ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 3


ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 3

ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล "เด็กถูกทอดทิ้ง" ขอแจ้งการเกิด ตอนที่ 3

29 มกราคม 2558.

"ประเด็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง และมีเลขประจำตัว 13 หลักจากการถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน(บัตรเลข 0) สามารถแจ้งเกิด(ขอสูติบัตร)ได้หรือไม่ ?" [1]

บทวิเคราะห์ต่อ ตอนที่ 3

ตามที่ผู้เขียนได้ให้ความเห็นไปแล้วในในเฟซบุ๊ค ทั้งสองตอน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2558 และวันที่ 18 มกราคม 2558 เนื่องจากบทวิเคราะห์ค่อนข้างยาว จึงขอตัดไปเป็นตอนที่ 3 เพิ่มเติมอีกตอนหนึ่ง

การพิจารณาเงื่อนไขการดำเนินการทางทะเบียนราษฎร ในข้อกฎหมาย ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ตามมาตรา 19/1 [2] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 บัญญัติว่า "เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมาย… ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ..." หมายความว่า ในส่วนของการลงทะเบียนคนอยู่ ตามมาตรา 38 วรรคสอง [3] และในส่วนของการลงทะเบียนคนเกิด ตามมาตรา 18 [4] ต้องครบองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ เพราะกฎหมายใช้คำว่า "และ" คือ (1) เด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิด (ตามมาตรา 18) และ (2) เด็กยังไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน (ตามมาตรา 38) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ด.ญ.ธิชาพร ยังไม่ได้แจ้งการเกิด ตามมาตรา 18 แต่อย่างใด ฉะนั้น ด.ญ.ธิชาพร จึงมีสิทธิ ขอแจ้งการเกิดได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดตามกฎหมายจำกัดสิทธิ "ในการแจ้งการเกิดไว้" แต่อย่างใด

โดยเฉพาะหลักการตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ที่กำลังยกร่าง) ใน การคุมครอง "มนุษย" ในเรื่องสิทธิในศักดิ์ศรีความเปนมนุษย (Human Dignity) และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (Primary Right) คือ การคุมครอง "บุคคล" ในสิทธิที่จะไดรับการรับรอง "สถานะบุคคล" ตามกฎหมาย ซึ่งมนุษยควรจะตองไดรับการรับรองอันนําไปสูศักยภาพที่จะเขาสูการใชสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิในคุณภาพชีวิต สิทธิในการมีสวนรวม และสิทธิในความยุติธรรม เมื่อมนุษยยอมมีสิทธิขางตนนั้น ประเทศไทยจึงมีหนาที่ที่จะรักษาการตามสิทธิดังกลาว [5]

โดยมีการพิจารณาว่าบุคคลมีสิทธิในสัญชาติของรัฐนั้นหรือไม่ เรียกว่า "จุดเกาะเกี่ยว" (Connecting Points) เกิดจาก 2 หลัก คือ หลักดินแดน และหลักบุคคล ใน 2 ช่วงเวลา คือ จุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด และ จุดเกาะเกี่ยวภายหลังการเกิด [6]

แม้ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนจะเห็นด้วยกับการแจ้งการเกิดเด็ก "ถูกทอดทิ้ง" ตามมาตรา 19/1 ก็ตาม แต่ในประเด็นการแจ้งการเกิดตามมาตรา 19/1 นี้ ผู้เขียนยังมีความเห็นว่า อาจการแจ้งการเกิดตามมาตรา 19 ได้ด้วย ซึ่งหากจะให้นายทะเบียนท้องที่เป็นผู้ใช้ "ดุลพินิจ" (Discretion) ในการ "รับแจ้งการเกิด" ว่าจะใช้มาตรา 19 หรือ มาตรา 19/1 ย่อมไม่ถูกต้อง ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วใน "ตอนที่ 2" ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็น "ช่องว่างของกฎหมาย" ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ (กระทรวงมหาดไทย) จะต้องรับไปพิจารณาแก้ไขอุดช่องว่างของกฎหมายในส่วนนี้ด้วย

ประเด็นที่ 2 ความหมายตามข้อ 59/1 [7] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า "…ขอแจ้งการเกิดให้กับเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในความอุปการะหรือการสงเคราะห์ …" และระบุถึงเงื่อนไขในการดำเนินการไว้ตาม ข้อ 59/1 (2) ว่า "มีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่" และในกรณีการเกิดบุตรของคนที่ "ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ตามข้อ 9 [8] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548

การวินิจฉัยตีความตามถ้อยคำในข้อ 59/1 ต้องตีความตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 19/1 ตามที่กล่าวในประเด็นที่ 1 ประกอบด้วย และแม้จะมีเงื่อนไขให้ตรวจสอบว่า "มีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่" ก็ไม่เป็น "เหตุต้องห้าม" ในการแจ้งการเกิดแต่อย่างใด เป็น "สิทธิของผู้แจ้งการเกิดที่ต้องการมีหลักฐานแสดงการเกิดไว้แสดงและอ้างสิทธิตามกฎหมาย" เพราะหากตรวจพบรายการบุคคลว่ามี "รายการบุคคลในทะเบียนบ้านหรือทะเบียนประวัติฯแล้ว" หากเจ้าตัวยืนยันขอแจ้งการเกิด เพราะยังมิได้มีการแจ้งการเกิดมาก่อนแต่อย่างใด นายทะเบียนฯ ก็ชอบที่จะรับคำร้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ตามมาตรา 18 แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551) เพราะรายการเลขบุคคล 13 หลักเดิมสามารถยกเลิกเพิกถอนและออกเลขบุคคลใหม่ได้ตามข้อเท็จจริง ตามความในมาตรา 10 [9] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 (รวมที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551)

ประเด็นที่ 3 ความหมายตามหนังสือสำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.1/ว 8 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 [10] เห็นว่า มีข้อบกพร่องของหนังสือสั่งการฉบับนี้คือ

(1) ตามหนังสือสั่งการดังกล่าว หน้าที่ 3 บรรทัดที่ 1-2 ระบุว่า "...โดยมีเงื่อนไขว่าเด็กที่ขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดจะต้องเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎรและไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก..." ซึ่งไม่มีบทบัญญัติและข้อห้ามใดไว้ใน พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และ ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 ตามประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 แต่อย่างใด

(2) ในกรณีที่ 3 กำหนดว่า การเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ ท.ร. 38 ก ไม่ต้องออกสูติบัตร ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ หากเปรียบเทียบกับกรณีเพิ่มชื่อบุคคลสัญชาติไทย ตามข้อ 97 [11] แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535 อาจเปรียบเทียบได้ดังนี้

(2.1) ระเบียบฯ ข้อ 97 เป็นเรื่องของ "บุคคลที่มีสัญชาติไทย" และ

(2.2) ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (เดิม) ได้บัญญัติให้การแจ้งการเกิดต้องไปแจ้งเกิดที่สำนักทะเบียนแห่งที่เด็กเกิดเท่านั้น "ทำให้ในกรณีที่แต่เดิม ไม่สามารถออกสูติบัตรได้" จึงอนุมัติให้ใช้การเพิ่มชื่อตามข้อ 97 แทนโดยการเพิ่มชื่อตามภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่ปัจจุบัน แต่ปัจจุบันหลักการนี้ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแล้ว ตาม พรบ.การทะเบียนราษฎรฯ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาหรือผู้ขอเพิ่มชื่อสามารถขอแจ้งการเกิดหรือขอเพิ่มชื่อตามภูมิลำเนาในปัจจุบันได้ และ

(2.3) หลักการเพิ่มชื่อตามข้อ 97 มักมีเงื่อนไขพิเศษอื่นใดประกอบเพราะไม่สามารถ "แจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลา" ได้ตามปกติ ด้วยความขัดข้องใน "การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน" ในกรณีต่าง ๆ อาทิเช่น พยานบุคคลยืนยันสถานที่เกิดไม่มี หรือมีพยานบุคคลแต่ยุ่งยากลำบากในการสอบสวนยืนยัน หรือมีปัญหาความน่าเชื่อถือของพยานบุคคล ณ สถานที่เด็กเกิด เพราะกาลเวลาเนินนาน, ความยุ่งยากในภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการเดินทางไปขอแจ้งการเกิดเพราะอยู่ห่างไกลและกาลเวลาล่วงเลยมานานแล้ว ได้แก่ การเกิดในป่าอ้อย เกิดในป่าไร่มันสำปะหลัง เกิดบนเขา เกิดในแค้มป์คนงาน การเกิดคลอดเองโดยไม่มีพยานรู้เห็นการเกิด (หรือมีรู้เห็นการเกิดเฉพาะสองสามีภริยา หรือญาติที่ตายไปแล้ว) ฯลฯ เป็นต้น และ

(2.4) เหตุผลในประการที่สำคัญก็คือ เจ้าตัวผู้ขอเพิ่มชื่อตามข้อ 97 แจ้งไม่ "มีความประสงค์อยากได้สูติบัตรไว้เป็นหลักฐานประจำตัว" แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 4 ตามหนังสือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองตากที่ ตก 52001/159 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เรื่อง การแจ้งเกิดเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งราย ด.ญ.ธิชาพร - (เรียน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก) ได้ชี้แจงว่า "... โดยมีเงื่อนไขว่า เด็กที่ขอแจ้งการเกิดเกินกำหนดจะต้องเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎร และไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก..."ซึ่งเป็นข้อความที่ตรงกันทุกถ้อยคำตามที่กล่าวในประเด็นที่ 3 ข้อ (1) กล่าวคือ สำนักทะเบียน ทม.ตาก ยืนยันว่า "เงื่อนไขการแจ้งเกิดว่าต้องเป็นบุคคลที่ยังไม่มีเลข 13 หลัก" แต่ ด.ญ.ธิชาพร ได้รับการสำรวจแบบ 89 และถือบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เลขที่ 0-6398-89005-68-3 ออกเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 ตอนท้ายหนังสือมีคำแนะนำให้ไปยื่นขอ ท.ร. 20/1 ได้ ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าไม่ถูกต้องดังที่กล่าวไว้ข้างต้นตามประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 และประเด็นที่ 3 กล่าวคือ ด.ญ.ธิชาพร สามารถขอแจ้งเกิดเกินกำหนดเวลาได้ และมีเลขบุคคล 13 หลักเลขใหม่ได้

ประเด็นที่ 5 สำหรับประเด็น มาตรา 20/1 "หนังสือรับรองการเกิด" [12] แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 นั้น เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่นายทะเบียนท้องที่ออกให้แก่ผู้ร้องขอเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการ "ขอลงรายการสัญชาติไทย" เช่น ตาม พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 [13] หรือ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอื่น อาทิเช่น สำหรับประกอบหลักฐานแสดงในต่างประเทศหรืออื่นใดในกรณีที่ "ไม่มีสูติบัตร" หรือ "สูติบัตรชำรุดสูญหาย" เพื่อเป็นหลักฐานแสดง "วันเดือนปีเกิด" "สถานที่เกิด" ว่าเกิด ณ สถานที่ใด และเป็นผู้ "เกิดในประเทศไทย" แต่แบบฟอร์มดังกล่าวก็มิได้มีรายละเอียดเทียบเท่า "สูติบัตร" (Birth Certification) เพราะนอกจากชื่อตัว ชื่อสกุล เลขประจำตัวประชาชน สัญชาติ แล้วก็มีเพียงรายการ "วันเดือนปีเกิด" "สถานที่เกิด" "จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดา" "ที่อยู่ปัจจุบัน" และ "ชื่อสกุลและรายการของบิดามารดา" เท่านั้น

ประเด็นที่ 6 เอกสารอีกประเภทหนึ่งที่ควรพิจารณานำมาประกอบการออกสูติบัตร และ หนังสือรับรองการเกิด คือ (1) ท.ร.1/1 (หนังสือรับรองการเกิดของสถานพยาบาล) และ (2) ท.ร.1 ตอนหน้า (ใบรับแจ้งการเกิดของนายทะเบียนผู้รับแจ้ง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) มีปัญหาสถานะของเอกสารว่าจะสามารถใช้อ้างอิงว่าเป็น "หนังสือรับรองการเกิด" ในทางกฎหมายมหาชนได้หรือไม่เพียงใด นั้น เห็นว่า ในทางกฎหมาย เอกสาร ท.ร.1/1 และ ท.ร.1 ตอนหน้า ดังกล่าว เป็นเพียงเอกสารเพื่อให้ผู้แจ้งนำหลักฐานเอกสารดังกล่าวไปแจ้งต่อนายทะเบียนซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อออกหลักฐานการเกิดคือ "สูติบัตร" (ท.ร.1 หรือ ท.ร.2 หรือ ท.ร.3 หรือ ท.ร.03 หรือ ท.ร.031) ยังไม่มีสถานะเทียบเท่า "หนังสือรับรองการเกิด" หรือ "สูติบัตร"

ประเด็นที่ 7 ล่าสุดจากกรณีนี้ ได้มีหนังสือซักซ้อมจากสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 3 ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 เรื่อง การรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ

โดยสรุป หนังสือสั่งการฉบับนี้แจ้งไปยังนายทะเบียนจังหวัดทุกจังหวัดและนายทะเบียนกรุงเทพมหานครให้ : [14]

1. รับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะอย่างใดก็ตาม (ยืนยันหลักการ BR for all สำหรับเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทย เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่น ICCPR และ CRC)

2. เด็กที่เกิดในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย อาทิ รพ.สต. หรือ สสช. ต้องได้รับ หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.1/1) ซึ่งออกโดยผู้ทำคลอด เพื่อที่จะไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านก็ได้ (การกระทำเช่นนี้จะช่วยลดสภาวะความไร้รัฐของเด็กไปได้มาก ในหลายพื้นที่พบว่าผู้ใหญ่บ้านไม่ทราบว่าจะต้องรับแจ้งเกิดเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย หากเด็กเกิดที่ รพ.สต. หรือ สสช. และมี ท.ร.1/1 อยู่แล้ว ก็สามารถไปแจ้งเกิดได้สูติบัตรจากอำเภอได้โดยตรงไม่ต้องผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านอีก และประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับพื้นที่ห่างไกล ที่ป๊อกบ้านและละป๊อกบ้านอยู่ห่างไกลกัน และกำนันผู้ใหญ่บ้านอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง)

3. นายทะเบียนอำเภอทำทะเบียนประวัติ (ท.ร.38 ก) และกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งขึ้นต้นด้วยเลข 0 ให้แก่บุคคลที่อาจจะยังไม่สามารถแจ้งเกิดหรือเพิ่มชื่อเข้าทะเบียนบ้านได้ (กรณีนี้กำหนดเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนว่า ถึงแม้จะไม่สามารถแจ้งเกิดได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่นายทะเบียนยังไม่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวเกิดในประเทศไทยจริง เป็นต้น อย่างไร นายทะเบียนก็ต้องกำหนดเลข 13 หลักให้ เพื่อมิให้บุคคลดังกล่าวตกเป็นคนไร้รัฐ)

4. นายทะเบียนต้องจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา 38 วรรค 2 และกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งขึ้นต้นด้วยเลข 0 ให้แก่บุคคลที่มายื่นคำขอ หากบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติ คือ (1) มีภูมิลำเนาอาศัยในพื้นที่จริง (2) ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร ไม่มีเลขประจำตัว 13 หลัก และ (3) ไม่มีเอกสารที่แสดงว่ามีสัญชาติของประเทศอื่น

สรุปประเด็นทั้งหมด

(1) ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าตามหนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 3 ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 ข้อ 1 ประกอบ ข้อ 4 ว่า "นายทะเบียนท้องที่ต้องรับแจ้งการเกิดและออกสูติบัตรให้เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีสถานะอย่างใดก็ตาม" กล่าวคือ นอกจากบุคคลจะได้มีการออกเลขบุคคล 13 หลักแล้ว บุคคลก็ยังสามารถขอแจ้งการเกิด เพื่อออกสูติบัตรได้ตามข้อ 1 ซึ่งหลักการใหม่นี้ดูเหมือนจะไป "ยกเลิก" หนังสือสั่งการ สำนักทะเบียนกลาง ที่ มท 0309.1/ว 8 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ในกรณีที่ 3 กำหนดว่า "การเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ ท.ร. 38 ก ไม่ต้องออกสูติบัตร"

(2) สอดคล้องกับความเห็นของคุณมานะ งามเนตร์ (Stateless Child) [15] ที่กล่าวว่า "ไม่ว่าบิดา มารดาเด็กที่ยังไม่มีสัญชาติไทย จะมีเลขประจำตัวประชาชนแบบไหน หรือไม่มีเลขฯ นายทะเบียนต้องรับแจ้งการเกิด สอบสวนให้ได้ความว่า มีเด็กเกิดมาจริง หากมีหนังสือรับรองการเกิด(ท.ร.1/1) จากสถานพยาบาล ก็เพียงสอบให้ได้ความจริงถึงชื่อ และชื่อสกุลของบิดา มารดา(ถ้ามี) โดยเขียนตัวอักษรให้ถูกต้องตามคำบอก ในกรณีไม่มีชื่อในระบบ ซึ่งก็ต้องให้ไปทำเรื่องขอเพิ่มตามมาตรา 38 วรรคสองเป็นลำดับถัดไป ได้เลขเมื่อใดแล้วค่อยนำมาเพิ่มเติมในระบบฐานข้อมูล จะปฏิเสธการรับแจ้งการเกิดไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย หลายฉบับ"

ซึ่งในเรื่องนี้นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เคยกล่าวเป็นวาทะเด็ดในการให้นโยบายการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยให้ความสำคัญถึงขั้นพูดว่า "ฅนไม่ใช่หมา รัฐต้องจัดทำทะเบียนไว้" "X-rays ทุกชุมชน ให้ทุกฅนมีเลข 13 หลัก" [16]


[1] ข้อเท็จจริงกรณี ด.ญ.ธิชาพร ไม่มีนามสกุล, 13 มกราคม 2558, โดย นางสาวคอรีเยาะ มานุแช(Koreeyor Manuchae), นักกฎหมายองค์กรอินเตอร์เนชั่นแนล เรสคิว คอมมิตตี้, https://www.facebook.com/koreeyor.manuchae?fref=ts

[2] มาตรา 19/1 เด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งซึ่งอยู่ในการอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ถ้าเด็กยังไม่ได้แจ้งการเกิดและไม่มีรายการบุคคลในทะเบียนบ้านให้หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหน่วยงานเป็นผู้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่หน่วยงานนั้นตั้งอยู่ และให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 19/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

ดู "การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง", 27 มกราคม 2556, https://www.gotoknow.org/posts/517590

[3] มาตรา 38 ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

รายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 38 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[4] มาตรา 18 เมื่อมีคนเกิดให้แจ้งการเกิด ดังต่อไปนี้

(1) คนเกิดในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือบิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่คนเกิดในบ้านภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด

(2) คนเกิดนอกบ้าน ให้บิดาหรือมารดาแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่มีคนเกิดนอกบ้านหรือแห่งท้องที่ที่จะพึงแจ้งได้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเกิด ในกรณีจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันเกิด

การแจ้งตาม (1) และ (2) ให้แจ้งตามแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด พร้อมทั้งแจ้งชื่อคนเกิดด้วย

ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน การแจ้งตามวรรคหนึ่งจะแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่อื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

(มาตรา 18 วรรคสาม เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[5] การกําหนดลักษณะของบุคคลในกรอบความคุมครองที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ยอมจะนําไปสูกฎหมายลูกบทและแนวนโยบายที่มีประสิทธิภาพในการสงเสริมและคุมครองมนุษยในแตละสถานการณ์ ตามหลักการตีความ "ความเปนไทย" โดยกฎหมายสัญชาติของประเทศไทย ที่ทําใหบุคคล/ประชาชนมีสิทธิในสัญชาติไทย นั้นมีไดถึง 9 สถานการณตามกฎหมายพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับปจจุบัน ที่ตองทําความเขาใจเพื่อไมใหเกิดความสับสนระหวาง "คนมีสิทธิในสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติ" กับ "คนที่ใชสิทธิหรือไดรับรองสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึงคนที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย มีทะเบียนบานสําหรับคนสัญชาติไทย ถือบัตรประจําตัวประชาชนคนสัญชาติไทย" ดู บงกช นภาอัมพร, ผูชวยทางวิชาการและผูชวยดําเนินงานในสภาปฏิรูปแหงชาติของ รศ.ดร.พันธุทิพย กาญจนะจิตรา สายสุนทร ภายใต การทํางานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผูสูงอายุ ผูพิการ และผูดอยโอกาส, เอกสารประกอบข้อเสนอเพื่อการยกรางรัฐธรรมนูญในประเด็น "ขอบเขตความคุมครองบุคคลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม", 27 มกราคม 2558, https://drive.google.com/file/d/0B9wioibr8vP1dG5uYW1vRlAzUVE/view

[6] ปภาวดี สลักเพชร, ผู้ช่วยทางวิชาการและผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร, "การกำหนดความเชื่อมโยงของบุคคลกับรัฐ โดยเริ่มต้นจาก "จุดเกาะเกี่ยว" (Connecting Points)", 26 มกราคม 2558, https://www.facebook.com/notes/428792510604410/?pnref=story

[7] ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2535

ข้อ 59/1 เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งจากหัวหน้าหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่จดทะเบียนตามกฎหมายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือเด็กตามรายชื่อหน่วยงานที่กระทรวงมหาดไทยประกาศซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ขอแจ้งการเกิดให้กับเด็กเร่ร่อนหรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งที่อยู่ในความอุปการะหรือการสงเคราะห์ ให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) เรียกตรวจบัตรประจำตัวผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านของหน่วยงานที่ให้การอุปการะหรือดูแลช่วยเหลือเด็กที่ขอแจ้งการเกิด และหลักฐานการรับตัวเด็กไว้ดูแลหรืออุปการะ

(2) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่ามีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่

(3) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. 100) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

(4) ดำเนินการตามข้อ 59 (4) (5) และ (6) หรือ (7) แล้วแต่กรณี"

(เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 59/1 ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2551 ข้อ 6)

[8] ข้อ 9 การรับแจ้งการเกิดบุตรของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้นายทะเบียนเรียกหลักฐานเพื่อตรวจสอบว่าเด็กที่เกิดได้สัญชาติไทยหรือไม่ หากพบว่าเป็นคนสัญชาติไทยหรือเป็นคนไม่มีสัญชาติ ให้ปฏิบัติในการรับแจ้งการเกิดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 แต่หากไม่สามารถวินิจฉัยสัญชาติของเด็กได้ ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบ ท.ร. 031 และเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ (ท.ร. 38 ก) ฉบับที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่ออยู่

กรณีเด็กเกิดต่างท้องที่ เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรตามแบบ ท.ร. 031 ให้ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คัดสำเนารายการสูติบัตรฉบับดังกล่าวแจ้งไปยังนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่ออยู่เพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อเด็กลงในทะเบียนประวัติ (ท.ร. 38 ก) ฉบับเดียวกับบิดาหรือมารดาของเด็ก

[9] มาตรา 10 เพื่อความถูกต้องของการทะเบียนราษฎร ให้นายทะเบียนมีอำนาจเรียกเจ้าบ้าน หรือบุคคลใด ๆ มาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้แสดงหลักฐานต่าง ๆ ได้ตามความจำเป็น และเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยให้มีอำนาจเข้าไปสอบถามผู้อยู่ในบ้านใด ๆ ได้ ตามอำนาจหน้าที่ แต่ต้องแจ้งให้เจ้าบ้านทราบก่อน ทั้งนี้ ให้กระทำได้ในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก

ในการเข้าไปสอบถามตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนแสดงบัตรประจำตัวตามแบบที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่า การดำเนินการแจ้ง การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อดำเนินการจัดทำหลักฐานทะเบียนต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียนและดำเนินการแก้ไขข้อความรายการทะเบียนให้ถูกต้อง แล้วแต่กรณี

การดำเนินการตามวรรคสาม รวมตลอดทั้งวิธีการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงและการอุทธรณ์ของผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของนายทะเบียน รวมถึงการพิจารณาคำอุทธรณ์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนไว้ก่อนที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือการโต้แย้งได้

(มาตรา 10 วรรคสี่ เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

[10] ดูรายละเอียดหนังสือสั่งการสำนักทะเบียนกลาง, http://www.mapfoundationcm.org/pdf/thai/policy24115.pdf

[11] ข้อ 97บุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดง ให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) สอบสวนเจ้าบ้าน ผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือประกอบการพิจารณา

(2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่

(3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่

(4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน พร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า "คำร้องที่… ลงวันที่… หรือ หนังสือ… ลงวันที่…" แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้

(5) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนดในข้อ 134(22)

(6) รายงานตามระเบียบที่กำหนดในข้อ 132(5)

"การเพิ่มชื่อตามวรรคหนึ่ง ถ้าบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อเข้าในทะเบียนบ้านมีอายุตํ่ากว่า 7 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นคำร้อง ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นเป็นผู้พิจารณาอนุญาต เว้นแต่จะมีเหตุอันควรสงสัยเรื่องสัญชาติของบุคคลที่จะขอเพิ่มชื่อ ให้นายทะเบียนรวบรวมหลักฐานเสนอขอความเห็นชอบจากนายอำเภอท้องที่ก่อนพิจารณาอนุญาต"

(เพิ่มความตามข้อ 97 วรรคสอง โดยข้อ 10 แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางฯ (ฉ.4) พ.ศ. 2545)

[12] มาตรา 20/1 ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มบุคคลใดหรือให้กลุ่มบุคคลใดแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ หรือกรณีมีเหตุจำเป็นอื่น และบุคคลดังกล่าวจำเป็นต้องมีหนังสือรับรองการเกิด ให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

(มาตรา 20/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551)

ดู ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 & หนังสือสำนักทะเบียนกลาง ด่วนที่สุดที่ มท 0309.1/ว 84 ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2551 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551,

http://www.songkhladopa.go.th/file/order/20080829094614mrbbf.pdf#page=1&zoom=auto,-110,729

[13] พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 23 "บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 1 และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2515 ข้อ 2 รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทย ให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน"

[14] บงกช นภาอัมพร, 21 มกราคม 2558, ความคืบหน้าจากกรมการปกครองในการแก้ไขปัญหาการจดทะเบียนการเกิดและการไร้รัฐของบุคคล ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ท่าน ผอ.วีนัส สีสุข ได้ร่วมลงพื้นที่จังหวัดตากกับทางกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15-16 มกราคม 2558 และเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ในประเด็นดังกล่าว , หนังสือสำนักทะเบียนกลางที่ มท 0309.1/ว 3 ลงวันที่ 22 มกราคม 2558 เรื่อง การรับแจ้งการเกิดและการจัดทำทะเบียนประวัติ , http://www.bora.dopa.go.th/images/snbt/str/book/58/01/mt03091_v3.PDF

[15] มานะ งามเนตร์ (Stateless Child), ได้ให้ความเห็นไว้ในเฟซบุ๊คเมื่อ 25 มกราคม 2558

[16] จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นโยบายการปฏิบัติงานสถานะและสิทธิของบุคคล ในการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาและแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555, ใน youtube 4 ธันวาคม 2555,https://www.youtube.com/watch?v=v0xAZ_HSD8s

หมายเลขบันทึก: 584769เขียนเมื่อ 29 มกราคม 2015 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 18:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Very interesting and investigative.

I think this is a good example of "exercise in local delegation of power in judgment". To put it plainly, the local registrar should be able to exercise his/her power to register the girl according to her/his judgment of the relevant regulations and the "custom" of the locality.

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท