​สรุปบทเรียนจากการศึกษา “พระรอด กรุวัดมหาวัน”


เนื้อหินเผา พ่อพิมพ์เดียว หลายแม่พิมพ์ หลายตำหนิ

******************************

เนื้อหินเผา พ่อพิมพ์เดียว หลายแม่พิมพ์ หลายตำหนิ


  • ลักษณะและวิธีการสร้างจาก เนื้อหินเผา

หลักจากได้พระรอดมหาวันมามากกว่า 10 องค์ ก็เริ่มมีความมั่นใจในข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษาเนื้อพระรอดมหาวัน ว่าควรเป็นเนื้อที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติที่แข็งกว่าแร่ควอทซ์ที่ใช้ทำกระจก จึงมีความแข็งระดับสูงกว่ากระจกและสามารถกรีดกระจกได้ (ซึ่งในพระเก๊ใช้สารกลุ่มเรซิน มีความแข็งระดับกรีดกระจกได้เช่นกัน แต่ลักษณะความเก่าจะไม่ถูกต้อง ไม่ผ่านหลักการ 123 ของการดูพระแท้) ดังนั้นวัสดุที่ใช้ทำพระรอดมหาวันจึงควรเป็นกลุ่มเนื้อหินอัคนี นำมาบด ใส่สารเชื่อมชั่วคราว แล้วปั้นเพื่อขึ้นรูป นำไปกดบนแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้น ด้วยมือ กดด้วยมือ เมื่อมีเนื้อเกินก็นำไปพับไว้ที่ฐาน จึงปรากฏลายนิ้วมือทั้งด่านล่าง และด้านหลัง มีเนื้อเกินออกเป็นปีกปลิ้นไปด้านหน้า มีรอยพับด้านล่าง

  • พ่อพิมพ์เดียว

เนื่องจากพระรอดมหาวันทุกพิมพ์ ทุกองค์ จะมีตำหนิในรายละเอียดตรงกันเป็นหลายสิบจุดที่ไม่มีในหลักพุทธศิลป์ ตัวอย่างเช่น เส้นแตกข้างหูซ้าย เส้นน้ำตกต่อจากเส้นจีวร เส้นแตกละเอียดเล็กๆ ตามองค์พระและตามบริเวณฐาน ที่ไม่น่าจะทำได้ตรงกันมากขนาดนั้น ถ้าเป็นการแกะแม่พิมพ์ที่เกิดขึ้นต่างวาระกัน จึงน่าจะสรุปได้ว่า เกิดจากการแกะ และ/หรือ ปั้นองค์พระเป็นพ่อพิมพ์ เพียงองค์เดียว ที่มีตำหนิรายละเอียดต่างๆดังกล่าวแล้ว แล้วนำมากดเป็นแม่พิมพ์เบื้องต้นจำนวนหนึ่ง เกิดเป็นแม่พิมพ์ในกลุ่มพิมพ์ใหญ่ เพราะขนาดจะเป็นไปตามพ่อพิมพ์ แต่ย่อมมีความหลากหลายของแม่พิมพ์เกิดขึ้นได้ในการกดแต่ละครั้ง เพียงแต่รายละเอียดตำหนิของพ่อพิมพ์จะมาปรากฏเป็นตำหนิที่แตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละแม่พิมพ์ที่สร้างขึ้นด้วยการกดพิมพ์ในต่างวาระกัน

  • หลายแม่พิมพ์

นอกจากพิมพ์ใหญ่ที่มีลักษณะรายละเอียดหลายประการต่างกันแล้ว ก็ยังปรากฏว่ามี “พิมพ์” ที่มีรูปร่างและขนาดต่างกันมากมาย ที่วงการพระเครื่องได้พยายามกำหนดชื่อเรียก “พิมพ์” เพื่อการสื่อสาร ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และ พิมพ์ตื้น ที่ในความเป็นจริงนั้น น่าจะเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแบ่งเป็น 5 พิมพ์ดังกล่าวได้ แต่ควรจะเป็น “หลาย” แม่พิมพ์ ที่กดต่อๆกันมา หลังจากเลิกใช้พ่อพิมพ์แรก ด้วยปัญหาหรือข้อจำกัดใดๆก็แล้วแต่ (เช่น การแตกหัก ชำรุด เสียหาย เป็นต้น) แล้วใช้องค์ที่กดไว้แล้ว เป็นพ่อพิมพ์ต่อๆมา และด้วยลักษณะของวัสดุที่ไม่เหมาะกับการเป็นพ่อพิมพ์ ก็อาจจะเกิดความเสียหายอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนพ่อพิมพ์บ่อยๆ เกิดเป็นการสร้างแม่พิมพ์ที่หลากหลาย และ”พิมพ์” ที่หลากหลายดังปรากฏในองค์พระ เช่นเดียวกับการสร้าง ลพ ทวด วัดช้างให้ ปี พ.ศ. 2497 ที่ใช้พ่อพิมพ์เดียว แต่หลากหลายแม่พิมพ์ ที่มีโครงสร้างของพุทธศิลป์เดียวกัน แต่มีขนาดแตกต่างกัน ที่เรียกว่าพิมพ์ต่างกัน และมีตำหนิหลากหลายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ละแม่พิมพ์และการกดแต่ละครั้ง

  • หลายตำหนิ

เนื่องจากวิธีการสร้างในลักษณะพ่อพิมพ์เดียว หลายแม่พิมพ์ (บล็อก) จึงเกิดตำหนิในองค์พระ ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ตำหนิร่วมจากพ่อพิมพ์ และที่เป็นกลุ่มๆของตำหนิจากแต่ละแม่พิมพ์ จึงมีความจำเป็นต้องแยกแยะและจัดลำดับตำหนิให้ชัดเจนในการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีองค์จริง จำนวนมากพอในแต่ละแม่พิมพ์ จึงจะสามารถกำหนดตำหนิในแต่ละแม่พิมพ์ได้อย่างถูกต้อง ไม่สามารถกำหนดจากพระองค์เดียวได้ อย่างที่พยายามทำกันอยู่ในวงการด้วยเจตนาเน้นไปทาง “พุทธพานิช” มากกว่าการพยายามสร้างองค์ความรู้ที่แท้จริง

ดังนั้น การจำแนกแท้-เก๊จึงควรเริ่มจากหลักการที่จำแนกได้ง่าย ไปหาสิ่งที่กำหนดได้ยาก และนำมาเป็นความเข้าใจ ตั้งแต่ เนื้อหิน (ดูลักษณะการผุกร่อนแบบเดียวกับหินอัคนี) พ่อพิมพ์เดียว (ดูพุทธศิลป์ และตำหนิร่วมของทุกพิมพ์ และทุกแม่พิมพ์) หลายแม่พิมพ์แบบหลากหลายและต่อเนื่องกัน มีทั้งลักษณะร่วม และลักษณะต่าง ที่จะเข้าใจได้ต่อเมื่อได้เห็นของจริงเท่านั้น

นี่คือองค์ความรู้ที่ได้ และควรนำไปพัฒนาต่อไปครับ

หมายเลขบันทึก: 601801เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 09:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท