ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

งานวิจัยพริกในพืชสวนแห่งชาติ สู่ระบบเกษตรประณีต


พริกเป็นพืชผักที่ให้รสรสเผ็ดที่ผู้บริโภคนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหาร และเพื่อสกัดสำหรับสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ

เอาพริกไปทำอะไร  พริกถือเป็นพืชผักที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพของคนเราเป็นอย่างมากเนื่องจากพริกเป็นพืชผักที่ให้รสรสเผ็ด ผู้บริโภคนิยมนำมาใช้ในการประกอบอาหาร และเพื่อสกัดสำหรับสร้างผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ยาแก้ปวด อาหารเสริม เครื่องสำอาง สารกำจัดแมลง เป็นต้น นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพริก และผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว 6 – 10 พ.ย. 2549 ผมได้มีโอกาสได้ไปร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการและเสนอผลงานทางวิชาการภาค Poster  เรื่องศักยภาพการตลาดพริกสดในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกับ ผศ.ดร.บุญส่ง   เอกพงษ์ หัวหน้าทีมในงานการประชุมสัมมนาทางวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจาก สกว.และมีผู้ที่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

2 จังหวัดขายพริกได้ร้อยกว่าล้านบาทในฤดูการผลิต ปี 2548/2549 (พ.ย.- มิ.ย.) จังหวัดอุบลราชธานี และศรีสะเกษทั้งสองจังหวัดสามารถขายผลผลิตพริกได้ทั้งหมด 31,900 และพริกแห้ง 5,009 ตัน ทำให้มีรายได้รวมมากว่า 1,100 ล้านบาท สำหรับสายพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกคือ พันธุ์พริกแดงสด พริกเขียว และพริกแห้งที่สำคัญ คือ พันธุ์ลูกผสม Super Hot จินดา และหัวเรือย่น โดยมีราคาเฉลี่ยตลอดฤดูกาลเท่ากับ 22.7 14.3 และ 60 บาท ตามลำดับ

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ นับเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานวิจัยทุกคน หลังจากที่เราพยายามทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการทำงานกันอย่างเต็มที่เมื่อปีที่แล้วเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีมีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม สุดท้ายเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 49 เราก็ได้รับรางวัล การนำเสนอผลงานภาคโปสเตอร์ดีเลิศ  สาขาผัก  จากคณะกรรมการจัดงานพืชสวนแห่งชาติครั้งที่ 6 จึงทำให้ทีมงานทุกคนปลื้มกับผลงานที่แห่งความภาคภูมิใจ

เส้นทางพริกสู่ระบบเกษตรประณีต จากข้อมูลที่เราได้ออกติดตามเส้นทางการผลิตพริก ที่ผมเคยได้นำเสนอไปแล้ว ตามรอยความเผ็ดนั้น ทำให้ผมนึกถึงพี่น้องเกษตรกรที่เราทำเกษตรประณีตขึ้นมาทันที เนื่องจากพริกที่เกษตรกรปลูกนั้นมีค่อนข้างหลากหลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ผมคิดว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด (สรุปจากความเห็นร่วมกันกับผู้ผลิตส่วนใหญ่) สำหรับพี่น้องที่ผลิตในระบบเกษตรประณีตคือพันธุ์จินดา และหัวเรือย่น เนื่องจากพริกทั้งสองพันธุ์นี้มีความทนทานต่อโรค แมลง และมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคอีสานได้ดี สามารถเก็บกิน และขายได้คุณภาพทั้งสด และทำพริกแห้ง อีกทั้งมีสีสวย เก็บถนอมรักษาง่าย และนานกว่าพันธุ์อื่นๆ  และยิ่งกว่านั้นเกษตรกรสามารถคัดเลือก และเก็บพันธุ์ไว้ใช้ได้เองในฤดูกาลต่อไปโดยไม่ต้องพาแหล่งพันธุ์จากภายนอก

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

16 พ.ย. 49 

หมายเลขบันทึก: 60263เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณอุทัย

ผมอยากเห็นการนำข้อมูลมาผสมผสานกับงานหลักของคุณ ไม่ใช่มาในลักษณะแอ้มแปะ เพราะการแอ้มแปะจะทำให้งานไม่แข็งแกร่งเท่าที่ควร แต่ถ้านำมาผสมผสานเป็นเส้นสายแห่งโครงสร้างของงาน จะทำให้แกนวิทยานิพนธ์ของคุณแข็งขึ้นเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากการทำเกษตรประณีตเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีเสาหลักอยู่สองเสาใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ ความเป็นประณีต และความพอเพียง

ความประณีต เน้น การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในเชิงพื้นที่ ดิน น้ำ พืช สัตว์ และการตอบสนองความต้องการของครัวเรือน ที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงกับความพอเพียง ตามระบบการย่อยแนวคิดของอาจารย์อภิชัย ที่สะท้อนถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดความพอเพียง สิ่งที่ผมอยากเห็นมากๆ ก็คือ คุณนำเอาข้อมูลต่างๆ มาสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างสองเสาหลักนี้ เช่น เรื่องพริก แค่ความพอเพียงนั้นไม่กี่ต้นก็พอ แต่จะทำพริกเพื่อการค้านั้นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง จะนำไปสู่ความพอเพียงได้อย่างไรก็ต้องวิเคราะห์กันใหม่ ย่อยให้ถึงแก่นแท้ของเรื่องที่จะต้องไม่ใช้ระบบแอ้มแปะ อย่างที่เป็นอยู่ หวังว่าคงเข้าใจนะครับ เราจะได้เดินหน้าอย่างเต็มพลัง ซะที ไม่ต้องวนไปวนมาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เดี๋ยวผมจะได้มีหัวข้อเขียนใหม่อีกแล้วสิ ในประเด็นวังวนแห่งความไม่รู้น่ะ คุณว่าจะชื่อเรื่องอะไรดี ผมจะได้เขียนถูก อันนี้คือคำถามวัดใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท