครอบครัว

เท่าที่ใช้เวลาทบทวนความรู้ออนไลน์ พบว่า เด็กวัย 8-18 ปี เล่นเกม 10 คน จะมี 1 คนที่ติดเกม มีภาวะย้ำทำ (Compulsive Disorder) โดยกลุ่มเสี่ยงคือ มีบุคลิกภาพผิดปกติ มีสมาธิสั้น แอสเปอร์เกอร์ 

เหตุลึกๆ ภายในใจ คือ 41% เด็กๆ อยากหนีจากโลกความจริงที่รู้สึกทำอะไรไม่ได้ดี เหงา ไม่ผูกพันพ่อแม่ ไร้เป้าหมายในชีวิต แต่ในโลกเสมือนของการเล่นเกม 6-15% เด็กๆ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนติดเกมด้วยกัน เกมทำให้เค้าเก่ง เกมทำให้เค้าอยากเอาชนะให้ได้คะแนนสูงๆ ไม่มีวันจบสิ้น ยิ่งเล่นยิ่งติดสุข เมื่อไม่ได้เล่น ก็เบื่อ ไม่รู้จะทำอะไร 

อาการแสดงทางอารมณ์ส่งผลต่อร่างกาย คือ หมกหมุ่นคิดเกมที่ผ่านมา ครุ่นคิดเกมที่จะเล่นต่อไป วนไปวนมาจนไม่อยากกิน ไม่อยากนอน ไม่อาบน้ำ ไม่เรียน ไม่ทำงาน หยุดเล่นไม่ได้ ทำให้ปวดตา ปวดไมเกรน เหนื่อยล้า ปวดเอ็นข้อมือที่ใช้คอมมากเกินไป หงุดหงิดถ้าไม่ได้เล่น วิตกกังวล ซึมเศร้า จำเป็นต้องพบจิตแพทย์เพื่อรักษาด้วยยา พบนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อทำจิตบำบัด พบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อออกแบบกิจกรรมกลุ่มครอบครัวและกิจกรรมรายบุคคลเพิ่มทักษะชีวิต

ไม่มีโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูใดที่ออกแบบได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะ "แต่ละรายบุคคลมีความแตกต่างกันในทัศนคติ ความคิด การรับรู้อารมณ์ และการสื่อสาร ตั้งแต่ 3 ปีแรก ในการบ่มเพาะพฤติกรรมความดีตามพัฒนาการกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ (จิตมุ่งมั่นคิดดี พูดดี ทำดี ต่อตนเองและผู้อื่น)" บนโลกใบนี้มีโปรแกรมมากมายที่พร้อมรับมือ แต่ยังมีน้อยมากในประเทศไทย 

บันทึกนี้ผมสัญญากับคุณแม่หลายกรณีศึกษาที่อยากแนะนำ "ตัวอย่างการสื่อสารคิดบวกกับลูกๆ ที่กำลังติดเกม" ซึ่งขอขอบพระคุณข้อมูลจากจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้ปกครองที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนลูกติดเกมให้เก่ง กล้า แกร่ง มากขึ้น ครับผม

  1. ลูกพอที่จะลดเวลาเล่นเกมลงได้ซักเท่าไร ใน 1 อาทิตย์นี้ ลองลดซัก 1 ชั่วโมงกัน
  2. พ่อแม่จะสบายใจ ถ้าลูกลดเวลาเล่นเกมลง...เรามาวางแผนกำหนดเวลาเล่นเกมกัน
  3. พ่อแม่กลัวลูกป่วย เพราะเล่นเกมจนปวดตา ปวดหัว ปวดท้อง ไม่กิน ไม่นอน
  4. พ่อแม่เป็นห่วงว่า ลูกไม่ไปเรียน ไม่มีงานทำ แล้วจะหาเงินเล่นเกมได้อย่างไร 
  5. พ่อแม่ภูมิใจที่ลูกพูดจาดี/ลูกเก่งในการเล่นเกม/ลูกน่ารักมากที่ทานข้าวนอกบ้าน (หมั่นมองเรื่องเล็กน้อยในตัวลูกให้บวกเสมอ แล้วกอดชื่นชมทันทีหลังตื่นนอนกับก่อนนอนทุกวัน)
  6. เรามาตั้งกติกากัน ช่วงเวลาที่เล่นได้ คือ หลังอาหารกับหลังทำการบ้าน ช่วงเวลาที่หยุดเล่น คือ ขณะทานอาหารจะได้ไม่ป่วย/เข้ารพ. กับช่วงที่เรากำลังคุยกัน (ผู้ปกครองทำเป็นตัวอย่าง หยุดเล่นมือถือและสื่อเทคโนโลยีต่างๆ) 
  7. เรามาทำอาหารด้วยกัน เรามาเที่ยวด้วยกัน เรามาเล่นกีฬากัน เรามาทานอาหารอร่อยนอกบ้านกัน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1-2 ครั้ง
  8. เรามาช่วยทำงานบ้าน ฝึกความรับผิดชอบดูแลสุขภาพตัวเองกับคนที่เรารักกันทุกๆวัน [ห้ามทำไปบ่นไป คิดดี พูดดี ทำดี อย่างมีสติสัมปชัญญะ]
  9. ไม่ควรพูดบอก "เลิกเล่นเกมแล้วไปอ่านหนังสือหรือทำอะไรที่ลูกไม่ชอบและต่อต้านอย่างมาก"
  10. แม้ว่าลูกจะทำด้วยความเบื่อและไม่เต็มใจทำสิ่งที่พ่อแม่บอกหรือบังคับด้วยความเป็นห่วง ก็จงถามลูกว่า "ลูกเบื่ออะไร ไม่ใช่ว่าเราจะเบื่อไปหมดทุกเรื่อง พ่อแม่ก็เบื่อที่ลูกเล่นเกมจนเราไม่ได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกัน"
  11. ถ้าลูกเหงา พ่อแม่ก็เหงา เราอยากมีความสุขกัน ลูกเล่นเกมแล้วติดใจในความสุข ลูกก็จะเบื่อพ่อแม่ ลูกอยากเป็นอย่างนี้ตลอดไปไหม
  12. ลูกอยากทำอะไร เรามาสะสมแต้มความสุขกัน หนึ่งแต้มสุขจากเกม สามแต้มสุขจากทำการบ้าน ห้าแต้มสุขจากทำงานบ้าน เจ็ดแต้มสุขจากเล่นกีฬา ถ้ารวมแต้มแต่ละเดือน เราจะมาเปลี่ยนเป็นเงินนำไปฝากธนาคารกัน   

หลักคิดบวกสำคัญคือ "ปล่อยวางเปิดใจ ยอมรับ และรักตัวเองให้มากๆ สัก 3 วัน เพื่อฝึกตั้งสติและให้ร่างกายผ่อนคลายความเครียด หายใจเป่าปากเพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวเองก่อนที่จะสื่อสารกับลูกข้างต้น จงอดทน จงคิดน้อยๆ จงบอกความรู้สึกจริงๆ จากหัวใจ จงกอดและชมลูกด้วยความจริงใจ และจงมีวินัยรับผิดชอบเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ความใส่ใจ - คิดดี พูดดี ทำดี เสมอตลอด 21 วันเพื่อปรับทัศนคติคิดบวก อีก 45 วันเพื่อปรับความคิดบวกแล้วเรียนรู้สร้างนิสัยดีๆใหม่ รวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 66 วัน (3 เดือน) หรือถ้าวันใดทำไม่ได้ มีอารมณ์ลบมาแทรกแซง ก็ให้นับ 1 ใหม่ วนไปวนมาแบบนี้ บางเคสจำเป็นต้องเข้าค่ายอยู่สถานบำบัดเด็กติดเกม 30-60 วัน จงมีกำลังใจให้เมตตาปัญญาด้วยความอดทน บางรายสำเร็จได้ใน 6 ปี" 

หมายเลขบันทึก: 661325เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2019 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 เมษายน 2019 12:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท