Thai DPP และ NCD Clinic Plus 2017 รุ่นที่ 1


ได้ร่วมจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าประชุมรู้จักโปรแกรมการป้องกันโรคเบาหวานของโครงการ Thai DPP และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning)

การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพทีมสหวิชาชีพในการจัดบริการ NCD Clinic Plus ระดับ DHS รุ่นที่หนึ่งเมื่อวันที่ 3 – 5 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพมหานคร ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว งานนี้มี พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ และทีมเจ้าหน้าที่ของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นแม่งาน



พญ.สุมนี วัชรสินธุ์


ดิฉันและทีมงานโครงการ Thai DPP ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ โดยได้ร่วมจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าประชุมรู้จักโปรแกรมการป้องกันโรคเบาหวานของโครงการ Thai DPP และกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.15 น. จนถึงเย็นของวันที่ 4 กรกฎาคม 2560

ทีมวิทยากรของเรารวม 6 คน ประกอบด้วย ดิฉัน หมอฝน พญ.สกาวเดือน นำแสงกุล จาก รพ.ครบุรี นครราชสีมา น้องนวล วิลาวัณย์ ศรีโพธิ์ จาก รพ.สต.มะค่า นครราชสีมา น้องหลา ธิดา กิจจาชาญชัยกุล จาก รพ.ขามทะเลสอ นครราชสีมา ภญ.นุชนาฏ ตัสโต จาก รพ.ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ภก.เอนก ทนงหาญ จาก รพร.ธาตุพนม นครพนม เดิมจะมีคุณธวัช หมัดเต๊ะ ผู้เชี่ยวชาญด้าน KM ร่วมทีมด้วย แต่บังเอิญมีเหตุจำเป็นด้านครอบครัวจึงไม่สามารถมาทำงานได้


ทีมวิทยากร Thai DPP


เรามีการประชุมเตรียมการกันล่วงหน้า (อ่านที่นี่) แต่ก็มีการปรับแต่ง ปรับปรุงกันอยู่เรื่อย ๆ ไฟล์ PowerPoint ที่ใช้ก็ปรับกันล่าสุดเมื่อเกือบห้าทุ่มของคืนก่อนวันงาน ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้มากที่สุด น้องนะห์ อามีนะห์ เจะปอ เจ้าหน้าที่ของสำนักโรคไม่ติดต่อช่วยจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการจัดกิจกรรมเอาไว้ให้ เรารับสมัครคนพาทำกิจกรรมตามโปรแกรม Thai DPP ตั้งแต่วันที่ 3 ปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างดี 


ผู้เข้าประชุมมาลงชื่อสมัครเป็นคนพาทำกิจกรรม


วันที่ 4 กรกฎาคม 2560

ช่วงแรกของกิจกรรมเราจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นกลุ่ม ๆ ละ 10 คน เมื่อเริ่มเปิดเวที หมอฝนสร้างบรรยากาศด้วยการเปิดเพลง If we hold on together ทีมที่เหลือพยายามเชิญชวนผู้เข้าประชุมให้เข้านั่งรวมกลุ่มให้ครบ 10 คนและเชิญให้มานั่งในด้านหน้า ๆ ขอกลุ่มอาสา 3 กลุ่ม พาผู้เข้าประชุมอบอุ่นร่างกาย พาออกกำลังกายในท่าต่างๆ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกคนเป็นอย่างดี เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศจากการนั่งฟังการบรรยายตั้งแต่เมื่อวานทั้งวันจนถึงช่วงเช้าวันนี้


ขยับร่างกายตามที่เพื่อนนำทำ


ช่วงเวลานี้เราต้องการให้ผู้เข้าประชุมได้เข้าใจเรื่องการเรียนรู้และได้ทบทวนประสบการณ์ของตนเอง จึงมีโจทย์ให้ได้คิดย้อนถึงการให้ความรู้แก่กลุ่มเสี่ยง/ ผู้ป่วยเบาหวานที่ผ่านมา ให้แต่ละคน list วิธีการปฏิบัติของตนและรวบรวมออกมาว่าในกลุ่มใช้วิธีการใดกันบ้าง เปรียบเทียบกับ learning pyramid ที่มี % ของ retention rate ของวิธีการเรียนรู้แบบ passive และ active วิเคราะห์ว่าวิธีการต่าง ๆ เหล่านั้นมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ให้บางกลุ่มได้นำเสนอ ต่อด้วยการให้ชม VDO แล้วให้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าผู้ให้ความรู้นั้นใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบใด ถ้าจะทำแบบนี้ได้จะต้องมีทักษะอะไรบ้าง

เป็นการเริ่มต้นที่เราหวังว่าผู้เข้าประชุมจะเกิดความสนใจและอยากจะเรียนรู้ต่อ 



งานกลุ่มในช่วงแรก


เรานำเสนอกำหนดการจัดกิจกรรมต่อจากนี้ว่าเราจะจัดให้ผู้เข้าประชุมได้มีประสบการณ์ในการจัดหรือการเรียนรู้ตามโปรแกรม Thai DPP ซึ่งเมื่อวานเราได้รับสมัครผู้ที่จะมาทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ (A) คนที่เหลือส่วนหนึ่งจะทำตัวเป็นกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน (B) อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ตามแนวทางที่เราให้โจทย์ไว้ (C) เราเลือกกิจกรรมในโปรแกรม Thai DPP ให้ลองทำ 2 กิจกรรมคือการเรียนรู้ความเสี่ยงเบาหวาน "หน้าขาว อย่าเบาใจ" และการออกกำลังกาย "ชีวิตกระฉับกระเฉง เบากาย ไร้พุง"

ทีมวิทยากรแบ่งหน้าที่กัน ส่วนหนึ่งไปเตรียม A ที่จะต้องจัดการเรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งเตรียมผู้ที่จะทำหน้าที่เตรียม B และ C จนถึงเวลาอาหารกลางวัน

หลังรับประทานอาหารกลางวันแล้ว เราจึงแบ่งห้องประชุมเป็น 2 ห้อง ให้ผู้เข้าประชุมได้จัดการเรียนรู้ตามโปรแกรม Thai DPP ห้องละกิจกรรม ทีมวิทยากรเฝ้าสังเกตการทำกิจกรรม พบว่า A และ B มีความตั้งใจทำกิจกรรมกันอย่างดี กลุ่ม C ซึ่งมีคนอยู่จำนวนมาก มีบางส่วนดูจะไม่ค่อยสนใจเต็มที่นัก



กิจกรรมหน้าขาว อย่าเบาใจ


ส่วนหนึ่งของกิจกรรมชีวิตกระฉับกระเฉง เบากาย ไร้พุง


หลังจัดกิจกรรมเสร็จ เราให้ A, B, C ได้อยู่กับตัวเอง เขียน short note ตามโจทย์ที่เราให้ไว้ แล้วแต่ละห้องก็เข้าสู่กระบวนการถอดบทเรียน นอกจากผู้เข้าประชุมจะได้สะท้อนคิดจากประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านมาเมื่อครู่แล้ว ยังมีข้อเสนอแนะดี ๆ ให้แก่ทีมวิทยากรด้วย

เมื่อจบการถอดบทเรียน เราให้ผู้เข้าประชุมรวมกันอยู่ในห้องเดียว ดิฉันขอให้ผู้เข้าประชุม AAR เราปิดกิจกรรมด้วยการฉาย Slide ภาพกิจกรรมตอนที่พวกเราใน 8 จังหวัดทำงานโครงการ Thai DPP ประกอบเพลง If we hold on together เพื่อสื่อให้รู้ว่าหากใครจะนำโปรแกรมนี้ไปทำงานต่อ เขาไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง พวกเราพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือ

ปิดกิจกรรมเมื่อเวลาประมาณ 16.30 น. พวกเราทีมวิทยากร AAR กันต่ออีกประมาณหนึ่งชั่วโมง แต่ละคนรู้ว่าการจัดกิจกรรมครั้งหน้าในรุ่นที่สองจะปรับปรุงอะไร อย่างไรบ้าง


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560


หมายเลขบันทึก: 631387เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2017 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2017 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท