ไม่ใส่ใจใคร คือ ประมาณเท่าไร


ความหมายของพระคาถานี้ต้องเข้าใจให้ถ้วนทั่วค่ะ หากไม่เข้าใจนัยยะ จะปฏิบัติผิดต่อตนและสังคมได้ เพราะพระคาถานี้ตรัสถึงการปฏิบัติของเราที่มีต่อตนและต่อบุคคลอื่นอย่างเหมาะสม เนื่องจากคำว่า "กิจ" นั้น ครอบคลุมทั้งกิจที่พึงมีต่อตน กิจที่พึงมีต่อคนอื่น และกิจที่พึงมีต่อสังคม

ในทางโลก หากมีผู้มีความประพฤติผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย เราไม่ควรจะเพิกเฉยด้วยความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องราวอะไรของตน เพราะคนในสังคมล้วนเป็นสภาพแวดล้อมของกันและกัน ความสงบของสังคม เป็นสภาพแวดล้อมที่ดี ที่ทำให้บุคคลมีโอกาสได้ใช้ความสงบนี้สร้างความเจริญแก่ทั้งสังคมและตนเอง ดังนั้นหากมีการทำผิดกติกาที่สังคมวางไว้ ผู้มีหน้าที่รักษาความสงบก็ต้องทำหน้าที่ตนอย่างไม่บกพร่อง ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบ

ดังจะเห็นว่า แม้ในสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็ยังทรงบัญญัติวินัยและการลงโทษ

แต่สำหรับความประพฤติ ความชอบ ความเชื่อ ส่วนบุคคลที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่เป็นไปในทางเสียหาย ไม่ผิดศีล เขาอาจพอใจในความสุขที่มีในปัจจุบันทั้งๆที่รู้ว่าสุขในโลกนั้นมีทุกข์เจือเสมอ ไม่แสวงหานิพพาน ไม่มีการปฏิบัติเพื่อให้รู้ว่าธรรมใดกำลังครอบงำจิต ในส่วนนี้เอง ที่ตรัสว่า เราไม่ควรไปกะเกณฑ์ ไปเพ่งเล็งเขา เพียงแต่เราควรหาโอกาสสนทนาเพื่อสร้างความเข้าใจสภาวะที่แท้โดยไม่ดูหมิ่นซึ่งกันและกัน แต่ก็ไม่ควรหวังผลจากการสนทนาแต่อย่างใด

สมดังที่ตรัสว่า เพราะธาตุมีหลายธาตุ บุคคลจึงมีความชอบ ความเชื่อ อัธยาศัย วัตรปฏิบัติ แตกต่างกันออกไป ไม่มีใครบังคับใครได้

รวมไปถึง การที่เขาจะมีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรมครอบงำจิต แต่หากเขายังยับยั้งชั่งใจได้ ไม่ปล่อยให้ความเห็นผิดนั้นก้าวล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็พึงสรรเสริญเขาในแง่ที่มีเมตตาต่อผู้อื่น เห็นใจที่เขาสู้ข่มกลั้นความทุกข์ จนสามารถรักษาความดีงามในสังคมไว้ได้

ไม่พึงเพ่งเล็งความเห็น ความชอบ ของเขา ไม่พึงทุกข์ใจเพราะความชอบ ความเชื่อ ธรรมที่ประกอบจิตเขา เพราะไม่เช่นนั้น เราก็อาจทุกข์ใจในสิ่งที่เกินกำลังตน เพราะเราไม่สามารถนำเรื่องราวใดๆออกจากใจใครได้

แต่การไม่เพ่งเล็ง ไม่ได้หมายความว่าเราจะเฉยเมย ไม่สร้างปัจจัยเอื้อในการเห็นแจ้งให้แก่เขา ไม่เช่นนั้น เราก็ปล่อยปละละเลย วางเฉยด้วยอัญญานุเบกขา คือเฉยโง่ เฉยไม่เอาเรื่องราว เฉยด้วยขาดเมตตา

ที่เราทำได้ จึงเป็นเพียงการสร้างเหตุปัจจัยสำหรับการได้ทิฏฐิที่ควรของเขาเท่านั้น ไม่ควรหวังผลจากการสร้างปัจจัยนั้นๆ เพราะจะทำให้ใจเราขุ่นข้องด้วยการเพ่งเล็ง

อีกทั้งการเพ่งเล็งผู้อื่น อาจหมายถึงการเห็นกิเลสตนเป็นกิเลสผู้อื่นซึ่งเป็นกิเลสที่ตรงข้ามกัน เช่น เราชอบ เชื่อ ในแบบหนึ่ง (ราคะ) จึงอยากให้เขาเป็นในแบบนั้น (ตัณหา ) แต่เมื่อเขามีความชอบ ความเชื่อ ต่างไปจากเรา เราก็ขัดใจ (โทสะ) จึงคอยเพ่งเล็งเขา (อภิชฌา)

ตรงข้าม เรากลับควรหันมาเพ่งความเป็นไปในใจเรา ไม่ใส่ใจคำพูดไม่น่ารักของใครๆอันจะทำให้เอามาทำร้ายจิต แต่ควรใส่ใจคำพูดไม่น่ารักนั้นในแง่ของการตรวจตราตน

พึงตรวจตราตนว่าได้ทำหน้าที่ของตนต่อบุคคลรอบข้างถูกต้อง ครบถ้วน แล้วหรือไม่

และ ควรตรวจดูว่าตนทำกิจต่อตนเพื่อการเห็นแจ้งสภาวะอะไรไปแล้ว อะไรยังเพียรทำอยู่ อะไรยังไม่ได้ทำ เท่านั้น

หมายเลขบันทึก: 607685เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2016 04:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2016 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับพี่ บางทีเรานึกถึงเรื่องอื่น คนอื่น และยิ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเอาเข้าใจ มากกว่านึกถึงเรื่องตนเองครับ

ขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท