รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ _แนวทางการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนสำหรับ ๑/๖๑ เป็นต้นไป


วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ สำนักศึกษาทั่วไปจัดประชุม KM อาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ เพื่อรับฟังแนวทางในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนของรายวิชาฯ กับผู้ทรงคุณวุฒิหลัก ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ ท่านเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก "จิตตปัญญาศึกษา" ในมหาวิทยาลัย และนำมาปรับใช้กับทั้งการพัฒนาคน พัฒนางาน การบริหาร และพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ...กิจกรรมวันนี้ แทนที่จะเป็นการมาบรรยาย ถ่ายทอด มอบหมาย แต่ใช้สุนทรียสนทนา (Dialogue) เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะสรุปประเด็นได้อย่างชัด สั้น ลัด ให้ฝ่ายปฏิบัติไปทำต่อ

รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ปัจจุบันมีอาจารย์ผู้สอนในตาราง ๑๔ ท่าน ได้แก่ ๑) อ.ธวัช ๒) อ.วิไลลักษณ์ ๓) อ.นพคุณ ๔) อ.สุมลวรรณ ๕) อ.นารีรัตน์ (ภาควิชาประวัติศาสตร์) ๖) อ.จารุวรรณ ๗) อ.ชัยพร ๘) อ.เทอดศักดิ์ ๙) อ.นริสา ๑๐) สุรเชษฐ์ ๑๑) อ.กันตา และ ๑๒) สุภลักษณ์  ๑๓) อ.อรอุมาและรวมถึง ผมเองเป็น ๑๔) อ.ฤทธิไกร วันนี้มาประชุมเพียง ๕ ท่าน  เท่าที่ประสานผ่านทางไลน์ ไม่ใช่เหตุผลเรื่องไม่ให้ความสำคัญ แต่อาจารย์หลายท่านติดภารกิจการสอนและราชการในกาลที่จำกัด  อย่างไรก็ดี การประชุมเกรดปลายปีนี้หวังว่าคงได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน  ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ในการพัฒนาเอกสารประกอบการสอน ในประเด็นที่ผมเห็นเด่น อยากจะส่งมาให้อาจารย์ท่านอื่น ๆ ได้อ่าน ครับ

แจ้งเพื่อทุกท่านทราบ

  • ผมนำเอาบัญชีรับ-จ่าย เรื่องจำหน่ายเอกสารประกอบการสอนมาแจ้งให้อาจารย์ทุกท่านทราบ มีรายละเอียดการผลิต การจัดการจำหน่าย และการบริหารจัดการต่าง ๆ โปร่งใสที่สุด ดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ 
  • แผนการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนรอบนี้ มีกำหนดจะนำไปใช้ในปีการศึกษาที่ ๑/๒๕๖๑  โดยต้องผ่านให้ผู้ทรงคุณวุฒิหลักในเดือนมกราคม ๒๕๖๑ ผู้ทรงภายนอกอ่าน ๒ ท่านช่วง กุมภาพันธ์ - มีนาคม นำมาแก้ไขช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม จัดการผลิตช่วงเดือน มิถุนายน-กรกฎาคม และใช้ประกอบการสอนในเดิอนสิงหาคม ๒๕๖๑ .... ดังนั้น ร่างของหนังสือฉบับปรับปรุงควรจะเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ 

สะท้อนแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอน 

  • วิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ หรือวิชามนุษย์และการเรียนรู้ เป็นวิชาเดียวที่มุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้ตนเองภายใน มีความสำคัญมาก ถือเป็นเรื่องที่สำคัญและสิ่งใหญ่ ที่จะปลูกฝังให้นิสิตได้รู้จักโลกภายในของตนเอง 
  • รากเหง้าของรายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้คือ ความประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง หรือที่เรียก Transformative Learning ซึ่ง(ก็คือหรือ)ใกล้เคียงกับจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัย รศ.ดร.พิสมัย ศรีอำไพ เป็นรองอธิการฝ่ายวิชาการ และเกิดการรวมกลุ่มผู้สนใจเรียนรู้ร่วมกัน (ประจำสัปดาห์) อย่างต่อเนื่อง  จนเกิดเป็นรายวิชามนุษย์กับการเรียนรู้ ก่อนจะมารวมกับศาสตร์ทางจิตวิทยากระแสหลัก กลายเป็นรายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ในปัจจุบัน 
  • บทที่ ๑ เรื่อง ธรรมชาติของการเรียนรู้นั้นดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะควรจะเน้นศาสตร์เรื่องสมอง เช่น ธรรมชาติและการทำงานของสมอง ที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับมากขึ้น และเชื่อมโยงสู่จิตตปัญญาศึกษา ในหัวเรื่อง "สมอง ๓ ชั้น ปัญญา ๓ ฐาน "  ...  ผมเคยเขียนบันทึกการถอดบทเรียนเรื่องนี้ไว้เมื่อครั้งที่เราแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครั้งก่อน อ่านได้ที่นี่ครับ 
  • บทที่ ๒ ควรนำเอาศาสตร์ทางจิตวิทยากระแสหลัก มาบูรณาการสอนให้เชื่อมโยงต่อยอดจากบทแรก โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือหรือกิจกรรมที่นิยมใช้กันในวิชาจิตวิทยา เช่น หน้าต่างโจฮารี่ (ที่อาจารย์สะท้อนว่าได้ผลดีมาก) มาใช้ แล้วเชื่อมโยงไปสู่จิตตปัญญาศึกษา เป็นต้น  โดยอาจลดเนื้อหาทฤษฎีที่ต้องจดจำลง ... อย่างไรก็ดี บางทฤษฎีที่สำคัญและมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในกระบวนการศึกษา เช่น ความต้องการพื้นฐานของมาโลส์ (Maslow's Hierarchy of Needs) (ที่นี่)  ความดี ๖ ระดับของลอเรนซ์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg) เป็นต้น
  • บทที่ ๓ เรื่องสุนทรียสนทนา ให้รวมเอาเรื่องการฟังมารวมไว้ และนำเอาประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากเวที อ.ณัฐฬส วังวิญญู มาปรับลงในเอกสาร เช่น รูปกิจกรรมสัตว์สี่ทิศ สายธารชีวิต ฯลฯ เสริมกับกิจกรรมเดิมที่ดีอยู่แล้ว (อ่านบันทึกการเรียนรู้จากเวที อ.ณัฐฬส ได้ที่นี่และที่นี่)




  • บทที่ ๔ จิตตปัญญาศึกษา  เป็นบทสรุปของทั้งสามบทที่ผ่านมา  นำเอาประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้มาสรุปรวมเป็นหลักการ ทฤษฎี  สามารถสอนแบบบรรยายสรุปได้ 
  • บทที่ ๕ การพัฒนาตนเองและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างลึกซึ้ง  จะปรับเนื้อหาไม่ให้ซ้ำซ้อนกับบทที่ ๓-๔  
  • บทที่ ๖ การปรับตัวสู่สังคมยุคใหม่ การเปลี่ยนแปลงของคนในศตวรรษใหม่ยังคงให้ความสำคัญเช่นเดิม หัวเรื่องนี้ไม่มีความเห็นเชิงวิพากษ์ใด ๆ... ผมเห็นควรเน้นไปที่การเรียนรู้สมัยใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ และภาวะผู้นำ ผู้นำการเปลี่ยนแปลง    
  • ขนาดของหนังสือควรเป็นขนาดมาตรฐาน คือต้องเลือก A4 หรือไม่ก็ A5 ไม่ใช่ขนาด B5 เหมือนตอนนี้  ... เนื่องจากมีใบกิจกรรมจึงเสนอให้ใช้ขนาด A4 ซึ่งได้เสนอต่อทางสำนักศึกษาทั่วไปต่อไป 
ผลลัพธ์ทางการเรียนจากการสังเกตของอาจารย์

ท่านอาจารย์สุภลักษณ์ ซึ่งเริ่มสอนภาคเรียนนี้เป็นครั้งแรก ได้สะท้อนว่ากิจกรรมการเรียนการสอนของรายวิชาที่กำหนดไว้ในเอกสารประกอบการสอนนั้นดีมากแล้ว
  • ช่วงคาบแรก ๆ ชิ้นงาน จะเป็นการลอกกัน ก๊อปปี้กันมา เหมือนกันทุกตัวอักษร  แต่พอเริ่มสอนโดยใช้กิจกรรมที่วางไว้ตามเอกสาร  การลอกกันก็เริ่มน้อยลง ลดลง มีการสะท้อนความประทับใจ นิสิตใช้ใจเรียนมากขึ้น  
  • โชคดีที่ได้มาเรียนวิชานี้ ทำให้ได้รู้จักตนเองที่เมื่อก่อนไม่เคยรู้ เริ่มมีรู้จักเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น 
  • โดยเฉพาะ บทที่เราเปิดคลิปวีดีโอของคุณเป้า ปรปักษ์ และคลิปของคุณ คุณเอกชัย วรรณแก้ว ในรายการของ Thai PBS  หลังจากดูคลิปแล้ว  นิสิตเขียนสะท้อนได้ดีมาก (จนอยากจะให้คะแนน ๑๕ คะแนน เต็ม ๑๐)



ข้อสรุป

การประชุมแลกเปลี่ยนกันครั้งนี้ได้เฉพาะข้อสรุปในลักษณะ "แนวทาง" ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ไม่สามารถจะสรุปเป็นมติของอาจารย์ผู้สอนได้เนื่องจากอาจารย์ส่วนใหญ่ควรจะได้มาแลกเปลี่ยนและระดมสมองกัน  จึงได้สรุปกันว่า สำนักศึกษาทั่วไป ควรจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้อาจารย์ผู้สอนได้นำเอาประสบการณ์การสอนที่ผ่านมามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน และถอดบทเรียนเอากิจกรรมการเรียนการสอนที่ได้ผลดี มารวบรวมไว้เป็นหนังสือหรือตำราเรียนของรายวิชาต่อไป

หมายเลขบันทึก: 640070เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2017 19:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2017 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท