ครูเพื่อศิษย์ BP ประจำปี ๒๕๕๙ : ครูจีรนันท์ จันทยุทธ "การสอนแบบอุปนัยและการสร้างเงื่อนไขให้ชีวิต"


เป็นเวลานานเกือบปีที่ผมได้รับ “หนังสือเล่มเล็กของครูเรย์” จากคุณครูจีรนันท์ จันทยุทธ ครูสอนวิชาเคมี ม.๔ และ ม.๖ โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เป็นโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม … ผมรู้จักท่านมานานกว่า ๓ ปีแล้ว เคยถอดบทเรียนการสอนแบบ PBL (Project-based Learning) แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านหลายครั้ง และส่วนหนึ่งท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเล็กนี้ด้วย

มาปีนี้ ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ หรือ CADL ผู้ขับเคลื่อน PLC ครูเพื่อศิษย์อีสาน เห็นว่า ชีวิตความเป็นครูและประสบการณ์งานสอนของครูจีรนันท์ ควรถูกนำมาแบ่งปันให้เพื่อนครูอื่นได้เรียนรู้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อ "ศิษย์" ของตนๆ ต่อไป จึงได้คัดเลือกคุณครูจีรนันท์ จันทยุทธ ให้เป็น ๑ ใน ๔ ของครูดีครูเพื่อศิษย์อีสาน เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูครูดีและเผยแพร่แนวปฏิบัติที่ดีของครูดีให้เป็นประโยชน์ต่อศิษย์ ตามเจตนารมณ์ของเราต่อไป

ครูเรย์เป็นลูกสาวชาวนาในเขตพื้นที่สีชมพู(ปัญหาคอมมิวนิสท์) ภูมิลำเนาอยู่ อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธ์ เรียนระดับประถมในโรงเรียนในชุมชน จบมัธยมต้นและมัธยมปลายที่โรงเรียนประจำอำเภอ สำเร็จการศึกษาปริญญาบัณฑิต เมื่อตุลาคม ๒๕๓๔ จากมหวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตมหาสารคาม และ และในปี ๒๕๕๒ สำเร็จปริญญามหาบัณฑิตจากสถาบัเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

<p “=””>ตอนเรียน ป.ตรี ปี ๓ ครูจีรนันท์เกิดความประทับใจการเรียนแบบศึกษาดูงานในพื้นที่จริง เช่น โรงงานน้ำตาลที่ อ.ภูเขียว โรงงานทำกระดาษและโรงงานสุราหงษ์เหิรที่ อ.น้ำพอง โรงทำเบียร์ และโรงงานน้ำอัดลม (ไทยน้ำทิพย์) ที่ ต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น โดยเฉพาะการไปฝึกงานที่โรงงานผลิตแอลกอฮอล์จากซังข้าวโพด อ.แก่งคอย จ.นครราชสีมา ที่ได้ใช้เครื่องมือทันสมัยหลายอย่างที่ไม่มีในห้องเรียน เมื่อเรียนจบจึงกลับไปทำงานบริษัทอะคลิริกไฟเบอร์จำกัดซึ่งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมเดียวกันที่ใช้วิธีมาจองตัวนิสิตที่เรียนจบสามปีครึ่งไปทำงาน </p>

ในปี ๒๕๓๕ ครูเรย์รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล อ.เรณูนคร จ.นครพนม สอนอยู่ ๒ ปี ย้ายมาอยู่ โรงเรียนประจำตำบลที่บ้านเกิด โรงเรียนมหาไชยพิทยาคม อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ในปี ๒๕๓๗ ก่อนจะย้ายมาอยู่โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จึนถึงปัจจุบัน

คุณลักษณะของครูจีรนันท์ ที่ทำให้ท่านควรได้รับการยกย่องให้เป็น "ครูเพื่อศิษย์อีสาน" ประจำปีนี้ มี ๓ ประการหลัก ได้แก่ ๑) ความคิดบวกและเต็มที่ ๒) การสอนดี และ ๓) การมีจิตวิญญาณครูเพื่อศิษย์สูงยิ่ง ดังนี้

๑) คิดบวกและเต็มที่

คุณลักษณการมองโลกในแง่ดี ความขยัน ทำงานหนัก ใฝ่เรียนและใฝ่ดีตั้งแต่เด็กๆ น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ครูเรย์หรือครูจีรนันท์ "เต็มที่" ทุ่มเท เสียสละกับการทำงานของท่านมาตลอด

ครั้งหนึ่งตอนเรียน ป.ตรี ปี ๔ ที่ไปฝึกสอน ครูพี่เลี้ยงเกิดครรภ์เป็นพิษ หัวหน้าฝ่ายจึงมอบภาระงานสอนทั้งหมดมาที่ครูฝึกสอน แทนที่จะบ่นว่าหนัก แต่ครูเรย์กลับบอกว่า "...การได้สอนเยอะคือกำไร...จะได้ฝึกตนเองมากขึ้น..." ซึ่งยืนยันวิธีคิดเชิงบวกของคุณครูชัดเจน

ครูจีนันท์ เขียนในหนังสือเล่มเล็กตอนหนึ่งว่า "...ดิฉันสอนที่โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล ด้วยความตั้งใจทุ่มเทเสียสละทำงานอย่างเต็มที่ เต็มความรู้ ความสามารถ เป็นเวลา 2 ปี และไม่สบายป่วยเป็นโรคไข้สมองอักเสบอาการหนักมากหลับลึกปลุกไม่ตื่นไม่รู้สึกตัวเลยอยู่ในอาการโคม่า..."

แม้โรคชนิดนี้จะเกิดจากการติดเชื้อซึ่งส่วนใหญ่มียุงเป็นพาหะ (อ่านที่นี่) แต่โดยมากจะเกิดกับคนที่มีภูมิต้านทางต่ำ การตะลุยกับงานอย่าง "เต็มที่" จนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพของตนเอง น่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่ง

ผมเชื่อว่าสิ่งที่ท่านได้อุทิศทำก่อนหน้านั้น ดลให้มีนายแพทย์สองคนมาอุทิศตนตอบแทนรักษาจนหาย กลับมาทำงานได้อย่างปาฏิหาริย์ โดยมากคนที่ป่วยเป็นโรคนี้เป็นไปได้สองทาง หนึ่งคือตายหรือไม่ก็กลายเป็นเจ้าชาย/หญิงนิทรา ครูจีรนันท์เขียนถึง นพ.ชาตรี เจริญศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเรณูนครขณะนั้น ว่า "...ท่านเป็นแพทย์ชนบทที่เก่งได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่น และ เป็นแพทย์ที่ไม่เปิดคลีนิค..." และเล่าว่า นักศึกษาแพทย์ปี ๖ ชื่อ นพ. สุรชัย แซ่จึง (ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์หมอ ประจำโรงพยาบาลศรีนคริทร์) มาดูแลตั้งแต่หกโมงถึงหกทุ่มทุกวัน ต่อเนื่องถึง ๒๐ วัน กว่าท่านจะเริ่มกระดิกนิ้ว และดูแลจนหายกลับมาทำงานต่อ

๒) สอนดี

ครูจีรนันท์จะเน้นและเด่นเรื่องการสอนให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเสมอ อาจเป็นเพราะจากประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเองตั้งแต่สมัยยังเด็กๆ ที่เข้าใจวิชาคณิตศาสตร์ได้ดี (อันดับหนึ่งของห้อง) จากวิธีนับก้อนหิน ๒๐ ก้อนของคุณครู และความประทับใจที่ได้เรียนรู้ตอนไปทัศนศึกษาและฝึกงานตอนปี ๓ ที่กล่าวไปข้างต้น ตอนย้ายกลับมาเป็นครูที่บ้านเกิด

..เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2537 ฉันย้ายมาสอนที่โรงเรียนมหาไชยพิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล มีเนื้อที่ 80 ไร่ อยู่ใกล้ธรรมชาติ ฉันก็ปฏิบัติการสอนด้วยความตั้งใจ ทุ่มเทเสียสละ เน้นการให้นักเรียนเป็นผู้ลงมือทำ ได้ปฏิบัติจริง เช่น พานักเรียนปลูกสบู่ดำในคาบชุมนุมและดูแลรักษา เก็บเมล็ดรวมไว้ให้ได้มากพอแล้วเชิญวิทยากรจากสำนักงานเกษตรอำเภอสมเด็จ เป็นวิทยากร ในการเอาน้ำมันออกจากเมล็ดสบู่ดำโดยใช้เครื่องหีบเอาน้ำมันออกมา กรองด้วยผ้าขาวบางสามารถนำไปใช้ได้เลยกับรถไถนาเดินตาม พานักเรียนทำโครงงานสมุนไพรในท้องถิ่น ศึกษาและอนุรักษ์พันธ์ไม้ในโรงเรียนโดยเชิญเจ้าหน้าที่ป่าไม้จากอุทยานแห่งชาติภูพานเป็นวิทยากร ทำโครงงานกระดาษจากกาบกล้วย และอื่นๆ อีกมากมายฯ …

ขอสำเสนอวิธีการสอนของครูจีรนันท์ ๒ แบบ ที่ถือได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับครูเคมีและครูวิทยาศาสตร์ ดังนี้

๑) การสอนแบบเน้นอุปนัย

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และองค์ความรู้ด้านเคมี ทำให้ครูจีรนันท์พัฒนาวิธีสอนแบบเน้นการทดลอง โดยให้นักเรียนลองทำก่อน และสอนทฤษฎีทีหลัง ดังที่ท่านได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเล็ก ดังนี้ว่า

....ดิฉันเป็นครูวิทยาศาสตร์ วิชาเอกวิทยาศาสตร์ - เคมี และปฏิบัติการสอนวิชาเคมีระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นหลัก ธรรมชาติของวิชาเคมีจะมีกิจกรรมการทดลองค่อนข้างเยอะ ในแต่ละบทหรือแต่ละเรื่องก็จะมีหลายการทดลอง และนักเรียนจะทำการทดลองเป็นกลุ่มๆ ละ 3-5 คน โดยในแต่ละกลุ่มจะแบ่งหน้าที่กันเองว่าใครทำหน้าที่อะไร ดิฉันจะให้นักเรียนทำการทดลองก่อน โดยจะให้นักเรียนช่วยกันตั้งจุดประสงค์ของการทดลองก่อนว่าควรจะมีกี่ข้อ อะไรบ้าง ให้ดูที่ชื่อเรื่องเป็นหลักและให้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพื่อศึกษา, บอก อธิบาย“ ต่อจากนั้นดิฉันจะบอกถึงอุปกรณ์และสารเคมีที่ใช้มีอะไรบ้าง ข้อห้าม ข้อควรระวัง สารเคมีที่ใช้แต่ละสารมีสูตรเคมีอย่างไร โทษของสารเคมีที่ใช้ในการทดลอง ต้องสังเกตอะไรบ้าง เช่น สีเปลี่ยน มีตะกอน มีฟองแก๊ส มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือไม่ การอ่านสเกลจากเครื่องวัดต่างๆ โวลต์มิเตอร์ แอมมิเตอร์ขั้วไฟฟ้า ขั้วบวก ขั้วลบ ฯลฯ ในแต่ละการทดลองจะแตกต่างกันไป ต่อจากนั้นจะให้นักเรียนช่วยกันดูขั้นตอนการทดลองว่าทำอย่างไรบ้าง สิ่งที่ต้องสังเกต ข้อควรระวัง และจะบันทึกผลอย่างไร เมื่อนักเรียนเข้าใจแล้วให้เขียนสื่อสารด้วยรูปภาพ และลงมือทำการทดลอง บันทึกผล เมื่อทำการทดลองเสร็จ ครูจะให้ดูที่ผลการทดลองและให้แต่ละกลุ่มอธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วให้นักเรียนช่วยกันเขียนปฏิกิริยาเคมีบนกระดาน ให้นักเรียนช่วยกันสรุปผลการทดลอง โดยให้ดูจุดประสงค์การทดลองเป็นหลักว่ามี่กี่ข้ออะไรบ้าง ตอนนี้ตอบได้ทุกข้อหรือยัง ถ้าตอบได้ทุกข้อแล้วให้สรุปผลการทดลอง ถ้าได้ยังไม่ครบให้หาดูว่าแล้วจะเอาคำตอบจากไหนเช็คอีกครั้ง หรือทำการทดลองเพิ่ม นักเรียนช่วยกันสรุป ต่อจากนั้นครูอธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมโดยจะใช้ผลการทดลองเชื่อมกับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ซึ่ง จากประสบการณ์การสอนวิชาเคมีกว่ายี่สิบสี่ปี พบว่าถ้านักเรียนได้ลงมือปฏิบัติการทดลองด้วยตัวเขาเอง จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และจะทำให้เข้าใจได้มากกว่า แต่บางทีก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาเนื่องจากมีกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาเบียดบังกิจกรรมการเรียนการสอน และสารเคมีบางตัว เป็นพิษไม่สามารถทำการทดลองได้...

ผมเรียกวิธีสอนนี้ว่า "การสอนแบบอุปนัย" และเขียนแผนภาพสื่อถึงความเข้าใจกระบวนการของท่าน ดังรูป



กระบวนการสอนแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบ (Pattern-based Learning: 1stPBL) ตามทฤษฎีตามหลักสูตร 3PBL ที่เราร่วมกันพัฒนาขึ้น มีวิธีการ ๘ ขั้นตอน ได้แก่

กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ร่วมกัน -> เขียน Flowchart การทดลอง (ทำความเข้าใจขั้นตอนการทดลอง) -> อภิปรายกระบวนการและผลการทดลอง -> สรุปผลการเรียนรู้ -> เชื่อมโยงสู่ทฤษฎี สูตรและหลักการทางเคมี -> ทำแผนภาพปฏิกิริยาเคมี -> ทำโจทย์แบบฝึกหัด -> นำไปใช้หรือประเมินผลตนเอง

๒) การสอน 3PBL ด้วยวงจรสามเหลี่ยม ๖ ขั้น

ครูจีรนันท์ วางบทบาทตนเองเป็นโค้ชและเป็นผู้นำในการเรียนรู้ หรือเรียกได้ว่า เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Learning Facilitator) ใช้การ "ถามนำ" และ "พาทำ นำคิด" ไม่ใช่เฉพาะในชั้นเรียนเท่านั้น ท่านจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ โดยการพานักเรียนไปทัศนศึกษา และนำมาต่อยอดทำโครงงานในโรงเรียน เช่น การพานักเรียนไปศึกษาการทำเครื่องปั้นดินเผาที่บ้านหม้อ ซึ่งท่านเขียนกระบวนการและรายงานผลไว้อย่างละเอียดในหนังสือเล่มเล็ก

ความคิดรวบยอของการสอนนอกสถานที่ของครูจิรนันท์ แสดงดังแผนภาพสามเหลี่ยมด้านล่าง



ท่านเขียนอธิบายอย่างละเอียดไว้ในหนังสือเล่มเล็ก ขอถือวิสาสะคัดลอกมาวางด้านล่างดังนี้

ก่อนที่จะทำกิจกรรมการเรียนการสอน จะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆละ 4-5 คน ตามความสมัครใจ มีข้อแม้ว่าคนเก่งต้องไม่อยู่กลุ่มเดียวกัน นักเรียนเขาจะรู้กันเองว่าใครคือคนเก่ง และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามรูปแบบโมเดล ดังแผนภาพ

ขั้นที่ ๑ ขั้นวางแผน

ครูออกสำรวจแหล่งเรียนรู้ในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เรื่อง ธาตุและสารประกอบในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นบทเรียนของชั้น ม. 6 มี 4 หัวข้อใหญ่ คือ อุตสาหกรรมแร่ อุตสาหกรรมเซรามิกส์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับโซเดียม คลอไรด์ และอุตสาหกรรมปุ๋ย พบว่ามีแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องและอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน 3 แห่ง คือ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านหม้อ อ.เมือง (การปั้นหม้อตามภูมิปัญญาดั้งเดิม)การทำเกลือสินเธาว์ อ.กันทรวิชัย (ต้มเกลือสินเธาว์จากน้ำใต้ดิน) และศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านดอนมัน (การทำเกษตรแบบพอเพียงโดยไม่ใช้สารเคมี) อ.กันทรวิชัย ไปติดต่อประสานงานแจ้งวัตถุประสงค์ที่เราต้องการและกิจกรรมที่จัดให้กับนักเรียน ขอความอนุเคราะห์ครูภูมิปัญญาหรือวิทยากรท้องถิ่นให้เพียงพอ

ขั้นที่ ๒ ขั้นพาทำ (วิทยากร)

ครูนำนักเรียนลงพื้นที่จริงโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้ และลงมือฝึกปฏิบัติตามครูภูมิปัญญาหรือวิทยากรท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆอย่างแท้จริง มีปัญหาอะไรอยากรู้อะไร สามารถถามได้ในทุกๆ เรื่องจนเข้าใจแจ่มแจ้ง และให้นักเรียนเก็บข้อมูลสิ่งที่ตนเองสนใจเป็นพิเศษอยากรู้เพิ่มเติมมีอะไรบ้าง หรือปัญหาที่พบ และโอกาสที่มี อะไรบ้าง


ขั้นที่ ๓ ขั้นนำเสนอความรู้ที่ได้ (นักเรียน)

นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันนำเสนอความรู้ที่ได้จากการลงมือทำกิจกรรม สรุปอภิปรายองค์ความรู้ที่ได้ ปัญหาที่พบ สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติม โดยใช้แผ่นชาร์จ

ขั้นที่ ๔ ขั้นกำหนดหัวเรื่อง (นักเรียนคิด)

นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันคิดหัวข้อที่สนใจศึกษาที่หลากหลาย โดยครูจะใช้คำถามเป็นแนวทาง เช่น ปัญหาคืออะไร ทำไมถึงอยากทำเรื่องนี้ จะมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ต้องมีความรู้เกี่ยวกับอะไรบ้าง โดยนักเรียนแต่ละกลุ่มก็จะช่วยกันเลือกหัวข้อหรือปัญหาที่กลุ่มสนใจที่สุด และสามารถทำได้มาเป็นหัวข้อโครงงาน ต่อจากนั้นช่วยกันวางแผนว่าจะต้องทำอะไรก่อน –หลัง จะเก็บข้อมูลอย่างไร จะทำอย่างไร ทำเมื่อไหร่ จะต้องใช้วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง จะต้องหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องใด หาได้ที่ไหน ใครเป็นคนรับผิดชอบ ทุกคนในกลุ่มมีหน้าที่และต้องร่วมมือกัน งานถึงจะสำเร็จ

ขั้นที่ ๕ ขั้นลงมือทำโครงงาน (นักเรียนทำ)

นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันลงมือทำตามแผนที่ได้กำหนดไว้ สร้างชิ้นงาน เก็บรวบรวมข้อมูลบันทึกผล สรุปและอภิปรายผล ถ้าเกิดปัญหาระหว่างทำ มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรถ้าเขาแก้ไม่ได้แล้วต้องการความช่วยเหลือ ครูจึงจะเข้าไปโค้ช และเน้นย้ำว่า ทำอะไรก็ตามต้องบันทึกผลการทดลองไว้อย่างเป็นระบบ เมื่อทำสำเร็จแล้ว นักเรียนจะช่วยกันทำรูปเล่มรายงานตามรูปแบบโครงงานที่สมบูรณ์ คือมีทุกอย่างในเล่ม และทำผังโครงงานให้พร้อมนำเสนอ


ขั้นที่ ๖ ขั้นนำเสนอโครงงาน

ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มจัดแสดงผลงานของกลุ่ม มีการตกแต่งอย่างผังสวยงามพร้อมนำเสนอ ซึ่งสามารถนำเสนอได้หลายรูปแบบ อาจเป็นแบบปากเปล่า หรืออาจนำเทคโนโลยี เข้ามาใช้ได้ เช่น ทำเป็นหนังสั้น สารคดี Power point หรือแล้วแต่เทคนิค ซึ่งทุกคนในกลุ่มต้องมีบทบาทและหน้าที่

ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน ติดต่อและไปศึกษาสอบถามผลลัพธ์เชิงประจักษ์ต่างๆ ที่เกิดจากวิธีของครูจีรนันท์


๓) จิตวิญญาณครูเพื่อศิษย์อันสูงยิ่ง

ใน "หนังสือเล่มเล็กของครูเรย์" ท่านเล่าไว้ตอนหนึ่งถึง วิธีช่วยเหลือลูกศิษย์ที่ติดศูนย์ ติด ร. ด้วยการสร้างเงื่อนไขและแรงบันดาลใจให้อยากเรียนนักศึกษาวิชาทหาร แล้วเข้าไปทำหน้าที่เหมือน "ผู้จัดการ" "โค้ช" คอยแนะนำ ติดตาม และช่วยเหลือทุกขั้นตอนอย่างละเอียด จนนักเรียนทั้งหมดผ่านพ้นรอยต่อที่สำคัญของชีวิตได้อย่างงดงาม

"...มีนักเรียนส่วนหนึ่งจบ ม. 3 ช้ากว่ากำหนดเนื่องจากผลการเรียนยังมี 0 ร มส อยู่หลายรายวิชา ทำให้ไม่จบการศึกษาพร้อมเพื่อนในเวลาที่กำหนด และเสียโอกาสในการเรียนกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร ดิฉันได้เข้าไปช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ในฐานะครูผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหาร โดยการเรียกมาคุยและถามว่า อยากจบ ม. 3 ไหม อยากเรียน รด.หรือกิจกรรมนักศึกษาวิชาทหารไหม เด็กก็ตอบว่าอยากเรียนครับ อยากเรียนแต่ไม่กล้าบอกคุณครู ครูถามว่าทำไมละ เพราะพวกผมยังไม่จบ ม. 3 ถ้าคนใดตอบว่าไม่อยากเรียนครูก็จะถามว่าทำไม ครูก็ฟังคำตอบจากเขาฟังเหตุผลของเขา และครูก็จะบอกประโยชน์ของการเรียนไปว่ามีประโยชน์อย่างไรบ้าง หนึ่ง... สอง... สาม...ครูก็ถามว่าแล้วจะเรียนไหม (ยังตัดสินใจไม่ได้ในบางคน) ครูก็บอกว่าไม่เป็นไรแล้วค่อยตัดสินใจทีหลัง มาเรื่องของพวกเราดีกว่าใครติด วิชาอะไรบ้าง คุณครูผู้สอนชื่ออะไร เอาข้อมูลจากเด็กมาสภาพเด็กตอนนี้จะดูน่าสงสารมาก ไม่สามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ทันตามเวลาที่กำหนด ครูก็จะช่วยวางแผนให้แต่ละคนว่าจะทำอะไรก่อน หลัง บอกวิธีการเข้าไปของานกับคุณครูการแต่งกายต้องถูกระเบียบตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า การพูดการจาให้มีสัมมาคารวะถ้าอาจารย์ด่าหรือว่ากล่าวอะไรห้ามโต้แย้ง ต้องยอมรับและของานอาจารย์ทำเพื่อชดเชยเวลาที่เราไม่ได้เข้าเรียน ทำได้หรือเปล่า ฟังคำตอบจากพวกเขา แล้วครูบอกว่า หลังเลิกเรียนทุกวันเราพบกันที่สนามฟุตบอล เพื่อฝึกซ้อมก่อนที่จะไปทดสอบร่างกานคัดเลือกเป็นนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และรายงานความก้าวหน้าในการแก้ 0 ร มส ของแต่ละคน สำหรับคนที่ยังไม่ตัดสินใจก็ให้มารายงานความก้าวหน้าและฝึกซ้อมกับเพื่อน ๆ เช่นกันคัด ถ้าใครเชื่อครูและทำตามที่บอกผลที่ตามมาคือ หนึ่ง จบ ม. 3 สอง ได้เรียน รด. และสามเราก็ทำได้ภูมิใจในตัวเอง และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นคนใหม่ที่สง่างาม..."

ครูจีรนันท์บอกว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่อาชีพเกษตรกร รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ทำงานต่างจังหวัด ฯ ฐานะครอบครัวปานกลาง และครอบครัวอย่าร้าง พ่อ แม่ แต่งงานใหม่ ลูกๆ อยู่กับ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือกับญาติ เช่น ป้า ลุง น้า อา เป็นจำนวนมาก บางคนเจอสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา เช่น ไม่เข้าห้องเรียน ข้องเกี่ยวสิ่งเสพติด ไม่มีความรับผิดชอบ ทะเลาะวิวาท ติดเกม หลับในห้องเรียน (ทำงานกลางคืนหารายได้ช่วยครอบครัว)ฯ ทำให้ส่งผลต่อการเรียน มีปัญหาออกจากโรงเรียนกลางคัน เป็นหน้าที่คุณครูประจำชั้นและระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนต้องให้คำปรึกษาหาทางแก้ไข ทำความเข้าใจให้นักเรียนต้องปรับตัวหลายอย่างเพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

กระผมดีใจ และภูมิใจที่ได้มีส่วนในการยกย่อง เชิดชู ให้เพื่อนครู ผู้อำนวยการ และสังคมได้รับรู้ว่า ยังมีครูดีที่คิดและทำเพื่อศิษย์ ซึ่งผมเชื่อว่านอกจากครูจีรนันท์แล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ คนรอบๆ ตัวท่านนั่นเอง





คลิกอ่านหนังสือเล่มเล็กของครูจีรนันท์ได้ที่นี่ครับ






หมายเลขบันทึก: 611938เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2016 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2016 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท