โครงการถอดบทเรียนรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย


หายหน้าจาก Gotoknow ไปนาน พร้อม ๆ กับการไม่ได้พบกับอาจารย์ ดร. ยุวนุช ทินนะลักษณ์ นานหลายเดือน ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนตั้งหน้าตั้งตาทำงานประจำ จนลืมไปว่าตนเองเคยมีงาน "พิเศษ" ที่ทำแล้วเบิกบาน ปลุกจิตวิญญาณแห่งการใช้ศิลปะในการมองโลกภายในที่หลับไหลไปนานให้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง


การพบกันอีกครั้ง...และการกลับมาเขียนบันทึก ณ ที่ที่เราพบกันครั้งแรกอีกครั้ง Gotoknow



"พี่นุช" ที่ผู้เขียนเคารพนับถือชวนให้ผู้เขียนมาร่วมเป็นกระบวนกรและสังเกตการณ์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง โดยพี่นุชเป็นผู้ถอดบทเรียน ส่วนผู้เขียนเป็นกระบวนกรที่เสริมแรงทีมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม และหน้าที่อื่น ๆ ตามแต่พี่นุชมอบหมาย ... ยินดีอย่างยิ่งนะคะ (ผลัดกันค่ะ ถ้าเป็นเวทีการพัฒนาจิตด้วยศาสตร์นพลักษณ์ พี่นุชก็ได้ช่วยเป็นสะพานบุญและแม่งานให้ผู้เขียนเช่นกัน ภูมิใจที่มีกัลยาณมิตรจิตใจงดงามเช่นนี้)



บรรยากาศวันแรกดูเป็นทางการพอสมควรค่ะ หลายท่านทั้งคุณหมอและคุณพยาบาลส่วนใหญ่ มาจากทั่วสารทิศของประเทศไทย ต้องมาฟังวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินการร่วมกัน และบางท่านก็ยังไม่คุ้นเคยกันดี

พี่นุชเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ "การถอดบทเรียน" โดยทำให้เรื่องที่ดูเป็นเรื่องยากสำหรับท่านที่ยังไม่คุ้นเคยเป็นเรื่องที่สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองได้ไม่ยาก และเราก็ขอให้ในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็น "FA" และ "Notetaker"

หลายท่านส่่วนใหญ่เพิ่งเริ่มเข้าร่วมกระบวนการแลกเปลี่ยน เล่าเรื่อง เป็น FA และเป็น Notetaker ครั้งแรก แต่สามารถสร้างบรรยากาศให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลื่นและเลื่อนไหลอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน ส่วนหนึ่งมาจากการกำหนดประเด็นคำถามของพี่นุชที่ให้กลุ่มได้พูดคุยกัน และอีกส่วนหนึ่งมาจาก "ประสบการณ์ร่วม" และ "จุดร่วม" บางประการที่เชื่อมร้อยให้คนทำงานที่แม้ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดหรือเคยพบกันมาก่อนตั้งอกตั้งใจฟังเรื่องเล่าของกันและกันอย่างมี "อารมณ์ร่วม" น้ำตาแห่งความปลื้มปิติของคนทำงานที่ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป มองเห็นการทำงานของเพื่อนร่วมอุดมการณ์แบ่งปันความทุกข์สุขอย่างชื่นชม และเห็นอกเห็นใจ


ผ่านวันที่หนึ่งไป เข้าสู่วันที่สอง แต่ละกลุ่มที่แลกเปลี่ยนในหัวข้อเดียวกันเกี่ยวกับรูปแบบการดูแลแบบประคับประคองได้มาแลกเปลี่ยนและบูรณาการผลงานของแต่ละกลุ่มให้เป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งที่พี่นุชและผู้เขียนพยายามเอื้อให้เกิดและจุดประกายให้แลกเปลี่ยนกันคือ การตกผลึกเป็นความคิดรวบยอดอย่างเป็นระบบ จากสิ่งที่พูดคุยกันมาอย่างยาวนานหลายชั่วโมงให้เหลือเพียงการนำเสนอไม่ถึงยี่สิบนาที เพื่อนำสิ่งที่ตกผลึกนี้ไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มใหญ่อีกสองกลุ่มให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว แม้ไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มกันมาก่อน ... นี่คือความยากซับซ้อนและความปราณีตในการค่อย ๆ ล้วงลึกไปร่อนเอาแก่นแท้หรือหัวใจแห่งการทำงานด้านนี้ออกมาถ่ายทอดให้คนที่ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกัน (อย่างพี่นุชและผู้เขียน) มองเห็น และจะนำไปสู่การสะท้อนคุณค่าความงามของงานที่พวกท่านทำให้ปรากฎสู่สาธารณชน


การถอดบทเรียน สำหรับผู้เขียนแล้วคือการใช้ศิลปะในการสะท้อนความดี ความงาม ความสุขจากความจริงของผู้ปฏิบัติที่ถ่ายทอดความรู้เชิงประสบการณ์ออกมา ผู้ทำหน้าที่ถอดบทเรียนจะต้องสามารถมองเห็นคุณค่าของคนและของงาน โดยร้อยเรียงถ้อยคำอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน เพื่อนำไปสู่การเป็นตัวอย่างให้กับผู้ปฏิบัติในรุ่นต่อไป และเป็นประโยชน์สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในงาน อย่างกรณีงานสาธารณสุข ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ ได้แก่ คนไข้ ญาติคนไข้ ชุมชน หน่วยงานหรือบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง


บรรยากาศแห่งความสุขในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเล่าประสบการณ์ที่เคยทำมานาน มาถึงวันนี้ สิ่งที่ทำไม่ใช่แค่งาน routine อีกต่อไป แต่กำลังถูกยกระดับสร้างคุณค่าให้สังคมประจักษ์ว่า

"มันเป็นสิ่งที่ทุกคนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แล้วทำไมไม่เริ่มตระหนักถึงการเตรียมตัววาระสุดท้ายของพวกเราทุกคนนับตั้งแต่วันนี้ โดยทุกท่านที่ทำงานด้านการดูแลแบบประคับประคองกำลังปฏิบัติ "จาคะ" เสียสละเวลา เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อถ่ายทอดเรื่องเล่าประสบการณ์ของตนให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม"



ผลงานจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้


หากเราทำงานเสมือนการทำกุศลในโอกาสเดียวกันได้ สำหรับผู้เขียนแล้ว เป็นความปิติเบิกบานที่มีค่ายิ่ง

ความสุขที่เหนือกว่าความสุขที่เราคุ้นเคยกันในชีวิตประจำวันคือ "ความสุขที่สร้างความสุขให้ผู้อื่น"

สุขเช่นว่านี่คือ "ประโยชน์สุข" ที่เราได้ปฏิบัติตนให้มีคุณค่าแก่สังคมที่หล่อเลี้ยงเรามา


it


หมายเลขบันทึก: 582906เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณที่แบ่งปันสุข

และประโยคสุขที่ขอนำไปใช้" ผู้ทำหน้าที่ถอดบทเรียนจะต้องสามารถมองเห็นคุณค่าของคนและของงาน โดยร้อยเรียงถ้อยคำอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน "

เพราะต้องไปทำหน้าที่ ถอดบทเรียนโครงการ 500 ตำบลสุขภาพ ของ สชฬ

ถอดบทเรียนใน 10 ตำบลพื้นที่ของพัทลุง คงมีเรื่องเล่ามาแลกเปลี่ยนผ่านบันทึก

(เกษียณแล้ว สุขอิสระ)


ชอบใจที่พี่ๆกลับมาทำงานร่วมกันอีก

ได้เรียนรู้ไปด้วยครับ

มีดอกไม้มาฝาก..สวัสดีทั้งสองท่าน..เจ้าค่ะ

พร้อมความสุขสดชื่น..ปีใหม่..๒๐๑๕ที่จะมีมาถึงเร็วๆนี้..ค่ะ

ส่งความงดงามมาเติมสุข จากธรรมชาติเนื่องในปีใหม่ ขอตั้งจิตอธิษฐาน ให้ผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นเครือญาติ เป็นครูแห่งชีวิต ผู้ตั้งมั่นในความดี เข้าถึงความเย็นใจ ทุกเมื่อทุกวัน

ปีใหม่ปีนี้ด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยขอให้พี่ศิลาและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขกับการทำงานมากๆครับ...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท