งานวิจัยและพัฒนาเพื่อใคร


บางทีนักวิจัยก็ไม่รู้จริงๆว่าตนได้สร้างความเสียหายให้กับสังคมอย่างมากมาย บางคนก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ บางคนก็ทำทั้งๆที่รู้ เพราะมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่

ควันหลงจากการไปประชุมเรื่องคนกับทรัพยากรน้ำที่เกียวโต ประเทศญึ่ปุ่น ระหว่าง ๕-๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ได้ข้อคืดสืบเนื่องในการทำงานว่า เราควรจะทำงานอะไร ทำอย่างไร ทำเพื่อใคร และจะต้องฟังใครบ้าง ผมก็พยายามประเมินและสรุปประเด็นตลอดช่วงการประชุม มีทั้งผลที่ฟังแล้วสบายใจ และค่อนข้างอึดอัดมาเล่าสู่กันฟังครับ

ที่สบายใจก็คือ เราเริ่มให้ความสำคัญกับชาวบ้านมากขึ้น  การทำงานเริ่มสัมผัสความจริง ทำงานตามสภาพที่เป็นจริงมากขึ้น ทำงานที่มีผลต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่ด้อยพัฒนาทั้งหลาย ในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีผลทางการเมืองมากก็ยังมีโครงการไปทำเพื่อการพัฒนามากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้ ก็แล้วแต่ความสามารถของนักวิจัยแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ที่จะสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นจริงของการทำงานในแต่ละพื้นที่

ส่วนที่ไม่ค่อยสบายใจก็คือ ยังมีนักวิจัยจำนวนหนึ่งที่มีแต่คอยฟังว่าผู้ให้ทุนจะว่ายังไง ชอบคำไหน ที่จะต้องระวังให้เขียนไว้ในโครงร่างโครงการเพียงเพื่อให้ได้ทุนวิจัย โดยส่วนใหญ่จะไม่สนใจว่าจริงๆแล้ว คำที่ว่าดังกล่างนั้น ผู้ให้ทุนเขาใส่ไว้ทำไม และยิ่งไปกว่านั้น เท่าที่ทราบ ผู้ให้ทุนบางแหล่งก็วิ่งตามกระแสการใช้คำเหล่านั้น โดยอาจรู้ว่าต้องทำ แต่จะทำอย่างไรก็กลับไปหวังพึ่งนักวิจัยให้วางแนวทางและตัดสินใจเอง  มุมนี้กลายเป็นจุดอับทางวิชาการและการทำงานวิจัย ที่ต่างคนต่างไม่รู้ แต่ก็ต้องประเมินกันเองตามความรู้เท่าที่มี ในนามของ peer review แทบจะเรียกว่างูกินหาง หรือพายเรืออยู่ในโอ่งก็ว่าได้  เมื่อถึงตอนประเมินผลก็อยู่ในลักษณะต่างคนต่างไม่รู้แบบเดียวกัน เลยสรุปไม่ได้ว่าจะทำวิจัยไปเพื่อใคร เพราะผู้จะพัฒนาคนอื่นได้นั้น จะต้องพัฒนาตัวเองเสียก่อน เมื่อทั้งผู้ให้ทุน และนักวิจัยยังไม่พัฒนา แล้วคนเหล่านั้นจะไปพัฒนาใครได้ ก็แค่ทำงานเลี้ยงชีวิตไปวันๆ หมดเงินจบโครงการแล้วก็เลิกรากันไป เหมือนไม่เคยเกิดอะไรขึ้นมาก่อน  แต่บางทีก็เกิดผลร้ายต่อการพัฒนาก็ได้เนื่องจากการตีความหมายไม่ถูกต้อง หรือใช้ความรู้ที่ไม่เหมาะสมในการพัฒนา ดังเช่นที่ชาวบ้านต้องมากระตุ้นกระแสเกษตรอินทรีย์เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดพลาดของการพัฒนาที่ผ่านมา

และยิ่งไปกว่านั้นยังได้ทราบว่ามีนักวิจัยจำนวนหนึ่งที่ทำวิจัยให้ได้คำตอบตามใบสั่งของเจ้าของทุนเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงในการพัฒนา ที่นักวิชาการอาจบิดเบือน หรือตีความหมายให้สอดคล้องกับผู้ให้ทุนวางแนวทางไว้ การทำงานแบบนี้เกิดได้ง่ายมากในระบบที่นักวิจัยขาดจรรยาบรรณ

เราจึงได้เริ่มคุยกันว่าควรมีการกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัย (Research ethics) และระบบควบคุมให้เป็นไปตามนั้น เพื่อที่จะทำให้งานวิจัยไม่เป็นพิษกับสังคมและสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวมาข้างต้น

ในกรณีของความเป็นพิษของงานวิจัยนี้ ก็ยังมีทั้งรู้และไม่รู้ และคำว่ารู้-ไม่รู้ก็ยังแยกอีกว่าเป็นใคร  บางทีนักวิจัยก็ไม่รู้จริงๆว่าตนได้สร้างความเสียหายให้กับสังคมอย่างมากมาย บางคนก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ บางคนก็ทำทั้งๆที่รู้ เพราะมีเหตุผลอื่นแฝงอยู่  ตอนนี้ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีแนวทางอย่างไร ก็อยากให้ทุกท่านช่วยกันคิดหน่อยครับ ก่อนที่ผู้ประสงค์ดีแต่ทำให้เกิดผลเสีย หรือผู้ร้ายในคราบนักวิชาการจะทำความเสียหายให้กับสังคมและทรัพยากรของโลกมากกว่านี้

คำสำคัญ (Tags): #วิจัยเพื่อใคร
หมายเลขบันทึก: 58236เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 18:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท