​AAR ตนเอง เรื่อง Pattern Based Learning


AAR ตนเอง เรื่อง Pattern Based Learning

การเรียนรู้ที่มีรูปแบบให้ฝึกคิด (Pattern Based Learning) เน้นการฝึกทักษะการคิด โดยใช้สื่อและแบบฟอร์มต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยในการถอดบทเรียน (สะท้อน ทบทวน แลกเปลี่ยน ระดมสมอง) เป็นเครื่องมือการฝึกคิดพื้นฐานในห้องเรียนและห้องกิจกรรม เป็นกระบวนการฐานคิด เน้นการคิดขั้นสูง ทั้งในรูปแบบเดี่ยวและกลุ่ม ซึ่งประยุกต์ใช้ออกไปได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่สไตล์ของกระบวนกร

ผมได้ทดลองและใช้กิจกรรมนี้ในกลุ่มเป้าหมาย ระดับต่างๆ ในช่วงระยะเวลา ๓ ปี เลยกลับมาทบทวนตนเอง เรื่อง การใช้กิจกรรมในรูปแบบฝึกคิด ซึ่งมองดังนี้

๑) การออกแบบกิจกรรม (Design Thinking)

กิจกรรมเครื่องมือฝึกคิด ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมแบบกระดาษ เน้นความเป็นตรรกศาสตร์ จินตนาการ และทบทวนถึงอดีต ซึ่งมีหลักวิธีการออกแบบ คือ

๑.๑) การตั้งจุดมุ่งหมายของการคิด ว่าจะให้เด็กได้เเค่ไหน และต้องการสร้างเสริมเรื่องอะไร

๑.๒) การใช้หลักตรรกศาสตร์ ความเป็นเหตุผลแบบเวนออย มาปรับใช้ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน ตามจุดประสงค์

๑.๓) การใช้เทคนิคกราฟฟิกทำมือ (Visual Graphic) เพื่อแสดงให้เห็นภาพร่วมกัน เช่น การใช้ Mind Map,Concept Map,Tree Analysis,Body Plan เป็นต้น

๑.๔) การใช้กระบวนการทางศิลปะ เข้าาช่วยให้เกิดความเพลิน เพราะการคิด จะทำให้เครียด การนำศิลปะเข้ามาช่วยให้บรรยากาศในการเรียนรู้ คล่องไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ภาพสื่อความหมาย การประดิษฐิ์ประติมากรรม การปั้นดินน้ำมัน การใช้วัตถุธรรมชาติ เป็นต้น

๑.๕) การออกแบบชุดคำถาม ใช้ประกอบเครื่องมือฝึกคิด ถือเป็นหัวใจสำคัญ ข้อนี้สำคัญมาก เพราะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ร่วมกันอย่างเป็นระบบ คำถามที่ดีควรถามให้เกิดการคิดขั้นสูง เช่น ทำไม และอย่างไร


๒) การดำเนินกิจกรรม

การดำเนินกิจกรรมลักษณะเครื่องมือการฝึกคิด ต้องมีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่ช่วยให้เกิด "ความเพลิน" และในขณะเดียวกันก็ต้องให้เกิดการระดมสมองหรือการคิด ไปพร้อมๆกัน โดยอาจใช้วิธีการ ดังนี้

๒.๑) กระบวนกรอธิบายเครื่องมือ ให้วาดไปทีละขั้น ทีละประเด็น และทำไปพร้อมๆกัน แต่ก่อนอื่น ต้องอธิบายให้เห็นภาพรวมก่อนค่อยไปหาส่วนใหญ่ เพราะเหตุผลทางองค์ประกอบศิลป์ หรือ เรียกว่า "การคิดแบบนิรนัย"

๒.๒) กระบวนกรใช้วิธีการเอาฐานใจนำฐานคิด คือ ช่วงแรกเอาศิลปะนำก่อน แล้วค่อยๆมาให้คิดในช่วงหลัง เพราะการเปิดด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือคิดคล่อง จะช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ดี ในกระบวนการถัดไป

๒.๓) ระหว่างทำกิจกรรม ให้เปิดเพลงเบาๆ ให้เกิดความเพลิน ตามทฤษฎีคลื่นสมองการเรียนรู้ ให้ปรับจากคลื่น Beta ให้ ละเอียดมากขึ้น นั่นเอง

๒.๔) กระบวนกร ลงไปอธิบายในกลุ่มย่อย กระตุ้น หนุนเสริม ประเมินความเข้าใจ ตั้งคำถามให้ฝึกคิด และการเดินไปโค้ชในแต่ละกลุ่มนี้เอง ที่ทำให้กระบวนการมันเคลื่อนไปเร็วขึ้น ทันเวลาที่กำหนด

๒.๕) ให้แต่ละกลุ่มนำเสนอ โดยหากมีกลุ่มมากให้จัดกิจกรรมแบบเปิดตลาดนัดไอเดีย แต่หากกลุ่มน้อยก็ให้นำเสนอหน้าชั้นปกติ หรือ อาจนำเสนอแบบตลาดแล้วมาสรุปอีกที ก็เป็นการบอกซ้ำ ย้ำทวน ประสบการณ์ที่ดีมาก

๒.๖) กระบวนกรจับประเด็น การนำเสนอเชื่อมโยงสู่เนื้อหาบทเรียน หลักคิดตามจุดประสงค์ของเครื่องมือ


๓) วิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย

ข้อดี คือ

๑) เป็นเครื่องมือนำไปสู่เป้าหมายร่วมกัน กระบวนการเหมือนกัน โดยไม่ต้องเข้าไปควบคุมอะไรมาก

๒) ใช้ได้รั้งเดียว หลายคน หลายกลุ่ม เหมาะสำหรับงานอบรมที่มีผู้เข้าร่วม จำนวนมาก

๓) เป็นเครื่องมือในการฝึกคิดได้ดีและเป็นเชิงประจักษ์ สามารถทำเป็นวิจัยได้ หรือโครงการบนฐานวิจัย

๔) การพัฒนาเหมาะสำหรับทุกวัย หากเป็นเป็นโตก็เพิ่มเนื้อหาอธิบาย หากเป็นเด็กเล็กก็เน้นศิลปะ วาดภาพ หากเป็นผู้ใหญ่ก็เน้นหลักทฤษฎี-ปฏิบัติ

๕) ช่วยให้เกิดการเห็นภาพ เห็นประเด็นการเรียนรู้ร่วมกัน

ข้อเสีย

๑) เป็นกระบวนการกระดาษ หากขาดการโค้ช ขาดการพูดคุยสื่อสาร จะไม่เกิดผลด้านทักษะที่จำเป็น เพียงคิดเเล้วจบไปแค่นั้น

๒) เป็นเพียงกระบวนการแรกของการพัฒนา หาก Pattern ไม่นำไปสู่การพัฒนา อย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนจะไม่เกิด ทักษะที่จำเป็นก็เช่นเดียวกัน

อ้างอิง

หลักสูตร 3PBL ลิงค์นี้ https://www.gotoknow.org/posts...

หมายเลขบันทึก: 648094เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 19:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท