มหัศจรรย์ไม่คาดฝันกับบุ้งกินใบมะเขือ


ลุงชาติคอยเฝ้าสังเกตุ ถ่ายภาพ หนอน หนอนบุ้ง ผีเสื้อ แมลง มามากมายหลายชนิด บางชนิดตอนเป็นตัวหนอนนั้นดูค่อนข้างน่าเกลียดน่ากลัว แต่พอออกมาเป็นผีเสื้อเป็นแมลง กลับสวยงามน่ารักมาก บางชนิดก็มีสีสันสวยงามตั้งแต่เป็นตัวหนอนมาเลย มีก็แต่คราวนี้แหละ ที่พบความมหัศจรรย์ของธรรมชาติอย่างไม่คาดคิดมาก่อน.........


ที่ต้นมะเขือยาวสีม่วง มีบุ้งตัวเล็กอยู่หนึ่งตัว พบตั้งแต่เมื่อวานแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเวลาถ่ายภาพ วันนี้ต้องเริ่มถ่าย เพราะเจอว่าบุ้งตัวนี้ได้ลอกคราบออกมา ตัวบุ้งนั้นยังเล็กมาก ยาวไม่เกินครึ่งเซ็นต์ติเมตร ในภาพจะเห็นคราบของบุ้งอยู่ทางด้านซ้ายใกล้ๆกับรอยแหว่งของใบมะเขือ





วันนี้บุ้งมีอายุได้สามวัน ลำตัวยังยาวไม่มาก ตัวมันยาวเกือบๆหนึ่งเซนติเมตร ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก มองเห็นตัวบุ้งเป็นสีน้ำตาลปนแดง คราบที่เห็นในภาพ เป็นคราบเก่าที่ลอกออกมาเมื่อวานนี้





วันรุ่งขึ้น บุ้งมีอายุได้สี่วัน มันได้ลอกคราบออกมาอีกเป็นครั้งที่สอง หลังจากลอกคราบแล้ว สีของมันเปลี่ยนแปลงไปอีกนิด ลำตัวของบุ้งเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ความยาวของลำตัวยังยาวไม่เกินหนึ่งเซนติเมตร คราบที่ลอกออกมาในวันนี้ คือคราบที่เห็นอยู่ใกล้ๆกับตัวบุ้ง ส่วนคราบที่เห็นเล็กกว่าอยู่ห่างออกไปเป็นคราบเก่าที่ลอกออกมาครั้งแรก





วันนี้บุ้งมีอายุได้ห้าวัน

ลำตัวยาวขึ้นอีกนิด

ลำตัวยาวประมาณหนึ่งเซ็นติเมตร

ยังคงใต่กัดกินใบมะเขืออยู่ใต้ใบ

และยังคงอยู่ที่ใบเดิมไม่เปลี่ยนไปไหน





ตอนนี้บุ้งมีอายุได้หกวัน ตัวยาวเกินหนึ่งเซนติเมตรแล้ว แต่พฤติกรรมการกินยังคงกัดกินใบมะเขือโดยซ่อนตัวอยู่ใต้ใบตลอด ทำให้ถ่ายภาพยาก ต้องนอนหงายนอนตะแคงถ่ายภาพทุกช๊อต มิหนำซ้ำ ยังรู้สึกคันด้วย วิธีแก้คัน แก้พิษบุ้งที่ดีมากๆ คือใช้ใบตำลึงมาขยี้เอาน้ำจากใบมาทาตรงรอยที่โดนพิษ ได้ผลดีแน่นอน เคยเขียนวิธีแก้พิษบุ้งไว้แล้ว ลองตามไปอ่านกันได้นะครับ

https://www.gotoknow.org/posts/605106





วันนี้บุ้งมีอายุได้เจ็ดวัน และวันนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ตอนเช้าอากาศร้อน พอสายหน่อย มีฝนตกลงมา และอากาศเริ่มเย็นลง ในขณะที่เจ้าตัวบุ้งเริ่มหยุดเคลื่อนที่ ดูเหมือนร่างกายของมันอ้วนขึ้น มันเกาะนิ่งอยู่ที่เดียวไม่ขยับไปไหน ไม่กินอาหารทั้งวัน





เช้าวันรุ่งขึ้นตอนเช้ามืด บุ้งมีอายุได้แปดวัน ก็ได้ลอกคราบออกมาอีกครั้ง เป็นครั้งที่สามแล้ว ภาพทางด้านขวามือ เป็นวินาทีที่บุ้งดึงส่วนหางหลุดออกมาจากคราบที่ติดอยู่ใต้ใบมะเขือ เมื่อลอกคราบเสร็จ มันก็เริ่มกัดกินใบมะเขือทันที เมื่อวานมันไม่ได้กินอะไรเลยทั้งวัน ภาพทางด้านซ้ายจะเห็นว่ามันกัดกินใบมะเขือจนแหว่งไปถึงคราบหางของมัน





ภาพทางด้านซ้ายบุ้งมีอายุได้เก้าวัน มันเริ่มไต่ขึ้นมากัดกินใบมะเขืออยู่เหนือใบบ้างแล้ว ทำให้พอจะถ่ายภาพได้ง่ายขึ้นบ้าง ไม่ต้องมุดไม่ต้องนอนถ่ายภาพ แต่ครั้นพอวันรุ่งขึ้น มันก็กลับไปหากินอยู่ใต้ใบอีก ตามภาพทางด้านขวา คงเป็นสัญชาติญาณการระวังภัยของมัน ตอนนี้ตัวมันยาวประมาณสองเซนติเมตรแล้ว มีอายุได้สิบวัน





วันนี้บุ้งมีอายุ 11 วัน ยังคงกินใบมะเขืออยู่ใต้ใบเช่นเดิมในตอนเช้า พอตอนบ่าย 16.00 น. มันเริ่มหาใบไม้ใบใหม่ แล้วเริ่มปล่อยใยบางๆ ออกมายึดเกาะกับใบมะเขือแล้ว





ถ่ายภาพต่อเนี่องมาเพื่อทำเป็นภาพเคลื่อนไหวตั้งแต่เวลา 16.30 น.เรื่อยมา จนถึงเช้าวันรุงขึ้น เวลา หกโมงแก่ๆ รวมเวลาในการชักใยเข้าดักแด้ ยี่สิบสี่ชั่วโมงครึ่ง สังเกตดีๆจะเห็นว่าบุ้งชักใยเพื่อดึงเอาใบมะเขือให้ม้วนเข้ามาห่อตัวมันไว้





หนอนบุ้งใช้ชีวิตกัดกินใบมะเขือมา 12 วัน จนตัวโตเต็มวัย มีความยาว 2 เซ็นติเมตร ลอกคราบออกมาทั้งหมด 3 ครั้ง หนอนบุ้งเลือกเอาใต้ใบมะเขือเป็นที่เข้าดักแด้ ใช้เวลาในการชักใยสร้างดักแด้ทั้งสิ้น 24 ชั่วโมง ถ่ายภาพช่วงที่ชักใย 24 ชั่วโมงนั้นแล้วนำมาทำเป็นวิดีโอความยาว หนึ่งนาทีครึ่ง





ทำภาพมาเปรียบเทียบให้เห็น ตอนเริ่มต้นชักใยเข้าดักแด้ กับตอนที่ชักใยเข้าดักแด้เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาไป ยี่สิบสี่ชั่วโมงครึ่ง ดักแด้ของบุ้งตัวนี้แตกต่างจากดักแด้ของบุ้งตัวอื่นที่ลุงชาติเคยถ่ายมาตรงที่ ใยของดักแด้ตัวนี้ มีโครงตาข่ายเว้นช่องเป็นรูกลมๆเอาไว้ด้วยหลายรู โครงตาข่ายนี้ห่อหุ้มล้อมรอบใยดักแด้เอาไว้อีกชั้นหนึ่ง จุดประสงค์ของมัน ทำรูไว้เพื่ออะไร ในขณะที่ดักแด้ของบุ้งชนิดอื่นไม่มีโครงไม่มีรูแบบนี้





เอาภาพดักแด้ของหนอนบุ้งหูแดงมาให้ดูเปรียบเทียบ ภาพด้านซ้ายคือดักแด้ของหนอนบุ้งหูแดง ไม่มีโครงตาข่ายห่อหุ้มล้อมรอบใยดักแด้เอาไว้ แต่บุ้งหูแดงใช้หนามพิษป้องกันใยดักแด้ไว้ ส่วนบุ้งตัวนี้ไม่ได้ใช้หนามพิษป้องกัน มันใช้โครงตาข่ายห่อหุ้มล้อมรอบป้องกันใยดักแด้แทน





เฝ้าดูดักแด้ต่อมาอีก 11 วัน สิ่งไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นมาให้ได้เห็น ปกติดักแด้ที่เราพบเห็นกันทั่วไป เมื่อถึงกำหนด ดักแด้นั้นจะออกมาเป็นผีเสื้อหรือแมลงตัวสวย แต่คราวนี้ ที่ออกมาจากโครงดักแด้ กลายเป็นหนอนบุ้งตัวจิ๋ว ทยอยออกมาเรื่อยๆ ดูด้วยสายตาอย่างคร่าวๆคิดว่ามีหนอนบุ้งเป็นร้อยเป็นพันตัวทีเดียว





หนอนบุ้งเป็นร้อยเป็นพันตัวเริ่มใต่เริ่มเดินไปทั่วต้นมะเขือ จัดการกับต้นมะเขือทันที บางตัวเริ่มกัดกิน บางตัวเริ่มสร้างอาณาจักร ต้นมะเขือก็เริ่มโทรมอย่างเห็นได้ชัด ใบเริ่มไหม้และเหี่ยวเฉา อะไรกันนี่ เจ้าหนอนบุ้งตัวที่เข้าดักแด้นั้น มันมีสองเพศในตัวเองหรือ จึงผสมพันธุ์ได้เอง แล้วออกลูกออกมาได้แบบนี้ ขอยีนยันอย่างหนักแน่นว่า มีหนอนบุ้งที่เข้าดักแด้เพียงตัวเดียว และไม่มีหนอนตัวอื่นอยู่บนต้นมะเขือต้นนี้อย่างแน่นอน และปกติการผสมพันธุ์ ควรเป็นตอนที่พ้นระยะดักแด้ ออกมาเป็นผีเสื้อหรือแมลงไปแล้ว





ถ่ายภาพมาได้แค่นี้ ในใจคิดไปแล้วว่า ถ้าปล่อยเอาไว้อย่างนี้ ลุงชาติปลูกต้นมะเขือไว้เพียงสองต้น คงไม่ไหวแน่ๆ และคงไม่มีปัญญาควบคุมดูแลบุ้งได้ โชคดีที่ท้ายหมู่บ้านยังมีป่าริมคลองอยู่ จึงจัดการถอนรากถอนโคน ขุดต้นมะเขือไปไว้ยังป่าชายคลองท้ายหมู่บ้านซะ ปล่อยให้บุ้งใช้ชีวิตของมันเองในป่าชายคลองนั้น ธรรมชาติยังมีอะไรที่ไม่คาดคิดอีกมากมาย.....





ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจที่ดีเสมอมา

ขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 620552เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2016 07:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2016 07:41 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Thank you very much.

It is definitelt a real twist -- that the caterpillar did not turn into a moth or a butterfly but hundreds of little caterpillars!

Amazing!

เคยเจอที่ต้นแคหลังห้อง

แต่คันมาก

ไม่ได้มีโอกาสดูตอนเขาเป็นผีเสื้อเลย

ขอบคุณลุงชาติมากๆครับ

ชัดเจนมากๆๆ

@ sr

สวัสดีครับ
ปกติจะเห็น มอธ หรือ ผีเสื้อ ออกมาจากดักแด้

แต่กรณีย์นี้แตกต่างมาก

ผมเพิ่งจะพบแบบนี้เป็นครั้งแรก

แปลกใจเหมือนกันครับ


@ ขจิต ฝอยทอง

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต

ขอขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท