การสหกรณ์ไทยแลนด์ 4.0


การสหกรณ์ไทยแลนด์ 4.0

              ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องจึงจะอยู่รอดได้ หลักการพื้นฐานในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิตสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่หมายถึงการผลิต   ในจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าต่ำลง ช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าคู่แข่ง หรือที่เรียกว่าการประหยัดจากขนาด (Economies of scale)  ต่อมาทิศทางการยกระดับศักยภาพด้วยการทำธุรกิจหลายประเภทที่มีความเชื่อมโยงกัน (Supply chain) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในทางสหกรณ์นั้นก็ใช้ วิธีการประหยัดเนื่องจากระดับขนาด (Economies of scale) เช่นเดียวกัน หากแต่เป็นการประหยัดเนื่องจากระดับขนาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการรวมกันของสมาชิกสหกรณ์ ในสหกรณ์ขั้นปฐม (primary cooperative)  และการรวมกันของสหกรณ์สมาชิก  ในสหกรณ์ชั้นมัธยม (secondary cooperative) การรวมกันระหว่างสหกรณ์ในขบวนการสหกรณ์ เกิดการประหยัดเนื่องจากระดับขนาด ซึ่งเป็นผลได้ในทางเศรษฐกิจ แต่ในมิติทางสังคมนั้น สมาชิกสหกรณ์ และสหกรณ์สมาชิก มารวมกันด้วยน้ำใจไมตรี เพื่อแบ่งปันกัน ตามนิยามสหกรณ์ด้วย ในทางสหกรณ์จึงเกิดการประหยัดจากขนาด จากการรวมกัน ด้วยน้ำใจไมตรีเพื่อ แบ่งปัน และใช้ทรัพยากรร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน 

            การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การลดเวลาและต้นทุนในการผลิตสินค้าและบริการ การพัฒนาสินค้า ได้รวดเร็วขึ้น ให้บริการได้รวดเร็วทันใจตรงความต้องการลูกค้ามากขึ้น เป็นต้น การเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยความเร็วนั้น ธุรกิจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในธุรกิจ จากเดิมที่ใช้เอกสารกระดาษและใช้พนักงานจำนวนมาก ให้เป็นกระบวนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งข้อมูลระหว่างฝ่ายงานได้รวดเร็วและทำงานได้โดยอัตโนมัติ การประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิทัลเข้ามาในกระบวนการทำธุรกิจ (ที่เรียกว่า Digital business transformation) อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ของทุกองค์กรแต่ความจริงแล้ว ธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะปรับกระบวนการในส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดการบัญชี และการเงิน ไปจนถึงการชำระเงิน โดยอาจจะปรับหลายส่วนพร้อมกันเพื่อให้เชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจรหรือเลือกปรับใช้เฉพาะบางกระบวนการตามความจำเป็นและเหมาะสมก็เป็นได้ สิ่งเหล่านี้ภาคสหกรณ์ไทยก็พัฒนาตามอยู่ด้วยเช่นกัน ทำให้สหกรณ์สามารถให้บริการสมาชิกสหกรณ์ได้ทันภาคธุรกิจเอกชน

            ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีให้กระบวนการวางกลยุทธ์/การวางแผนในการผลิตให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลสถิติจากระบบการขาย เพื่อประมวลผลและวิเคราะห์การวางแผนการผลิตและเชื่อมโยงไปถึงการคำนวณปริมาณความต้องการจัดซื้อวัตถุดิบ ทำให้ธุรกิจสามารถจัดสรรทรัพยากรในการผลิต ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณความต้องการสินค้าและเวลาที่ลูกค้าต้องการได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา สร้างความต่อเนื่องให้กับสายการผลิต และป้องกันข้อผิดพลาดในแต่ละขั้นตอนการผลิต ในส่วนนี้ภาคสหกรณ์ก็ปรับใช้เทคโนโลยีให้ทันที่จะให้บริการสมาชิกสหกรณ์ของตนเอง ในทางสหกรณ์นั้นสมาชิกสหกรณ์เป็นทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการในคน ๆ เดียวกัน (co-owner  co-customer)  การเชื่อมโยงข้อมูลสถิติการให้บริการสมาชิกในรูปแบบอีเลคโทรนิคส์ จึงมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาบริการให้ตอบสนองความต้องการอันจำเป็นของสมาชิกสหกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาวางแผนไปในรูปแบบอีเลคโทรนิคส์ ให้มากยิ่งขึ้น

            ธุรกิจอาจพิจารณาปรับ กระบวนการสั่งซื้อ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลคำสั่งซื้อ (e-Purchase Order) กับคู่ค้าผ่านระบบที่เรียกว่า EDI (Electronic Data Interchange) และเชื่อมโยงเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการอนุมัติคำสั่งซื้อ มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถประหยัดต้นทุนและระยะเวลาได้มากขึ้น ในทางสหกรณ์นั้นต้องปรับกระบวนการให้บริการรวมกันซื้อ ให้เป็นอีเล็คทรอนิคส์ให้มากขึ้น เพราะในบริการรวมกันซื้อของสมาชิกสหกรณ์ และบริการรวมกันขายของสมาชิก ตลอดจนบริการสินเชื่อ  ต้องเชื่อมโยงกับธุรกิจด้านนอกในมาตรฐานที่พัฒนาไป และต้องพร้อมรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลียนไปสู่ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy)

            การจัดจำหน่ายและโลจิสติกส์(Logistics) เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนไปสู่ความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลในการกระจายสินค้าและการจัดการคลังสินค้าเพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทค้าปลีกที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกขนาดใหญ่ ได้นำเทคโนโลยี RFID (Radio frequency identification) ซึ่งอาศัยคลื่นวิทยุในการระบุสินค้าต่างๆ มาใช้ในกระบวนการจัดส่งสินค้า ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายแรงงานสินค้าสูญหายลดลง และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าลดลง นอกจากนี้ ยังได้นำระบบ GPS (Global Positioning System) หรือระบบบอกตำแหน่งมาช่วยในการจัดการขนส่งเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งและติดตามสินค้าได้แบบทันที(Real time e-tracking) ในปัจจุบันประเทศไทย ระบบลักษณะนี้ในปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบกได้ใช้กับโครงการ TAXI  OK และ TAXI  VIP ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาบริการของสหกรณ์แท๊กซี่ด้วย

            การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำธุรกิจ ยังรวมไปถึงกระบวนการในส่วนหน้าร้านที่ต้องติดต่อกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านการขายและการตลาด โดยธุรกิจสามารถพัฒนาการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางพาณิชย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce/m-Commerce) รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ที่เป็นที่นิยมและกำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันนี้ ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางการค้า ขยายตลาดและฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย ในข้อนี้จะทำให้บริการของสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ มีแดนดำเนินการทางอีเล็คโทรนิคส์ด้วย ซึ่งสหกรณ์จะต้องกลับมายึดหัวใจของความเป็นสหกรณ์ สหกรณ์เป็นไปตามนิยามสหกรณ์ (co-operative definition) คือ เป็นองค์การอิสระของบุคคลซึ่งรวมกันด้วยความสมัครใจเพื่อสนองความต้องการอันจำเป็น และความมุ่งหมายร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยการดำเนินวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของร่วมกัน และควบคุมตามแนวทางประชาธิปไตย  และ สหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์เป้าหมาย เป็นไปตามค่านิยมทางสหกรณ์ (co-operative values) คือ สหกรณ์พึ่งพาและรับผิดชอบตนเอง เป็นประชาธิปไตย มีความเสมอภาค มีความเที่ยงธรรม มีความสามัคคี สมาชิกสหกรณเป้าหมาย ตั้งมั่นอยู่ในค่านิยมทางจริยธรรม แห่งความซื่อสัตย์ เปิดเผย รับผิดชอบต่อสังคม และเอื้ออาทรต่อผู้อื่น สามารถให้บริการสมาชิก โดยคำนึงถึงภูมิสังคม ทางพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ ว่าสมาชิกสหกรณ์ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องการสิ่งใด จะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นตามความจำเป็นได้อย่างไร

            นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจอาจเลือกใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์(e-Invoice) แทนการใช้เอกสารกระดาษซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระในการจัดการข้อมูลและเอกสารต่างๆ เช่น การกรอกข้อมูล การส่งเอกสาร และการอนุมัติรายการแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการทำการค้ากับหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัทคู่ค้า หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความผิดพลาดและตรวจสอบข้อมูลได้ง่าย ซึ่งถ้าธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์จะทำให้ต้นทุนลดลงไปได้มากเลยทีเดียว สหกรณ์ไทยก็ต้องใช้ใบแจ้งหนี้อีเล็คโทรนิกส์ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนการให้บริการสมาชิกสหกรณ์

            เรื่องการชำระเงิน ซึ่งจะมาเกี่ยวข้องอยู่ในเกือบทุกขั้นตอนของกระบวนการทำธุรกิจ ตั้งแต่การชำระเงินให้กับซัพพลายเออร์การจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ ของบริษัทการจ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมถึงการรับชำระเงินค่าขายสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายและลูกค้า การปรับใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เช่น การโอนเงิน การใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ แทนการใช้เช็คและเงินสด จะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความผิดพลาด และลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการรับส่งเช็คและนำฝากเช็คและเงินสด ค่าเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในขั้นตอนการขออนุมัติค่าจัดเก็บเอกสาร เป็นต้น ที่สำคัญ ยังทำให้ธุรกิจได้รับเงินหมุนเวียนเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลานำฝากเช็คหรือรอเช็คเรียกเก็บ ช่วยให้บริหารเงินได้สะดวก คล่องตัว และต่อยอดธุรกิจได้ดีขึ้น เรื่องการชำระเงินทางอีเล็คทรอนิกส์ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญที่สหกรณ์ต้องใช้เพื่อลดต้นทุนในการให้บริการสมาชิกสหกรณ์ และเพื่อความสะดวกในการให้บริการสมาชิกสหกรณ์ ลักษณะเดียวกับธนาคารทางอินเตอร์เน็ต หรือ ธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ

            การปรับตัวไปสู่การทำธุรกิจแบบดิจิทัลที่กล่าวมาแล้ว เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ท้าทายภาคธุรกิจในยุคนี้ด้วยการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจได้ในหลายขั้นตอน ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัว เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการเพิ่มช่องทางการค้าและการตลาดให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในโลกธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง หากภาคธุรกิจยังไม่ตระหนัก ถึงความจำเป็นในการยกระดับศักยภาพการแข่งขัน ก็อาจพลาดโอกาสให้กับคู่แข่งไปอย่างน่าเสียดาย

            ในทางสหกรณ์การปรับสู่การให้บริการแบบดิจิทัล ถือเป็นสิ่งที่ควรทำในยุคนี้ เพราะจะช่วย   ลดต้นทุนการให้บริการสมาชิกสหกรณ์ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการให้บริการสมาชิกสหกรณ์ และเชื่อมโยงกับสหกรณ์อื่น เพิ่มช่องทางการแบ่งปันที่สร้างสรรค์ ทำให้สมาชิกสหกรณ์ และขบวนการสหกรณ์คงสภาพ อยู่ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ได้อย่างมั่นคง พอเพียง และยั่งยืน   บทวิเคราะห์ที่เขียนขึ้น ผู้เขียน ใช้การคิดแบบมุ่งเน้นทางออก (solution focused thinking) โดยคำนึงถึงความอยู่รอดของขบวนการสหกรณ์ไทย  ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคง พอเพียง และยั่งยืน 

              สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมให้สหกรณ์ดำเนินการเป็นไปตาม ปรัชญาของการสหกรณ์ นิยามสหกรณ์ ค่านิยมทางสหกรณ์ และหลักการสหกรณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของการสหกรณ์ ก็จะต้องยังคงอยู่แม้สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป การรวมกันในมิติทางเศรษฐกิจของสมาชิกสหกรณ์ นั้นเพื่อให้เกิดการประหยัดเนื่องจากระดับขนาด (Economies of scale) เมื่อนำมาประกอบกับมิติทางสังคม คือ การรวมกันด้วยน้ำใจไมตรี เพื่อแบ่งปัน อย่างสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อความสุขร่วมกัน ก็จะเห็นว่า การสหกรณ์คือ การรวมกันเพื่อ การประหยัดเนื่องจากระดับขนาด (Economies of scale) ด้วยน้ำใจไมตรี เพื่อแบ่งปัน อย่างสร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อความสุขร่วมกัน สิ่งนี้จะนำไปใช้ได้ในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล (Digital Economy) ผู้เขียนมีความเห็นว่า การร่วมมือกันเพื่ออำนาจต่อรอง (bargaining power) จะมีความสำคัญน้อยลง

ในระบบเศรษฐกิจแบบดิจิทัล สหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ จะสามารถพัฒนาบริการสหกรณ์และชุมนุมสหกรณ์ ภายใต้ปรัชญาของการสหกรณ์ “ช่วยตน ช่วยกัน” และความเป็นสหกรณ์ตามหลักการสหกรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อคงอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางดิจิทัล โดย นำหลักการทรงงาน “ภูมิสังคม” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อตอบสนองความต้องการอันจำเป็น (need) ของสมาชิก ซึ่งคือผู้ที่เป็นเจ้าของสหกรณ์ ตามนิยามสหกรณ์ เพื่อความพร้อมสำหรับการเข้าสู่การให้บริการ ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ด้วย FinTech และหรือนวัตกรรมใหม่ มุ่งสู่Thailand 4.0 ที่เป็น Value-based Economy โครงสร้างการผลิตที่พัฒนา เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ


บันทึกที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้   http://www.gotoknow.org/posts/593266  และ  http://www.gotoknow.org/posts/575879


พีระพงศ์ วาระเสน
28 กันยายน  2560

หมายเลขบันทึก: 638001เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2017 12:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ตุลาคม 2017 05:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท