ยักษ์คืออะไร? ในนิทานเรื่องสุดท้ายของการบรรยาย ของ อาจารย์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา


วันที่ ๒๒ มีนานคม ๒๕๕๘ CADL เชิญ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา มาบรรยายพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นอกจากสิ่งที่น่าสนใจที่ท่านสามารถอ่านได้ ที่นี่แล้ว "นิทานสีขาว" เรื่องสุดท้ายที่ท่านเล่าก่อนจบ หากตีความให้ดีจะพบว่า เหมือนเป็นการสรุปวิธีการนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์กับคนเกิดผลด้วยตนเอง

นิทานสีขาวเรื่องสุดท้ายที่ท่านเล่าก่อนจบบรรยายคือ "อาละดินกับยักษ์ตะเกียงวิเศษ" ผมขอเขียนในสำนวนของตน สำหรับคนที่ยังไม่เคยฟังนะครับ...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหนุ่มน้อยหน้ามน คนหน้าซื่อ มีชื่อว่า "อาละดิน" ทำมาหากินด้วยการทำเกษตรกรรม วันหนึ่งขณะที่เขาขุดดินเพื่อปลูกผักอยู่นั้น พลันพบกับตะเกียงโบราณ จึงนำมาขัดถูทำความสะอาด กะว่าจะเอาไปขายที่ตลาดเผื่อว่าจะได้ราคาดี ทันใดนั้น... มีควันลอยออกมาจากตะเกียง กลายร่างเป็นยักษ์ตัวใหญ่ บอกอาละดินว่า จะเป็นทาสรับใช้และเนรมิตรให้ทุกอย่างที่ต้องการ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ปลดปล่อยออกจากตะเกียง แต่มีข้อแม้ว่า จะจับกินอาละดินทันที ที่เลิกขอหรือเลิกใช้งานตน อาละดินตอบตกลง แล้วเริ่มขอสิ่งที่ตนปรารถนามานาน รถ บ้าน สะพาน ปราสาท ฯลฯ ทันทีที่ขอ ยักษ์ก็เพียง "ดีดนิ้ว" เนรมิตรชั่วขณะจิตเดียวก็ได้ตามนั้น แล้วยักษ์ก็หันมาจะจับอาละดินกินเป็นอาหาร ... อาละดินจึงออกอุบาย ให้ยักษ์เนรมิตร "ต้นเสาขนาดใหญ่" แล้วสั่งให้ยักษ์ปีนขึ้นไป เมื่อไหร่ถึงจุดสูงสุด ก็ให้ปีนกลับลงมาหาจุดต่ำสุด แล้วก็ปีนกลับสลับไปมาอย่างนี้เรื่อยๆ จนกว่าจะถูกเรียกใช้เป็นอย่างอื่น.... ด้วยวิธีนี้ อาละเอียดจึงสงบ สบาย และความสุขตลอดไป .... จบครับ...



คำถามที่สำคัญคือ ยักษ์เปรียบได้กับอะไรในชีวิตเรา? และการปีนขึ้น-ลงต้นเสานั้นคืออะไร? ผมเอานิทานเรื่องนี้มาเล่าซ้ำในการสอนรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" แล้วตั้งคำถามเดียวกันนี้กับนิสิต นิสิตส่วนใหญ่ตอบว่า ยักษ์เปรียบเหมือน "ความคิด" และบอกว่า "ต้นเสา" คือ "ศีลธรรม" เราสามารถเอาความคิดมาใช้ทำอะไรๆ ก็ได้ โดยต้องให้ถูกศีลธรรม จริยธรรม

ผมตีความว่า ที่ท่านเล่านิทานเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้าย เพราะท่านจะสื่อความหมายและบอกวิธีการยกระดับจิตใจของแต่ละคนให้สูงขึ้น และบอกให้ทุกคนได้นำไปใช้โดย

  • เปรียบยักษ์เหมือน "จิต" ของเรา ซึ่งทำหน้าที่ "คิด" และ "รู้อารมณ์" ทุกคนมีจิตเป็นใหญ่ มีใจเป็นประธาน อะไรๆ ก็ทำสำเร็จได้ด้วย "ใจ" หรือ "จิต"
  • เปรียบอาละดินเหมือนเราและ "ผู้รู้" ที่เป็นผู้เอา "จิต" มาใช้งาน "การตื่น" คอยเฝ้าดูยักษ์ของอาละดิน เปรียบเหมือน "สติ" ที่ต้องมี หากไม่มีสติหรือหลงไป "จิต" อาจกลับมาทำร้ายเราในลักษณะความคิดต่างๆ
  • เปรียบต้นเสา เหมือน "วิหารธรรม" ที่หากเมื่อไหร่ จิตไม่ได้ทำงานที่ประสงค์ ก็ควรจะให้สติของเรา ตามรู้ ตามดู สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขึ้นๆ ลงๆ ซ้ำวนเป็นฐาน เช่น ลมหายใจเข้า-ออก ท้องยุบ-ท้องพอง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผมว่านิทานเรื่องนี้ เปรียบได้ดีเฉพาะเมื่อเรา อยากพาเอาจิตไปทำ "สมถะสมาธิ" จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนเรื่องการตามรู้ ตามดู ความจริงของกายใจ อาจต้องใช้นิทานเรื่องอื่นต่อไป ...

หมายเลขบันทึก: 587887เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2015 00:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2015 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท