"สงกรานต์" ไม่ใช่วันขึ้นปีใหม่ไทย (ทำไมผมเพิ่งรู้)


ประวัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ สืบอ่านได้ไม่มาก และซ้ำกันเป็นเรื่องเดียวกัน จากเว็บไซต์หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระราชินีฯ (ที่นี่) หรือเวบไซต์อุทยานการเรียนรู้ TK Park (ที่นี่) หรืออาจเป็นเว็บสื่อสารมวลชนช่อง ๓ (ที่นี่)  ซึ่งน่าจะมาแหล่งเดียวกัน คือ หนังสือ "ประวัติวันสำคัญของไทย" ที่เรียบเรียงไว้โดย คุณพิมพ์พลอย ณ พาณิช บุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรม ... แต่ก็มีอีกแนวคิดสายหนึ่งนำโดย อ.สุจิตต์ วงษ์เทศ ท่านฟันธงเลยว่า สงกรานต์ไม่ได้มาจากอินเดีย อินเดียไม่มีประเพณีสาดน้ำสงกรานต์ (อ่านที่นี่).... ผิดถูกอย่างไรไม่อาจทราบได้ครับ ... 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าถูกหรือผิด  ประเด็นอยู่ที่ ประเพณีสงกรานต์ อันมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกนี้ ใช่เป็นประเพณีของไทยหรือไม่ หรือไทยรับเอามาจากที่ใด ?????  ผมเข้าใจว่า คำตอบของคนไทยเกือบทั้งหมดจะบอกว่า ไม่ใช่....  ไทย ลาว เขมร พม่า รับวัฒนธรรมนี้มาจากอินเดีย หรือไม่ก็บอกว่า เป็นประเพณีร่วมของ "ชาวไต" ในอุษาคเนย์ตามที่ อ.สุจิตต์ ท่านเผยแพร่ ...  แต่คำตอบของผมคือ ใช่ ... เพราะคนไทยนั่นเองที่อาศัยอยู่แคว้นมคธในสมัยนั้น ก่อนจะอพยพหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มายังสุวรรรณภูมินี้  (ผมเขียนเรื่องนี้ในบันทึก ๓ ตอน ไว้ที่นี่)

วันสงกรานต์ (จับประเด็น)

คำว่า "สงกรานต์" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อนที่ ย้าย ก้าวขึ้น ผ่าน ให้ความหมายถึง การเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์เข้าสู่เดือนเมษ หรือราศีเมษ ขึ้นรอบนับ ๑๒ ราศีใหม่อีกรอบ โดยกำหนดเอาวันเวลาตามศรัทธาว่า 

  • วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวัน "มหาสงกรานต์" คือวันเคลื่อนสู่ราศีเมษ 
  • วันที่ ๑๔ เมษายน เรียกว่า "วันเนา" คือวันเคลื่อนเข้าราศีเมษเรียบร้อยแล้ว เป็นวันแรกของปีใหม่ คนไทยจะระวังสติวาจาเป็นอันมาก ไม่พูดสิ่งใดๆ ที่ไม่ดี ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าพูดหรือทำอะไรไม่ดี ปีใหม่ทั้งปีจะไม่ดีไปด้วย 
  • วันที่ ๑๕ เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" เป็นวันขึ้นศักราชใหม่  เพื่อให้มั่นใจว่าดวงอาทิตย์ได้เคลื่อนไปสู่ราศีใหม่แล้วจริง ๆ 

การคำนวณทางโหรศาสตร์ไทยในแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนกับวันที่สากลบ้าง เช่น อาจจะเป็น ๑๔ - ๑๖ เมษายน หรือ ๑๒-๑๔ เมษายน บ้างก็มีเป็นไป แต่เพื่อให้คนไทยเข้าใจร่วมกัน จึงนับเอา ๑๓-๑๕ เมษยน ของทุกปีว่าเป็น "วันสงกรานต์" 

กิจกรรมประเพณีอันดีในวันสงกรานต์ 

กิจกรรมที่คนไทยนำทำในวันสงกรานต์แตกต่างกันไปบ้างตามภาคพื้นภูมิสังคม แต่ก็มีจุดร่วมสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่ทั้งหมดของ "ชาวไต" ที่นับถือพุทธ  ซึ่งได้แก่ ไทย พม่า ลาว เขมร ฯลฯ ทำคล้ายกันในวันสงกรานต์ ได้แก่ 

  • รดน้ำกัน ... สาดน้ำกัน นิยมเป็นน้ำหอมเจือน้ำสะอาด 
  • ทำบุญตักบาตร และ/หรือ ทำบังสกุลอัฐิ เพื่ออุทิศส่าวกุศลให้กับบุพการี ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตรที่ล่วงลับไป  หลังจากถวายภัตราหารพระภิกษุสงฆ์ ลงจากศาลาแล้ว ทางภาคกลางมักมีพิธีก่อกองทราย นำทรายเข้าวัด เป็นนิมิตหมายโชคลาภ โชคดีตลอดปีใหม่  นอกจากพิธีบุญนี้แล้ว คนไทยยังนิยมปล่อยนก ปล่อยปลา ไถ่สัตว์ ไถ่ชีวต ตั้งหลักรักษาศีลให้ดีตลอดปีใหม่ 
  • รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ทางภาคเหนือเรียกว่า "ดำหัว"  จึงนิยมเรียกรวมกันว่า "รดน้ำ ดำหัว" ผู้ใหญ่  เพื่อแสดงความเคารพบูชาบุพการี พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้มีพระคุณ โดยนำน้ำหอมน้ำอบเจือน้ำใสสะอาด รดลงตรงหอบมือพร้อมกล่าวคำขอขมาและบูชาพระคุณท่าน พรที่ได้รับจากผู้ใหญ่จะติดต่อเป็นศิริมงคลแก่ตนและลูกหลาน
  • การสรงน้ำพระ  คือนำเอาพระพุทธรูปในบ้านเรือน แหล่งอาศัย ลงมาสรงน้ำ ทำความสะอาด ล้างทำความสะอาด ... ผมจำได้ว่า แม่ผมเคยสอนว่า ให้นำพระลงในวันศีลน้อย คือ ขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๕ และเมื่อถึงวันศีลใหญ่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็ให้นขึ้นจัดไว้บูชาเหมือนเดิม 

ประวัติวันสงกรานต์ "ตำนานแห่เศียรท้าวกบิลพรหม"

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงเหตุการณ์ที่อาจตีความได้ว่าเป็นพิธีสงกรานต์ได้ อยู่ในพระสุตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ หน้า ๓๑ ดังที่ผู้รู้สาธยายไว้ที่นี่ 

"ก็สมัยนั้น มหาชนพากันเล่นมหรสพในอุตตรผัคคุณีนักขัตฤกษ์ปลายเดือน ๔ ทุก ๆ ปี กระทำพิธีสรงน้ำที่ท่าใกล้แม่น้ำคยา, ด้วยเหตุนั้นชนทั้งหลายพากันเรียกมหรสพนั้นว่า คยาผัคคุณี ดังนี้"

"ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ไกล้ท่าน้ำคยา เพื่ออนุเคราะห์แก่เวไนยสัตว์ในวันมหรสพเช่นนั้น ฝ่ายมหาชนจากที่นั้น ๆ ด้วยความประสงค์จะสรงสนานที่ท่าน้ำ ในขณะนั้น แม้ท่านเสนกะเข้าไปยังที่นั้นเพื่อสรงสนานที่ท่าน้ำ เห็นพระศาสดากำลังทรงแสดงธรรม ฟังธรรมแล้ว กลังได้ศรัทธาบวช เมื่อกระทำกรรมเพื่อวิปัสสนาไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต..." 

ความในพระไตรปิฎกสองวรรคนี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า การสรงสนานน้ำ หรือการเล่นสาดน้ำนั้น มีมาก่อนพุทธกาลแล้ว เป็นมหรสพของคนในชมพูทวีปในช่วงปลายเดือน ๔ ... ทรงสอนให้มหาชนมีปัญญาว่า การอาบน้ำชำระกายในเดือน ๔ ไม่ได้ช่วยชำระบาปตามที่เชื่อกันในสมัยนั้น 

หลักฐานบอกตำนานเกี่ยวกับนางสรงกรานต์ที่ได้อ้างถึงกันมากที่สุด คือ จารึกวัดโพธิ์ชื่อ "มหาสงกรานต์"  ผู้สนใจสามารถศึกรายละเอียดได้จาก "ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ" หน้า ๒๐๕ - ๒๐๗ (คลิกที่นี่) ซึ่งอ้างถึงตำราภาษาลีของชาวรามัญ  ขอสรุปย่อ ๆ เอาสาระดังนี้ (จะให้ดีจงอ่านเองเถิด)

สมัยหนึ่งช่วงต้นของภัทรกัปป์ (กัปป์คืออายุโลก กัปป์นี้จะมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ พระองค์ที่เราอยู่รู้นี้คือองค์ที่ ๔ พระสมณะโคดม พระองค์ต่อไปคือพระอาริยะเมตตรัย) มีเศรษฐีคนหนึ่งถูกนักเลงสุราเกทับว่า แม้จะรวยทรัพย์แต่ตายไปก็ไร้ค่าเพราะว่าไม่มีลูกสืบสกุล สู้ตนไม่ได้ที่มีลูกชายผิวพรรณดังทองตั้งสองคน เศรษฐีจึงเที่ยวอ้อนบูชาทั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์วอนขอบุตรตลอด ๓ ปีก็ไม่มีบุตร จนวันหนึ่งในฤดูคิมหันตฤดู (ฤดูร้อน ช่วงวันมหาสงกรานต์) เศรษฐีได้พาบริวารไปขอบุตรกับรุกขเทวารักษาต้นไทร พระไทรเห็นการบูชาคารวะอย่างประณีต จึงรับหน้าไปขอบุตรจากพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้พระธรรมบาลเทวบุตรลงมาเกิด เศรษฐีได้สร้างปราสาทให้ใต้ต้นไทรใหญ่นั่นเอง พระธรรมบาลกุมารฉลาดมีปัญญา ศึกษาจบไตรเภทเพียงอายุ ๗ ขวบ สามารถสื่อรู้ภาษาปักษี (นกทั้งหลาย) เป็นที่พึ่งบอกมนต์มงคลให้คนทั้งหลายทั่วชมพูทวีปซึ่งแต่เดิมนับถือท้าวมหาพรหม 

พรหมองค์หนึ่งชื่อกบิลพรหม (คงรู้สึกว่าจะเสียศรัทธา) จึงมาท้าพนันถามธรรมบาลกุมารว่า ตอนเช้า กลางวัน เย็น ราศรีอยู่ที่ใด (อ้างอิงที่นี่) ตอบไม่ได้จะมาตัดหัว แต่ถ้าตอบได้จะตัดหัวตัวเองบูชาธรรมบาลกุมารเช่นกัน ธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จึงขอผลัดเวลา ๗ วัน ผ่านไป ๖ วันยังตอบไม่ได้ คิดจะหนีไปตายเอาดาบหน้า ไปพักอยู่ใต้ตาลต้นหนึ่ง ได้ยินเสียงนกอินทรีย์ผัวเมียคุยกันว่า พรุ่งนี้จะไปหากินที่ไหนดี นกสามีจึงเล่าเรื่องให้ฟัง นกภรรยาถามว่า ท่านรู้ไหมว่าคำตอบคืออะไร ธรรมบาลกุมาร จึงจำคำไปตอบพระอินทร์ว่า ตอนเช้าราศรีอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้า กลางวันราศรีอยู่ที่อก คนจึงต้องตกแต่งประทินด้วยเครื่องของหอม ตอนเย็นค่ำราศรีอยู่ที่เท้า คนจึงล้างเท้าเข้านอน 

กบิลพรหมต้องตัดเศียรตนบูชาธรรมบาลกุมาร จึงเรียกให้ลูกสาวตนทั้ง ๗ ซึ่งเป็นนางบริจาริกาของพระอินทร์มาสั่งความว่า ให้นำพานมารองเศียรของพ่อ อย่าให้ตกพื้นโลกธาตุจะมอดไหม้ อย่าทิ้งไปบนฟ้าฝนฟ้าจะแล้ง อย่าวางไปในน้ำ มหาสมุทรจะแห้งเหือด  เมื่อตัดเศียรตนแล้ว นางทุงษเทวีบุตรีคนโต ได้นำพานแห่งประทักษิณารอบเขาพระสุเมรุนาน ๖๐ นาที แล้วนำไปประดิษฐ์บูชาเป็นประชุมเทวดาป่าเขาไกรลาส เก็บไว้ในมณฑปถ้ำธุรลี ที่ประดับด้วยแก้ว ๗ ประการชื่อภควดี เมื่อครบ ๑ ปี วันมหาสงกรานต์ผ่านมาอีกครั้ง ลูกสาวคนอื่นก็จะเวียนมาอัญเชิญเศียรกบิลพรหมไปแห่และบูชาเช่นเดิม ...  เรียกวันพิธีนี้ว่า วันสงกรานต์  องค์สงกรานต์คือลูกสาวของกบิลพรหมคนที่อยู่ประจำวันที่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน 

ถ้าเชื่อตามตำนานนี้  ก็ตีความได้ว่า ธรรมบาลกุมาร น่าจะเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งที่กำลังสั่งสมบารมีอยู่ในขณะนั้น หมู่ชนชาวชมพูทวีปยังนับถือพระพรหมเป็นใหญ่ ซึ่งตรงกับคติในศาสนาฮินดู ซึ่งในพระไตรปิฎกก็ตรงกันว่า การนับถือเทวดานั้นมีมาก่อนพระพุทธศาสนาแล้ว ... สรุปว่า เป็นประเพณีอันยาวนานที่สืบสานกันมานานมากจริง ๆ  

ด้วยผู้รู้บอกตรงกันว่า ประเพณีสาดน้ำสงกรานต์นี้  มีอยู่ในไทย พม่า ลาว เขมร และจีนตอนใต้ หรือใน "ชาวไต" หรือ "ชาวไท" นั้น เมื่อสังเคราะห์รวมกันกับเรื่องราว "พระพุทธเจ้าไม่ใช่คนอินเดีย" แล้ว จะพบว่า ประวัติศาสตร์สอดคล้องกันยิ่งว่า  ก็ชนชาวไทนั่นเองที่อยู่อินเดียในตอนนั้น (พ.ศ. ๓๐๐ - พ.ศ. ๕๐๐) ก่อนจะหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากชาวอารยันต์ในช่วง พ.ศ. ๕๐๐ - พ.ศ. ๘๐๐ (ผมถอดบทเรียนและสังเคราะห์งานของ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ไว้ที่นี่)

สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ไทย 

ผมเข้าใจผิดมานานโข แม้แต่ปีนี้ผมก็ยังใช้คำว่า "สวัสดีปีใหม่"  ... แต่ต่อไปในภายหน้า ผมมีศรัทธาว่า สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ไทย จะไปใช้คำว่า "สวัสดีปีใหม่" ในวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย หลังวันลอยกระทงไทย ด้วยเหตุดังนี้ว่า 

  • วันสงกรานต์  หมายถึง การเคลื่อนย้ายราศี ดังที่ได้กล่าวไป ซึ่งเป็นการนับปฏิทินตามระบบสุริยคติ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของชนอารยันต์ เปอร์เซีย กรีก โรมัน ฯลฯ ไม่เกี่ยวกันกับ องค์ความรู้ตามระบบจันทรคติของคนในพระพุทธศาสนา 
  • ตามคติแห่งพระพุทธศาสนา ได้นับเวลาขึ้นปีใหม่ในฤดูเหมันต์ (ฤดูหนาว ราวเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม) คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งประชาชนไทยได้ยึดถือมานานตั้งแต่สมัยอยุทธยา พระนารายณ์มหาราช เว้นแต่ในพระราชสำนักที่ยึดเอาเดือนเมษา
  • สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ประกาศให้ วันที่ ๑ เมษายน ของทุกปี เป็นปีใหม่ไทย และใช้แบบนี้มาตลอด ๕๐ ปี(พ.ศ.๒๔๓๒ - พ.ศ. ๒๔๘๓) ... เหตุนี่เองที่ทำให้คนไทยเรียกกันติดใจต่อมาว่า "ปีใหม่ไทย" 
  • สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้ วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันปีใหม่ โดยให้เหตุผลสำคัญสองประการคือ เพื่อให้ใกล้กับคติพุทธของชาวไทยที่ยึดให้วันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้ายเป็นวันปีใหม่ และให้เป็นไปตามหลักสากลของอารยประเทศ (อ้างอิงที่นี่)

ท่านล่ะครับ เชื่ออย่างไร..... 

    คำสำคัญ (Tags): #สงกรานต์
    หมายเลขบันทึก: 661044เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2019 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2019 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท