​สร้างความหวังผ่านโมเดลการฟื้นคืนสุขภาวะ Recovery Model


ปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมยังมีการแบ่งแยกระหว่างผู้ป่วยจิตเวช ผู้พิการ คนธรรมดา และมีการตีตรา(Stigma) โดยจำกัดโอกาสพวกเขาในการมีส่วนร่วมในสังคมอยู่จริง

การรักษาผู้ป่วยจิตเวชแบบเดิมคือรูปแบบ Medical model ยังขาดการสร้างความหวัง การตั้งเป้าหมาย (goal) การได้รับสิทธิ์ และการแสดงความคิดสร้างสรรค์จากตัวผู้ป่วยเอง จึงเกิดการกบฏอย่างสร้างสรรค์ และการรักษาสิทธ์ของผู้ป่วยจำนวนหนึ่งขึ้นบนโลก ในรูปแบบ Recovery oriented approach โดยผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นเจ้าของโรค สามารถรับผิดชอบการหายของเขาเอง ทำให้เกิดการสร้างพลัง(empowerment)ขึ้น จากกลุ่มผู้ป่วย ครอบครัว ทีมการรักษา ที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะพลังการขับเคลื่อนในสังคม เขามีสิทธิ์ถามทีมการรักษา เลือกกิจกรรมเอง มีความรู้ความเข้าใจต่างๆด้วยตัวเขาเอง รวมทั้งรู้และตัดสินการหาย และการกลับไปทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง

เป้าหมายของการฟื้นคืนสุขภาวะตามโมเดลนี้คือ การมีความหวัง(hope) จากการที่ทีมการรักษา รวมถึงกลุ่มเพื่อนผู้ป่วย(peer)ให้โอกาสและความเข้าใจ ให้การดูแลกันและกัน ให้มีสุขภาพที่ดี(wellness) ฟื้นคืนจากโรคที่เป็น และใช้จิตวิญญาณ(spiritual) แก่นความเป็นมนุษย์ ความเมตตา กรุณา ในการดูแลกันและกัน

อ.พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ ผู้บรรยายในวันนี้ ลองให้พวกเราหลับตา และให้คิดถึงคนๆหนึ่งที่เราเชื่อว่าเขารักเราจริงๆ มีหลายๆเสียงที่พูดออกมาคือ “คิดถึง อยากกลับบ้าน ปลอดภัย อยากกลับไปกอด มีพลังจะทำอะไรบางอย่างมากขึ้น” อาจารย์เล่าว่าสิ่งนี้เปรียบเหมือนพลังศรัทธาในอะไรบางอย่างหรือจิตวิญญาณ(spiritual)ในตัวเรา ขณะนั้นดิฉันคิดถึงคนๆหนึ่ง นั่นก็คือคุณแม่ รู้สึกมีความหวัง และตั้งใจอยากให้งานในวันนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีให้ได้

พลังจากจิตวิญญาณอันทรงพลัง คือการสนับสนุนทางสังคมต่อผู้ป่วยจิตเวช อาจารย์สมรัก เปรียบเทียบอย่างง่ายว่า ให้ลองคิดว่าถ้าเขาแยกตัว เขาก็จะไม่ทันข่าวสาร แล้ว self-esteem ในตัวเขาล่ะ จะสามารถเกิดขึ้นได้ไหม การได้เข้าร่วมสังคม ทำให้เกิดการยอมรับ ทำให้ชีวิตมีคุณค่าและมีประโยชน์ การมี peer support ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช อย่างเช่น ในสมาคมสายใยครอบครัว จะช่วยมาเปลี่ยนทัศนคติของนักวิชาชีพเช่นนักกิจกรรมบำบัดแบบพวกเราได้ว่าพวกเขา “ทำได้” ดิฉันได้มีโอกาสสังเกตผู้รับบริการที่สมาคมสายใยครอบครัวดูแลกัน โดยการโทรตามเพื่อนสมาชิกมาเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มกับนักศึกษากิจกรรมบำบัด มีการดูแลแบบพี่สอนน้อง ช่วยเตรียมอาหารกลางวันให้กัน ดิฉันถามผู้รับบริการในช่วงใกล้เที่ยงว่าต่อไปมีกิจกรรมอะไรต่อคะ เขาเล่าว่า “ผมกำลังเตรียมอาหารกลางวันให้น้องๆครับ” ทำให้ดิฉันรับรู้ได้ว่าการดูแลกันเองแบบไหนก็ไม่เหมือนคนที่เข้าใจกันเองดูแลกัน

นักกิจกรรมบำบัดในแนว Recovery oriented approach จะทำงานแบบไหน? คำตอบคือ ต้องเปิดใจ และสนับสนุนผู้ป่วย เคียงบ่าเคียงไหล่ซึ่งกันและกัน คนไข้เขามีการกบฏไปในทางที่ดี ทำให้วิถี professional ของเราเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการการเปิดรับและปรับใช้จากเรานักกิจกรรมบำบัดด้วย (ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างมันไม่ง่าย) เปิดโอกาสให้เขาได้อยู่ร่วมกันกับเรา เพราะเราขาดเขาไม่ได้ (inclusive) ให้มีการดำรงชีวิตอิสระ ถึงจะป่วยหรือพิการก็สามารถเรียนหรือทำงานได้ (independent living) รวมทั้งสามารถให้เข้าถึงสิทธิคนพิการต่างๆได้ (accessible)

อาจารย์เล่าถึงร้านขนมชื่อดังร้านหนึ่งที่รับผู้พิการและผู้ป่วยไปเป็นส่วนหนึ่งของพนักงาน ทำให้ได้รู้อีกแง่มุมหนึ่งว่าปัจจุบันสังคมเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น บ้านเราเริ่มมีการฟื้นฟูการทำงาน มีการทำงานกับ social enterprise แล้ว ข่าวดีคือ ผู้พิการและผู้ป่วยเหล่านี้ได้รับโอกาสการสอนงานจำนวน 2 เดือน ในระหว่างนั้นจะได้รับค่าจ้างวันละ 200 บาท หากไม่ผ่านการเรียนรู้งานจะให้โอกาสฝึกงานต่อเป็นเวลา 1 ปี หากได้รับคัดเลือกและผ่านการฝึกงานจะได้ทำงานร้านขนม ค่าแรงจะได้ระหว่าง 300-450 บาทต่อวัน ซึ่งตัวอย่างนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เขากลับมามีศักดิ์ศรีในสังคมได้โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นคนป่วยหรือคนปรกติ

การจะทำงานขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงในสังคม ต้องอาศัยทั้ง ผู้ปฏิบัติงาน ผู้กำหนดนโยบายในประเทศ ประชาคมโลก และสังคมไทย อาจารย์เล่าว่าเราต้องเชื่อว่ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และเป็นเมล็ดพันธ์ความหวังใหม่ในการขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ ความศรัทธา ความหวัง และมีคุณค่าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 602735เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2016 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2016 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดีครับอาจารย์

-ขอบคุณสำหรับข้อมูลนี้นะครับ

-ผมมีหลานสาวพิการทางหูอยู่ 1 คน

-เธอใช้ชีวิตประจำวันปกติดี...

-สมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตจะสื่อสารกันทางการเขียนกระดาษ

-สมัยนี้มีการพูดคุยกันผ่านเฟสบุ๊คผ่านไลน์..ทำให้เข้าใจเธอมากขึ้น

-น่าเสียดายที่เธอได้ศึกษาเพียงมัธยมปลาย..

-ดูช่องการการศึกษาต่อของเธอช่างแคบไปหน่อย...

-ณ เวลานี้ขอให้เพียงเธอดูแลตัวเองได้...ใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติ..ก็สบายใจ..

-กำลังหาหาทาง...สานฝันให้กับเธอ...

-ขอบคุณครับ

https://www.gotoknow.org/posts/537418

ขอเป็นกำลังใจให้หลานสาวคุณเพชรน้ำหนึ่งนะคะ คอยช่วยสนับสนุนเขา และเป็นพลังใจ ให้เขาใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ โชคดีที่เทคโนโลยีทำให้เปิดโอกาสเขาในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นนะคะ ความหวังจะเป็นแรงผลักดันให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย รวมถึงพวกเราด้วยค่ะ :)

ขอบพระคุณมากค่ะ อ.เดียร์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท