“ขันหมากเบ็ง, ขันหมากเบญจ์, บายศรี” : บายศรีอีสานที่ถูกลากเข้าความข้างไทย


เป็นที่เข้าใจกันในชั้นเดิมของชาวอีสานว่า “ขันหมากเบ็ง” คือ การเย็บแต่งใบตองประดับดอกไม้เพื่อใช้ในกิจต่าง ๆ ในงานมงคลโดยมีคำลูกอีกคำคือคำว่า “พาขวัญ” คำเหล่านี้ล้วนมีความน่าสนใจในยุคหลังรวบความหมายเป็น “บายศรี”

เนื่องจากในยุคปัจจุบันมักนิยมมีการจัดประกวดบายศรีอีสาน(ขันหมากเบ็ง) กันอย่างมาก โดยได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งในระดับจังหวัด หน่วยงานการศึกษา หรือแม้แต่หน่วยงานระดับกระทรวง เมื่อจัดการประกาศทั้งทีก็มักจัดประกวด 3 แบบ คือ 1)แข่งขันทำ หมายความว่า ต้องลงมือทำทุกอย่างภายในเวลาที่กำหนด 2) ตั้งแต่ง หมายความว่า การประกอบบางส่วนมาแล้วและนำมาประกอบให้สมบูรณ์ภายในห้วงเวลาที่กำหนด และ 3 ตั้งประกวด หมายความว่า ได้ทำตกแต่งมาสมบูรณ์แล้วเพียงยกมาเพื่อให้กรรมการตัดสิน

ด้วยเพราะคำว่า “อีสาน” จึงถูกตั้งคำถามเสมอว่า “แล้วอย่างไรจึงจะเรียกบายศรีอีสาน?” เพราะเมื่อประกวดก็มักมีการร้อยมาลัย การห้อยอุบะดอกข่า การร้อยสานตาข่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องประดับอย่างไทย เมื่อเกิดคำถามเหล่านี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่ากรรมการหัวใสก็จำแนกการประกวดออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1) บายศรีแบบโบราณ และ2)บายศรีประยุกต์ โดยในกรณีบายศรีประยุกต์นี่เองที่สามารถตกแต่งอย่างไทยได้สบายใจไร้คำครหา

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเชิงช่างอีสานที่เป็นปราชญ์โบราณในการทำบายศรีอีสานเริ่มถูกเปลี่ยนมือเป็น “บรรพชิต” และ “ฆารวาส” ผู้รู้งานหัตถศิลป์เชิงช่างไทยมาแทนที่ บายศรีอีสานที่มีกลิ่นไออันหอมหวนก็จางลงกลายเป็น “กระทงบายศรี” กันเสียโดยมาก เพราะการพับจีบตกแต่งก็ประยุกต์มาจากกระทงใบตองอย่างไทยเสียหมด ซ้ำร้ายยังเพิ่มเติมและตกแต่งเครื่องสดอย่างไทยมากต่อมากจนเห็นว่าชะรอยคงเป็นวัฒนธรรมไทยครอบหัววัฒนธรรมถิ่นเสียแล้วกระมัง แม้ “บรรพชิต” เองก็นิยมลงสนามเพื่อชิงชัยความเป็น “เจ้าบายศรีอีสาน” ด้วย

กลิ่นหอมของบายศรีอีสานโรยลาและอ่อนล้าลงเต็มกำลัง คนในสังคมอีสานเองก็ใคร่ดีใคร่เสพบายศรีที่ถูกนุ่งผ้าอย่างไทยจนเจนตาแล้วเข้าใจว่างาม เคราะห์ร้ายที่กรรมการตัดสินแต่ละสนามเองก็สายตาพร่ามัวเนื่องมาจากไม่เคยรู้จักว่าของจริงและของเทียมเป็นเช่นไร เหล่าบรรดาช่างใหม่ก็ออกมาโอ้อวดออกอ้างว่าบายศรีอีสานต้องงามอย่างนั้นดีอย่างนี้
อนิจจา “บายศรีอีสาน” คงใกล้ตายไปทุกทีเสียแล้วกระมัง !!

หมายเลขบันทึก: 611392เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2016 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2016 02:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงด้วยครับ

ความหมายเดิมหายไป

คิดถึงอาจารย์

อาจารย์หายไปนานมากๆๆ

พึ่งได้กลับมาจากห้วงแห่งฝันครับ ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท