​เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ ๒๑. ฝึกควบคุมใจ ควบคุมพฤติกรรมของตนเอง



เรื่องฝึกควบคุมใจ ควบคุมพฤติกรรมของตนเองนี้ ในทางวิชาการเรียกว่าเป็นการพัฒนา Executive Function & Self Regulation เป็นอีกตอนหนึ่งที่ไม่ได้เขียนตีความจากหนังสือ Raise Great Kids : How to Help Them Thrive in School and Life ผมเขียนเพิ่มเพราะเห็นว่าเป็นความรู้ใหม่ ด้านการเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ที่จะเป็นการปูพื้นฐานเพื่อชีวิตที่ดีไปตลอดชีวิต เป็นผลงานวิจัยระยะยาวในคน ที่พิสูจน์ว่าเด็กที่มี Executive Function (EF) & Self Regulation แข็งแรง จะมีชีวิตที่ดี ฝ่าด่านความล้มเหลวในชีวิตเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่ EF อ่อนแอ จะพบว่าเมื่อโตขึ้นผู้ที่ EF แข็งแรง มีอัตราปัญหาทางสังคม (ออกจากโรงเรียนกลางคัน ตั้งครรภ์วัยรุ่น ติดยาเสพติด ติดคุก หย่าร้าง) และมีปัญหาสุขภาพ (โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อ้วน โรคซึมเศร้า แก่ก่อนวัย ความจำเสื่อม) น้อยกว่าผู้ที่ EF อ่อนแอ อย่างมีนัยสำคัญ


ที่สำคัญ มีผลการวิจัยยืนยันว่า เด็กที่ EF อ่อนแอสามารถฝึกให้มี EF เข้มแข็งได้ มีวีดิทัศน์และ คำอธิบายวิธีฝึก EF ในเด็กช่วงอายุต่างๆ ที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ที่ http://developingchild.harvard.edu/science/key-concepts/executive-function/ และที่บันทึก https://www.gotoknow.org/posts/550274 จะเห็นว่าวิธีฝึก EF ทำง่ายๆ แต่ต้องทำบ่อยๆ สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง หลายวิธีเป็นสิ่งที่เราทำกันอยู่แล้ว หรือเป็นวิธีเลี้ยงเด็กที่ใช้กันใน วัฒนธรรมไทย แต่ในสังคมสมัยใหม่อาจ ทำกันน้อยลง มีหลายครอบครัวหันไปให้ทีวี วีดิทัศน์ หรือไอแพ็ดเลี้ยงลูก ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด


นอกจากนั้น ยังมีเครื่องมือฝึก EF โดยใช้คอมพิวเตอร์ เป็น eTool ชื่อ Tools of the Mind (http://toolsofthemind.org) ใช้ฝึกความพร้อมในการเรียน เพื่อให้มีสมาธิจดจ่อ ฝึกความจำใช้งาน


ผมเชื่อว่า วิธีเรียนรู้แบบ activity-based learning ที่เรียนโดยการลงมือทำ (Learning by Doing) เป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด (ซึ่งเป็นการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑) จะช่วยพัฒนา EF ของนักเรียน (และของครู) ไปโดยอัตโนมัติ ครูที่มีความสามารถในการทำหน้าที่โค้ช หรือ “คุณอำนวย” ของกระบวนการเรียนรู้ จะยิ่งช่วยเอื้อการพัฒนา EF ได้ดี


Executive Function & Self Regulation เป็นความสามารถของสมองในการควบคุมพฤติกรรมของคน ให้อยู่ในวิถีชีวิตที่ดีงาม ไม่ถูกชักจูงโดยสิ่งยั่วยวนภายนอก หรือโดยแรงกระตุ้นเชิงกิเลสตัณหาอารมณ์ภายในตน ให้เกิดพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นไร้สติยั้งคิด ให้รู้จักอดทนรอเวลาหรือจังหวะที่เหมาะสม เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ในลักษณะ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ที่ฝรั่งเรียกว่า delayed gratification ที่มีระบุไว้ในหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง : ปฏิวัติการเรียนรู้ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ ที่ผมเขียนคำนิยมให้ อ่านได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/576122


Executive Function & Self Regulation ทำหน้าที่หลัก ๓ ประการคือ (๑) ความจำใช้งาน (working memory) ช่วยให้สามารถประมวลข้อมูลในชั่วขณะการทำงานหรือการดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ สามารถจัดการข้อมูลจำนวนมากและซับซ้อนได้ ผมคิดว่า นี่คือลักษณะของคนที่เราพูดกันว่า “หัวดี” โปรดสังเกตว่า “หัวดีสร้างได้” (๒) ความยืดหยุ่นของสมอง (mental flexibility) ช่วยให้สามารถมีสมาธิจดจ่อ อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือสามารถเปลี่ยนไปสนใจอีกเรื่องหนึ่ง แล้วกลับมาจดจ่อกับเรื่องเดิมได้อีก ซึ่งผมตีความว่า มีความสามารถในการทำ multitasking ได้อย่างดี (๓) การควบคุมตนเอง (self control) ดังกล่าวแล้วข้างต้น


เดิมเข้าใจกันว่า สมองส่วนทำหน้าที่ EF คือเปลือกสมองส่วนหน้า (neocortex) แต่ผลการวิจัยตรวจสอบการทำหน้าที่ของสมองในช่วงไม่กี่ปีมานี้บอกว่า ในการทำหน้าที่ EF เปลือกสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของสมองทั้งหมด คือการทำหน้าที่ EF สมองต้องมีการเชื่อมต่อสัญญาณผ่าน ใยประสาทไปทั่วสมอง


หากจะให้ประเทศไทยมีพลเมืองที่ EF ดี จะต้องเอาใจใส่ คุณภาพชีวิตของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ไม่ให้ได้รับความเครียด ซึ่งหมายความว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว และเศรษฐฐานะของครอบครัวต้องไม่ ทำให้แม่ที่กำลังตั้งครรภ์มีความเครีอด เพราะความเครียดในแม่จะถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ มีผลทำให้ HPA Axis ของทารกในครรภ์อ่อนแอ HPA Axis เป็นระบบสมองเชื่อมโยงกันระบบต่อมไร้ท่อหรือระบบฮอร์โมน ที่เมื่ออ่อนแอ การพัฒนา EF จะทำได้ยาก อ่านรายละเอียดได้จากหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง : ปฏิวัติการเรียนรู้ ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ


ดังนั้น เด็กที่เกิดจากครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะต่ำ ควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ในการฝึก EF ในช่วงแรกเกิดถึง ๖ ขวบ ตามหลักของการพัฒนาเด็กเล็ก โดยมีวิธีฝึกพ่อแม่ให้รู้จักวิธีเลี้ยงลูก อ่านรายละเอียดที่ https://www.gotoknow.org/posts/610075


โดยนัยยะนี้ ปัญหาหลักของการมีพลเมืองที่มี EF แข็งแรงของสังคมไทย คือความไม่เป็นธรรมในสังคม (inequity) หรือช่องว่างทางสังคม การแก้ปัญหาช่องว่างทางสังคมจะเป็นการขจัดรากเหง้าของปัญหาคุณภาพของพลเมือง และหากร่วมกับการปฏิรูปการศึกษา เปลี่ยนจากการจัดการเรียนรู้แบบถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูป และเน้นเฉพาะรู้วิชา มาเป็นจัดการเรียนรู้โดยเน้นการปฏิบัติกิจกรรมหรือทำงานจริง โดยทำเป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน คุณภาพของพลเมืองไทยก็จะสูงขึ้นอย่างมากมาย


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ส.ค. ๒๕๕๙

หมายเลขบันทึก: 617539เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท