พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมลอุบลคณาภิบาล สังฆปาโมกข์ (สุ้ย หลักคำ)


                   

        อุบลราชธานี หลายครั้งถูกขนานนามกันว่า "เมืองนักปราชญ์"  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ต้นเค้านักปราชญ์มาจากไหน ท่านไปใคร ติดตามอ่านในเนื้อหาได้นะครับ 

ชาติกำเนิด   

                พระอริยวงศาจารย์ มีนามเดิมว่า สุ้ย นับว่าท่านมีรูปร่างทรวดทรงสูงใหญ่สีผิวขาว ท่าทางงามสง่าผ่าเผยมาก วัน เดือน ปีเกิด และนามบิดา มารดา ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ทราบเพียงว่าเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. ๒๓๓๒ ท่านได้กำเนิด ที่บ้านกวางคำ ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

          เมื่อบรรพชาแล้วได้เข้ามาศึกษาเล่าเรียนที่วัดหลวงในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในยุคนั้น โดยการเรียนแบบโบราณ คือ เรียนหนังสือจากอาจารย์ ตามที่อาจารย์บอก หนังสือที่เรียนเป็นหนังสือใบลานจาร (เขียนด้วยเหล็กแหลมคล้ายปากกา) เป็นตัวอักษรลาวหรือตัวอักษรธรรม และอักษรไทน้อย เรียกว่า “หนังสือใหญ่” หนังสือผูกแรก คือปัญญาบารมี ผูกที่ ๒ สัพพสูตรไชย ผูกที่ ๓ หัสสวิชัย ต่อจากนั้นก็ฝึกอ่านหนังสือผูกอื่นๆ ให้ชำนาญแล้วก็เรียนเขียนอักษรธรรม อักษรไทยน้อย พร้อมทั้งท่องบทสวดมนต์ ฝึกหัดเทศน์ธรรมวัตร เทศน์ทำนองอีสานโบราณ เรียนมูลกัจจายน์ซึ่งมี สัททนีติรูปสิทธิประโยชน์ เป็นต้น หลังจากนั้น คงมีคณะเจ้าผู้ครองเมืองอุบลฯ ได้จัดเตรียมกำลังพลไปส่งท่านขณะเป็นสามเณร อายุ ๑๗ ปี ราวปี พ.ศ. ๒๓๔๙ ท่านได้เดินทางจากเมืองอุบลฯสู่กรุงเทพฯ เพื่อได้ ศึกษาเล่าเรียน ที่กรุงเทพฯ โดยการเดินเท้า เส้นทางสู่กรุงเทพฯ ต้องผ่านดงพญาไฟ ดงพญาเย็น นับว่าลำบากยิ่งในการเดินทาง เมื่อถึงกรุงเทพแล้วท่านได้เข้าพำนักศึกษาที่สำนักเรียนวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

          เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศฯราวปี พ.ศ. ๒๓๕๒ ขณะนั้นสมเด็จพระวันรัต (อาจ) คงเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ

          ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ ได้พำนักศึกษาทั้งปริยัติธรรม และปฎิบัติธรรมพระกรรมฐาน รวมถึงการศึกษาขนบธรรมเนียมของคนกรุงเทพ ข้อวัตรปฎิบัติของพระเถรานุเถระ และการปฏิสันฐานเรียนรู้การปฏิบัติต้อนรับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน จนได้เปรีญธรรม ๓ ประโยคและมีความแตกฉานยิ่งในอรรถบาลี หลักธรรมในพระไตรปิฏก

 ศาสนกิจ

          หลังจากท่านหอเจ้าแก้ววัดหลวงได้มรณภาพ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ที่ “พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์” เจ้าคณะเมืองอุบล  ท่านได้บริหารคณะสงฆ์ให้เป็นระเบียบแบบแผน จัดตั้งการสอนพระปริยัติธรรมและหนังสือไทยในเมืองและแยกสาขาออกไปนอกเมือง โดยมอบหมายให้พระเถระผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้จัดการดูแล เป็นต้นว่ามอบหมายให้พระครูเคนจัดการดูแลในแขวงเมืองอุบลราชธานี

          พระอาจารย์เส่วจัดการดูแลสำนักนักเรียนวัดบ้านไผ่ใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ

          พระอาจารย์บุดดี จัดการดูแลนักเรียนวัดบ้านแขม ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน

          พระอาจารย์จันทร์จัดการดูแลสำนักเรียนบ้านหนองหลัก อำเภอม่วงสามสิบ

          พระอาจารย์เกตุ เกตุโล จัดการดูแลสำนักเรียนเมืองยโสธร

          พระอริยวงศาจารย์มีความเชี่ยวชาญทางด้านสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ ท่านได้สร้างหอไตรวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งถือว่าเป็นหอไตรที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นหอไตรที่รวมเอาศิลปะพม่า ล้านช้าง และไทยเอาไว้ด้วยกันอย่างกมลกลืน และท่านได้สร้างพระอุโบสถวัดทุ่งศรีเมือง มีหลังคาทรงไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง นอกจากนั้น ภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมผนังเกี่ยวกับชาดกในพระพุทธศาสนา มีลักษณะงดงามตามศิลปะไทยอีกด้วย

          พระอริยวงศาจารย์เป็นพระเถระรูปแรกของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้ดำเนินการบริหารคณะสงฆ์ให้มีระเบียบแบบแผนขึ้นกระจายอำนาจบริหารโดยได้มอบหมายให้พระที่ทรงคุณวุฒิ มีความเป็นผู้นำ มีความรู้ทางพระปริยัติธรรมดี จัดการดูแลสำนักเรียนต่างๆ การกระทำเช่นนี้นอกจากจะเป็นการกระจายอำนาจปกครองแล้วยังเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เกิดแก่ชุมชนในที่ต่างๆด้วย

ต้นเค้าแห่งนักปราชญ์

          ต้นเค้าแห่งความเจริญทางปริยัติธรรม และหนังสือไทย จนเมืองอุบลราชธานีได้สมญานามว่า “อุบลเมืองนักปราชญ์” เป็นมรดกสืบมาจนถึงปัจจุบัน

          อีกประการหนึ่งท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกเจ้า อาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้กล่าวในหนังสือ "กิ่งธรรม" เกี่ยวกับพระอริยวงศาจารย์ฯ ไว้ว่า

          “ท่านเจ้าคณะ พระอริยวงศาจารย์ และมีสร้อยอยู่ 2 ตอนว่าญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ ได้ขึ้นมาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี และอยู่ที่วัดป่าน้อยเป็นพระที่สำคัญของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะหาได้ยากมากในเมืองไทยเวลานั้น ที่พระสงฆ์ในหัวเมืองจะเป็นพระราชาคณะ ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ และเป็นคนอุบลราชธานีอีกด้วย หลังจากท่านได้บูรณะวัดป่าน้อยแล้ว ได้ไปสร้างวัดอีกวัดหนึ่ง คือ วัดทุ่งศรีเมือง ทราบว่าท่านนั่งกรรมฐานที่นั่น ต่อมาทราบว่าที่วัดทุ่งศรืเมือง ก็มีรอยพระพุทธบาทได้ทราบว่าได้จำลองไปจากวัดสระเกศฯ และได้ทราบจากฝรั่งคนหนึ่งก่อนว่า พระบาทที่วัดทุ่งศรีเมือง เป็นพระบาทที่เอาไปจากวัดสระเกศ”

มรณกาล

     เมื่อประมาณราวปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ ณ ห้องโถงใหญ่ ของกุฏิแดง เก็บศพไว้หลายปี จึงได้ทำรูปนกหัสดีลิงค์ ประกอบหอแก้วบนหลังนก บำเพ็ญกุศลตามประเพณีมีมหรสพตลอด ๗ วัน ๗ คืนเสร็จแล้วเชิญหีบศพรูปนพสูญขึ้นประดิษฐานบนหอแก้ว แล้วชักลากไปสู่ทุ่งศรีเมืองเยื้องไปด้านพายัพ พระราชทานเพลิง ณ ที่นั้น ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ปราชญ์” ผู้บุกเบิกของอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

อ้างอิง

          https://www.gotoknow.org/posts/520855

          https://sites.google.com/site/paknamubonclub/parents-personage-of-wat-paknam-ubonratchathani/pra-ariya-wongsajarn

          https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=15370

          http://guideubon.com/news/view.php?t=14&s_id=16&d_id=16

https://www.facebook.com/KhongDeeAmnat/photos/a.162395897298498.1073741825.162394903965264/292815120923241/?type=1&theater

 

หมายเลขบันทึก: 648717เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2018 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2018 15:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท