การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่ห้า การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐานกับทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย


TBL เป็นการเรียนการสอนที่เป็นระบบ มีเจตนาให้นักศึกษาสร้างความเข้าใจ โดยมีการตรวจสอบความเข้าใจ และแก้ไขส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ตามด้วยการทดลองใช้ความรู้ ทำให้เข้าใจถูกต้องและจำความรู้ได้ดี เป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย

ความเป็นมาของการเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน (Team-based learning-TBL) ได้กล่าวไว้แล้วในบทที่สาม ในที่นี้จะทบทวนเพื่อนำมาเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย (Meaningful learning) ที่เสนอไว้ในบทที่สี่

TBL มีคำนิยามแค่ประโยคเดียวว่า "เป็นการจัดการเรียนการสอนที่ใช้รูปแบบของ (1) กลุ่มขนาดเล็ก (2)ในห้องเรียนเน้นเรื่องการนำความรู้ไปใช้และ (3) นักศึกษาต้องเตรียมความรู้มาตั้งแต่นอกห้องเรียน" ผมใส่เลขไว้ในวงเล็บไว้เพื่อแสดงให้เห็นองค์ประกอบที่สำคัญสามประการของ TBL

(1) กลุ่มขนาดเล็ก TBL ใช้หลักสามประการคือ

(1.1) กลุ่มต้องมีความหลากหลาย เช่น คนเก่งมากเก่งน้อยต้องคละกัน

(1.2) มีเจตนาให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม จึงไม่ให้เลือกกลุ่มกันเอง และไม่ให้เปลี่ยนกลุ่มต้องเป็นกลุ่มถาวรตลอดการเรียนแต่ละรายวิชา

(1.3) ขนาดกลุ่ม 5-7 คน ซึ่งเป็นขนาดกลุ่มที่ร่วมทำงานกันได้ดี เล็กกว่านี้จะขาดมุมมองที่หลากหลาย ใหญ่กว่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์กันไม่ทั่วถึงและมีแนวโน้มจะแตกกันเป็นกลุ่มย่อย จำนวนนักศึกษาไม่ว่าจะ 40 หรือ 120 คน แบ่งกลุ่มแล้วก็ยังคงอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน โดยมีอาจารย์คนเดียวเป็นผู้ดูแล สรุปว่าการเรียนในกลุ่มเล็กนี้จะช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ประการหนึ่งคือ "นักศึกษาสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิผล"

(2) ในห้องเรียนเน้นเรื่องการนำความรู้ไปใช้ และ (3) นักศึกษาต้องเตรียมความรู้มาตั้งแต่นอกห้องเรียน

โปรดสังเกตว่า การเน้นเรื่องการนำความรู้ไปใช้นี้เหมือนกับแนวคิดของการทดสอบของ PISA (Program of International Student Assessment) เพียงแต่ TBL เริ่มมาตั้งแต่ก่อนมี PISA แต่ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันได้แก่ เป้าหมายสำคัญของการเรียนรู้คือการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง (น่าจะขีดเส้นใต้หลายๆเส้น) จึงควรนำมาตั้งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการเรียนรู้ว่า นักศึกษาสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้ได้ในสถานการณ์ที่ใกล้กับที่จะพบในชีวิตจริง (ประเด็นที่ยากที่สุดของผู้สอนอยู่ตรงนี้ ถ้ากำหนดได้ปัญหาสำคัญก็หมดไป) เมื่อเริ่มต้นอย่างนี้ สิ่งดีๆหลายอย่างก็จะตามมาได้แก่

(2.1) เมื่อนักศึกษาเห็นประโยชน์ของเรื่องที่เรียนย่อมเกิดความสนใจ อาจถึงกับทำให้สนุกกับการเรียนได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าเบื่อหน่าย

(2.2) แต่ละวิชามี Concepts หรือความรู้ชิ้นเล็กๆ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้จำนวนหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าเป็น Key concepts ของ วิชานั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริง Key concepts จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับเนื้อหาวิชาทั้งหมด ถ้าสามารถกำหนดได้ชัดเจนทำเป็นรายการไว้ได้จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งสำหรับนักศึกษา (เพื่อการเรียนรู้และการเตรียมการสอบ) และอาจารย์ (เพื่อการเตรียมการสอนและการเตรียมการสอบ) ประเด็นที่ต้องใส่ใจก็น้อยลง การเรียนรู้ย่อมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(2.3) การเรียนที่เน้นการนำไปใช้ คือ การเรียนที่ฝึกการใช้ความรู้ ทำให้มีการใช้ความคิด มีการทบทวน ได้ใช้ความรู้หลายรอบ ทำให้ความเข้าใจดีขึ้น และจำได้ดีขึ้น เมื่อต้องใช้ความรู้ในภายหลังจะนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น (รวมทั้งนำมาใช้ในการตอบข้อสอบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริงที่ใกล้ตัวที่สุดของนักศึกษา)

กิจกรรมการเรียนการสอนของ TBL สรุปไว้ในแผนภาพต่อไปนี้

กิจกรรมการเรียนการสอนชิ้นแรกของ TBL เรียกว่า ASSIGNED READINGS คือการมอบหมายงานให้นักศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมเน้นที่การเรียนรู้ระดับจำได้และเข้าใจ (และหวังว่าจะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง) แต่การเรียนการสอนในห้องเรียนของ TBL เน้นที่ระดับการนำความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า ดังนั้นจึงมอบหมายภาระการเรียนรู้ในระดับล่าง (จำได้และเข้าใจ) ให้นักศึกษาเตรียมตัวมาก่อนนอกห้องเรียน (TBL จึงเป็นตัวอย่างสำเร็จรูปของ Filpped classroom คือ เอาเรื่องที่ยากกว่าและสำคัญกว่ามาเรียนรู้ในห้องเรียน และเอาเรื่องที่ง่ายกว่าไปเป็นการบ้าน)

กิจกรรมการเรียนการสอนชิ้นที่สอง ซึ่งเป็นกิจกรรมแรกในห้องเรียน เรียกว่า INDIVIDUAL READINESS ASSURANCE TEST ใช้แบบทดสอบความรู้ระดับจำได้และเข้าใจ ในรูปแบบของ Multiple choice questions โดยเน้นหัวข้อที่เป็น Key concepts เป็นการทดสอบว่านักศึกษาได้เตรียมตัวมาแล้วและมีความเข้าใจ Key concepts พร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับการนำความรู้ไปใช้ การทดสอบนี้มีการเก็บคะแนนด้วย ซึ่งจะเป็นเหตุชักจูงภายนอกที่ได้ผลดีมากในการทำให้นักศึกษาทำการบ้าน ไม่ขาดเรียนและเข้าเรียนตรงเวลา

กิจกรรมการเรียนการสอนชิ้นที่สาม เรียกว่า GROUP READINESS ASSURANCE TEST ใช้แบบทดสอบชุดเดิม ให้นักศึกษาแต่ละกลุ่มช่วยกันทำซ้ำในกลุ่ม ตามหลักการและประสบการณ์พบว่า คะแนนสูงสุดของกลุ่มจะสูงกว่าคะแนนสูงสุดระดับบุคคลเกือบจะเสมอไป (ร้อยละ 99) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่าผลงานกลุ่มดีกว่าผลงานรายบุคคล

กิจกรรมที่สี่ เรียกว่า GROUP APPEALS ให้สิทธิกลุ่มที่ตอบผิดจากคำเฉลยแต่เห็นว่าควรเป็นคำตอบที่ถูก ยื่นอุทธรณ์เป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมเหตุผล หากอุทธรณ์ฟังขึ้นกลุ่มจะได้รับคะแนนชดเชย กิจกรรมนี้เป็นการส่งเสริมให้กลุ่มรู้จักใช้วิจารณญาณและกล้าให้ความเห็นต่าง (Critical thinking)

กิจกรรมที่ห้า เรียกว่า INSTRUCTOR FEEDBACK อาศัยข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบทดสอบทั้งระดับบุคคลและกลุ่ม (ต้องมีระบบตรวจคำตอบที่รวดเร็วพอ) อาจารย์จะทราบว่าบาง Concepts มีนักศึกษาตอบผิดกันมากผิดสังเกตน่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก อาจารย์สามารถช่วยอธิบาย Concepts เหล่านั้นให้นักศึกษาเข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น อาจจะเรียกว่าเป็น Mini-lecture หรือ Focused lecture ก็ได้

โดยสรุป เป้าหมายของกิจกรรมที่หนึ่งถึงที่ห้าคือ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์การศึกษาที่ว่า "นักศึกษารู้และเข้าใจแนวคิดสำคัญของรายวิชาที่เรียน" เพื่อเตรียมความพร้อมให้มั่นใจได้ว่ามีความรู้ระดับจำได้และเข้าใจเพียงพอที่จะต้องใช้ในกิจกรรมขั้นต่อไป

กิจกรรมที่หก เรียกว่า APPLICATION ASSIGNMENTS ถือเป็นกิจกรรมหลักของ TBL ควรใช้เวลาในห้องเรียนเพื่อกิจกรรมนี้เป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 75) เพราะนี่คือกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ในระดับการนำความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์การเรียนรู้หลักของรายวิชาที่ว่า "นักศึกษาสามารถนำความรู้จากรายวิชาไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง"

มีคำแนะนำว่า แต่ละรายวิชาควรแบ่งเป็น 6-8 หน่วย นำแต่ละหน่วยมาจัดกิจกรรมเป็นวงจรจากกิจกรรมที่หนึ่งถึงที่หก แล้วเริ่มวงจรใหม่ด้วยหน่วยต่อไป เมื่อสิ้นสุดหน่วยสุดท้ายแล้ว ควรมีอีกสองกิจกรรม คือกิจกรรมทบทวน (REVIEW) เพื่อทบทวน Key concepts ทั้งหมดของรายวิชานั้น และกิจกรรมทดสอบการแก้ปัญหาเพื่อให้คะแนน (GRADED PROBLEM SOLVING) โดยใช้ปัญหาซับซ้อนที่ต้องใช้ Concept หลายอย่างร่วมกัน

TBL ใช้กิจกรรมการเรียนการสอนที่เป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมายของ Ausubel กล่าวคือ กิจกรรมที่หนึ่งถึงห้าเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจกับเนื้อหาของวิชา ให้พร้อมที่จะนำความรู้ไปใช้ในกิจกรรมที่หกซึ่งเป็นกิจกรรมหลักโดยเน้นที่ Key concepts ซึ่งเป็นเนื้อหาที่สำคัญ (คืออาจจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือที่เรียกว่า เรื่องที่สมควรรู้ เรื่องที่สมควรนำมาออกข้อสอบ) เริ่มด้วยกิจกรรมนอกห้องเรียนที่นักศึกษาทำความเข้าใจกับเนื้อหาด้วยตนเองก่อน ซึ่งควรจะทำได้เป็นส่วนใหญ่ (เป็นภารกิจของอาจารย์ที่จะเตรียมเนื้อหารายวิชาให้ครอบคลุมและอยู่ในรูปแบบที่นักศึกษาจะเข้าใจได้สะดวก) กิจกรรมที่สองถึงห้าเป็นกิจกรรมเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของนักศึกษาว่าถูกต้องและครอบคลุมแล้ว โดยใช้กระบวนการทดสอบ การช่วยเหลือกันในกลุ่ม การให้ข้อมูลย้อนกลับ และการอธิบายเพิ่มเติมของอาจารย์ในประเด็นที่เข้าใจยาก

กิจกรรมที่หกถือว่าเป็นกิจกรรมหลักคือ การนำความรู้ (จำได้และเข้าใจ) ที่ได้เตรียมไว้พร้อมแล้วจากกิจกรรมที่หนึ่งถึงห้ามาใช้แก้ปัญหาตามวัตถุประสงค์หลัก การใช้ความรู้จะเป็นการทบทวนความเข้าใจ และทำให้จำได้นานขึ้นด้วย

โดยสรุปอาจจะกล่าวได้ว่าTBL เป็นการเรียนการสอนที่เป็นระบบ มีเจตนาให้นักศึกษาสร้างความเข้าใจ โดยมีการตรวจสอบความเข้าใจ และแก้ไขส่วนที่ยังไม่เข้าใจ ตามด้วยการทดลองใช้ความรู้ ทำให้เข้าใจถูกต้องและจำความรู้ได้ดี เป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย จึงน่าจะเป็นการเรียนรู้แบบที่ทำให้เกิดความรู้ในระดับที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ ง่ายสนุกและจำได้ดี และไม่ต้องห่วงเรื่องเรียนแล้วสอบไม่ผ่าน

13 ธันวาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 598372เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2015 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2015 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ศิษย์ รุ่น 26 มาชื่นชม และ คารวะ ครู ครับ

หลังจากที่จันได้เข้าอบรมเรื่อง TBL กับอาจารย์หมออานุภาพ เลขะกุล ทำให้ได้ requirements ไปใช้ในการทำะรบบ ClassStart.org ให้รองรับการสอนแบบ TBL ค่ะ เช่น การทำ group quiz เป็นต้นค่ะ จันจะจำลองกระดาษ quiz แบบขูดหาเฉลยมาไว้ใน ClassStart ค่ะอาจารย์ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับ feedback โดยทันทีค่ะ

ปล. อาจารย์เขียนบ่อยๆ นะคะ จันจะขอเป็น Fanclub อ่านบันทึกของอาจารย์ แล้วนำมาทำเป็นระบบให้คนไทยได้ใช้กันค่ะ ขอบคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

ถ้าสามารถจำลองกระดาษ Quiz แบบขูดหาเฉลย ให้นักศึกษาตอบได้พร้อมกันในห้องเรียนก็วิเศษ

ทำได้ค่ะอาจารย์ แล้วจะใส่ gamification เข้าไปด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท