กับคนที่ใช่ จะขอเกิดคู่ไปทุกชาติ


เราทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต ความต้องการ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ความชอบ ฯลฯ ที่สอดคล้องกับอายุ ประสบการณ์ในด้านต่างๆ และการเข้าถึงสภาวะตามธรรมชาติ ดังนั้น ในแต่ละช่วงชีวิต เราจึงมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ต่างกันออกไปตามประสบการณ์ชีวิต หากเราให้ความสำคัญกับเรื่องใดมาก เราก็จะโน้มเอียงไปทางนั้นมาก ทั้งในด้านความคิด การกระทำ การแสวงหา

และเพราะสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นปัจจัยที่ประกอบเข้าด้วยกัน จึงทำให้หากใครมีความโน้มเอียงไปในทางเดียวกับเรา หรือสิ่งใดมีลักษณะตรงตามความโน้มเอียงของเราในขณะนั้น คนนั้นหรือสิ่งนั้น ก็ " ใช่เลย" เป็น "คนที่ใช่" หรือ "สิ่งที่ใช่" ในความเห็นของเราในขณะนั้นเลยค่ะ แต่เพราะเหตุปัจจัยสามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น คนหรือสิ่งที่ใช่ในเวลาหนึ่งจึงอาจกลายเป็นไม่ใช่ในเวลาถัดไป ซึ่งก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั่นเอง

บุคคล สรรพสิ่ง รวมไปถึงความคิด ทั้งหมดล้วนเป็นไปตาม สามัญญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ ทั้ง ๓ คือ อนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน, ทุกขัง ทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป และ อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เพราะไม่เป็นตามที่อยากให้เป็น แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มาปรุงแต่ง

และหากเรารู้ไม่ทัน เราก็คงต้องทุกข์ใจกับการอยู่กับสิ่งที่เคยใช่ แสวงหาสิ่งที่คิดว่าใช่ อยู่ร่ำไปนะคะ

มามองในเรื่องของการครองคู่ ท่านพุทธทาสเคยอธิบายว่า มีเพียงนิพพานที่อะไรๆมาปรุงแต่งไม่ได้เท่านั้นที่ทำให้เป้าหมายชีวิตเป็นเรื่องเดียวกันและไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ หากคู่ใดมีเป้าหมายเดียวกัน มีการปฏิบัติสู่เป้าหมายไปด้วยกัน เมื่อเป้าหมายชีวิตไม่เปลี่ยน ก็จะสามารถอยู่กันได้ตลอดไป ท่านเรียกคนทั้งสองที่ใช้ชีวิตโดยมีจุดหมายเดียวกันนี้ว่า ผัวเมียในอุดมคติ และว่าแม้จะไม่สามารถเดินจนสุดทาง แต่การเดินทางของคนทั้งสองจะเป็นแบบอย่างให้ลูกหลานเดินทางตามต่อไป

การอยู่ร่วมกันนั้น เมื่อกาลเวลาผ่านไป แม้ความรักในลักษณะของตัณหาดับลงตามลักษณะของไตรลักษณ์ แต่หากคู่สามีภรรยามีเป้าหมายคือนิพพานเหมือนกัน ย่อมส่งผลให้สถานะครอบครัวยังคงดำรงอยู่ได้ เพราะคนทั้งสองอาจไม่ใช่อยู่ด้วยกันในลักษณะของคนรักที่ครองคู่ หากอยู่ร่วมกันด้วยเมตตา ในลักษณะของเพื่อนสหธรรมิก

แล้วสงสัยไหมคะ ว่า กรรมเก่า สัมพันธ์กับการเลือกคู่อย่างไร ??

จากที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมเก่า ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ จะเห็นว่าในคำตรัสนี้ ไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล มีเพียงเครื่องมือที่ทำให้ธาตุทั้ง ๖ คือ ดิน น้ำ ลม ไป อากาศ วิญญาณ ที่ประชุมรวมกันจนเป็นรูปร่าง มีความจำ ความคิด นี้ติดต่อกับโลกภายนอก จำสิ่งที่พบเห็น และใคร่ครวญ เพื่อการดำรงอยู่ได้ของการประชุมนั้นเท่านั้น ส่วนกรรมใหม่ก็คือ เราใช้ตาหูเป็นต้นนี้ทำกรรมอย่างไร กรรมนั้นก็เป็นกรรมใหม่ที่ทำให้ต้องรับผลหรือวิบากต่อไป

และจากการที่ใจหรือจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะความที่จิตเกิดดับเร็วมาก เราจึงไม่เห็นการเกิดดับหากเห็นแต่การตั้งอยู่ของจิต เมื่อดูที่ความต่อเนื่องของการเกิดดับจึงเหมือนเป็นสายยาวๆที่หาต้นหาปลายไม่ได้ ที่บุคคลตามสาวไปดูอยู่อย่างไรก็ตามไปจนถึงต้นตอไม่ได้ (อนมตคฺค)

จิตนั้นทั้งเกิดดับเฉพาะจิตอยู่ในกายที่ยังดำรง และดับพร้อมกับกายจนแตกสลายไปพร้อมๆกัน จนเกิดใหม่พร้อมกับกาย ดับพร้อมกับกายมาหลายครั้งจนนับไม่ถ้วน จิต เมื่อจะดับไม่ว่าในขณะใด ก็จะส่งคุณลักษณะไปให้จิตดวงที่จะเกิดมารับช่วงต่อ ให้จิตดวงใหม่ใช้คุณลักษณะนั้นๆทำกรรมใหม่ต่อไป หากจิตดับพร้อมกาย ก็ตายจากโลกนี้แล้วเกิดในที่ใหม่ คุณลักษณะของจิตดวงสุดท้ายก็เคลื่อนจากที่หนึ่งไปเกิดใหม่ในอีกที่หนึ่งตามจิตไปด้วย ความชอบ ความเชื่อ เป้าหมาย ความคิดปรุงแต่งไปในทางต่างๆ ฯลฯ จึงติดตามจิตไปด้วยค่ะ ไปประขุมรวมกับธาตุที่เหลือเพื่อก่อเกิดกายใจใหม่ด้วย

เมื่อมองถึงเรื่องการมีคู่ผ่านจุดนี้เองค่ะ จึงได้ความว่า เพราะใจอันเป็นส่วนหนึ่งของกรรมเก่าจึงทำให้ใจเราในปัจจุบันเป็นอย่างนั้น เราจึงมองหาคนที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราเรียนรู้และสิ่งที่ติดตามเรามา ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราก็มองหาใครสักคนในที่นั้น จึงทำให้เมื่อพบใครที่ค่อนข้างตรงกับลักษณะที่เรามองหา เราก็ใช้กรรมเก่ากระทำกรรมใหม่คือมีการกระทำเพื่อให้ได้เป็นคู่กัน หากทุกอย่างของทั้งสองคนต้องตรงกันโดยมาก มีความรู้สึกรักใคร่ตรงกัน และหากได้เกื้อกูลกันทั้งในกาลก่อนและในกาลปัจจุบัน ทั้งสองก็ได้ใช้ชีวิตร่วมกันในที่สุด ดังคำตรัสไว้ในสาเกตชาดก ขุททกนิกาย ชาดก ว่า ความรักนั้นเกิดด้วยสาเหตุ ๒ ประการ คือ ด้วยการอยู่ร่วมกันในชาติปางก่อน และ ด้วยการเกื้อกูลกันและกันในปัจจุบัน เหมือนดอกบัวและดอกไม้น้ำอื่นๆที่เกิดในน้ำ ต้องอาศัยเหตุสองประการที่เกื้อกูลกันคือ น้ำ และ เปือกตม

เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่า คนที่มีอะไรคล้ายๆเรามีอยู่มากมายจนอาจจะมีอยู่ทั่วทั้งโลกเลยก็ว่าได้นะคะ เพียงแต่ว่า กรรมเก่าของเรา ทำให้เราเกิดที่ไหน มีสภาพแวดล้อมอย่างไร ทำให้ได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างไร ทำให้เกิดโอกาสที่เราได้พบใครซึ่งตรงกับที่ใจที่กำลังมองหาในที่นั้นๆ ได้เกื้อกูลกันจนสมหวังในที่นั้นๆ เมื่อมองตามสภาวะอย่างนี้แล้ว คนที่เราสมหวังได้ครองคู่กันในที่นั้น ณ เวลานั้น คนคนนั้นก็ถูกเรียกขานว่าเป็น " คนที่ใช่" บ้าง เป็น "เนื้อคู่" ของเราบ้าง

บางคู่อาจผูกพันกันมากค่ะด้วยความดีของกันและกัน ด้วยความรู้สึกรักใคร่ที่มีต่อกัน จนตั้งจิตอธิษฐานขอเกิดร่วมใช้ชีวิตด้วยกันในชาติใหม่ ดังเช่น นกุลบิดาและนกุลมารดา ที่บรรลุโสดาบันด้วยกันทั้งคู่ ท่านทั้งสองปรารถนาจะเกิดเป็นคู่กันไปทุกชาติ (หมายถึงในชาติที่ยังมีกิเลสเป็นเหตุเสพ อันเป็นเหตุให้แสวงหาความรัก ซึ่ง พระโสดาบันจะเกิดในครรภ์อีกไม่เกิน ๗ ชาติ แต่ในชาติสุดท้ายซึ่งท่านได้เลื่อนเป็น พระสกทาคามี หรือ ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว อันหมายถึงหลังจากชาตินั้นแล้ว ท่านก็จะไม่กลับมาสู่โลกนี้อีกไปแล้ว แม้จะมีกิเลสประเภทราคะอยู่ แต่ก็จะเบาบางจนทำให้เชื่อว่าท่านไม่อยากแสวงหาความรักในลักษณะของตัณหาอันเป็นเหตุให้มีคู่อีกต่อไป) ซึ่งเมื่อทูลความปรารถนาดังกล่าวต่อพระศาสดา พระพุทธเจ้าจึงตรัส สมชีวิธรรม (สะ-มะ-ชี-วิ-ธรรม) อันประกอบด้วยส่วนประกอบ ๔ ประการ คือ สมสัทธา สมสีลา สมจาคา และ สมปัญญา ว่า คนสองคนที่เป็นคู่กัน หากมีความเสมอกันในทั้ง ๔ ด้าน และหาก ปรารถนาจะเกิดเป็นคู่กันอีก ก็จะมีโอกาสได้ครองคู่กันไปทุกชาติภพตามที่ประสงค์

หากจะขยายความสมชีวิธรรมทั้ง ๔ คงอธิบายได้ดังนี้นะคะ

สมสัทธา การมีความเชื่อเสมอกัน

คำว่า ความเชื่อ ในที่นี้หมายถึงความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ความเชื่อที่ใช้เป็นหลักในการดำรงชีวิต เช่น เพราะเชื่อว่าผลของบาปมี จึงละเว้นการกระทำที่ไม่ดี ที่เป็นบาป เพราะเชื่อว่าผลของบุญมี จึงทำความดี ให้ทาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รักษาศีล ฝึกตนให้ไกลจากกิเลส เพราะเชื่อว่าคุณบิดามารดามี จึงตอบแทนคุณท่าน เพราะเชื่อว่าสมณะที่ตรัสรู้เองโดยชอบแล้วสั่งสอนผู้อื่นมี จึงเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นในศาสนาพุทธ ดังนี้เป็นต้น

คำว่า เสมอ ในที่นี้หมายถึงเหมือนกันด้วยวัตถุประสงค์หลักค่ะ ดังนั้น แม้ว่าสามีภรรยาใดๆจะนับถือศาสนาพุทธด้วยกันทั้งคู่ แม้ทั้งคู่จะมีศรัทธาในพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่ศรัทธานั้นก็อาจไม่เสมอกัน

เช่น คนหนึ่ง ทำทานเพราะทราบว่าเป็นการกระทำอันเป็นบุญ จึงทำเพราะต้องการอานิสงส์ของบุญเช่น ได้รับการยกย่อง ได้มีชีวิตที่รุ่งเรือง ร่ำรวย จึงเป็น การทำเพื่อหวังผลตอบแทนแก่ตน หวังการมี "ตัวตน" ที่ดีตามที่ปรารถนา แต่อีกคนทำทานเพราะต้องการฝึกการคลายความเห็นว่าเป็นของตน ฝึกการคลายตระหนี่ มีนิพพานเป็นวัตถุประสงค์หลัก ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่หวังว่าจะมีตนเข้าไปร่วมรับผลอันเป็นการฝึกการคลายความเห็นว่าเป็นตน เมื่อเป็นอย่างนี้ ศรัทธาของทั้งสองจึงไม่เสมอกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ โอกาสได้ครองคู่กันในชาติใหม่ก็ยากที่จะมีได้ค่ะ

อันที่จริง ความเชื่อของทั้งสองนั้นถูกทั้งคู่ค่ะ เพราะการเชื่อในบุญ ในผลของบุญ จัดเป็น สัมมาทิฏฐิ อันเป็นองค์หนึ่งใน ๘ ของมรรค เพียงแต่ของคนแรกเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ ส่วนอีกคนเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ และหากคนแรกไม่ฝึกการทำบุญที่ไม่หวังผลบ้างเลย การกระทำที่เจือด้วยตัณหาก็อาจโน้มจิตให้ต่ำลงไปได้เรื่อยๆ

สมสีลา การมีศีลเสมอกัน

ศีลนั้นหมายถึงความเป็นปกติของชีวิตที่เกิดจากการมีเจตนาไม่ล่วงละเมิดผู้อื่นทั้งร่างกายเขา ทรัพย์สินของเขา ของรักของเขา ความเป็นจริงที่อาจมีผลต่อเขา และแม้กระทั่งความรู้สึกปลอดภัยของเขา เช่น จากการไม่เสพของมึนเมา เป็นต้น ดังนั้น เราจึงฝึกตนจนวิถีชีวิตเป็นปกติ ไม่มีเรื่องให้เดือดร้อนใจ

หากสามีภรรยามีเจตนาละเว้นการกระทำที่ผิดศีลด้วยกันทั้งคู่ แต่ถึงกระนั้น ทั้งคู่ก็อาจไม่เสมอกันด้วยศีลได้นะคะ

เพราะ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ ต้องครบองค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วน คือ ตนเองมีเจตนาละเว้น ไม่ทำการอันผิดศีล เป็นส่วนที่หนึ่ง ตนไม่ชักชวน ไม่บังคับ ไม่แสดงเจตนาให้ผู้อื่นรู้ว่าอยากให้เขาทำความผิดแทนตนเป็นส่วนที่สอง และ สรรเสริญการประพฤติตนให้เป็นศีลเป็นส่วนที่สาม

ดังนั้น หากใครคนใดคนหนึ่งแม้จะมีเจตนาละเว้น ไม่กล้าทำความผิดเอง แต่พูดเลียบเคียงกับคนอื่นให้เขาทำผิด ทำการละเมิดแทนตน อย่างนี้ก็ถือว่าไม่บริสุทธิ์ในส่วนที่สอง เพราะแม้ตนจะไม่ได้ละเมิดเอง ตนก็เป็นเหตุหลักและมีเจตนาให้มีการละเมิด อีกทั้งการละเมิดยังหมายถึงการไม่มีเมตตา ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่มีสมสีลา ก็คือมีความเสมอกันในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทุกส่วนของศีลนั่นเองค่ะ

การกระทำที่มีเจตนาละเว้น ไม่กระทำการใดๆที่อาจทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนนั้นมาจากจิตที่มีเมตตา ซึ่งเมตตานั้น เป็นพื้นฐานของพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานของธรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นศีล ขันติ ฯลฯ เป็นการกระทำที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการมีดำริชอบ หรือ สัมมาสังกัปปะ ที่ประกอบด้วย การดำริที่จะออกจากกาม การดำริในการไม่เบียดเบียน และ ดำริในการไม่พยาบาทนั่นเองค่ะ

เช่น ในชีวิตประจำวัน เราอาจถูกกระทบกระทั่งจากผู้อื่นได้ หากเราสู้อดทน ข่มกลั้น ไม่แสดงอาการใดๆให้เขากระทบกระเทือนใจ ก็คือเรากำลังอบรมขันติในระดับต้น หรือ แต่เพราะการอดกลั้นไม่พูด หรือ ทำอะไร ให้คนอื่นร้อนใจ เรากลับร้อนใจเสียเองเพราะความกดดัน จึงต้องมีการพิจารณาให้คลายความร้อนรุ่มนั้น ให้เข้าถึงสภาวะที่แท้จริง จนใจผ่องใสขึ้น เมื่อใจเราผ่องใส ( โสรัจจะ) ขึ้นแล้ว จึงสามารถอดทนต่อสิ่งเดิมที่มากระทบได้ด้วยความทนทานของจิต อันเป็นขันติในระดับสูง การที่เราอบรมตนอย่างนี้ ก็คือ เรามีดำริในการไม่พยาบาท

พระมหากัจจายนะ ได้อธิบายไว้ในคัมภีร์เนตติปกรณ์ไว้ค่ะว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะก็จะตามมา เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ การมีวาจาชอบ หรือ สัมมาวาจาก็ตามมา เมื่อมีสัมมาวาจา การเลี้ยงชีพชอบหรือ สัมมาอาชีวะ ก็ตามมา และเมื่อมีสัมมาอาชีวะ การกระทำชอบหรือ สัมมากัมมันตะ ก็ตามมาด้วย ดังนั้น การมีศีลที่มาจากจิตที่เมตตา จึงหมายถึงได้มีการเดินทางตามมรรคอย่างน้อย ๕ องค์ แล้ว

สมจาคา การสละเสมอกัน

การสละ คือการละ ทั้งสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น (อามิสทาน) หรือการสละในลักษณะอื่นๆ เช่น สละโอกาสในการสร้างรายได้ของตนแก่คนอื่นด้วยการให้ความรู้ในการประกอบอาชีพแก่เขา หรือ ให้ความรู้ธรรมแก่เขา (ธรรมทาน) สละความรู้สึกโกรธด้วยการให้อภัย (อภัยทาน) สละแรงกายตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น (อัตถะจริยา) สละความเห็นผิดของตน การสละความเห็นว่าเป็นของตน เป็นตัวตน

เพราะการสละต่างๆจึงทำให้จิตผ่องใส อาจจะ ผ่องใสจากเรื่องกวนใจเช่น นิวรณ์ทั้ง ๕ อันประกอบด้วย ความพึงพอใจในกาม ความพยาบาท ความหดหู่ ง่วงเหงา ซึมเซา ความฟุ้งซ่านรำคาญ และ ความลังเลสงสัยในบางอย่าง กระทั่งผ่องใสจากกิเลสทั้งราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นเหตุให้เกิดความต้องการนาๆที่หากสมหวังก็ย้อมติดและต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สมหวังก็เสียใจ โกรธ จนเป็นเหตุให้ทุกข์ใจไปในเรื่องต่างๆ

การสละที่ทำให้จิตผ่องใสนี้ มีผลมาจากดำริที่จะออกจากกาม พยายามพึ่งพิงสิ่งปรุงแต่งภายนอกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีสุขจากการเพ่งที่ไม่มีโทษอยู่ภายในใจนั่นเองค่ะ

คู่สามีภรรยาที่ฝึกการละ ฝึกการสละกิเลส สละความรู้แก่กัน สละแรงกายเพื่อกันและกัน จะส่งผลให้มีคุณความดีเสมอกัน (สมานัตตตา) สนับสนุนซึ่งกันและกัน อนุโมทนาซึ่งกันและกัน เจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆกัน ลักษณะของจิต ความเป็นไปของจิตก็จะค่อยๆคล้ายๆกันด้วย

และการที่จะมีจาคะได้นั้น บุคคลต้องรู้ก่อนว่าตนจะสละอะไร อะไรเป็นเหตุให้ตนเกิดความเดือดร้อนใจ จึงต้องฝึกตนให้มีสติที่ดีพอที่จะจับความรู้สึก หรือ เวทนา ที่เกิดขึ้น พยายามฝึกกำกับตนให้ไม่หลงเผลอทำอะไรผิด สติที่เป็นไปเพื่อการรู้เท่าทันสภาวะและกำกับกาย วาจา ใจ นี้ คือ สัมมาสติ

เพราะมีสติ จึงทำให้รู้ว่าตนมีความไม่สบาย เดือดร้อนใจ เกิดขึ้นแล้ว จึงพยายามพิจารณา คุณ หรือด้านดีของสิ่งนั้น โทษ หรือ ด้านไม่ดีของสิ่งนั้น วิธีที่จะไม่ยึดมั่นทั้งคุณอันเป็นเหตุให้อยากดึงสิ่งนั้นเข้าหา หรือโทษอันเป็นเหตุให้อยากผลักสิ่งนั้นออก หรือก็คือพิจารณาอุบายหาทางออกจากทั้งคุณและโทษของสิ่งนั้น จึงพยายามใคร่ครวญในทั้ง ๓ ส่วน กิเลสก็จะค่อยๆถูกละไปจากจิต จิตจึงสงบจากกิเลส ดับความต้องการอันเป็นตัณหาได้เป็นครั้งๆไป การที่จิตสงบจากกิเลสนี้เรียกว่า สมถะ

เมื่อเอ่ยถึงสมถะ เรามักเพ่งไปที่การฝึกกรรมฐานนะคะ อันที่จริง การฝึกกรรมฐานด้วยวิธีต่างๆทั้ง ๔๐ วิธีนั้น ก็เพื่อให้เราคุ้นเคยกับการละนิวรณ์ทั้ง ๕ อันเป็นกิเลสอย่างกลางในสถานการณ์ที่เราควบคุมได้จนจิตสงบจากนิวรณ์ เกิดเป็นสมาธิ (เพราะเรามักฝึกตามลำพังในสถานที่ที่มิดชิด) แต่ปัจจุบัน เรากลับไปหวังที่ผลของการฝึกการละนิวรณ์จากจิตจนได้สมาธิ ติดนิ่งอยู่กับสมาธิที่ได้ ละเลยการดับนิวรณ์ และเมื่อจิตพ้นจากกิเลส สงบ ราบเรียบ เสมอ ในโอกาสใดๆ ตั้งมั่นจน ไม่โอนเอนไปตามที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะพาไปจนจิตวุ่นวาย เดือดร้อน นี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิ

การฝึกสมถะกรรมฐานจึงแทบไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยค่ะ หากเราไม่นำความคุ้นเคยนี้ไปใช้ดับความต้องการที่เกิดจากกิเลสอย่างหยาบที่ทำให้แสดงอาการออกมาทางกายวาจาในชีวิตประจำวัน

สมปัญญา การมีปัญญาเสมอกัน

ปัญญา หมายถึงความรู้เข้าใจชัดเจน รู้แยกเหตุผล รู้ดีชั่ว รู้คุณโทษ รู้ประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ รู้วิธีการจัดแจงหรือจัดการ การเห็นสภาวะตามที่เป็นจริง

จะเห็นว่าปัญญามีหลายระดับเลยนะคะ ตั้งแต่ปัญญาที่ใช้ในการบริหารจัดการงานต่างๆในชีวิตประจำวัน กระทั่งปัญญาระดับสูงที่สามารถทำให้หมดกิเลส สิ้นทุกข์ได้ เมื่อมีการสละกิเลส สิ่งที่ถูกสละตามไปด้วยคือความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตน

และเพราะคายความโกรธอันมาจากกิเลส จิตสงบด้วยสมถะแล้ว เราจึงแจ้งหรือเข้าใจสภาวะด้วยจิต เมื่อเข้าถึงสภาวะที่จิตพ้นจากกิเลสในครั้งหนึ่งๆจึงเป็นสมาธิ และดังที่ตรัสว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิ จะรู้เห็นตามที่เป็นจริง คือสามารถสาวไปถึงต้นตอที่ทำให้เกิดตัณหาคืออวิชชาได้ การพิจารณาจนถึงอวิชชานี้เองที่เรียกว่า วิปัสสนา

และเพราะรู้เห็นตามที่เป็นจริง ปัญญาจึงค่อยๆเจริญขึ้น หนุนสัมมาทิฏฐิในหมุนวนขึ้นไป เหมือนขดลวดที่หมุนจากปลายล่างจนเต็มรอบแล้วไหลไปขึ้นสู่ปลายบน ทำให้สัมมาทิฏฐิเต็มรอบและแก่กล้าขึ้น จึงค่อยๆหมุนจากสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะไปสู่ที่เป็นโลกุตตระ

ตัวอย่างของการรู้เห็นตามที่เป็นจริง เช่น หากกำลังโกรธใครสักคน เมื่อรู้ตัวว่ามีความโกรธเกิดขึ้น หากยอมให้โทสะครอบงำจิต ก็จะคิดไปในแง่ต่างๆที่ทำให้ความโกรธยังคงอยู่ ไม่ดับหาย และอาจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากรู้โทษของความโกรธและไม่ยอมให้ความโกรธครอบงำ ก็จะพยายามคิดหาเหตุผลที่จะเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจผู้อื่น หาข้อบกพร่องของตนอันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น เมื่อหาเหตุผลได้ ความโกรธก็ดับ

สภาวะโกรธที่เกิดขึ้นนี้คือ ทุกข์ ที่เราได้ทำกิจหรือหน้าที่คือกำหนดรู้

สาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดความโกรธขึ้นคือ สมุทัยที่เราได้ทำหน้าที่คือการละ

กระบวนการที่เราคิดเพื่อดับความโกรธความโกรธคือ มรรค ซึ่งเราได้ทำหน้าที่คือปฏิบัติตามวิธีที่เราพบ

และผลของการคิดสอดส่องเพื่อน้อมลงสู่ความว่าง (ไม่ใช่ดับกิเลสประเภทหนึ่งด้วยกิเลสอีกประเภทหนึ่ง) คือ นิโรธ ซึ่งเมื่อเราทำหน้าที่ต่อทุกข์ สมุทัย มรรค จนครบถ้วนจนทุกข์เพราะเรื่องนั้นดับแล้ว ก็เท่ากับหน้าที่ต่อนิโรธนั้น เป็นอันว่าเราได้ทำแล้ว

ดังนั้น หากคู่สามีภรรยาใดมีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เสมอกัน ก็คือทั้งสองนั้นได้เดินตามมรรคมีองค์ ๘ ทั้งคู่ จึงมีการแสวงหา ความต้องการเสพปัจจัย ความคุ้นเคย การสั่งสม (ทั้งการสั่งสมกิเลส การสั่งสมปัจจัย การสั่งสมคุณความดี ฯลฯ) กระบวนการคิด ธรรมที่เกิดดับกับจิต ฯลฯ คล้ายๆกัน จึงทำให้มีโอกาสที่จะได้เกิดใหม่ที่ทำให้ได้รับการอบรมในลักษณะคล้ายๆกันจนทำให้แสวงหาและมีความต้องการในสิ่งที่คล้ายๆกัน ก็มีมาก จึงทำให้มีโอกาสได้พบกัน ได้เกื้อกูลกัน จนเกิดเป็นความรักความผูกพัน และครองคู่กันในที่สุด

เพราะศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เสมอกัน คนที่ใช่ จึงมีโอกาสเกิดครองคู่กันทุกชาติได้

หากทั้งสองร่วมกันตั้งใจปรารถนา

หมายเลขบันทึก: 589937เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2015 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2015 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นมาในชีวิต...หลายเหตุการณ์เราพบว่าเป็นเรื่องบังเอิญ แต่จริงๆ น่าจะมีปัจจัยดึงดูดให้เข้ามาหากันนะครับ ขอบคุณเรื่องราวที่ละเอียดด้วยอีกแง่มุมหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มากครับพี่

สาธุๆครับ

ได้ความรู้มากเลย

รอๆๆ เนื้อคู่ 5555

ขอบคุณพี่มากครับ หายไปนาน

อ่านแล้ว รู้สึกเบิกบานใจมากๆ เลยครับ

กระจ่างแจ้งเลยค่ะ ขอบคุณนะค่ะ^_^

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท