บทบาทภาคธุรกิจกับการต้านทุจริต (2) : ประสิทธิภาพและเทคโนโลยีจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่น


การส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหา “สินบน” เพื่อป้องกันการรับหรือเรียกสินบนของภาคราชการ

จากที่ได้เขียนเล่าเรื่องการจัดงานสัมมนา “บทบาทภาคธุรกิจกับการต้านทุจริตติดสินบท” โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ในบันทึก https://www.gotoknow.org/posts/630951    ที่เท้าความไปถึงต้นสายปลายเหตุที่ผมได้มีส่วนไปเกี่ยวข้องและเรื่องทั่วไปของงานสัมมนา

ระหว่างเสวนา วิทยากรทั้ง 4 ท่านได้แสดงทัศนะตาม ฐานคิดและแนวทางส่วนตัว ประกอบกับแนวคิดและเรื่องเล่าของ ศ.ดร.ภักดี  วิทยากรในภาคเช้าเป็นฐานการคิดและถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คุณนิกร และคุณสุทธิเลิศ พูดถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่องค์กรธุรกิจต้องดำเนินการหรือถือปฏิบัติ เอกชนต้องพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับกฎหมายของไทยและสากล เอกชนต้องเรียนรู้เรื่องกฎหมายที่บังคับใช้แล้วเพื่อลดการคอรัปชั่น ความยุ่งยากในระเบียบปฏิบัติหรือขั้นตอนของรัฐบาลที่เอกชนต้องเข้าไปขอรับบริการก็เป็นส่วนสำคัญต่อการนำไปสู่วงจรคอรัปชั่น ติดสินบน เพื่อลดขั้นตอนหรือเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการของเจ้าหน้ารัฐ

คุณนภดล กล่าวชัดว่า การต้องการสิทธิที่เกินส่วนของตน  นั่นคืออภิสิทธิ์ จึงต้องติดสินบน  มันเกิดจากสองฝ่ายคือ การติดสินบนของคนทั่วไป กับการรับสินบนของภาคราชการ หรือแม้แต่การใช้อำนาจหรือดุลยพินิจที่เคลือบแฝงด้วยผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐก็เป็นเหตุของการคอรัปชั่น.....ถ้าภาคเอกชนไม่ให้สินบน ก็จะไม่มีผู้รับสินบน

คุณวิชัย เล่าถึงในอดีตเมื่อพูดถึงการคอรัปชั่น ทุกคนมักพุ่งเป้าไปที่ภาคราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่มองภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องชัดเจนในการให้สินบน ในประเทศที่ประสบผลสำเร็จในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น เริ่มต้นและให้ความสำคัญกับภาคเอกชนในการต้านการทุจริตและทำอย่างต่อเนื่อง  ทุกคนในภาคธุรกิจเอกชนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับรู้ปัญหาการทุจริตติดสินบนทั้งนั้น และทำกันจนเป็นปรกติวิสัย จนเมื่อถึงระยะหนึ่ง ปัญหาคอรัปชั่นสร้างความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจด้วยกัน บางรายได้ประมูลงานก็จะได้อยู่ร่ำไป บางรายไม่ได้รับงานเลย จนเป็นสาเหตุให้ภาคเอกชนให้ความสำคัญในการต้านการทุจริต หลายครั้งคนติดคุกในคดีทุจริตคือคนที่ถูกบังคับให้ทุจริต คนที่ทุจริตจริงไม่ได้ถูกดำเนินคดีใดๆ และเราต้องร่วมกันสร้างความเชื่อร่วมกันใหม่ว่า ทุกๆคนร่วมกันขจัดปัญหาคอรัปชั่นได้ ถ้าเราร่วมด้วยช่วยกัน

 

ประเด็นร่วมที่วิทยากรทั้ง 4 ท่านเห็นว่า การพัฒนาเครือข่ายหรือทำงานระหว่างภาคราชการอย่าง ศปท. กับองคืกรธุรกิจเอกชนนั้นมีหลากหลายมิติ  อาทิ การใช้เครื่องมือหรือกลไกทางกฎหมายเป็นตัวช่วยให้งานสำเร็จ  เช่น พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวก พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง  ระบบ ISO 37001  การพัฒนางานบริการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยลดปัญหาคอรัปชั่น พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทันสมัย เพราะเทคโนโลยีช่วยให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลง  เพราะหลายครั้ง IT ก็ช่วยขจัดปัญหาคอรัปชั่น หรือแม้แต่มาตรา 123/5 ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ก็เป็นเครื่องมือสำคัญ

พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวก มีคุณูปการอย่างมากในการช่วยลดปัญหาคอรัปชั่น  หรือแม้แต่บทเรียนจากเรื่องใบ รง.4 ที่เคยเป็นปัญหาแล้วเริ่มคลี่คลาย จะเป็นบทเรียนสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรถอดบทเรียนเพื่อเรียนรู้ แล้วนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการทำงานต้านการคอรัปชั่น ใบ รง.4 หลายครั้งภาคเอกชนไม่ได้เน้นเรื่องความรวดเร็วของใบอนุญาต แต่สนใจประเด็นที่ว่าได้รับอนุมัติหรือไม่ หากไม่อนุมัติก็อยากทราบเหตุผลด้วยว่าเพราะเหตุใด ให้มุ่งเรื่องความโปร่งใสในการปฏิบัติงานและความตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่  การพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง หรือ Single Data ก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีของกระทรวงในการทำงาน และจะช่วยลดปัญหาคอรัปชั่น

ในฮ่องกง สามารถแก้ปัญหาคอรัปชั่นได้เพราะใช้นโยบาย 3 ป. คือ ปราบปราม  ป้องกัน และ ปลูกจิตสำนึก  และเน้นเรื่องการปลูกจิตสำนึก เป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด แต่ต้องให้ความสำคัญที่สุด

 

บทเรียนส่วนตัวจากเรื่องนี้คือ การถอดบทเรียนและเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติของผู้ทำงานในภาคธุรกิจเอกชนจะช่วยให้หน่วยงานราชการมองเห็นวิถีที่จะพัฒนางานต้านการทุจริต และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหา “สินบน” เพื่อป้องกันการรับหรือเรียกสินบนของภาคราชการ......

 

การไปทำหน้าที่วิทยากรดำเนินรายการในครั้งนี้ สิ่งที่ผู้จัดงานอาจจะต้องทำเพิ่มคือ การส่งประเด็นคำถามให้วิทยากรผู้เสวนา/อภิปราย รวมทั้งผู้ดำเนินรายการ เพื่อให้ทุกคนเตรียมข้อมูลและเตรียมตัวมาก่อน จะได้เติมเต็มและได้ประเด็นตามเป้าหมายในใจของผู้จัดงาน ส่วนตัวในฐานะที่ต้องเตรียมตัวไปจึงต้องคลำทางไปหาเป้าหมายในใจของผู้จัด แล้วปรับประเด็นระหว่างการสนทนาบนโต๊ะอหารกลางวันก่อนการเสวนาในช่วงบ่าย...... แต่วิทยากรผู้ร่วมเสวนา มีความเข้มข้นอยู่แล้ว งานเสวนาในครั้งนี้จึงมีรสชาติ แล้วได้อรรถตามประสงค์ ไม่มากก็น้อย....

 

 

ณ  มอดินแดง

11 กรกฎาคม  2560


ปล. ขณะเขียนบันทึก ท้องก็ร้อง....คงหิว 

สหายก็มารอเพื่อไปทานมื้อค่ำ จึงขอจบแบบห้วนๆไม่ส่งท้ายอะไรมากนัก....... ขอบคุณการเรียนรู้ และขอบคุณผู้จัดงานครับ

หมายเลขบันทึก: 630975เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2017 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2017 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท