จากอำเภอคุณธรรมสู่จังหวัดคุณธรรม (3) แกนนำ


ในวงสนทนาเราจะเห็นพลังของตัวเรา(ทั้งแกนนำและสมาชิก) ที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น ที่เกิดขึ้นเป็นพลังให้ทีมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

.........เมล็ดพันธ์ความดีเมล็ดที่ 2 คือแกนนำ องค์กรใดที่ตั้งใจจะใช้ "ธรรมะสร้างสุข" จะเคลื่อนตัวไปง่ายขึ้นหากแกนนำมีความรู้ที่เป็นต้นทุนในการประคับประคองทีม บทเรียนจากโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมได้อบรมแกนนำ ระดับผู้บริหาร ระดับครูผู้ปฏิบัติงานที่เป็นที่ปรึกษานักเรียนในการทำโครงงานคุณธรรม แกนนำนักเรียนที่เป็นผู้จัดทำโครงงานคุณธรรม รายละเอียดสามารถศึกษาได้จากรายงานการวิจัยการสังเคราะห์องค์ความรู้กระบวนการสร้างโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยศูนย์คุณธรรม ( http://www.moralcenter.com/ewt_dl_link.php?nid=688) ในส่วนโรงพยาบาลบางมูลนากนำแนวคิดการมีแกนนำมาใช้ข้บเคลื่อนเช่นกัน แต่อาศัยต้นทุนจากแกนนำพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลที่มีการทำโครงการแก้ไขปัญหาหรือโครงการพัฒนาคุณภาพอยู่แล้วทำให้ลดระยะเวลาการเตรียมแกนนำลงไปได้มาก เพียงเพิ่มการสรุปกิจกรรมพัฒนาคุณภาพว่าในการทำโครงการพัฒนาคุณภาพนั้นทีมงานได้รับรู้การทำความดีในด้านใดเกิดขึ้นบ้าง และเกิดความสุขในการทำความดีนั้นหรือไม่อย่างไร เพียงเท่านี้โครงการพัฒนาคุณภาพก็เป็นโครงงานคุณธรรมแล้ว หากเป็นโครงการใหม่ก็เสริมมุมมองว่าต้องใช้คุณธรรมอะไรบ้างหรือทำเพื่อสร้างความดีเรื่องใดเพิ่มจากการคิดแผนงานโครงการตามปกติ

.........บทบาทสำคัญของแกนนำคือการตั้งคำถาม(Inquiry)กับทีมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ เป็นขาที่ 2 ของเก้าอี้การเรียนรู้ ที่ประกอบไปด้วย Team Learning และ Mental Model เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้กับทีมโดยเฉพาะการเรียนรู้การยกระดับจิตใจหรือคุณธรรมของทีม ถามอะไร แค่ไหนคงต้องเข้าใจเรื่อง Dialogue หรือ สุนทรียสนทนา หรือ ภาวนาสนทนา ที่ Peter Senge ใช้ในเรื่อง Team learning เพื่อให้เห็น Mental Model ของตัวเอง และทีมงาน การถามนั้นเป็นการถามเพื่อเสริมเรื่อง Respecting การเคารพในความดีของผู้คน ทั้งเคารพคนถาม และคนถูกถาม ยิ่งศึกษายิ่งพบว่าแนวทางนั้นสอดรับกับการพัฒนาคนในศาสนาพุทธอย่างยิ่ง

.........Deep listening การฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งสารที่ส่งมาเป็นภาษาพูด ภาษาท่าทาง จนรับความรู้สึกของผู้พูดได้

ข้อนี้ผมเห็นว่าตรงกับสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง

.........Voicing ฟังเสียงภายในใจของเรา ใครที่เคยนั่งสมาธิ หรือวิปัสนา คงเข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าไม่เคย ลองนั่งหลับตา แล้วฟังดูว่า ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่หลับตา เราคิดเรื่องอะไรบ้าง ในภาวะปกติเรามักไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ แต่ถ้าฝึกฝนบ่อย ๆ เราก็จะได้ยินชัดขึ้นเรื่อย ๆ เสียงที่สำคัญ คือ Voice of Judgement การตัดสินคนอื่น การทำความดีใหม่(ไม่เคยทำมาก่อน) ล้วนต้องผ่านด่านนี้ทั้งสิ้น แกนนำต้องช่วยเตือนทีม ฝึกทีมให้ได้ยินเสียงเหล่านี้

.........Suspending การแขวนไว้ คือการที่เราไม่ด่วนคล้อยตาม Voice of Judgement แน่นอนว่าแรก ๆ ต้องใช้ความอดทน ต้องบอกให้ทีมอดทน ค่อย ๆ ตามรู้ไปเรื่อย ๆ Otto Scharmer กล่าวไว้ใน Theory U ว่า เมื่อเราพัฒนาขึ้น เราจะได้ยิน Voice of Cynicism เสียงที่บอกว่าเราไม่ไว้ใจในความตั้งใจในการทำความดีของผู้อื่น ในคุณธรรมของทีมงาน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคที่แกนนำจะต้องพาทีมฝ่าฟันไปให้ได้ ด้วยการแขวนไว้ไม่ด่วนตัดสิน ในที่สุดเราจะเห็น Voice of Fear เสียงความกลัวในตัวของเรา กลัวไม่สำเร็จ กลัวถูกหาว่าสร้างภาพ กลัว...... ในที่สุดเราก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมได้ ในขั้นตอนนี้ฝึกให้เราเก็บข้อมูล เห็นความจริง ที่ตรงความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ การพูดของเราหลังจากที่แขวนไว้ไม่ตัดสิน หากไม่ชอบ ไม่เชื่อ จึงทำได้เพียงการถาม(Inquiry)เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนเพื่อเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ เปิดเผยให้เห็นความดีงามในผู้คนที่อยู่รอบข้างออกมา

สองข้อนี้ผมเห็นว่าตรงกับจินตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด

.........Respecting การเคารพซึ่งกันและกัน จะค่อย ๆ งอกงามขึ้น ในเบื้องต้นอาจเป็นเหมือน พิธีกรรมจำใจเคารพที่ประชุมแต่เมื่อผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ในวงสนทนาเราจะเห็นพลังของตัวเรา(ทั้งแกนนำและสมาชิก) ที่มีอิทธิพลต่อผู้อื่น ที่เกิดขึ้นเป็นพลังให้ทีมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สามารถนำไปกระบวนการสุนทรียสนทนาไปสรุปบทเรียนจากการทำกิจกรรมเช่น โครงงานคุณธรรมร่วมกัน การถอดบทเรียนในตลาดนัดความดี

ข้อนี้ผมเห็นว่าตรงกับภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ ไม่ได้เชื่ออะไรจากการฟัง จากการคิด แต่จากการได้ปฏิบัติจริงแล้วเท่านั้น

.........หลักการที่กล่าวมานี้ก่อนที่แกนนำจะนำไปขับเคลื่อนองค์กรอย่าลืม ฝึกฝนให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้วยตัวเองก่อน ในทั้ง 4 กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นโยนิโสมนสิการ บ้างอาจจะไม่ลึกซึ้งมากนักแต่เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองจากการปฏิบัติ(ภาวนามยปัญญา) รู้สึกถึงพลังของการเคารพกันและกัน ที่จะช่วยให้มั่นใจในการก้าวเดินต่อไป

.........เมื่อทีมได้ฟังปัญหาหรือฟังความตั้งใจที่จะทำดีด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนา ทีมจะสามารถที่จะค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากนัก โดยใช้อริสัจ 4 คือ ทุกข์ (ปัญหาที่อยากแก้กับความดีที่อยากทำ) สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) นิโรธ(เป้าหมายหรือภาวะที่ดับทุกข์) มรรค(วิธีดับทุกข์) หรือบางท่านอาจจะถนัดที่จะใช้วงจร PDCA ก็ไม่เป็นปัญหาแต่ประการใด

.........ในชีวิตจริง นั้นการเกิดโยนิโสมนสิการ หรือคิดได้ด้วยตัวเองนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายหรือเกิดขึ้นได้แต่จะให้เกิดการขยายผลก็ไม่ง่ายอีกเช่นกัน การจะขยายคุณธรรมความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้งอกงามได้รวดเร็วจึงต้องมีปรโตโฆษะ ปัจจัยภายนอกที่มากระตุ้นชักชวนกันทำความดีโดยอาศัยศรัทธาในกัลยาณมิตร คือผู้ที่ใช้ธรรมะแก้ปัญหามาได้ก่อนเรา กระบวนการที่ขอแนะนำไว้ในที่นี้คือ "สุนทรียสาธก" (Appreciative Inquiry) ตามแนวทางของ ดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์ ที่แนะนำไว้

.........เมื่อเจอปัญหาที่อยากแก้ ความดีที่อยากทำ แต่คิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร เราก็จะชักชวนกันไปคนหา "คนดี คนเก่ง/ทีมดี ทีมเก่ง"ที่ทำได้ ให้เขาเล่าให้ฟัง (Discovery) ฟังตามแนวคิดสุนทรียสนทนา ฟังดัวยความเคารพ(Respecting) หรือศรัทธา เปิดใจ เปิดความรู้สึก เปิดโอกาสให้กับความคิดใหม่ ๆ จนทีมงานเห็นภาพฝันร่วมกัน เห็นเป้าหมายใหม่ร่วมกัน (Dream - เกิดปัญญาจากการฟัง) แล้วช่วยกันออกแบบวางแนวทางที่จะนำแนวคิดที่ได้จากการฟังไปปฏิบัติจริง (Design - ปัญญาจากการคิด) แล้วทำไปลงมือทำจนเกิดความสำเร็จ (Destiny - ปัญญาจากการปฏิบัติ)

.........แกนนำจะใช้ความรู้ทั้งสองเรื่องนี้ในการขับเคลื่อนส่งเสริมให้เกิดโครงงานคุณธรรม และตลาดนัดคุณธรรม เพื่อยกระดับคุณธรรม ด้วย Team Learning และทีมได้ข้อสรุปการยกระดับคุณธรรม (Mental Model) ด้วยตัวเอง เกิดการขยายผลอย่างเป็นธรรมชาติผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในตลาดนัดคุณธรรมทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ไม่ใช้วิธีบังคับ เคี่ยวเข็ญแต่ประการใด



.........ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้เลยหากผู้บริหาร หัวหน้างานที่ใกล้ชิดแกนนำ ไม่ได้ทำให้คนในองค์กร หรือหน่วยงานเห็นเป็นแบบอย่างปล่อยให้แกนนำดำเนินการไปโดยลำพัง ผู้บริหาร และหัวหน้างานจึงต้องร่วมเรียนรู้และทำให้ได้ก่อนแกนนำเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับองค์กร




หมายเลขบันทึก: 590812เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2015 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2015 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท