รับน้องใหม่ : ลูกเหลือง-เทาร่วมใจต่อชีวิตบริจาคโลหิตเพื่อแม่


ผมพูดชัดเจนว่าหากองค์การนิสิต ไม่มีเวลาที่จะจัดกิจกรรมบริการสังคมก็ไม่เป็นไร แต่ทำไมไม่ลองหยิบจับกิจกรรมทางสังคมเล็กๆ มาเป็นแผนดูบ้าง เช่น การผูกโยงกิจกรรมเข้ากับกระแสสังคม หรือบริบทอันเป็นวัฒนธรรม หรือ “ฮีต 12 คองกิจกรรม” เป็นต้นว่า การบริจาคโลหิตเนื่องในวันสำคัญๆ ของสังคมไทย (ฮีต 12 คองสังคม) หรือไม่ก็เข้าหนุนเสริมกับกิจกรรมนี้ที่ฝ่ายพัฒนานิสิต (ฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย) ได้จัดประจำในทุกเดือน

เดิมตั้งใจจะไปสังเกตการณ์กิจกรรมการบริจาคโลหิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ก็ไม่ได้ไป เพราะติดภารกิจการประชุมพิจารณากลั่นกรองพื้นที่การจัดกิจกรรม “เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 20”

ผมตั้งใจจะไปสังเกตการณ์และให้กำลังใจกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกิจกรรมนี้จริงๆ เพราะรู้จากคุณเยาวภา ปรีวาสนา ผู้ประสานงานหลักโครงการฯ ว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้ “องค์การนิสิต” ที่บริหารงานโดยพรรคพลังสังคม ขันอาสาเป็น “เจ้าภาพร่วม” จึงยิ่งอยากไปให้กำลังใจคนทำงานมากเป็นพิเศษ เพราะนานมากแล้วที่ไม่เคยได้เห็นองค์การนิสิตลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมนี้ด้วยตนเอง จะมีก็แต่สภานิสิต หรือไม่ก็สโมสรนิสิตคณะต่างๆ ที่ผันตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งในงานกับฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะต้นสังกัด




ย้อนกลับไปสองถึงสามปีการศึกษา ต้องยอมรับว่ากิจกรรมการบริจาคโลหิตถูกบรรจุเป็นแผนพัฒนานิสิตในระบบกิจกรรมนอกหลักสูตร (กิจกรรมเสริมหลักสูตร) ไปโดยปริยาย อันหมายถึงเป็นความร่วมมือระหว่างกองกิจการนิสิตกับฝ่ายพัฒนานิสิตของแต่ละคณะ ขึ้นอยู่กับว่าทางคณะจะสร้างการมีส่วนร่วมของ “นิสิต” หรือ “ผู้นำองค์กรนิสิต” ในสังกัดคณะได้มากหรือน้อย แต่ที่แน่ๆ แต่ละเดือนจะมีกิจกรรมที่ว่านี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมหาสารคามอย่างน้อยก็ 1 ครั้งเป็นอย่างต่ำ และตอบโจทย์เอกลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ ที่ว่าด้วยการ "เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ได้ด้วยเช่นกัน

กรณีดังกล่าวนี้เป็นที่น่าชื่นชมว่าในหลายๆ คณะขับเคลื่อนได้อย่างน่ายกย่อง สามารถผนวกกำลังได้หลายภาคส่วน ทั้งนิสิต ผู้นำนิสิต อาจารย์ บุคลากรทั้งภายในคณะและต่างคณะ และยิ่งไปกว่านั้นคือ “สภานิสิต” เองก็ลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมและบรรจุเป็นแผนขององค์กรอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับกองประชาสัมพันธ์ฯ ก็ระดมเจ้าหน้าที่มาช่วยดำเนินการป้อนข่าวสารออกไปสู่สังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง





ปีนี้— ในวาระการประชุมก่อนการจัดสรรงบประมาณในวงรอบ 4 เดือน (มิถุนายน-กันยายน 2559) ผมสะท้อนในที่ประชุมร่วมของผู้นำนิสิตอันมีรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตเป็นประธานอย่างหนักแน่นและชัดเจนประมาณว่า "..ปีการศึกษาที่ผ่านมา ผมแทบไม่เห็นองค์การนิสิตจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคมอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่จ่อมจมอยู่กับกิจกรรมเชิงประเพณีนิยมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นประชุมเชียร์ ลอดซุ้ม ไหว้ครู ลอยกระทง กีฬาระหว่างคณะ..." ฯลฯ

ครั้งนั้น— ผมยืนยันว่าสะท้อนความคิดเห็นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมมองผ่านแผนงานอย่างเป็นทางการและมองผ่านกระบวนการจริง รวมถึงการวิเคราะห์ผ่านผลงานเชิงประจักษ์ มิใช่การวิพากษ์บนฐานคิดเชิงอคติ หรือทำตัวเป็น "เกจิ" (กูรู้) ฟาดงวงฟาดหางไปเรื่อย





ครั้งนั้น—ผมพูดชัดเจนว่า "... หากองค์การนิสิต ไม่มีเวลาที่จะจัดกิจกรรมบริการสังคมก็ไม่เป็นไร แต่ทำไมไม่ลองหยิบจับกิจกรรมทางสังคมเล็กๆ มาเป็นแผนดูบ้าง เช่น การผูกโยงกิจกรรมเข้ากับกระแสสังคม หรือบริบทอันเป็นวัฒนธรรม หรือ “ฮีต 12 คองกิจกรรม” เป็นต้นว่า การบริจาคโลหิตเนื่องในวันสำคัญๆ ของสังคมไทย (ฮีต 12 คองสังคม) หรือไม่ก็เข้าหนุนเสริมกับกิจกรรมนี้ที่ฝ่ายพัฒนานิสิต (ฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย) ได้จัดประจำในทุกเดือนอยู่แล้ว..."

และนั่นยังรวมถึงข้อเสนอแนะว่า"... กิจกรรมบริจาคโลหิตก็สามารถบรรจุเป็นวาระการ “รับน้องใหม่” ได้อย่างไม่ต้องเขินอาย โดยให้องค์การนิสิตส่งมอบกิจกรรมให้น้องใหม่ (รุ่นภุมริน 11) ได้แสดงพลังของตนเองอย่างสร้างสรรค์ด้วยการระดมคนมาเข้าร่วมการบริจาคโลหิต และทำหน้าที่เป็นกำกับดูแลกิจกรรมนี้ร่วมกันในทีมรุ่นฯ ส่วนพี่ๆ จากองค์การนิสิตและเจ้าหน้าที่ก็ถอยออกมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงานของน้องใหม่..."






โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่ากิจกรรมบริจาคโลหิตเป็นกิจกรรมที่จำเป็นและสำคัญมาก เพราะเป็นกิจกรรมที่สื่อให้เห็นมิติของการ “ให้” อย่างเด่นชัด เป็นการ “ให้” ที่ “ง่ายงาม” อย่างไม่ต้องกังขา ก่อเกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ให้และผู้รับอย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่สมถะพอเพียง เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณอะไรให้สิ้นเปลือง หากแต่มีคุณค่าและมูลค่าอย่างที่สุด มิหนำซ้ำยังเป็นการทำงานร่วมกับภาคีหลายภาคส่วน ทั้งภายในมหาวิทยาลัยฯ และหน่วยงานภายนอก เช่น เหล่ากาชาด โรงพยาบาล เป็นต้น

เป็นที่น่ายินดีว่าปีการศึกษา 2559 องค์การนิสิต ตัดสินใจจัดกิจกรรมนี้ด้วยตนเองผ่านวาทกรรม “ลูกเหลือง-เทาร่วมใจต่อชีวิตบริจาคโลหิตเพื่อแม่” ซึ่งหมายถึงมารดาผู้ให้กำเนิดของนิสิตและการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ผู้ซึ่งเป็น “แม่หลวง” ของปวงชนชาวไทย




ในทางกระบวนการนั้นองค์การนิสิตได้ทำเพจประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง ไม่ต้องมาอาศัย หรือฝากหวังไว้กับกองกิจการนิสิตเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งผมมองว่าก็เป็นสิ่งที่ดี เนื่องเพราะนิสิตจะได้ฝึกทักษะการ “คิดสร้างสรรค์” ฝึกการออกแบบ “สื่อ” หรือการประชาสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ไปในตัว เพราะนี่คืออีกหนึ่งทักษะของการเป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 ที่นิสิตต้องมีและมีอย่างมีประสิทธิภาพ


รวมถึงการเรียนรู้และบ่มเพาะทักษะการทำงานอย่างเป็น “ทีม” ที่ต้องแบ่งหน้าที่ต่อกันและกันอีกหลายประเด็น เช่น

  • การสื่อสารไปยัง “น้องใหม่” เพื่อการเข้าร่วมกิจกรรม
  • การจัดเตรียมสถานที่
  • การแบ่งคนมาช่วยอำนวยความสะดวก หรือร่วมช่วยงานเจ้าหน้าที่ทั้งจากมหาวิทยาลัยและภาคส่วนภายนอก
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและจากโรงพยาบาล
  • ฯลฯ




อย่างไรก็ดีก็ต้องชื่นชมทุกๆ ส่วนที่ได้ช่วยให้มีงานอันง่ายงามและทรงพลังนี้ โดยเฉพาะองค์การนิสิตที่กล้าเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ เป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงที่อัดแน่นไปด้วยกิจกรรมตามประเพณีนิยมจนแทบจะพักผ่อนไม่เพียงพอ กระนั้นก็ไม่ละทิ้งที่จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้น


ในส่วนประเด็นของปัญหานั้น ผมมองว่าเล็กน้อยมาก โดยเฉพาะในระยแรกเริ่มที่คนมาบริจาคกันน้อย ก็เพราะเป็นช่วงเปิดเรียนใหม่ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลพวงของการเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องเป็นสัปดาห์จึงอาจเหนื่อยล้าทั้งพี่และน้อง รวมถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่ฝนพรำสายไม่หยุดหย่อนก็เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาร่วมบริจาคโลหิตด้วยเช่นกัน

อย่างไรเสีย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนผู้มาบริจาคโลหิต คือ 141 คน (56,400 ซีซี) ก็ถือว่าทะลุเป้า –




จากนี้ไปจึงได้แต่ส่งใจเชียร์ให้องค์การนิสิตได้ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมในทำนองนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับวาระใด (ฮีต 12 คองกิจกรรม,ฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย,ฮีต 12 คองสังคม) หรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังอยากเห็นองค์การนิสิต หรือกระทั่งนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ความสำคัญกับกิจกรรมอันง่ายงามแต่ทรงพลังนี้อย่างไม่หยุดหย่อน เพราะนี่คือการเรียนรู้มิติแห่งให้อันแสนบริสุทธิ์ (ให้เลือด คือ การให้ชีวิต : ให้โลหิต คือการต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์) รวมถึงเป็นอีกทางเรื่องหนึ่งของการบ่มเพาะจิตสาธารณะที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกับอัตลักษณ์นิสิต ดังว่า “เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน”





หมายเหตุ

ภาพ : บุณฑริกา ภูผาหลวง
ข้อมูล : องค์การนิสิต เยาวภา ปรีวาสนา จันเพ็ญ ศรีดาว

หมายเลขบันทึก: 612360เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2016 01:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2016 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอสาธุๆกับการทำความดีด้วยครับ

เยี่ยมมากๆ

สวัสดีครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ที่ผมดีใจก็คือ องค์การนิสิต เริ่มต้นที่จะทำกิจกรรมนี้นั่นแหละครับ หลังจากแอบกระตุกกระตุ้นมาเป็นระยะ และผูกโยงไปตามวาระ หรือกาละต่างๆ ตามผลวิจัยที่ผมศึกษา คือ ฮีต 12 คองกิจกรรม / ฮีต 12 คองมใหาวิทยาลัย /ฮีต 12 คองสังคม

ซ฿่งก็หมายถึงจัดกิจกรรมบนฐานวัฒนธรรมขององค์กร-ชุมชน เพื่อให้รู้เท่าทันต่อความเป็นพลวัตของสังคม นั่่นเอง ครับ

ยอดเยี่ยมมากค่ะอาจารย์

ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีอีกหนึ่งกิจกรรม ที่ทำให้นิสิตนั้นมีความเสียสละเพื่อคนอื่น อยากให้กิจกรรมนี้จัดขึ้นอีก ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เพราะว่านิสิตหลายๆคนก็อยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ แต่ก็มีเรียน เลยทำให้พลาดโอกาสที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้

สวัสดีครับ พี่มนัสดา

กิจกรรมนี้ จริงๆ แล้วคือการพยายามกระตุ้นให้นิสิตได้บูรณาการปรากฏการณ์ทางสังคมเข้ามาเป็นฐานการเรียนรู้นั่นเองครับ เช่น เป็นเทศกาลของ "วันแม่" ก็จัดกิจกรรมหนุนเสริมในวาระดังกล่าว ผมเรียกว่า ฮีต 12 คองสังคม และเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดอยู่แล้ว (ฮีต 12 คองมหาวิทยาลัย) สิ่งเหล่านี้จะช่วยให่้นิสิตมัทักษะในการคิดแบบเชื่อมโยง และคิดแบบบูรณาการไปในตัว

ฝึกการรับผิดชอบต่อาสังคมผ่านกิจกรรมง่ายๆ แต่มีความหมาย และคุณค่า

นั่นคือสิ่งที่ผม คิด และมอง ครับ

สวัสดีครับ คุณ ขอ'ขวัญ

  • เรื่องจัดกิจกรรมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นเรื่องน่าสนใจ จะนำข้อเสนอแนะนี้สื่อสารไปยังผู้เกี่ยวข้องนะครับ
  • และดีใจนะครับที่เข้าใจว่ากิจกรรมนี้ยังสอนให้นิสิตรู้จัก "การเสียสละ" และเป็นการให้ที่มีคุณค่า เพราะให้ชีวิตต่อเพื่อมนุษย์ ขณะที่ผู้ให้ก็ได้รัยบประโยชน์เชิงสุขภาพในตัวเองไปพร้อมๆ กัน
  • ขอบคุณครับ

การบริจาค การทำบุญ การทำความดี ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการบริจาคเงิน การบริจาค สิ่งของ แต่ยังมีการบริจาคอีกประเภทที่คนไทยมีความคุ้นชิน นั้นคือการบริจาคโลหิต ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาอย่างช้านาน ด้วยคำเชิญชวนที่คุ้นหู "ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตเพื่อการกุศล" โดยนำเอาโอกาสต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันโดยทั่วไป มาประกอบเพื่อให้เกิดจุดที่น่าสนใจ ให้ผู้คนเข้ามาร่วมกิจกรรม

และโลหิตเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต โดยผู้ให้นั้นจะเป็นผู้ที่มีจิตใจสูง มีความเสียสละ มีความเมตตาเป็นพื้นฐาน ช่วยต่ออายุให้ผู้เจ็บป่วย การบริจาคนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ มหาศาลแก่ผู้อื่น ผู้ให้ย่อมเกิด ความปิติยินดีเกิดความสุขทางใจ ดังที่ว่า “ผู้ให้ชีวิตย่อมได้ชีวิต”

ขอบคุณ "นาย' ปฏิพัทธ์" มากครับ ที่มาเติมเต็ม และขยายความกิจกรรมการบริจาคโลหิตในมิติสาธารณะ และหลักธรรม

และเห็นด้วยอย่างยิ่งกับคำพูดนี้ นะครับ

“ผู้ให้ชีวิตย่อมได้ชีวิต”

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท