ค่ายสืบศิลป์ : อีกหนึ่งการเรียนรู้ในวิถีค่ายของชาววงแคน (ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง)


จะดีมากๆ หากนิสิตจัดกิจกรรมการเรียนรู้บริบทชุมชนให้มากกว่านี้ และเรียนเชิญปราชญ์ชาวบ้านในแขนงต่างๆ มาเป็นวิทยากรร่วมกับนิสิต มิใช่นิสิตอบรมเชิงปฏิบัติการและถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนโดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่ชุมชนแห่งนั้นมีปราชญ์ชาวบ้านหลงเหลืออยู่อย่างมากโข

ปีการศึกษา 2558 เป็นอีกปีที่ “วงแคน” (ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง) ไม่ร้างค่าย

ไม่ร้างค่าย ในที่นี้หมายถึง ไปออกค่ายอาสาพัฒนาในแบบฉบับของคนเอง นั่นก็คือ “โครงการศิลปวัฒนธรรมสู่ชุมชน (ค่ายสืบศิลป์) ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 17-22 ธันวาคม 2559 ณ โรงเรียนบ้านโคกนางาม ต.สำราญ อ.เมือง จ.ขอนแก่น




ค่ายดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือ การเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดนตรี นาฏศิลป์ การขับร้อง และศิลปะแขนงต่างๆ แก่นักเรียน รวมถึงการเสริมสร้างสัมพันธภาพสมาชิกควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของสมาชิกชมรม ผ่านกิจกรรมสำคัญๆ คือ

  • อบรมเชิงปฏิบัติการด้านการขับร้อง นาฏศิลป์ ดนตรีพื้นบ้านอีสานแก่นักเรียน
  • อบรมเชิงปฏิบัติการด้านศิลปะอันเป็นงานฝีมือแขนงอื่นๆ แก่นักเรียน เช่น การแกะสลัก การเย็บพานบายศรี การวาดภาพ การตัดกระดาษเพื่อตกแต่งนิทรรศการ หรือสื่อการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหนุนเสริมการเรียนรู้อื่นๆ อีกหลายกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น กิจกรรมการบำเพ็ญประโยชน์ต่อโรงเรียน กิจกรรมรอบกองไฟ กิจกรรมสันทนาการ กิจกรรมแสดงบนเวทีเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของนิสิตและนักเรียน ซึ่งกรณีของนักเรียนนั้น จะเน้นกิจกรรมที่ได้รับการบ่มเพาะผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการเป็นหัวใจหลัก เสมือนการประเมินผลการเรียนรู้เชิงประจักษ์ดีๆ นั่นเอง




สืบศิลป์ : สืบลมหายใจศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาตนเอง

ค่ายครั้งนี้เรียกเป็นการภายใน (ภาษาพูด) ร่วมกันว่า “ค่ายสืบศิลป์”

แค่ชื่อก็บ่งบอกชัดเจนถึง “วัตถุประสงค์และรูปแบบ” ของการจัดกิจกรรม (ออกค่าย) ที่หมายถึง นิสิตไปเผยแพร่ความรู้ในด้านศิลปะแขนงต่างๆ แก่นักเรียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนเกี่ยวกับเรื่องมรดกอันเป็น “ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น” ซึ่งหยัดยืนอยู่บนปรัชญาของการอนุรักษ์ สืบสาน และฟื้นฟู




โดยเนื้อแท้ผมมองว่า ค่ายครั้งนี้ ไม่ได้พัฒนาแต่เฉพาะศักยภาพของนักเรียนเท่านั้น หากแต่หมายถึงการพัฒนาศักยภาพของนิสิตด้วยเช่นกัน เป็นการพัฒนาศักยภาพในมิติ ความรู้-ทักษะ-ทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องทั้งปวงที่ขับเคลื่อนร่วมกัน และไม่ใช่แค่เรื่องศิลปวัฒนธรรมเท่านั้น ทว่ารวมถึงทัศนคติและทักษะของการทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกันไปในตัว

โดยเฉพาะกรณีนิสิตจาก “วงแคน” นี่จึงเป็นเสมือนอีกเวทีหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพของตนเองไปในตัว เป็นการพัฒนาศักยภาพผ่านการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติการจริงร่วมกัน แตกต่างตรงไม่มีวิทยากรมาทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” (โค้ช) ให้เท่านั้นเอง

ดังนั้น กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองร่วมกันอย่างเป็นทีม เรียนรู้ผ่านการถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียน และตัวนักเรียนเองก็เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนให้นิสิตได้เห็นศักยภาพของตัวเองไปในตัว





ความท้าทายของโจทย์

ค่ายครั้งนี้เป็นค่ายบริการสังคมที่มีกลิ่นอายวิชาการ (บริการวิชาการ) อยู่ค่อนข้างมาก เพราะนิสิตได้นำองค์ความรู้ของตนเองไปถ่ายทอดแก่นักเรียน/เยาวชนในชุมชน ซึ่งนิสิตทั้งปวงคือนิสิตเนื่องในโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (โควต้าศิลปวัฒนธรรม) ที่เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็ด้วยการใช้ความสามารถพิเศษในด้านศิลปะแขนงต่างๆ เป็นใบเบิกทางสอบเข้ามา –

ด้วยเหตุนี้ ค่ายครั้งนี้จึงเป็นค่ายที่นิสิตใช้ทุนทางปัญญาของตนเองเป็นตัวขับเคลื่อน และเป็นค่ายที่หยัดยืนอยู่บนฐานของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นขนานแท้




ค่ายครั้งนี้เป็นค่ายที่หวนกลับสู่โรงเรียน/สถานศึกษาเดิมของสมาชิกในชมรม โดยเป้าประสงค์หลักคือการไปพลิกฟื้นวงโปงลางในโรงเรียนให้คืนกลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากยุบเลิกไปได้ร่วมสองปี ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันยังคงมีอุปกรณ์หลงเหลือครบครัน มีนักเรียนรุ่นเก่าหลงเหลือจำนวนหนึ่ง

ขณะที่นักเรียนรุ่นใหม่ก็สนใจหากแต่ไม่มีครูที่จะขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้อย่างเต็มสูบ ผสมผสานกับนโยบายของโรงเรียนก็เริ่มที่จะถักทอเรื่องนี้ขึ้นมาใหม่อีกรอบ

นี่จึงเป็น “โจทย์” อันท้าทายของนิสิตที่จะต้องลงแรงกายและใจเพื่อก่อให้เกิดมรรคผลความสำเร็จอันเป็นรูปธรรม เพราะมิใช่แค่การตั้งวง หรือสอนให้นักเรียนร้องได้ รำได้ เล่นดนตรีได้ หรือเย็บปักถักสานอะไรๆ ได้เท่านั้น หากแต่หมายถึงการบ่มเพาะเรื่องจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น หรือจิตสาธารณะอย่างน่าสนใจ เพราะเรื่องทั้งปวงคือเรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างไม่ผิดเพี้ยน !

และเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มเป้าหมาย จาก ป.1-6 ก็ยิ่งเป็นเรื่องท้าทาย เพราะอยู่ในช่วง “ไม้อ่อน” ที่ท้าทายต่อการบ่มเพาะ และอยู่ในวัยที่จะสร้างภูมิต้านทานก่อนการก้าวเข้าสู่วัยรุ่นในระบบของ “มัธยมต้น”




ว่าด้วยการเตรียมคน และสร้างคน สร้างงาน

ถึงแม้ว่าค่ายครั้งนี้จะไม่มีตัวเลือกเชิงพื้นที่มากนัก อย่างน้อยก็มีกระบวนการพิจารณาคัดกรองร่วมกันในหมู่สมาชิกชมรม รวมถึงการพยายามสร้างกลยุทธเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกค่าย ด้วยการมอบหมายให้นิสิตในชมรมได้จัดกิจกรรม “เปิดหมวก” ผ่านการตีกลองร้องเต้นบนฐานความรู้และทักษะมางศิลปะที่ตนเองถนัดภายในบริเวณของมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งตระเวนออกสู่หน่วยงานภายนอก และในชุมชนนั้นๆ โดยตรง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

กระบวนการเช่นนั้น ยืนยันตรงกันว่า “งบประมาณ” ไม่ใช่เป้าประสงค์หลัก หากแต่พยายามใช้กิจกรรมการเปิดหมวกเป็นกลยุทธในการหลอมรวมจิตใจความเป็นหนึ่งเดียวให้กับสมาชิก หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมของคนค่ายนั่นเอง

กรณีดังกล่าวนี้ ไม่เพียงทำให้แต่ละคนเกิดความสามัคคีในทีม ทว่ายังช่วยให้คนในทีมเกิดความเข้าใจในหมุดหมายของงานค่าย ผูกโยงถึงการช่วยให้รับรู้และเข้าใจสภาพจิตใจของแต่ละคน ทะลุไปถึงการรู้ซึ้งว่าใครคนใดให้ความร่วมมือกับทีมกี่มากน้อย ---




เช่นเดียวกับการมีหลักคิดในการที่จะคัดเลือกแกนนำค่ายที่สันทัดในแต่ละกิจกรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด หรือจัดอบรมเชิงปฏิบัติการในแต่ละด้านให้แก่นักเรียน ส่วนใครที่ไม่สันทัดก็ผันตัวเองไปเป็น “ผู้ช่วย” และร่วม “เรียนรู้” ไปพร้อมๆ กัน

และอีกประเด็นที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้นเรื่อง "กระบวนการถ่ายทอดความรู้แบบฝังลึก" แก่นักเรียน กล่าวคือ เน้นการประกบตัวต่อตัวให้ได้มากที่สุด มิหนำซ้ำก็มิได้มุ่งสอน หรือก้มหน้าก้มตาถ่ายทอดแต่เฉพาะเรื่องดนตรี ขับร้อง นาฏศิลป์และงานฝีมืออื่นๆ หากแต่ให้ความสำคัญต่อ “เรื่องราวชีวิต” ของนักเรียนควบคู่กันไป เสมือนการจัดการความรู้และความรักไปพร้อมๆ กันนั่นเอง

ในทำนองเดียวกันนี้ ผมชื่นชมมากอีกเรื่องก็คือ เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมในแต่ละวัน จะมีการประชุมประเมินผลการเรียนรู้ประจำวันอย่างเป็นรูปธรรม มีการประเมินศักยภาพของนิสิตและนักเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการประเมินผลเพื่อปรับแผนในวันถัดไป มิใช่ทำให้เสร็จๆ แต่ไม่ใส่ใจว่าผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้จะเป็นเช่นใด

ทั้งปวงนี้-- ผมถือว่าเป็นกระบวนการสร้างคน สร้างงานที่เด่นชัด และควรค่าต่อการปรบมือให้ –




ว่าด้วยการมีส่วนร่วม

งานค่ายของชาววงแคนในครั้งนี้ สะท้อนประเด็นการมีส่วนร่วมหลากหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น มีรุ่นพี่ ทั้งที่เป็นศิษย์เก่าและเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมยามถามข่าวและร่วมหนุนเสริมกิจกรรมในบางกิจกรรมเป็นระยะๆ

กรณีชุมชนนั้นก็เห็นเด่นชัดว่าชุมชนที่หมายถึง โรงเรียน-หมู่บ้านก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน ดังจะเห็นได้จากการต้อนรับขับสู้จัดเตรียมเครื่องนอนหมอนผ้าห่ม รวมถึงอาหารการกินและน้ำท่าก็ลำเลียงมาสู่นิสิต ถึงจะไม่มากมายและใหญ่โต แต่ก็เป็นความงดงามในเรื่องของการมีส่วนร่วมที่นิสิตต้องถอดรหัสการเรียนรู้ให้ละเอียด




แต่สำหรับผมแล้ว --- ผมมองว่าเป็นการมีส่วนร่วมนี้เป็นประเด็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก เพราะการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ไม่สมควรติดกับดักอยู่แค่เรื่องข้าวปลาอาหารและการพักนอนเท่านั้น แต่ควรต้องออกแบบการเรียนรู้ให้ทะลุไปมากกว่านั้น

ใช่ครับ --- จะดีมากๆ หากนิสิตจัดกิจกรรมการเรียนรู้บริบทชุมชนให้มากกว่านี้ และเรียนเชิญปราชญ์ชาวบ้านในแขนงต่างๆ มาเป็นวิทยากรร่วมกับนิสิต มิใช่นิสิตอบรมเชิงปฏิบัติการและถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนโดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลางเสียทั้งหมด ทั้งๆ ที่ชุมชนแห่งนั้นมีปราชญ์ชาวบ้านหลงเหลืออยู่อย่างมากโข

เพราะกระบวนคิดที่ผมว่านี้คือกระบวนทัศน์ค่ายอาสาพัฒนาในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” ที่นิสิตควรตระหนักให้แน่นหนัก หากสามารถทำได้ ย่อมเป็นอีกทางหนึ่งของการกระต้นให้ชุมชนได้กลับมามอง “ทุนทางสังคม” ของตนเอง และใช้ทุนทางสังคมดังกล่าวเป็นระบบและกลไกในการพัฒนาชุมชนตนเอง เสมือนการเพาะพันธุ์พืชผลด้วยเมล็ดและรากของพืชพันธุ์เหล่านั้น หาใช่เป็นพืชพันธุ์ใหม่ที่นำมาจากที่อื่น โดยขาดการเรียนรู้สภาพภูมิอากาศของพื้นที่ว่าเอื้อต่อพืชพันธุ์ใหม่นั้นแค่ไหน

และหากเป็นเช่นผมว่า นิสิตเองก็ย่อมได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพตนเองจากผู้รู้อันเป็นปราชญ์ชาวบ้านไปพร้อมกัน

รวมถึงการไม่แยกส่วนการเรียนรู้ที่หมายถึงจัดค่ายในโรงเรียน แต่ไม่ยอมที่จะออกสู่การเรียนรู้ชุมชน ไม่ท่องตระเวนเข้าไปยังสถานที่สำคัญๆ ของชุมน เช่น วัด หรือพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวาดภาพนั้น หากออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้คมชัดมากขึ้นด้วยการให้นักเรียนได้วาดภาพเรื่องราวชุมชนของตนเอง - ผมว่าจะยิ่งน่าสนใจ แถมยังเป็นกระบวนการกระตุ้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และมีจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นของตัวเอง




บทส่งท้าย

เหนือสิ่งอื่นใดต้องขอชื่นชมพลังจิตใจของชาววงแคนที่ไม่ย่อท้องอมืองอเท้าจนไม่ไปออกค่ายฯ เพราะการกล้าหาญที่จะไปออกค่ายเช่นนี้ คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่แล้ว ที่เหลือคือการเรียนรู้ที่จะย่อยอดความสำเร็จและการเรียนรู้ที่จะสะสางปัญหา เพื่อข้ามพ้นไปสู่ฝั่งฝันร่วมกัน

ถึงแม้จะเผชิญปัญหาในเรื่องงบประมาณ หรือกระทั่งอากาศอันหนาวเหน็บ รวมถึงภาวะสมาธิสั้นของนักเรียนก็เถอะ สิ่งเหล่านี้ชาววงแคนก็ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา “หน้างาน” (สถานการณ์เฉพาะหน้า) อย่างมีพลัง ทั้งในเชิงปัจเจกบุคคลและร่วมสะสางปัญหาร่วมกันอย่างเป็นทีม

มิหนำซ้ำยังได้ “เข้าใจตัวตน” ของ “ตนเอง” มากขึ้น กล่าวคือ เข้าใจความเป็นปรัชญาของชมรม – เข้าใจจุดมุ่งหมายของโครงการนี้มากขึ้น เข้าใจอุปนิสัยของเพื่อนร่วมชมรม เข้าใจหลักในการทำงานร่วมกัน เข้าใจหลักคิดของการออกค่ายบนฐานวัฒนธรรม ฯลฯ

แต่ที่แน่ๆ ต้องชื่นชมและร่วมยินดีด้วยเป็นที่สุด เพราะหลังจากค่ายครั้งนี้ได้ยุติลง หยาดเหงื่อแรงคิดของนิสิตก็ผลิบานออกดอกออกผลอย่างน่าชื่นใจ เพราะวันนี้โรงเรียนและนักเรียนกลุ่มดังกล่าว ได้ตื่นตัวต่อกิจกรรมที่ว่านี้อย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จากการออกแสดงศิลปวัฒนธรรมในวาระต่างๆ ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมภายในโรงเรียนและกิจกรรมในระดับหมู่บ้าน – ตำบล

หรือกระทั่งการที่นักเรียนลงมือจัดตกแต่งนิทรรศการ หรือมุมเล็กๆ น้อยๆ ในอาคารเรียน และสถานที่สำคัญๆ ของโรงเรียน สิ่งเหล่านี้คือผลลัพธ์เชิงประจักษ์ที่แตะต้องสัมผัสได้อย่างไม่ต้องกังขา

ผมว่านี่แหละคือความท้าทายที่เริ่มสำเร็จและเป็นมรรคเป็น – ขอปรบมือให้นะครับ

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยฯ เองก็เถอะ อาจคงต้องทบทวนแผนพัฒนา “วงแคน” อีกครั้งอย่างแท้จริง เพราะงานค่ายในทำนองนี้อาจหมายถึงกระบวนการพัฒนาศักยภาพของนิสิตที่ดีไม่แพ้การรอวันเวลาเข้าร่วมแต่เฉพาะโครงการไฟล์บังคับเท่านั้น !

หรือไม่ก็กลับสู่การทบทวนตั้งแต่นโยบายการรับนิสิตเข้ามาศึกษา -รับมาแล้วต้องดูแลอย่างไร -จะพัฒนานิสิตคู่กับพัฒนาพี่เลี้ยงอย่างไร-จะเชื่อมโยงภาคีมาหนุนเสริมอย่างไร-จะพานิสิตกลุ่มนี้ไปท่องโลกในฐานะของฑูตวัฒนธรรมอย่างไร



ภาพ : วงแคน
บันทึกเรื่อง : วันที่ 25 เมษายน 2559

หมายเลขบันทึก: 605378เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2016 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2016 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ว้าวๆ เด็กๆ .... เรียนรู้ .... สืบสาน ในงานศิลปะ ... อย่างมีความสุขนะคะ


ขอบคุณค่ะ

Dr. Ple

...

ครับ ภาพนี้ เป็นภาพที่นักเรียนแสดงบนเวที เป็นผลพวงการเรียนรู้นั่นแหละครับ นำสิ่งที่พี่นิสิตได้อบรม ถ่ายทอดและฝึกฝนให้มาแสดงบนเวทีให้ครู ให้ผู้ปกครองและพี่ๆ นิสิตได้ดูได้ชม ชื่นใจตรงที่โรงเรียนและนักเรียนสามารถต่อยอดกันได้ -

นี่คือผลสำเร็จเล็กๆ ที่เป็นรูปธรรมของคนค่ายฯ ครับ

ขม1 เป็นเรื่องเล่าที่ผ่านการจัดการความรู้ ให้ได้เกิดการเรียนรู้ตาม ขอบคุณสำหรับความรู้ค่ะ

ชม2 แนวคิดการให้นิสิตได้มองเห็นคุณค่าของพื้นฐานชุมชนเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะพัฒนาแบบมีส่วนร่วมให้กับนิสิต เพราะหลายครั้งที่เมื่อนิสิตได้รับทผู้ให็แล้วอาจหลงลืมถึงการเป็นเด็กในสายตามชุมชน และหลายครั้งที่เราเห็นราชการนำนโยบายไปส่งลงพื้นที่โดยที่ไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่ได้สืบทวนความต้องการแท้จริงและต้นทุนของพื้นที่ก่อนที่จะลงมือเปลี่ยนแปลงพัฒนา หากอาจารย์ได้ปลูกฝังไว้กับนิสิตตั้งแต่ตอนเรียนแล้วในอนาคตน่าจะเห็นการบูรณาการการนำองค์ความรู้ไปพัฒนาในพื้นที่ได้ชัดเจนขึ้น

ปรบมือรัวๆ ค่ะ

กิจกรรมได้เรียนรู้ทั้งนิสิตและชุมชน

อ่านแล้วได้ความรู้มาก

นักเรียนตัวเล็กๆจะได้เรียนรู้ศิลปะ ไปด้วยเลย

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท