Mind Set วิธีคิดเพื่อตีความสถานการณ์


ผมอยากเล่าถึงหนังสือน่าสนใจเล่มหนึ่ง เพิ่งอ่านจบ ความจริงหนังสือนี้อายุ ๙ ปีแล้ว เพราะตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๖ แต่ผมเพิ่งไปได้มาจากร้านหนังสือมือสองแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เร็วๆ นี้นี่เอง


ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นผู้ที่เคยได้รับการยกย่องว่า มีวิสัยทัศน์ยอดเยี่ยม ทำนายแนวโน้มของพัฒนาการของสังคมอนาคตและแนวโน้มเทคโนโลยีตั้งหลายสิบปีมาแล้วได้แม่นยำ กลายมาเป็นความจริง สมัยหนุ่มๆ เขาเคยทำงานในบริษัทใหญ่หลายแห่ง รวมถึง บริษัท ไอบีเอ็ม เคยทำงานให้กับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ๒ คน คือ จอห์น เอฟ เคนเนดี และ ลินดอน จอห์นสัน ต่อมาก็ลาออกจากภาคเอกชนไปเปิดบริษัทของตังเองทำด้านวิเคราะห์แนวโน้มสังคมและธุรกิจ เป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจต่างๆ เขาเคยรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ หลายแห่ง รวมถึงฮาร์วาร์ด เขียนหนังสือออกมากลายเป็นหนังสือขายดีเยี่ยมหลายเรื่อง ปัจจุบันผู้เขียนอยู่ในวัยกว่า ๘๖ ปีแล้ว ยังมีชีวิตอยู่

ผู้เขียนคนที่ผมพูดถึงก็คือ John Naisbitt และหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านไปชื่อ Mind Set!
Naisbitt บอกไว้ในตอนต้นว่า ที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า เคยมีคนชอบถามเขาอยู่บ่อยๆ ว่า ทำไมเขาถึงทำนายแนวโน้มอะไรต่างๆ ตั้งแต่นานมาแล้วได้ถูกต้อง แม้ตอนแรกคนส่วนมากไม่เชื่อเขาก็ตาม เขาก็ตอบว่า ความจริงแล้วคนอีกมากก็รับรู้เหตุการณ์ในโลกคล้ายๆ เขา หากเปรียบบรรดากระแสของชิ้นข้อมูลข่าวสารเป็นสายฝนที่ตกลงมา คนที่รับข้อมูลเป็นพื้นแผ่นดิน แต่ที่ดินในที่ต่างกันก็ทำให้พืชพันธุ์ต่างๆ เจริญงอกงามได้มากน้อยต่างกัน ส่วนที่ทำให้คนมองภาพเหตุการณ์แล้วเห็นแนวโน้มไปต่างกันในคนนั้นน่าจะเป็น mindsets หรือ ชุดของความคิด หรือ วิธีคิด วิธีมองเหตุการณ์ของแต่ละคนต่างกัน เขาก็เลยอยากเขียนเล่าให้คนอื่นทราบว่า เขามีวิธีคิดและมองเหตุการณ์อย่างไร


หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น ๒ ตอนใหญ่ๆ ตอนแรกพูดถึงวิธีมองเหตุการณ์ในโลกของเขารวม ๑๑ ข้อ ส่วนตอนที่สองเขายกประเด็นน่าสนใจที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก(จากมุมมองของเขาเมื่อปี ๒๐๐๖)มาพูด โดยหลังจากเขาพูดถึงแต่ละประเด็นในบทต่างๆ เขาก็กลับไปสรุปให้คนอ่านมองเห็นว่ามีมุุมมองข้อไหนบ้างที่เขาใช้กับประเด็นนั้นๆ


ผมคิดว่า ข้อมูลที่เขาพูดในตอนที่สองค่อนข้างมีรายละเอียดมาก ขอไม่พูดถึง ผมคิดว่า หากใครหาหนังสือเล่มนี้อ่านได้ ก็ควรไปหาอ่านเอาเองดีกว่า แต่ในตอนแรกของหนังสือนั้นน่าสนใจ ผมอยากสรุปวิธีมองของเขา ๑๑ ข้อมาไว้ให้ เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ ไม่เพียงกับคนที่สนใจการมองแนวโน้มความเป็นไปของสังคม แต่ว่ายังเป็นประโยชน์สำหรับคนที่สนใจทำธุรกิจและอยากดูแนวโน้มธุรกิจในโลกอีกด้วย


หลักวิธีมองเหตุการณ์ของ Naisbitt มีอะไรบ้าง


๑. สิ่ง(ชนิดของเหตุการณ์)ต่างๆ ส่วนมากไม่เปลี่ยน ขณะที่หลายสิ่งเปลี่ยนไป
(เช่น เมื่อพูดถึงกีฬา กฎกติกามักไม่เปลี่ยน หากแต่วิธีการเล่นหรือสไตล์ของนักกีฬามักเปลี่ยนไปได้ เมื่อมีนักกีฬาที่เก่งมากค้นพบเทคนิคการเล่นแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม เขายกตัวอย่าง วิธีการกระโดดสูงเปลี่ยนมากระโดดหันหลังทำให้กระโดดได้สูงมากกว่าเดิม วิธีการชู้ตบาสเก็ตบอลเปลี่ยนไปมาใช้มือเดียวและก็แม่นยำมาก)
๒. เหตุการณ์ในอนาคตฝังตัว หรือมีปรากฎการณ์ซ่อนตัวอยู่ในปัจจุบัน
ข้อนี้พูดง่ายๆ ก็คือ เหตุการณ์ปัจจุบันเป็นตัวก่อให้เกิดความเปลี่ียนแปลงในอนาคต
๓. ให้ดูที่สถิติตัวเลข เพื่อดูแนวโน้มตามที่เป็นจริง
มีตัวอย่างที่ดูตลกแต่น่าสนใจ เขาบอกว่าสถิติบอกว่าจริงๆ แล้ว ปีหนึ่งๆ นักท่องเที่ยวแถวชายทะเลเพราะโดนมะพร้าวหล่นใส่ศรีษะเสียชีวิตมากกว่าโดนฉลามกัดถึง ๑๐ เท่า แต่คนมักสนใจและให้ความสำคัญกับข่าวฉลามมากกว่า
๔. ไม่ควรจำกัดตัวว่า เราจำเป็นว่าต้องมีความเห็นถูกต้องเสมอไป ถ้าคิดได้อย่างนั้นจะทำให้มีศักยภาพและความคิดมีอิสระมากขึ้น เพราะไม่ยึดติดกับแนวทางเดิมๆ ที่คนถือปฏิบัติมา ซึ่งอาจจะผิดหรือไม่ดีพอ
๕. ให้มองอนาคตเป็นเสมือนปริศนาภาพต่อ
อย่างการมองประวัติศาสตร์ หากมองเหตุการณ์ในอดีตเป็นเส้นตรง ทำให้ขาดความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดในประเทศอื่นๆ
ซัลมาน รัชดี นักเขียนชื่อดังเคยกล่าวไว้ว่า "(บางที)คุณจะแก้ปมคดีฆาตกรรมในแคลิฟอเนียได้ คุณต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของแคว้นกัษมีระ (หรือแคชเมียร์ ในอินเดียตอนเหนือ)"
อีกตอนหนึ่งเขาพูดว่า
อเมริกาเป็นประเทศที่ "highly bottom-up" (หมายถึงว่า ปรากฏการณ์ในระดับท้องถิ่นส่งผลต่อระดับชาติ คงต่างจากบ้านเราที่กลับกัน) ดังนั้น ต้องดูจากข่าวท้องถิ่นทั้งประเทศถึงจะเห็นแนวโน้มต่างๆ ในอเมริกา
๖. อย่าเดินออกหน้าขบวนพาเหรดจนไกลเกินไปนัก เพราะคนดูจะไม่รู้ว่าตัวเราเดินอยู่ในขบวนด้วย
๗. ถ้ามีผลดีจากความเปลี่ยนแปลงจริง คนที่ีต่อต้านความเปลี่ยนแปลงจะล้มเหลว
ตัวอย่างหนึ่งที่เขายก คือเมื่อ ๕๐ ปีก่อนเขาเคยมาช่วยแนะนำเกษตรกรไทยในภาคอีสาน ให้ปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ ๓ ในปีหนึ่ง ปรากฏว่าไม่สำเร็จ เพราะชาวนาไทยรู้ดีว่า โครงสร้างอินฟราสตรัคเจอร์(คงรวมถึงสภาพการตลาดและปริมาณน้ำที่มีให้ใช้) ไม่สามารถรองรับผลผลิตจำนวนมาก
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในจีน ทำให้ผู้มีรายได้น้อยมีทางหารายได้เพิ่มมากขึ้น โดยยอมเดินทางออกจากท้องถิ่นไปทำงานหนักไกลๆ แล้วส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว แม้จะยังไม่เห็นผลตอบแทนตอนแรก ต่างจากชาวยุโรปที่คนส่วนมากต้องให้เห็นผลเสียก่อนจึงจะทำ แต่ว่าก็คงไม่ถึงกับยอมย้ายไปทำงานต่างถิ่น
๘. สิ่งที่เราคาดว่าจะต้องเกิด มักจะเกิดช้ากว่าคาดเสมอ
๙. การไปคอยตามแก้ปัญหา มักไม่ได้ผลดี แต่จะดีกว่าถ้าพร้อมฉวยคว้่าโอกาสที่เปิดให้
๑๐. อย่าเพิ่มอะไรเข้ามา นอกจากจะลดอะไรออกไปแทน
ภาควิชาหนึ่งอาจจะอยากเปิดสอนวิชาใหม่ แต่ก็ควรตัดวิชาเก่าทิ้งไปเพื่อชดเชย
อย่าสะสมข้อมูลจนมากเกินไปจนกระทั่งเป็นสุสานข้อมูล เพราะใช้ประโยชน์ไม่ได้
เขาบอกว่าอันที่จริงเขาเองมีหลักวิธีมองอยู่กว่า ๒๐ ข้อแต่เขาก็ตัดที่ไม่สำคัญนักออกไปบ้าง เลยเหลือ ๑๑
๑๑. อย่าลืมเรื่อง นิเวศน์วิทยาของเทคโนโลยี
สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในอังกฤษ บุรุษไปรษณีย์เดินส่งจดหมายตามบ้านถึงวันละ ๘ รอบ คนสมัยก่อนจึงสามารถเขียนจดหมายโต้ตอบกันได้รวดเร็ววันละหลายครั้ง (คล้ายกับตอนนี้ที่คนสื่อสารกันด้วยอีเมล)
สมัยก่อนบริษัทใหญ่ๆ ต้องซื้อคอมพิวเตอร์เมนเฟรมไอบีเอ็มมาไว้ใช้ เพียงเพื่อไม่ให้ตกกระแส แต่ดูแล้วเขาบอกว่าดูไร้ความคิด

(ปรับปรุงจากที่ผมโพสต์ไปในเฟซบุ้ค)

คำสำคัญ (Tags): #ความคิด#วิธีคิด
หมายเลขบันทึก: 593290เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2015 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2015 23:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขุอบคุณอย่างยิ่งครับอาจารย์ กำลังมองหาการปรับวิธีคิดตัวเอง เพื่อปรับใช้ในชุมชนในการงานขอบคุณบ้านโกว์ ที่มีสิ่งดีดีีให้ค้นหา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท