ประโยชน์สาธารณะ (3) : คำว่า “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560


ประโยชน์สาธารณะ (3) : คำว่า “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

26 พฤศจิกายน 2560
 

 

ประโยชน์แก่ส่วนรวม หรือ ประโยชน์สาธารณะ (Public interest)

มีคำว่า “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” หรือ “Public interest” (คำเดิม ๆ ที่เคยใช้กันมาคือคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ”) [1] ที่ได้นำมาบัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” [2] ในหลากหลายคำ (Legal Term) ซึ่งมีความแตกต่างจากที่เคยบัญญัติใน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 [3] บ้าง  โดยในความหมายรวม ๆ ก็คือ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ตามมาตรา 3 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นั่นเอง

มาตรา 3 บัญญัติว่า ““ประโยชน์แก่ส่วนรวม” หมายความว่า ประโยชน์ต่อสาธารณะหรือประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะหรือการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากการดำเนินการหรือการกระทำที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริม หรือสนับสนุนแก่ประชาชนเป็นส่วนรวม หรือประชาชนส่วนรวมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการหรือการกระทำนั้น” [4]

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า คำที่หมายถึง “Public interest” ที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 หลายคำ ปรากฏว่า “ไม่มี” คำเหล่านี้ใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เช่นไม่มีคำว่า “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” (แต่มีคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” มาแทน) “ผลประโยชน์แห่งชาติ” “ผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม” “ประโยชน์โดยส่วนรวม” “ประโยชน์ของรัฐ” (แต่มีคำว่า “ประโยชน์ของแผ่นดิน”) “ประโยชน์ร่วมกันของสาธารณะ”  เป็นต้น

 

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (COI – Conflict of Interest)

          นอกจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวเนื่องกัน อันเป็น “ประโยชน์ส่วนตนที่ไปขัดแย้งกับประโยชน์สาธารณะ” คือคำว่า “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” หรือ “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “ความมีส่วนได้เสีย” หรือ “การก้าวก่ายแทรกแซงงาน”  หรือที่เรียกกันว่า “การขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ” ก็ยังคงปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (มาตรา 184-187)

 

ความหมาย “การขัดกันแห่งผลประโยชน์”

การขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถานว่า ผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) คือ สถานการณ์ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งอันเป็นที่ไว้วางใจ เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในองค์กร ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข เป็นต้น ต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ในวิชาชีพ ซึ่งทำให้ตัดสินใจยากในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติได้ การขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้สามารถเกิดขึ้นได้แม้ไม่ส่งผลทางจริยธรรมหรือความไม่เหมาะสมต่าง ๆ และสามารถทำให้ทุเลาเบาบางลงได้ด้วยการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอก การขัดกันแห่งผลประโยชน์มิได้ปรากฏแต่ในทางวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บุคคลมีบทบาทหลากหลายและบทบาทเหล่านั้นก็เกิดขัดกันเอง เช่น ผู้จัดการฝ่ายขายอาจมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และก็อาจมีหน้าที่ในทางกตัญญูกตเวทีต่อญาติพี่น้องที่มาเสนอขายสินค้าใด ๆ เป็นต้น [5]

กล่าวโดยสรุป “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ การขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์สาธารณะ เป็นสถานการณ์ที่นำผลตอบแทนที่ตนจะได้รับมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในหน้าที่ความรับผิดชอบทางราชการ เกิดการแทรกแซงในการตัดสินใจ มีความเอนเอียงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่สาธารณะควรได้รับ อาจมองได้ว่าผลประโยชน์ทับซ้อนนี้เป็นการทุจริตคอรัปชั่นอย่างหนึ่ง กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นควบคู่กับสังคม จึงมีการสร้างหลักต่างๆ ขึ้นมาเพื่อใช้กับผู้ดำรงตำแหน่ง เป็นหลักประกันในความปลอดภัยของหน่วยงาน ในด้านข้อมูลและผลประโยชน์ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดังกล่าวขึ้น ทั้งนี้การที่จะใช้ได้นั้น จำเป็นต้องมีการบังคับให้เป็นกฎระเบียบที่ถูกต้อง ชัดเจนตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นตัวแทนของสาธารณะควรปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยถือประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ และไม่นำผลประโยชน์ของตนเองเข้ามาเป็นปัจจัยหลัก สิ่งเหล่านี้ก็จะสามารถป้องกันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการเมืองการบริหารได้ [6]

 

พบคำว่า “Conflict of Interest” มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นอกจากหมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ (มาตรา 184-187) รวม 3 มาตรา ดังนี้

มาตรา 114

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใด ๆและต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจาก “การขัดกันแห่งผลประโยชน์”

มาตรา 248 วรรคสาม

การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระโดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าว อย่างน้อยต้องมีบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติกฎหมายตามวรรคสาม ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามวรรคสองหรืออาจทำให้มี “การขัดกันแห่งผลประโยชน์”

มาตรา 250 วรรคห้า (วรรคท้าย)

กฎหมายตามวรรคหนึ่งและกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา การเงินและการคลัง และการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริตและการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความแตกต่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกัน “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” และการป้องกัน การก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่นด้วย

 

ลองมาแยกแยะคำว่า “Public interest”  ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งมีคำบัญญัติอยู่หลากหลายคำ ได้แก่

 

(1) คำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” ดูจาก

มาตรา 3 วรรคสอง

รัฐสภาคณะรัฐมนตรีศาลองค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม” ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม

มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ ...

(7) ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึง “ประโยชน์ส่วนรวม” ของประเทศเป็นสำคัญ

 

มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้...

ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน...

(4) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง

โดยคิดถึง “ประโยชน์ส่วนรวม” มากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา

 

(2) คำว่า “ผลประโยชน์ส่วนรวม” ดูจาก

มาตรา 75 วรรคสอง

รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษา “ผลประโยชน์ส่วนรวม”  การจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือการจัดทำบริการสาธารณะ

มาตรา 114 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใด ๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ “ประโยชน์ส่วนรวม” ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

มาตรา 247 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ ...

(วรรคท้าย) ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนชาวไทยและ “ผลประโยชน์ส่วนรวม” ของชาติเป็นสำคัญด้วย

 

(3) คำว่า “ประโยชน์ของประเทศและประชาชน” ดูจาก

มาตรา 13 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า  (ชื่อผู้ปฏิญาณ)ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ “ประโยชน์ของประเทศและประชาชน” ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 19 ก่อนเข้ารับหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา๑๖หรือมาตรา ๑๗ ต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ)ขอปฏิญาณว่าข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย)และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ “ประโยชน์ของประเทศและประชาชน”  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 115 ก่อนเข้ารับหน้าที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำ ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้า  (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า  ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ “ประโยชน์ของประเทศและประชาชน”  ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

มาตรา 161 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“ข้าพระพุทธเจ้า  (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า  ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อ “ประโยชน์ของประเทศและประชาชน” ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

 

(4) คำว่า “ประโยชน์ต่อสาธารณะ” ไม่มีคำนี้ ที่เคยมีใน รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่มีคำใหม่ว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ดูจาก

มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว

การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ”

มาตรา 37 วรรคสาม

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค  การป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติหรือเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างอื่น และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรม ภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายจากการเวนคืน โดยคำนึงถึง “ประโยชน์สาธารณะ” ผลกระทบต่อผู้ถูกเวนคืน รวมทั้งประโยชน์ที่ผู้ถูกเวนคืนอาจได้รับจากการเวนคืนนั้น

มาตรา 40 วรรคสอง

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม  การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ” อย่างอื่น

มาตรา 42 วรรคสอง

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครอง “ประโยชน์สาธารณะ”  เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

มาตรา 60 วรรคสอง วรรคสาม

การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไป “เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ความมั่นคงของรัฐ และ “ประโยชน์สาธารณะ”  รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้ องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็นป้องกันมิให้คลื่นความถี่รบกวนกัน รวมตลอดทั้งป้องกันการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้หรือปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริงของประชาชน และป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป รวมตลอดทั้งการกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำที่ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่จะต้องดำเนินการเพื่อ “ประโยชน์สาธารณะ”  ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(ในมาตรา 60 วรรคแรก มีคำว่า “เกิดประโยชน์แก่...” มาตรา 60 วรรคสอง มีคำว่า “เพื่อประโยชน์สูงสุดของ...” ด้วย)

 

(5) คำว่า “ผลประโยชน์ของชาติ...” ดูจาก

มาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้...

(2) ป้องกันประเทศพิทักษ์รักษาเกียรติภูมิ “ผลประโยชน์ของชาติ” และสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งให้ความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

มาตรา 52 รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยเกียรติภูมิและ “ผลประโยชน์ของชาติ” ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ

มาตรา 66 รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศโดยถือหลักความเสมอภาคในการปฏิบัติต่อกันและไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกันให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศและคุ้มครอง “ผลประโยชน์ของชาติและของคนไทย” ในต่างประเทศ

มาตรา 219 ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ทั้งนี้มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าวต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและ “ผลประโยชน์ของชาติ” และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง

 

(6) คำว่า “เกิดประโยชน์แก่...” ดูจาก

มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้ “เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” โดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชน “ได้รับประโยชน์” นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(มาตรา 50 มีคำว่า “ได้รับประโยชน์” ด้วย)

มาตรา 60 รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้ “เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน”

(ในมาตรา 60 วรรคสอง วรรคสาม มีคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” มาตรา 60 วรรคสอง มีคำว่า “เพื่อประโยชน์สูงสุดของ...” ด้วย)

 

(7) คำว่า “เป็นประโยชน์แก่” ดูจาก

มาตรา 250 วรรคสาม

ในการจัดทำบริการสาธารณะหรือกิจกรรมสาธารณะใดที่เป็นหน้าที่และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าการร่วมดำเนินการกับเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐหรือการมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการ จะ “เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น” มากกว่าการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะดำเนินการเอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมหรือมอบหมายให้เอกชนหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินการนั้นก็ได้

มาตรา 269 วรรคสอง อนุ 1

(ข) ให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันจะ “เป็นประโยชน์แก่” การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจำนวนไม่เกินสี่ร้อยคน ตามวิธีการที่คณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภากำหนดแล้วนำรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งนี้ ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดตาม (ก)

 

(8) คำว่า “...ได้รับประโยชน์...” ดูจาก

มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้ “เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” โดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  เพื่อจัดให้ “ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์” นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

(มาตรา 51 มีคำว่า “เกิดประโยชน์แก่ประชาชน” ด้วย)

มาตรา 56 วรรคสี่ (วรรคท้าย)

การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจไม่ว่าด้วยประการใด ๆ “รัฐต้องได้รับประโยชน์ตอบแทน” อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน

มาตรา 57 วรรคสอง อนุ 2

(2) อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ “ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์” จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชน “มีโอกาสได้รับประโยชน์” จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ

มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้...

ฉ. ด้านเศรษฐกิจ

(1) ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ “ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์” จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี

 

(9) คำว่า “เพื่อประโยชน์สูงสุดของ...” ดูจาก

มาตรา 60 วรรคสอง 

การจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือ เพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไป “เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ความมั่นคงของรัฐ และ “ประโยชน์สาธารณะ”  รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

(มาตรา 60 วรรคสอง วรรคสาม มีคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” และ มาตรา 60 วรรคแรก มีคำว่า “เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” ด้วย)

มาตรา 164 ในการบริหารราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเสียสละเปิดเผยและมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ “เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม” ...

 

(10) คำว่า “ประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน” ดูจาก

มาตรา 150 วรรคสอง

รัฐมนตรีย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผยเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือ “ประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน”

มาตรา 162 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อ “ประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน” คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดำเนินการไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นก็ได้

 

(11) คำว่า “ประโยชน์ของแผ่นดิน” ดูจาก

มาตรา 174 ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโดยด่วนและลับเพื่อรักษา “ประโยชน์ของแผ่นดิน” พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

 

อ้างอิงเพิ่มเติม

(1) ณัฐพล ลือสิงหนาท, “การกระทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ … ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.”สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง, http://www.admincourt.go.th/00_web/09_academic/document/05_case/180852_02.pdf

 

(2) นันทวัฒน์ บรมานันท์, “ความหมายของประโยชน์สาธารณะ.” คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 27 ธันวาคม 2547. http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?ID=461

 

(3) นิธินันท์ สุขวงศ์, อัยการจังหวัดประจำกรม. “ข้อสังเกตบางประการ ในถ้อยคำ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542”. 8 พฤศจิกายน 2552, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1402

 

(4) เพลินตา ตันรังสรรค์, กฎหมายภายใต้หลัก Conflict of Interest, นิติกร สำนักกฎหมาย, สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, บทความทางวิชาการใน จุลนิติ ก.ย.-ต.ค. 2552,

http://www.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCKeditor/upload/Image/b/b114%20jun_6_5.pdf

 

(5) รวมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ทุกฉบับ

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 94 ก วันที่ 10 ตุลาคม 2542,

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc1.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 29 ก วันที่ 31 มีนาคม 2545,

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc2.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2548 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนที่ 14 ก วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2548, 

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc3.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550,

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc4.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 39 ก วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551,

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc5.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2554 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 - 4 เล่ม 128 ตอนที่ 29 ก วันที่ 27 เมษายน 2554,

http://www.admincourt.go.th/00_web/05_law/doc/courtc6.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2557 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา หน้า 4 - 10 เล่ม 131 ตอนที่ 79 ก วันที่ 4 ธันวาคม 2557,

http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/law79-041257-4.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 36 ก วันที่ 26 เมษายน 2559,

http://www.senate.go.th/bill/bk_data/184-6.pdf

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560 ประกาศ ราชกิจจานุเบกษา หน้า 5 เล่ม 134 ตอนที่ 98 ก วันที่ 26 กันยายน 2560,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/098/5.PDF

 

(6) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ฉบับเต็มรวมแก้ไขถึงฉบับที่ 9, 

http://www.admincourt.go.th/admincourt/site/www.admincourt.go.th/admincourt/site/06law.html

& http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A828/%A828-20-9999-update.pdf

 

++++++++++++++++++++++++++++

[1]“ประโยชน์ต่อสาธารณะ” และ “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” หรือ “Public interest” สรุปว่า   “... ผลประโยชน์สาธารณะยังหมายรวมถึงหลักประโยชน์ต่อมวลสมาชิกในสังคม ...”

ดูใน Phachern Thammasarangkoon, ประโยชน์สาธารณะ, 2 มีนาคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/521175 

[2]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 1-90 เล่ม 134 ตอนที่ 40 ก วันที่ 6 เมษายน 2560, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF   

[3]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 – 127 เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550, http://www.mua.go.th/users/he-commission/doc/law/Constitution2550.pdf  

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 13 ก วันที่ 4 มีนาคม 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 93 – 98  และ มาตรา 101(5) มาตรา 109(2)

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 13 ก  วันที่ 4 มีนาคม 2554 โดยมีการแก้ไขมาตรา 190 เพียงมาตราเดียว

[4]พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 เพิ่มบทนิยามต่อจากบทนิยามคำว่า “สัญญาทางปกครอง” ตาม ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 มาตรา 3

[5]การขัดกันแห่งผลประโยชน์, วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

[6]กฤษณ์  วงศ์วิเศษธร, ผลประโยชน์ทับซ้อน, ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ผลประโยชน์ทับซ้อน_(กฤษณ์_วงศ์วิเศษธร) 

 

หมายเลขบันทึก: 642093เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2017 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2023 11:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เขียนใน GotoKnow โดย Ph Thammasarangkoon ใน Administration Lawประโยชน์สาธารณะ(1), 2 มีนาคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/521175ประโยชน์สาธารณะ(2), 3 มีนาคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/521200ประโยชน์สาธารณะ(3) : คำว่า “ประโยชน์แก่ส่วนรวม” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, 26 พฤศจิกายน 2560, https://www.gotoknow.org/posts/642093

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท