ชีวิตที่พอเพียง 2656. ไปญี่ปุ่น ๒๕๕๙ : ๕. วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ และการประชุมคณะกรรมการวิชาการ PMAC 2017



เช้าวันจันทร์ที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ ฝนตก ผมจึงอดวิ่งออกกำลัง ที่เป็นกิจวัตรประจำวัน และตรงไปกินอาหารเช้าแบบง่ายๆ ที่ทางโรงแรมจัดให้ และได้กินไข่ต้มที่อร่อยที่สุดในชีวิต ผมเดาว่าอร่อยเพราะเป็นไข่ใหม่ และต้มตามเวลามาตรฐาน ได้ไข่ต้มที่อยู่ระหว่างไข่ยางมะตูมกับไข่ต้มแข็ง แต่มีคนบอกว่ามีรสบางอย่าง จึงคิดว่าน่าจะต้มโดยใส่สารบางอย่างในน้ำต้ม

เจ้าหน้าที่ของ JICA มารับเวลา ๘ น. บอกว่าหากเดินไปสถานที่ประชุม ใช้เวลา ๔๐ นาที เราจึงนั่งแท็กซี่ไปยัง สถานที่ประชุมคือ JICA Research Institute, Ichigaya

ผมปรับสมองสู่ working mode ทันที

การประชุม PMAC 2017 ว่าด้วยเรื่องระบบสุขภาพที่ไม่ทอดทิ้งกลุ่มคนที่อ่อนแอ (vulnerable group) และการประชุมในวันที่ ๔ - ๕ เมษายน เป็น Scientific Committee Meeting โดยมีสมาชิกจาก co-host และ co-organizer ทั้งหลายมาร่วมกันทำงาน เพื่อเลือก Abstract และ Story ที่มีคนส่งเข้ามา (ตาม Call for Abstract ใน บันทึกนี้) โดยแบ่งออกเป็น 3 subtheme ตามที่ประกาศออกไป ผมโดนใช้งานด้วย คือให้ review Abstract และ Case ของ Subtheme 1 : Who, Where and Why do Vulnerable Population Exist? รวม 10 abstract และ 3 Case

ผมจึงต้องอ่าน working paper ของ subtheme 1 นี้ ซึ่งเขียนมาอย่างดีมาก เริ่มจากการกล่าวถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Develoment) ที่มีเสาหลักคือ สุขภาพ (health), สิทธิมนุษยชน (human rights), สันติภาพ (peace), และความปลอดภัย (security) มีอุดมการณ์ “ไม่ทอดทิ้งใครเลย” (Leave no one behind) โดยเน้นกำจัด ความยากจนรุนแรง และมีเป้าหมาย ความยุติธรรม (justice), ความเท่าเทียม (equity) เน้นดำเนินการโดยร่วมมือกัน และดำเนินการพัฒนาอย่างบูรณาการ ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกัน

เอกสาร นิยาม ประชากรกลุ่มที่อ่อนแอ (vulnerable population) ว่าได้แก่คนที่ ยากจน โดดเดี่ยว ไม่มั่นคงหรืออยู่ในความขัดแย้ง ถูกกระทำโดยระบบหรือวัฒนธรรม เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ และอื่นๆ

เอกสารเน้นการเข้าถึง (access) บริการสาธารณะต่างๆ ที่กลุ่มคนที่อ่อนแอมักจะเข้าไม่ถึง ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ นานา

กลุ่มคนที่อ่อนแออย่างเห็นได้ชัด คือคนที่อพยพย้ายถิ่นด้วยสาเหตุต่างๆ (migrants) ดังนั้น ในปีนี้ PMAC 2017 จึงมี IOM – International Organization for Migration ทาง IOM บอกว่าขณะนี้ทั้งโลกมีคนย้ายถิ่นถึง ๑ พันล้านคน คนเหล่านี้ส่วนมากเป็นคนที่ถูกทำให้อ่อนแอด้วยสารพัดปัจจัย

ความแตกต่าง (inequalities) ด้านสุขภาพ มีอยู่ในทุกประเทศ และกลุ่มคนที่อ่อนแอเป็นกลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบมากที่สุด และในกลุ่มคนที่อ่อนแอนั้น กลุ่มที่ด้อยฐานะทางสังคมจะได้รับผลกระทบสูงสุด คนเหล่านี้ได้แก่ ชายรักร่วมเพศ หญิงขายบริการทางเพศ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ ผู้สูงอายุที่ช่วยตัวเองไม่ได้

ผมชอบตอนสุดท้ายของ working paper ที่บอกว่า ธรรมชาติของคนชายขอบของการพัฒนาก็คือ เป็นกลุ่มคนที่มักหาไม่พบในการสำรวจตามปกติ

ผมเป็นนักเรียน จึงนำโจทย์วิจัยมาฝาก จากคำถามที่ทีมยกร่าง working paper ของแต่ละ subtheme โดยสำหรับ subtheme 1 มีดังต่อไปนี้

  • โลกในปัจจุบันมีความก้าวหน้าสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในด้าน ความมั่งคั่ง, ความรู้ และเทคโนโลยี แต่ทำไมความยากจนสุดสุด และความไม่เท่าเทียมกัน ยังดำรงอยู่
  • สังคมที่มีความเท่าเทียมกันด้านสุขภาพสูง มีลักษณะอย่างไร (ผมอยากให้ญี่ปุ่น และประเทศสแกนดิเนเวียช่วยกันตอบ)
  • กระบวนการแบ่งแยกทางเศรษฐกิจและสังคมแบบไหน ที่ทำให้กลุ่มคนที่อ่อนแอถูกแยกออกไป กระบวนการอะไรบ้างที่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมและความอ่อนแอซ้ำแล้วซ้ำอีก
  • ระบบสุขภาพที่เน้นระบบบริการโดยภาคธุรกิจเอกชน ทำให้ความเท่าเทียมเลวลงอย่างไร (ผมอยากเติมว่า มีประเทศไหนบ้างที่ใช้ระบบบริการสุขภาพโดยธุรกิจเอกชน และเป็นบริการที่มี EQE – Equity, Quality, Efficiency)
  • เด็กมีความต้องการพิเศษอย่างไรบ้างในเรื่องสุขภาพ ระบบสุขภาพจะเข้าถึงกลุ่มเด็ก ที่อ่อนแอหรือด้อยโอกาส ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ ได้อย่างไร
  • ในเวทีนานาชาติด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และด้านสุขภาพโลก เรื่องของผู้ย้ายถิ่นที่อ่อนแอ ถูกละเลยอย่างไรบ้าง
  • ในเวทีโลก มีการถูกกีดกัน ในระดับบุคคล ชุมชน และชาติ อย่างไรบ้าง

จากแต่ละคำถามข้างบน มีคำถามย่อยได้อีกมากมาย ที่ทีมรับผิดชอบแต่ละ subtheme ใช้ในการวางแผนการจัดประชุม ส่วนตัวของผม น่าจะมีความพยายามคุ้ยหาปัจจัย และสาเหตุของปัจจัย ที่มักถูกมองข้าม ซึ่งผมเดาว่าจะเป็นกรณีที่ context-specific หรือขึ้นอยู่กับรายบริบท หากการประชุมนี้ สามารถชี้ให้เห็นเส้นผมที่บังภูเขาอยู่ ก็น่าจะมีคุณประโยชน์มาก ไม่ทราบว่าในเรื่องนี้ มีเส้นผมที่บังภูเขา หรือไม่ ในชีวิตการทำงานของผม ผมมุ่งหา “เส้นผม” เอามาทำงานอยู่เสมอ เมื่อไรที่หาพบ ก็จะสร้างผลงานที่มีคุณค่าสูงมาก

ตอนเที่ยงเรากินอาหารที่ห้องอาหารของ JICA ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ห้องประชุมของเรานั่นเอง เจ้าหน้าที่ของ JICA ก็มากินอาหารเที่ยงที่นี่ ผมสั่งอาหารชุด ๕๐๐ เยน แต่เขาคิดเงินเพียง ๔๐๐ เยน ปริมาณอาหารกำลังพอดีอิ่ม

กินเสร็จยังมีเวลาเหลือ ผมชักชวนทีมไทยจำนวนหนึ่งไปดูดอกซากุระที่อยู่ใกล้ๆ มีอยู่ ๕ - ๖ ต้น แต่เราเข้าไปในบริเวณไม่ได้ เพราะเป็นกระทรวงกลาโหม จึงถ่ายรูปหมู่กันที่ริมรั้ว ดอกซากุระกลุ่มนี้สวยสู้ดอก พญาเสือโคร่งที่ภูขี้เถ้าตาม บันทึกนี้ ไม่ได้

วันที่ ๔ เมษายนนี้จบลงที่ทุกคนส่งรายงานการให้คะแนน abstract และ case ที่ตนได้รับมอบหมาย และเวลา ๑๘.๓๐ น. JICA เลี้ยงต้อนรับ ที่ห้องอาหารที่เรากินอาหารเที่ยงนั่นเอง เป็นการเลี้ยงง่ายๆ โดย Mr. Ikuo Takizawa, Director, Health Department, JICA ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม เป็นเจ้าภาพแทน JICAกล่าวต้อนรับโดยเล่าเรื่องคนไร้บ้านในญี่ปุ่น ว่ามีปัญหามาก สาเหตุจากตกงาน ไม่ไว้ใจทางการ และบางคนมีปัญหาโรคจิต และเวลานี้คนเหล่านี้อายุมากขึ้น จำนวนก็เพิ่มขึ้น เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่ถูกกันออกไปจากระบบบริการสุขภาพ ที่เราเตรียมประชุม PMAC 2017 กันอยู่

ที่ชั้นวางเอกสารแจกของ JICA Research Institute ผมพบแผ่นพับประชาสัมพันธ์ Free Guided Walking Tour เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ The East Gardens of the Imperial Palace มีทุกวันเสาร์ ๑๓.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. เราจึงไม่มีโอกาส เพราะเรากลับวันพุธ



บรรยากาศในห้องประชุม


ประธานการประชุม Mr. Ikuo Takizawa, Director, Health Department, JICA


แต่ละคนนั่งทำการบ้าน review abstract อย่างจริงจัง


สภาพห้องอาหารตอนเราเริ่มไปกิน อีกสักครูจะแน่นมาก



ถ่ายรูปหมู่กับต้นซากุระ


วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๕๙

ห้อง ๖๑๕ โรงแรม Wing International Kourakuen, Tokyo



หมายเลขบันทึก: 606168เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2016 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2016 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท