เรื่องรักๆ หนักใจมั้ย (บทที่ 3 รักแล้วระวังหน่อย - ตอนที่ 2)


ดังนั้นคนเราเมื่อรักกันไปนานๆ เสพ “ความใช่” จนชิน จนเบื่อ จึงมักอยากได้เสพสุขเพราะความใช่จากใครคนใหม่ที่อาจจะมีความใช่เหมือนเดิม แต่เพราะความเป็นคนใหม่เลยชวนให้รู้สึกให้ตื่นเต้น มีชีวิตชีวา หรือชีวิตตนรู้สึกว่ามีคุณค่ายิ่งกว่า

ธรรมชาติของตัณหา

คงจำได้นะคะ ที่เรียนไว้ ว่าใครคนหนึ่งเป็นคนที่ใช่สำหรับเราเพราะเขากับเรามีทั้งความเหมือนและความต่าง นั่นคือเขามีบางสิ่งเหมือนกับที่เรามี ที่เราผูกพัน และมีบางสิ่งต่างไปจากเรา และความต่างนั้นเป็นสิ่งที่เราใฝ่ฝันด้วยไม่สามารถมีได้ในปัจจุบันหรือเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

มี 2 เหตุผลใหญ่ค่ะที่เราแสวงหาคนที่ใช่ นั่นคือ ความนิยมในทางโลก และ ความอยากเสพสุขของตัวเราเอง

ในด้านความนิยมในทางโลกก็เช่น สังคมมักกำหนดว่าหญิงชายควรเมื่ออายุสมควรก็ควรมีคู่ ควรมีลูกหลานเพื่อสืบวงศ์สกุล หรือ ควรมีหลักพักพิง มีกำลังใจในการสร้างความมั่นคงให้แก่การดำรงชีวิต ดังนั้นหากเราเป็นพ่อแม่ เราก็คงอยากให้ลูกๆที่มีวัยพอสมควรแต่งงาน มีครอบครัว

หรือเป็นตัวเราเองที่พอใจ อยากมีความสุขจากความรัก ซึ่งความอยากเสพนี้ที่จัดเป็นตัณหา และเพราะตัณหานี้เองค่ะที่ทำให้เราแสวงหาคนที่ใช่ ดังนั้นเมื่อเราพบใครที่มีคุณสมบัติตรงตามที่เราปรารถนาแม้ว่าจะไม่ครบไปหมดในทุกเรื่อง แต่หากเขาทำให้เรามีความสุข อยากอยู่ใกล้ อยากใช้ชีวิตร่วมกัน ในขณะนั้น เขาก็เป็นคนที่ใช่สำหรับเรา

เมื่อเห็นว่าเขาเป็นคนที่ใช่ เราก็พยายามไขว่คว้า ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมชาติของตัณหาค่ะ นั่นก็คือ เมื่อไม่ได้ก็ไขว่คว้า ครั้นได้มา ก็เสพด้วยความพอใจ มีความสุข จากนั้นก็จะเริ่มชาชิน เมื่อเสพจนชินมากๆเข้าก็เบื่อ อยากได้ของใหม่มาเสพแทน


ดังนั้นคนเราเมื่อรักกันไปนานๆ เสพ “ความใช่” จนชิน จนเบื่อ จึงมักอยากได้เสพสุขเพราะความใช่จากใครคนใหม่ที่อาจจะมีความใช่เหมือนเดิม แต่เพราะความเป็นคนใหม่เลยชวนให้รู้สึกให้ตื่นเต้น มีชีวิตชีวา หรือชีวิตตนรู้สึกว่ามีคุณค่ายิ่งกว่า หรือ ใครคนใหม่มีคุณสมบัติอื่นๆที่คนรักคนปัจจุบันไม่มี ความที่เรายังไม่ได้เสพสุขจากคุณสมบัตินั้น ต่างจากคนรักในปัจจุบันที่เสพความใช่จนชินแล้ว ใครคนนั้นจึงเป็นคนที่ใช่มากกว่า

ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะธรรมชาติการเสพสุขเพราะตัณหาอีกนั่นแหละค่ะ คือความอยากได้การเสพในสิ่งเดิมๆแต่เลิศกว่า หรือไม่ ก็เสพจากสิ่งใหม่ไปเลย

อีกเหตุที่ทำให้เราเบื่อคือความต่างที่ค่อยๆเผยตัวออกมาทีละน้อยๆ และความต่างเหล่านั้นเป็นความต่างที่เราไม่ชอบ แม้จะมีการอดกลั้น อดทนในระยะแรก แต่หากเขาไม่มีการปรับปรุงพฤติกรรมให้เป็นไปตามใจเราซึ่งก็คือความอยากเสพ(กามตัณหา) อยากมี อยากเป็น(ภวตัณหา) อยากให้ไม่เป็น(วิภวตัณหา)ของเรา หรือเราไม่ยอมปรับใจให้เข้าใจและยอมรับเขา นานๆเข้าความอดทนก็ถึงวันสิ้นสุด คนที่ใช่จึงกลายเป็นคนที่ไม่ใช่อีกต่อไป

ความต่างในความเหมือนของบางเรื่องก็กลายเป็นเหตุของความไม่ใช่ได้ค่ะ และมักเป็นกุศลที่กลายเป็นปัจจัยให้อกุศล เช่น คนรักที่ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ทั้งสองรักครอบครัวเหมือนกันแต่รักในคนละแนวทาง คนหนึ่งอยากสร้างฐานะให้ร่ำรวยเพื่อตน คนรัก และทายาทจะได้อยู่อย่างสุขสบายในภายหน้า แต่อีกคนอยากให้คู่ครองใช้เวลาร่วมกัน ดูแลและอบรมบุตรร่วมกัน เมื่อความเห็นไม่ตรงกันและไม่ยอมปรับความเห็นให้ใกล้เคียงกันบ่อยๆก็กลายเป็นเหตุของการบาดหมาง การครองชีวิตขาดความสุข

การเสพสุขจึงถูกขัด นี่เองค่ะ ทำให้เราอยากหาคนใหม่ที่ใช่ยิ่งกว่า

การรู้ทันธรรมชาติของตัณหา รู้ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ผันแปรไปตามเหตุปัจจัย ให้ประโยชน์กับเราก็ตรงนี้ค่ะ คือทำให้เราคอยฝึกตนในด้านต่างๆเพื่อรักษาเหตุปัจจัยที่ทำให้เราอยากใช้ชีวิตร่วมกันไว้ให้คงอยู่ ไม่สร้างเหตุปัจจัยอันนำความแตกร้าวมาให้ ลดทอนเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความร้าวฉานออกไป การฝึกตนเหล่านั้นก็เช่น

พอใจเฉพาะคู่ของตน

หรือที่ทางพระท่านเรียกว่า สทารสันโดษ ความพอใจนี้จะทำให้เราคอยระวังใจจากความพอใจในใครอื่นที่ไม่ใช่คู่ตนแม้ว่าเขาคุณสมบัติตรงตามที่เราผูกพันหรือใฝ่ฝัน คอยตักเตือนตนให้ใจเราเพียงอนุโมทนากับคุณสมบัตินั้นในฐานะเพื่อนร่วมโลก ไม่แปรเปลี่ยนความพอใจไปในทางชู้สาว

ป้องกันอกุศลที่เกิดจากกุศล

เนื่องจากพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เน้นในเรื่องของการมีเมตตา เราจึงมักมีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้เขาเป็นสุข แต่การที่เรามีจิตเมตตาต่อใครที่เป็นเพศตรงข้าม คอยคิดว่าจะช่วยเหลือเขาอย่างไร เราพอจะทำอะไรให้เขาได้บ้าง ทำให้เรามีใครคนนั้นมาเป็นที่คิดถึงอยู่ในใจ ดังนั้น จึงต้องคอยมีสติตักเตือนตนให้เห็นฐานะที่ควร ให้เห็นความพอควรในการกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เสน่หาเข้าครอบงำโดยที่ไม่รู้ตัวจนเกิดเป็นรักสามเส้าได้

ระวังการใช้วาจากับเพศตรงข้าม

ในชีวิตเราต้องติดต่อกับบุคคลอื่นด้วยวาจาตลอดเวลา เรื่องราวที่น่ายินดี ที่ไม่น่ายินดี ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการพูดจากันนี่แหละค่ะ สังเกตไหมคะ ในอกุศลกรรมบถ 10 หรือทางแห่งกรรมชั่ว กรรมชั่วที่นำไปสู่ทุคติทั้ง 10 นั้นเป็นการกระทำทางกาย 3 การกระทำทางใจ 3 แต่ทางวาจานั้นมากสุดคือ 4 (พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดด้วยใจที่หยาบด้วยความโกรธ และ พูดเพ้อเจ้อ)

สมมติว่าเราพูดเรื่อยเปื่อยแบบสองแง่สองง่าม แต่คนฟังที่เป็นเพศตรงข้ามเข้าใจผิดจนจิตใจหวั่นไหว เมื่อมีการแสดงออกด้วยใจที่หวั่นไหวจนเรารู้สึกได้ ก็ไม่แน่นักนะคะใจเราอาจหวั่นไหวตามก็ได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดได้ ระวังไว้เป็นดีที่สุด

แต่ทุกข้อที่ได้เล่ามา หากเราสู้อดกลั้น ฝืนทำเพราะกลัวถูกสังคมติเตียน ไม่ได้มาจากใจที่มีเมตตา ก็มักไม่ประสบผลสำเร็จค่ะ อาจมีอันประพฤติผิด ประพฤติล่วงเกินใจคู่เมื่อทนสู้อดกลั้นต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการอบรมที่ใจให้มีเมตตาต่อทุกฝ่ายด้วยการเอาตนเข้าเปรียบ

เช่น ถ้าเรารู้ว่าคู่ไปสนใจใครอื่น เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าคู่เรามีใจให้ใครอื่น เกิดรักสามเส้า เราจะเสียใจอย่างไร ถ้ามีใครทำให้เราหวั่นไหวทั้งๆที่เขาไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อเราจริงๆ เราจะรู้สึกอย่างไร หรือถ้าคู่เราพูดหยอกเอินคนอื่นในทางชู้สาว เราจะรู้สึกอย่างไร

เรารู้สึกอย่างไร คู่ของเราหรือคนอื่นๆก็อย่างนั้น ดังนั้นเราจึงควรเมตตาคนอื่นด้วยการไม่ทำให้เขาสูญเสียความสุขที่มี และเมตตาตนเองด้วยการไม่ปล่อยใจให้ตกต่ำเพราะอกุศลธรรรม

เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพึงระวังเมื่อเรามีความรัก เพื่อปรามโทษของรักไว้ ให้ความรักปรากฏแต่คุณคือความงดงาม เป็นพลังที่สร้างและจรรโลงโลกไว้ไงคะ

หมายเลขบันทึก: 609527เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2016 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท