​แนวคิดการพัฒนาปัญญาโดยหลักการของ สัปปุริสธรรม7


คนมักแสวงหาความรู้ต่างๆมากมายมาใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิต แต่หากลืมที่จะดูตนเองว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งประการใดแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จไปได้ แม้แต่ชีวิตในครอบครัวหากขาดข้อนี้ก็พังกันมาเยอะแล้ว เพราะสนใจแต่ความรู้สึกของตนเองอย่างเดียว ไม่ดูว่าการกระทำของตนจะมีผลต่อสมาชิกคนอื่นๆอย่างไร

สัปปุริสธรรมเป็นหลักการทางปัญญา ที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งจะพึงแสวงหาและนำมาพัฒนาตนเองแบบครบทุกด้านอย่างสมบูรณ์แบบ หรือกล่าวได้ว่าหากใครมีความรู้ ความสามารถ ครบตามหลักทั้งเจ็ดข้อนี้ก็กล่าวได้ว่าท่านผู้นั้นเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพร้อมทั้งความดีและมีปัญญาเป็นที่พึ่งพาอาศัยของสังคมได้

ผู้เขียนขอปัดฝุ่นหลักการที่เป็นสากลดั้งเดิมนี้ ที่หลายท่านเคยรู้จักแต่อาจจะลืมไปแล้ว มาเสนอกันใหม่ และสำหรับอีกหลายท่านที่เพิ่งมาทราบภายหลังก็ตาม หลักการทั้งเจ็ดข้อนั้นเรียงลำดับดังนี้

1.ธัมมัญญุตา ; รู้จักเหตุ (knowing the law, knowing the cause) คือเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ต้องจะทำคืออะไรแล้ว สิ่งที่ต้องศึกษาประการแรกก็คือ ศึกษาวิธีการที่จะได้สิ่งนั้นมา ทำในสิ่งที่จะได้สิ่งนั้นมาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง

เช่นสมมุติว่าเราอยากจะเป็นคนเรียนเก่งในวิชาคณิตศาสตร์ เราก็ต้องทำเหตุของการเรียนเก่งในวิชานี้โดยการทำโจทย์ทดสอบบ่อยๆ หาโจทย์ยากๆมาลับสมองมากๆ จับความเร็วในการทำด้วย แต่ถ้าใช้วิธีการอ่านหลายๆรอบท่องสูตรจนจำได้ขึ้นใจแล้วเดินเข้าห้องสอบ ก็แสดงว่าทำเหตุที่จะให้เก่งวิชานี้ผิดวิธี

คนทำงานและนักวางแผนจำเป็นต้องศึกษาว่าวิธีการที่กำลังทำอยู่นั้นจะเป็นเหตุนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร การรู้จักเหตุจึงเป็นขบวนการหนึ่งที่ต้องศึกษาก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไป

2.อัตถัญญุตา ; รู้จักผล (knowing the meaning) หมายความว่า ปรากฏการณ์ใดๆที่เกิดขึ้น สามารถที่จะบอกได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร คือต้องฝึกเป็นนักสังเกตการที่ดี จดจำเรื่องราวต่างๆแล้วนำมาเป็นข้อมูลที่จะบอกที่มาที่ไปของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ และสามารถที่จะคาดล่วงหน้าว่าจากข้อมูลนั้นจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

เช่นที่ทวีปอาฟริกา ชาวเผ่ามาไซเวลาเดินป่าไปเจอรอยเท้าช้างเขาจะบอกได้เลยว่ารอยนี้เกิดตอนกี่โมงเป็นเพศไหน อายุเท่าไร เจอกองอึของยีราฟก็บอกได้ว่าอึนี้เป็นของยีราฟตัวผู้หรือตัวเมีย ยืนถ่ายหรือนอนถ่าย คือเห็นที่ผลแล้วสาวไปหาเหตุได้

การรู้จักผลนี้มาจากการเป็นคนช่างสังเกต ละเอียดถี่ถ้วน และจากประสบการณ์ที่ได้สะสมมา องค์ความรู้นี้เป็นประโยชน์หรือเป็นข้อมูลในการตัดสินใจหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการทำงานและการดำเนินชีวิต

3.อัตตัญญุตา ; รู้จักตน (knowing oneself) คือรู้โดยฐานะ ภาวะเพศ กำลังความรู้ ความสามารถ ความถนัดและคุณธรรม เป็นต้น ว่าเราอยู่ในภาวะใด ระดับใด แล้วทำตัว วางตัวให้เหมาะกับภาวะนั้น หรือประเมินตนเองได้ว่า ควรพัฒนาตนแก้ไขให้ดีขึ้นอย่างไร

องค์ความรู้นี้เป็นเรื่องใหญ่ของการทำงานให้สำเร็จที่คนมักจะลืม คือลืมดูต้นทุนของตัวเองว่ามีเท่าไร คนมักแสวงหาความรู้ต่างๆมากมายมาใช้ในการทำงานและดำเนินชีวิต แต่หากลืมที่จะดูตนเองว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งประการใดแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จไปได้ แม้แต่ชีวิตในครอบครัวหากขาดข้อนี้ก็พังกันมาเยอะแล้ว เพราะสนใจแต่ความรู้สึกของตนเองอย่างเดียว ไม่ดูว่าการกระทำของตนจะมีผลต่อสมาชิกคนอื่นๆอย่างไร

4.มัตตัญญุตา ; รู้จักประมาณ (knowing how to temperate, sense of proportion) คือรู้จักความพอดี ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนอยู่ร่วมกัน หากมีความลงตัว มีความพอดี ทุกอย่างก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่หากมีอะไรมากไป หรือน้อยไป ความติดขัด ความไม่สะดวกสบาย จะเกิดขึ้น การบรรลุเป้าหมายจะทำได้ยาก

โลกของวัตถุนิยมที่เน้นความสะดวกสบายของมนุษย์ก็จะต้องอยู่ใน กรอบของความพอดีเช่นกัน หากผู้ใดไม่รู้เท่าทัน ทำตัวเป็นนักเสพนักบริโภคตามสิ่งเร้า ก็เจอปัญหาด้วยตนเอง เช่นปัญหาสุขภาพ ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาทางการเงิน เป็นต้น

มีเกษตรกรคนหนึ่งเคยปลูกอ้อย ปีนี้วางแผนว่าจะลองปลูกเผือกดูสัก10ไร่ ปลูกไปได้สักระยะดูงามดี เลยปลูกเพิ่มอีก 10ไร่ พอดูแลไปได้สักพัก น้ำในสระไม่พอรด ต้นเลยไม่โตที่แห้งตายก็มี ถึงเวลาขุดขึ้นมาได้แต่หัวเล็กๆ ราคาก็ยิ่งถูกลงไปอีก ผลที่สุดขาดทุน แต่หากวางแผนดีจะรู้ว่าการปลูก10ไร่นั้นจะพอดีๆกับปริมาณน้ำในสระที่มีอยู่ เมื่อมีน้ำก็จะได้เผือกหัวโตๆ แม้มีไม่มากแต่มีราคาสูงกว่าหัวเล็ก ขายก็จะได้กำไรเพราะลงทุนน้อยกว่าและเหนื่อยน้อยกว่า

ดังนั้นการหาความพอดีอยู่ตรงไหนเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาก่อนลงมือทำงาน และนับเข้ามาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อนการตัดสินใจ

5.กาลัญญุตา ; รู้จักกาล (knowing the proper time, knowing how to choose and keep time) คือรู้จักเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินกิจการ ปฏิบัติงาน การทำงานให้ตรงเวลาที่กำหนดไว้ ฤดูกาลนี้ควรผลิตสินค้าอะไร หรือทราบว่าเวลาใดควรพูด เวลาใดไม่ควรพูดเป็นต้น

เรื่องของเวลานี้ก็เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จที่สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งเกี่ยวโยงไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงานว่าควรทำอะไรก่อนหลัง บางคนเคยเสียใจเรื่องนี้มาแล้วเพราะไม่บริหารเรื่องเวลา

ผู้หญิงคนหนึ่งทำงานอยู่ต่างประเทศ เป็นคนที่ทำงานเก่ง ประสบความสำเร็จ เจ้านายรัก แต่วันหนึ่งแม่ที่เมืองไทยป่วย น้องโทรมาบอกก็รับปากว่าจะกลับไปเยี่ยม ผลัดไปเรื่อยๆเพราะงานยุ่งมาก น้องโทรมาบอกเป็นครั้งสุดท้ายว่าแม่เสียชีวิตแล้ว ก็แทบช็อค คราวนี้หยุดงานได้ทันที พอไปลาหยุดก็โดนเจ้านายตำหนิอีกว่าทำไมไม่กลับไปเยี่ยมตั้งนานแล้ว ทำไมเพิ่งกลับตอนนี้ เธอรีบกลับมาเมืองไทยจัดงานศพให้แม่ ส่วนใจก็รู้สึกว่าตัวเองพลาดไปแล้ว ความสัมพันธ์กับพี่น้องที่เคยรักใคร่กันดีก็ห่างเหินไปไม่เหมือนเดิม ก็เลยเกิดคำถามว่า สิ่งที่ได้มากับสิ่งที่สูญเสียไปนั้นคุ้มกันหรือเปล่า

ดังนั้นศิลปะแห่งการบริหารเวลาเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เราลืมไม่ได้

6.ปริสัญญุตา ; รู้จักชุมชน (knowing the society) คือรู้จักธรรมชาติ ความเป็นไป ความต้องการ และประเพณีของชุมชนหรือ สังคมนั้นๆด้วย สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ดำเนินมาแต่ยาวนาน ทำให้แต่ละสังคมมีควาแตกต่างกันไป ดังนั้นหากต้องทำงานกับคนจำนวนมาก สิ่งที่ต้องศึกษาก็คือต้องศึกษาไปถึงค่านิยมของสังคมนั้นๆด้วย

ปัจจุบันนี้มีกระแสการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจมากขึ้นในระดับนานาชาติ โดยอาศัยความคล้ายคลึงกันในเชื้อชาติและความใกล้ชิดกันในที่ตั้งของประเทศ เมื่อมีความร่วมมือกันก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้สังคมขนาดใหญ่ๆได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือค่านิยมของสังคมหนึ่งสามารถไหลไปสู่อีกสังคมหนึ่งได้ง่าย ซึ่งเราจะต้องดูให้ดีคือเฝ้าระวังว่าสิ่งที่รับเข้ามาเหมาะสมกับอนาคตของประเทศเราหรือไม่โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนและเตรียมรับมือแต่เนิ่นๆ

7.ปุคคลัญญุตา ; รู้จักบุคคล (knowing the individual, knowing the different individuals) คือรู้จักความแตกต่างแห่งบุคคล โดยความรู้สึกนึกคิด ความสามารถ และคุณธรรมเป็นต้น ว่าใครยิ่งหย่อนอย่างไร และรู้วิธีปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆตามสภาพด้วย

เรื่องนี้ ในปัจจุบันให้ความสำคัญมากถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งเลยทีเดียว คือวิชามนุษย์สัมพันธ์(human relation) ซึ่งหลักการก็อยู่ในเรื่องศิลปะในการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน ทำงานด้วยกัน แบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งมีทั้งในระดับครอบครัว ที่ทำงาน และในองค์กรที่ใหญ่ขึ้น

สรุป สัปปุริสธรรม7 นี้ก็คือกรอบแห่งการแสวงหาความรู้ว่า การจะทำงานให้สำเร็จตามความมุ่งหมาย หรือแนวทางการดำเนินชีวิตสำหรับคนที่ต้องการพัฒนาตนเองนั้น ควรมีหลักการอย่างไรบ้าง ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าใครจะนำไปประยุกต์ใช้กับอะไร ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นหลักการที่ครอบคลุมได้กว้างขวางดี เรียบง่าย ลัดสั้น และจำง่าย เหมาะแก่การนำไปใช้ได้หลากหลาย คนทุกชาติ ทุกศาสนาใช้ได้

ซึ่งตามที่เคยศึกษามาวิธีการต่างๆนั้นมักจะมุ่งเน้นความรู้ไปที่จุดใดจุดหนึ่งไปเลย ซึ่งทำให้ผู้นำวิธีการเหล่านั้นไปใช้มักจะพลาดก่อนแล้วมารู้ทีหลังว่าต้องเพิ่มองค์ความรู้ด้านโน้นด้านนี้เข้าไปอีกจึงจะสำเร็จได้

การมีกรอบของความรู้ก่อนจะทำให้พอมองเห็นภาพรวมได้ว่าความรู้ใดที่ยังขาดหรือต้องพัฒนาเพิ่มเติม จะเป็นประโยชน์ในการทำงานเป็นอย่างมาก

หมายเลขบันทึก: 590404เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2015 20:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2015 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบมาก และขอบคุณบันทึกที่ดีมากครับ

เป็นของเดิมที่ไม่ใคร่มีใครพูดถึง ขอบคุณที่เห็นคุณค่าในสิ่งนี้

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท