เรียนรู้เรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา" จาก ศ.นพ.อุดม คชินทร


ในงาน mini-UKM ครั้งที่ ๑๘ (๔-๕ เมษายน ๒๕๖๑) ศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รับเชิญมาบรรยายเรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา สู่มหาวิทยาลัย 4.0" ผมเข้าใจว่า บุคลากรมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ยังไม่เคยฟัง จึงตั้งใจเขียนบันทึกแบ่งปัน ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้ 



  • ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. กระทรวงมหาวิทยาลัย ๓ ฉบับได้ร่างเสร็จแล้ว ผ่านคณะกรรมการพิจารณาแล้ว  การตั้งกระทรวงใหม่เหลืออีกสองขั้นตอนใหญ่ น่าจะใช้เวลาสัก ๔ เดือน และ ๓ เดือน ตามลำดับ  หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก่อนสิ้นปีนี้ (๒๕๖๑) เราน่าจะได้กระทรวงอุดมศึกษา 
  • กระทรวงนี้ถ้าไม่ได้เกิดก่อนเลือกตั้ง ไม่น่าจะได้เกิด เพราะมีคนค้านเยอะมาก 
ท่านเล่าถึงบทบาทหน้าที่ของกระทรวงอุดมศึกษา ดังสไลด์ด้านล่าง 

  • กระทรวงฯ นี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์ประเทศ จะต้องวิจัยและสร้างนวัตกรรม นำประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง 
  • มหาวิทยาลัยจะได้รับงบประมาณมากขึ้น โดยเฉพาะงบสนับสนุนในลักษณะ Area-based Approach (๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย) 
  • งบวิจัยและพัฒนา จะมากขึ้นจากปัจจุบัน ๐.๖ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เป็น ๑ เปอร์เซ็นต์หรือมากกว่า และมากขึ้น (ประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ ๔ ถึง ๖ เปอร์เซ็นต์)

  • ท่านบอกว่า ประเทศไทยไม่เคยมีแผนและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนอย่างนี้มาก่อน 
  • แผน ๒๐ ปี กำหนดไว้ ๖ ประการ ข้อที่น่าจะเกี่ยวข้องกับ KM มากที่สุด น่าจะเป็นข้อที่ ๖ พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 
  • แปลงแผน ๒๐ ปี ไปปฏิบัติด้วยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๒ (แผน ๕ ปี) ๑๐ ข้อ หาก KM สำเร็จ เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ ข้อที่จะบรรลุผลคือ ข้อที่ ๑ - ข้อที่ ๖ 

  • กระทรวงอุดมศึกษา จะเป็น "พระเอก" ทำให้คนไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการวิจัยและสร้างนวัตกรรม เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยไปสู่ "เศรษฐกิจ ๔.๐" 
  • เป้าหมายด้านมิติสังคมคือ "สังคม ๔.๐" คือ พึ่งตนเองได้ ลดการนำเข้า และสร้างสังคมแบ่งปัน 

  • มหาวิทยาลัย ๔.๐ คือ มหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างผลการศึกษาวิจัยและพัฒนา จนเกิดผลผลิตที่สร้างมูลค่าจากคุณค่าได้ เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญของ "เศรษฐกิจ ๔.๐" และ "สังคม ๔.๐" 
  • แนวคิดของกระทรวงอุดมศึกษาคือ นำเอาภาคเอกชน สถาบันการเงิน หน่วยงานรัฐ และการต่างประเทศ มาร่วมมือกับมหาวิทยาลัย  ....  วิธีคือใส่เงินมาที่มหาวิทยาลัยมาก ๆ มหาวิทยาลัยต้องทำวิจัยที่นำไปสร้างผลิตภัณฑ์ได้ "ไม่ใช่วิจัยขึ้นหิ้ง" (จากหิ้งสู่ห้าง) เรียกว่า "วิจัยมุ่งเป้า"

  • ต่อไป มหาวิทยาลัยจะมีไม่มีข้อจำกัดเรื่องคณะ อาจจะไม่มีคณะ ผู้เรียนเรียนตามความสนใจและความต้องการของตนเอง 
  • สไลด์นี้บอกว่า หัวใจสำคัญที่สุดของการสร้าง "ประเทศไทย ๔.๐" คือการศึกษาเพื่อสร้าง "คนไทย ๔.๐"
  • คุณลักษณะของคนไทย ๔.๐ มีรายละเอียดดังภาพ 

  • ท่านบอกว่า ความจริงเรามีคนเก่ง คนดี แต่เรายังไม่มีระบบโครงสร้างในการสนับสนุนการพัฒนาคนที่ดี  กระทรวงอุดมศึกษาจะมาทำหน้าที่นี้ 
  • ท่านเน้นคอลัมน์กลาง คือ ต้องเน้นความเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต มีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่คุณภาพ พึ่งตนเอง พอเพียง 
  • ถ้าได้แต่คนเก่งออกไปสู่สังคม ไม่เป็นคนดี  ก็เหมือนเราผลิตโจรดีๆ นี่เอง ...

  • การสร้างคนไทย ๔.๐ ต้องเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย ๔ ประการ คือ 
    • จากความรู้ ทักษะ ความสามารถจำกัด  ไปเป็น คนไทยที่มีความรู้ ทักษะ ความสามารถสูง
    • คนไทยที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว ไปเป็น คนไทยที่มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม
    • คนไทยที่เป็น Analog ไปเป็น Digital
    • คนไทยแบบไทย ไปเป็น คนไทยแบบสากล 
  • สังเกตว่าเป็นการมองที่ "จุดอ่อน" หรือจุดที่เป็นปัญหา ไปสู่เป้าที่ปรารถนาเพื่อให้ทันเทียมสากล จะดีมากหากมองที่ "จุดแข็ง" เช่น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกตัญญูรู้คุณ ฯลฯ แล้วตั้งเป้าขยายผลจากความสำเร็จเหล่านั้น 

  • ท่านพามองไปในอนาคต ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็ว ๆ นี้ 
  • คนยุคใหม่ ลืมกระเป๋าตังค์ ไม่เป็นไร แต่ลืมมือถือไม่ได้ .....

  • มหาวิทยาลัยมีที่นั่งว่าง ๒๗,๐๐๐ คน ในปี ๒๕๖๐  สถิติคนสมัครเรียนน้อยที่สุดในรอบ ๑๐ ปี 
  • แต่มีแปลกอยู่อย่าง.... คณะโบราณคดี ม.ศิลปกร มีคนสมัครเพิ่มขึ้นเท่าตัว....ฮา  (กระแสละครบุพเพสันนิวาส)

  •  ปีนี้ (๖๑) ผู้คน ๖๐ ปี อยู่ที่ ๑๙ เปอร์เซ็นต์ จะเพิ่มเป็น ๒๗ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๗๓ และเป็น ๓๒ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๘๓ ... ผมคือหนึ่งในนั้น แสดงว่า ต้องทำงานจนถึง ๗๐ ปี เป็นแน่....ฮา
  • ปี ๒๕๖๔ ประเทศไทยน่าจะเข้าสู่ประเทศสังคมผู้สูงอายุ (คนแก่ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ )
  • เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว เด็กไทยเกิดปีละ ๑.๑ ล้านคน แต่ปีนี้ เหลือเพียง ๖.๗ แสน คนเท่านั้น 
  • ท่านเล่าว่า... มีผลงานวิจัยชี้ว่า คนแก่ที่มาทำงานจะมีชีวิตที่ดีกว่าคนแก่ที่ไม่ได้ทำงาน
  • ปี้นี้ คนทำงาน ๕.๗ คน ต่อคนแก่ ๑ คน แต่อีก ๓๐ ปี จะเหลือคนทำงาน ๑.๗ คน ต่อคนแก่ ๑ คน 
  • ขณะนี้คนทำงานครึ่งหนึ่ง ยังไม่จบปริญญาตรี  หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือ ต้องสร้างหลักสูตรสำหรับคนเหล่านั้น ไม่ใช่รอเฉพาะเด็กมัธยมเท่านั้น 
  • หลายประเทศจึงส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงเริ่มเปิดคอร์สสำหรับผู้ทำงานหรือผู้สูงอายุที่จะกลับมาเรียน 

  • ท่านเล่าว่า มีผลงานวิจัยชี้ถึงสมาธิของเด็กในยุค Z มีเพียง ๘ วินาทีเท่านั้น  อะไรที่ทำให้เขาไม่สนใจใน ๘ วินาทีแรก จะถูกปิด เปลี่ยนไปดูอย่างอื่น .... ที่ผมเขียนยาวๆ  ในบันทึกคงไม่มีเด็กยุคนี้อ่านเป็นแน่ 

  • คนที่เกิดหลังปี 2000 หรือ ๒๕๔๓ Gen Z แตกต่างจาก Gen Y มาก 
  • Gen Z จะอ่อนน้อมถ่อมต้นมากกว่า มีความเป็นส่วนตัวสูง มีจิตอาสามากกว่า มีความเป็นมนุษย์มากกว่า อยู่กับความเป็นจริงมากกว่า ต้องการความสำเร็จมากกว่า 

  • ยุโรป วางเป้าว่า ปี 2025 ครึ่งหนึ่งของงานจะต้องเป็น high-level qualifications งานที่ต้องใช้คนศักยภาพสูง  ๖๕ เปอร์เซ็นต์ของเด็กประถมในขณะนี้ จะทำงานใหม่ที่คนสมัยนี้ไม่รู้จัก 
  • เศรษฐกิจบนฐานความรู้ 

  •  ต่อไป การเรียนที่เป็นทางการจะลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ 

  • ธนาคารเริ่มปิดสาขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางธนาคารปิดแล้ว ๒๐-๓๐ สาขา  คนจะเริ่มตกงาน 
  • รูปแบบทางธุรกิจจะเปลี่ยแปลงไปทั้งหมด 

  • การเรียนรู้จะไม่เป็นหลักสูตร รายวิชา (ประจำสัปดาห์) แบบทุกวันนี้  จะเป็น Module  เรียนเฉพาะวิชาหรือสิ่งที่จะต้องนำไปใช้  
  • ต่อไปจะเน้นสมรรถนะและทักษะมากกว่าความรู้ ไม่เป็นคณะ  อีก ๖ ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด จะยกเลิกคณะ 
  • การเรียนรู้ออนไลน์ สื่อการเรียนรู้แบบใหม่ จะเข้ามาแทนที่การสอนแบบเดิม 
  • สังคมจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ใครไม่เรียนรู้จะอยู่ได้ยาก 
  • ต่อไป หากอาจารย์มหาวิทยาลัยทำหลักสูตรออนไลน์ จะสามารถนำไปเป็นผลงานขอตำแหน่งวิชาการได้ 
  • ต่อไป นิสิตนักศึกษาจะมีเป้าหมายชัดเจน จะออกค้นหาตนเองก่อน ทำงานก่อน เมื่อทราบว่าตนเองต้องการอะไรอย่างชัดเจน ถึงกลับมาเรียน 
  • หากมหาวิทยาลัยในไทยไม่ปรับตัว อีกหน่อยคนมีเงินจะส่งลูกไปเรียนสิงคโปร์กันหมด  
  • การเรียนรู้ต้องเป็นการเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย สร้างสรรค์ นำไปปฏิบัติจริงได้ และต้องเป็นไปเพื่อส่วนรวม

  •  ต้องรู้จัก Learn Relearn และ Unlearn
  •  เรียนแบบ ๔.๐ จะไม่ใช่การสอนแบบถ่ายทอดอีกแล้ว  

  • สไลด์ด้านบนนี้ แสดง Global Competitive Index เปรียบเทียบระหว่างไทยกับมาเลเซีย 
  • มาเลฯ ดีกว่าไทยหมด (โอกาสในการแข่งขัน) แต่กระทรวงอุดมฯ จะมุ่งเอาชนะด้านนวัตกรรม

  • การเรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องปรับตนเองเป็น demand size ต้องไม่ใช่เรียนอะไรมาก็ต้องสอนอันนั้น 
  • ปริญญาจะหมดความสำคัญลงเรื่อย ...  มหาวิทยาลัยต้องเตรียมพร้อมและสร้างงานใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมี

  • อธิการของสแตนฟอร์ด บอกว่า ไม่จำเป็นจะต้องวางแผนชีวิตของตนเองตอนเข้ามาปี ๑  จึงประกาศนโยบายว่าจะยกเลิกคณะภายในวาระของท่าน 

  • สิงคโปร์ เปลี่ยนนโยบายทางการศึกษาว่า  ลูกค้าของมหาวิทยาลัยจะเป็นลูกค้าตลอดชีวิต เปิดสอนสำหรับทุกช่วงวัย
  • ท่านบอกว่า เราต้องทำแบบเขา จะมามองเฉพาะเด็กมัธยมเหมือนเดิมไม่ได้

  • ตอนนี้อเมริกาต้องการกำลังคนเรื่อง data science มาก จบเท่าไหร่รับหมด...

  • ผมเคยเขียนเรื่อง Khan academy ไว้ที่นี่
  • ในอนาคตคนจะทำงานก่อนแล้วมาเรียนทีหลัง 

  •  ยุโรปตั้งเป้าว่า นอกจากวิจัยแล้ว ยังเน้นเรื่องการเรียนรู้ และรับคนต่างประเทศเป็นลูกค้า

  • หลักสูตรเดี่ยวจะสำคัญน้อยลง จะต้องยึดหยุ่น หลากหลาย รวมกันหลายหลักสูตร 

  • กระทรวงอุดมศึกษาจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย แลกเปลี่ยน content หลักสูตร ฯลฯ 
  • ต่อไปจะต้องมี credit transfer ระหว่างมหาวิทยาลัยให้ได้  ... เราไม่เชื่อใจ ไม่ไว้ใจกัน 
  • ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • Digital Skills คือ กระดูกสันหลังของคนรุ่นใหม่ เราต้องสร้างสิ่งนี้ให้เขา 
  • ภาษาอังกฤษจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด 

  •  ต่อไปหลักสูตรเดี่ยวจะมีความสำคัญน้อยลง 
  • มี ๓ ขา ของการพัฒนาคือ การศึกษา การฝึกทักษะ และ การพัฒนาวิชาชีพ 

  • อาจารย์ต้องมีหน้าที่แตกต่างไป  ต้องไม่ใช่มาถ่ายทอดสอน แต่มีหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก
  • การเรียนรู้ คือ ต้องให้นิสิต นักศึกษา ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ด้วยตนเอง เน้นประสบการณ์ในการเรียนรู้

  • ทุกมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว วางตำแหน่งตนเองให้ดี หาตัวตนให้เจอ จุดแข็งของท่านคืออะไร จะต้องเอาสิ่งนั้นมาเป็นจุดขายสำคัญ 

  • สิ่งที่ต้องเปลี่ยนความคิดว่า มหาวิทยาลัยต้องตอบโจทย์ประเทศ ทำเพื่อประเทศ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยของฉัน คณะของฉัน สาขาของฉัน ่...
  • มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนบทบาท ต้องเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชนสังคม 

  •  เราต้อง "โฟกัส" ต้องมีสมาธิ มาร่วมกันเปลี่ยน่และพัฒนาประเทศของเรา 

  •  โครงการที่รัฐบาล คสช. กำลังทำ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีช่วย คือ โครงการ "บัณฑิตพันธุ์ใหม่" 

ผมพิจารณาว่า ท่านรัฐมนตรีต้องการจะเผยแพร่สิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว จึงเดินเข้าไปขอสไลด์ แล้วนำมาบันทึกไว้...ท่านใดที่อยากได้ ppt (ดาวน์โหลด ที่นี่


หมายเลขบันทึก: 646372เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2018 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 เมษายน 2018 14:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณสำหรับการบันทึกที่มีคุณค่าค่ะ

ขออนุญาตินำ slide ไปอ่าน เรียนรู้เพิ่มนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท