ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๓ : ตัวอย่างการสอนแบบ PBL-ในชั้นเรียน


วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมเรื่อง การจัดการเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-based Learning: PBL) เพื่อพัฒนาทักษะการคิด บันทึกนี้จะนำเสนอตัวอย่างการสอนแบบ PBL ที่เราฝึกอบรมแบบสาธิตและแลกเปลี่ยน โดยใช้หลักการสอน ๕ ขั้นตอน ตามที่เสนอไว้ในบันทึกที่แล้ว (อ่าน ที่นี่)



การสอนเรื่องแรงโน้มถ่วงแบบ PBL (วิทยาศาสตร์)

นับ ๑ ที่การตั้งคำถามในใจตนเองว่า "ผู้เรียนจะได้เรียนรู้อะไรในการสอนครั้งนี้ ?" สมมติคำตอบในใจเราคือ ผู้เรียนต้องรู้และเข้าใจว่าอะไรคือแรงโน้มถ่วง สามารถอธิบาย และปรับประยุกต์ใช้ได้ในชีวิต

แทนที่จะเข้าไปสอนแบบเก่า คือ เข้าไปเล่าเรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ เป็นมาอย่างไร ใครค้นพบ และจบด้วยการบอก บรรยายว่า อะไรคือแรงโน้มถ่วง เราเริ่มด้วยการ "ตั้งโจทย์ปัญหา"

นับ ๒ แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละไม่เกิน ๖ คน (จะดีคือ ๔ คน) แล้วมอบอุปกรณ์ให้กล่มละ ๑ ชุด ดังภาพ โจทย์ปัญหาคือ "จงทำให้ลูกโป่งแตกตัง ปัง!!! กลังจากตัดด้วยกรรไกร ภายใน ๑๕ นาที" แต่ละกลุ่มจะทำอย่างไรก็ได้ ให้ลูกโป่งแตก มีเงื่อนไขข้อเดียวคือ อุปกรณ์ที่กำหนดให้ต้องถูกใช้ทุกชิ้น


(กิจกรรมนี้เรียนรู้มาจากทีมครูเพ็ญศรี ใจกล้า)


จากประสบการณ์ที่ผ่านมาหลายเวที ผมสังเกตว่ากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน จะไม่ให้ความสำคัญกับ "กระบวนการ" แต่จะมุ่งผ่านไปยัง "เนื้อหา" เป้าหมาย ในที่นี้คือ "ลูกโป่งแตก" ดังนั้นจะเห็นได้ทั่วไปเมื่อใช้กิจกรรมนี้ ว่าแต่ละกลุ่มจะไม่มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ โดยมากจะเป็นลองผิดลองถูก ทำไปลองไป ไม่ได้ใช้หลักวิชาการที่เรียนรู้ผ่านมา แม้ผลลัพธ์ทุกกลุ่มจะสามารถทำให้ลูกโป่งแตกได้ แต่มักจะใช้เพียงเข็มหมุดกับดินน้ำมัน ส่วนอย่างอื่นเพียงแค่เอามาประกอบกันประดับฉากเท่านั้น ดังนั้น วิธีที่ดีคือ ออกแบบกิจกรรมให้นักเรียน ได้ฝึกคิดวางแผนและออกแบบวิธีแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบโดยใช้หลักวิชาการ

นับ ๓ "โยนคำถาม ให้กับทุกกลุ่มว่า ความรู้อะไรที่จำเป็นต้องใช้ในการแก้ปัญหา ?" แล้วให้แต่ละกลุ่มระดมสมองแล้วร่วมกันอภิปราย หรืออาจออกแบบให้ไปสืบค้นที่ห้องสมุด หรือสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต เขียนแผนผังความคิด (Mind Mapping) เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่คิดว่าเกี่ยวข้อง และช่วยกันออกแบบวิธีแก้ไขปัญหาลงบนกระดาษ อย่างเป็นขั้นตอน ก่อนจะอภิปรายในกลุ่มถึงความเป็นไปได้ โอกาสที่จะสำเร็จและความเสี่ยงที่ล้มเหลว และวิธีการปัองกัน (มีแผนสำรอง?)

นับ ๔ ลงมือทำตามแผน อย่างรอบคอบ ระมัดระวัง สังเกต และเก็บข้อมูล บันทึกข้อมูล ขั้นตอนนี้คือ "หัวใจ" ที่จะทำให้เกิด "ปัญญาปฏิบัติ" (ซึ่งเป็นแบบปัจจัตตังคือรู้เฉพาะตน และสันทิฏฐิโก คือรู้เองเห็นเอง)

นับ ๕ เปิดโอกาสให้ได้นำเสนอผลงาน (ถ้ามี) นำสะท้อนการเรียนรู้ อภิปรายผลร่วมกัน และถอดบทเรียน ก่อนสรุปร่วมกัน

ส่วนใหญ่ทุกกลุ่มจะใช้วิธีผูกลูกโป่งติดไว้กับตะเกียบ แล้วใช้เชือกผูกลูกตุ้มดินน้ำมันซึ่งเสียบเข็มหมุดไว้ทั่วเหมือนขนบนตัวเม่น เมื่อตัดเชือก ลูกตุ้มเข็มหมุดจะตกลงมาตามแรง ที่ทุกคนอาจรู้แล้วว่าคือ "แรงโน้มถ่วง" ทิ่มใส่ลูกโป่ง แตกดังโป้ง.... เมื่ออภิปรายมาถึงตรงนี้ ผู้เรียนจะมีเจตคติที่ดีต่อทฤษฎีเรื่องแรงโน้มถ่วงและกฎของนิวตัน พร้อมสำหรับการสรุปเนื้อหาของท่านแล้ว หากผู้เรียนเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ ครูผู้สอนจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ที่นักเรียนนำมาเสนอ สรุปเป็นกฎการเคลื่อนที่ได้อย่างดีโดยไม่ต้องบรรยายใดๆ



(ดูรูปทั้งหมดได้ ที่นี่ครับ)

สอนภาวะผู้นำ การรักษากติกา กับการแก้ปัญหาเป็นทีม ด้วย PBL (น่าจะวิชาสังคมศึกษา)

นับ ๑ คิดถึงผลการเรียนรู้ (Learning outcome) ที่ต้องการ ในที่นี้คือ ภาวะผู้นำ การเคารพกติกา และทักษะการแก้ปัญหาเป็นทีม

นับ ๒ ตั้งโจทย์หรือออกแบบกิจกรรม (กิจกรรมนี้เรียนรู้มาจากทีมครูเพ็ญศรี ใจกล้า เช่นกันครับ) เราเรียกกิจกรรมนี้ว่า "ลูกเป็ดสกปรกขี้เหล่เดินเซกลับบ้าน" สมมติกลุ่มผู้เรียน (ไม่ควรเกิน ๑๕ คน) เป็นลูกบ้าน (สมาชิกในหมู่บ้าน) อยู่ประจำบ้านของตนเอง ในหมู่บ้านมีบ้านว่าง ๑ หลัง ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันระวังและป้องกันไม่ให้ "ลูกเป็ดขี้เหล่สกปรก" เดินเข้าบ้านได้ โดยมีกติกาว่า ต้องไม่รังแกเป็ด (ไม่ขัดขวาง) แต่ละคนอยู่บ้านได้เพียงทีละหลัง (ห้ามยืนคร่อม ๒ สองหลัง)

นับ ๓ สำหรับขั้นการค้นหาความรู้และการวางแผน เนื่องจากเป็นเป้าหมายตามผลการเรียน จึงควรให้นักเรียนลองแก้ปัญหาเลยก่อน จึงค่อยๆ เพิ่มขึ้นตอนเหล่านี้ภายหลัง

นับ ๔ ขั้นตอนการลงมือ กระบวนกรต้องคอยสร้างความกระตือรือร้นของทุกคน หลักเดียวกับที่ทำไมเราต้องมีเสียงพากย์ตอนชกมวยหรือแข่งบอล หรือทำไมต้องมีเสียงหัวเราะในละคร "ซิดคอม" คือการกระตุ้นความสนุกเร้าใจ ให้มีอารมณ์ร่วมนั่นเอง

นับ ๕ ขั้นการสะท้อนและถอดบทเรียน กิจกรรมนี้ต้องใช้เวลามากหน่อย ผู้สอนต้องค่อยๆ ตั้งคำถาม แล้วให้แต่ละกลุ่มร่วมกันอภิปราย ถึง ปัจจัยของความสำเร็จหรือล้มเหลว แล้วเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอต่อเวที เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดหรือแผนดีๆ กับกลุ่มอื่นๆ

สุดยอดของกิจกรรมนี้อยู่ที่ ทักษะการวางแผน การรักษากติกา และการแก้ปัญหาเป็นทีม ผู้เรียนส่วนใหญ่อาจไม่ให้ความสำคัญกับกติกา จะพยายามขัดขวางเป็ดขี้เหล่ด้วยวิธีต่างๆ ทั้งใช้มือกาง ประสานมือกัน ฯลฯ และหากสังเกตให้ดี จะพบภาวะผู้นำของแต่ละคน ซึ่งถ้าไม่มีภาวะผู้นำผู้ตามนี้ชัดเจน จะสังเกตเห็นได้จากกระบวนการวางแผนและการแก้ปัญหา




(ดูรูปทั้งหมดได้ ที่นี่ครับ)

สอนคณิตศาสตร์ด้วยโจทย์ PBL (คณิตศาสตร์)

ขอเสนอโจทย์ปัญหา ๒ ข้อต่อไปนี้ ให้ท่านผู้อ่าน (หวังว่าครู PLC เทศบาลฯ จะอ่านกันทุกคน) ลองนำไปปรับใช้ ดังนี้ครับ

ข้อแรกให้หาความยาวของเส้นทะแยงมุมของกล่องกระดาษที่มีขนาดดังรูป มีเป้าหมายให้ผู้เรียนรู้จำ เข้าใจ และนำไปประยุกต์ใช้สูตรของพีทาโกรัส (Pythagoras) ได้ (ข้อนี้เรียนรู้จาก ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุลครับ)


ข้อที่สองให้นักเรียนฝึกสมอง ทดลองหาความสูงของต้นไม้ โดยใช้อุปกรณ์ที่กำหนดให้คือเชือกและไม้บรรทัด เป้าหมายคือ รู้จำเข้าใจและนำไปใช้ความรู้เรื่อง "สามเหลี่ยมคล้าย" เรขาคณิตและตรีโกณมิติ


หากนำไปใช้แล้วได้ผลอย่างไร มาเล่าให้ฟัง จะมีรางวัลให้ครับ...ฮา

หมายเลขบันทึก: 586170เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2015 23:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท