หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​งานวิจัย "มมสเพื่อชุมชน" อีกหนึ่งความสำเร็จเล็กๆ ของการต่อยอดภารกิจสู่การรับใช้สังคม


มีข้อสรุปเติมเต็มเข้ามาว่ามหาวิทยาลัยควรต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น (งานวิชาการรับใช้สังคม) อย่างเป็นรูปธรรม

การลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อประสานพลังสู่การวิจัยเรื่อง "แนวทางการพัฒนาระบบและกลไกหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม" เมื่อปีงบประมาณ ๒๕๕๕ ไม่ได้ค้นพบแค่ระบบและกลไกทั้ง ๕ ประเด็นเท่านั้น (กลไกกลั่นกรองโครงการ, กลไกติดตามหนุนเสริม,กลไกการจัดการความรู้,กลไกสื่อสารสร้างพลัง,กลไกบริหารโครงการและงบประมาณ)

หากแต่มีข้อสรุปเติมเต็มเข้ามาว่ามหาวิทยาลัยควรต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ หรือนักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น (งานวิชาการรับใช้สังคม) อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการต่อยอดจากงานบริการวิชาการและงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งปีงบประมาณ ๒๕๕๖ จึงประกาศเป็นนโยบายอย่างเด่นชัดในชื่อ "งานวิจัยเพื่อชุมชน" จำนวนปีละ ๑๐ โครงการๆ ละ ๔๐,๐๐๐ บาท เป็นต้นว่า

  • โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในการจัดการธนาคารขยะของชุมชนบ้านหัวหนองฯ (คณะสาธารณสุขศาสตร์)
  • โครงการพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม (คณะวิทยาการสารสนเทศ)
  • โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรคอมพิวเตอร์สำหรับอบรมครูและพัฒนาหลักสูตรการสอนคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสำหรับโรงเรียนบ้านกอกหนองผือ (คณะวิทยาการสารสนเทศ)
  • โครงการฤทธิ์ด้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีในข้าวหอมนิลงอกและข้าวฮางงอก (คณะวิทยาศาสตร์)
  • โครงการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อส่งเสริมสุขภาพในชุมชน (สถาบันวิจัยวลัยรุขเวช)
  • โครงการพัฒนาพันธุ์แตงขาวหนามดำเพื่อสร้างเอกลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผักอินทรีย์บ้านเกิ้งแบบมีส่วนร่วมของชุมชน (สถาบันวิจัยวลัยรุขเวช)
  • โครงการตะลุยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำชี (โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์)




นโยบายดังกล่าวสะท้อนถึงจุดยืนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับการเพียรพยายาม "ต่อยอด" หรือ "ยกระดับ" ผลลัพธ์จากภารกิจการบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสู่การเป็นงานวิจัยที่มีปลายทางแห่งการ "รับใช้สังคม" โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้และมุ่งให้ผู้เรียน (นิสิต) เป็นศูนย์กลาง มุ่งเรียนรู้ผ่านการ "ปฏิบัติจริงอย่างเป็นทีม" บนฐานคิดของการ "จัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม" ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ผ่านวาทกรรมเชิงรุก "เรียนรู้คู่บริการ" เช่น โครงการตะลุยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำชี (นายนราวิทย์ ดาวเรือง : โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์) เป็นงานวิจัยอีกชิ้นของสายมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ต่อยอดจากงานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ "สภาพพิพิธภัณฑ์ลุ่มแม่น้ำชี" ที่ดำเนินการเมื่อปี ๒๕๕๔ ทว่าการต่อยอดด้วยสถานะของการเป็นงานวิจัย มมส เพื่อชุมชนนั้น ได้มุ่งสังเคราะห์องค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการจัดแสดงเนื้อหาภายในของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลุ่มแม่น้ำชี ครอบคลุมพื้นที่ ๖ จังหวัด คือ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี



นอกจากนี้แล้วงานวิจัยดังกล่าวยังมุ่งสะท้อนข้อมูลอันเป็นจุดอ่อนจุดแข็ง หรือสถานภาพของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง เพื่อเชื่อมโยงสู่แนวทางการพัฒนาให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเป็น "พลังท้องถิ่น" ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างอาจารย์ นิสิต นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน นักเรียน ฯลฯ ซึ่งก็พบว่าพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ยังคงบริหารจัดการตามอัตภาพ บนฐานความรู้และงบประมาณอันจำกัด หรือกระทั่งการจัดตั้งขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่มากนัก จนก่อให้เกิดความไม่เข้มแข็งและล้มเลิกไปในที่สุด เช่นเดียวกับแนวทางของการพัฒนาที่เห็นตรงกันว่าต้องทำให้คนสะดุดตาและจดจำให้ได้มากที่สุด และควรต้องเป็นเนื้อหาใกล้ตัวของผู้คน เพื่อกระตุกเตือนให้เกิดความตระหนักหรือสนใจกลับมาเยี่ยมชมบ่อยๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน สายตระกูล บุคคลสำคัญ เป็นต้น

นอกเหนือจากข้อมูลอันเป็นองค์ความรู้ข้างต้นแล้ว ยังหมายรวมถึงการพยายามสร้างสายใย "เครือข่าย" การทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มพิพิธภัณฑ์ฯ พร้อมๆ กับการจัดทำเป็น "หนังสือ" (งานสร้างสรรค์) เรื่อง "ตะลุยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลุ่มน้ำชี" เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะให้กว้างขวางมายิ่งขึ้น เพื่อเป็นระบบและกลไกของการสร้างความเข้มแข็งให้กับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นลุ่มน้ำชีสืบต่อไปร่วมกัน



ในทำนองเดียวกันนี้โครงการ "พัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม (ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา : คณะวิทยาการสารสนเทศ) คืออีกหนึ่งงานวิจัยในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต่อยอดจากโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานวิจัยเพื่อชุมชนควบคู่กับการบริการวิชาการ (๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน) ไปพร้อมๆ กันในพื้นที่เดิมที่เคยได้ขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ โดยบูรณาการผ่านวิชาเรียน ๒ รายวิชาคือ "การจัดการสารสนเทศภูมิปัญญาท้องถิ่น" (ระดับปริญญาตรี) และ "การบริหารจัดการองค์การสารสนเทศ" (ระดับบัณฑิตศึกษา)

ผลการวิจัยพบว่ารูปแบบศูนย์เรียนรู้ฯ ต้องประกอบด้วย "การบริการที่หลากหลาย" อยู่ในที่เดียวกัน เช่น ต้องมีห้องสมุด ห้องอินเทอร์เน็ต ห้องแสดงนิทรรศการ ลานจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และอาชีพของคนในชุมชน โดยเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในศูนย์การเรียนรู้ หลักๆ ต้องยึดโยงอยู่บนฐานอันเป็นชุดความรู้ของท้องถิ่นและชุมชนนั้นๆ เพื่อหล่อหลอมเรื่อง "จิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น" ตลอดจนต้องมีคณะกรรมการมีบริหารจัดการศูนย์ฯ อย่างเป็นรูปธรรมจาก "คนในพื้นที่" บนฐานของการมีส่วนร่วม มีระบบการให้บริการแต่ละห้วงเวลาที่ชัดเจน มิใช่เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามตัวชี้วัดหรือกระแสหลักของการพัฒนาชั่วครั้งคราว ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกลายสภาพเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ไร้ชีวิต และล้มเหลว จนในท้ายที่สุดก็ต้องทิ้งร้างและปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย




ขณะที่สายวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้น โครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมในการจัดการธนาคารขยะของชุมชนบ้านหัวหนองฯ (อาจารย์สุณีรัตน์ ยั่งยืน : คณะสาธารณสุขศาสตร์) เป็นอีกงานวิจัยที่พัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนเมื่อปี ๒๕๕๕ ซึ่งดำเนินการในพื้นที่เดียวกันในชื่อ "โครงการอนามัยสิ่งแวดล้อมสดใส ใส่ใจสุขภาพประชาชน" โดยบูรณาการกับรายวิชา "อนามัยสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย" (นิสิตชั้นปีที่ ๒) ในหัวข้อ "การจัดการขยะ" และรายวิชา "วิทยาการระบาด" (นิสิตชั้นปีที่ ๓) ในหัวข้อ "การป้องกันและควบคุม"

จากการขับเคลื่อนโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ เมื่อปี ๒๕๕๕ พบว่าชุมชนชนบ้านหัวหนอง (ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม) มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นทุกวัน มีการกำจัดขยะไม่ถูกวิธี เช่นทิ้งในที่สาธารณะ เกิดการสะสมส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์พาหนะนำโรค จนนำไปสู่การร่วมเรียนรู้เรื่อง "แนวทางการจัดการขยะ" และ "การจัดตั้งธนาคารขยะ" ขึ้นในชุมชน พร้อมด้วยการพัฒนาสู่งานวิจัยเพื่อชุมชน

โดยผลของการวิจัยพบประเด็นสำคัญๆ อันเป็นสถานการณ์ของการจัดการขยะในชุมชนหลายประเด็น เช่น ส่วนใหญ่ร้อยละ ๗๒.๓๗ ชาวบ้านกำจัดขยะโดยให้เทศบาลนำไปกำจัดตามระบบและวิธีการของเทศบาล รองลงมาร้อยละ ๙.๒๑ คือการเผาและนำไปเลี้ยงสัตว์ ส่วนการคัดแยกขยะก่อนทิ้งส่วนใหญ่จะเป็นประเภทขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง เหล็ก ถ่ายไฟฉาย เศษอาหาร ซึ่งนิยมนำไปขายมากถึงร้อยละ ๕๓.๗๕ นำไปทำเป็นปุ๋ยร้อยละ ๒๓.๕๙ เลี้ยงสัตว์ร้อยละ ๒๒.๔๗ และนำมาประยุกต์ใช้ใหม่ร้อยละ ๔.๔๙



ผลของการวิจัยดังกล่าวก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะในชุมชนอย่างเป็นระบบมากขึ้น ชาวบ้านตระหนักและตื่นตัวในเรื่องการคัดแยกขยะเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างรายได้ ดังข้อมูลการมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ เช่น ชาวบ้านสามารถคัดแยกขยะได้ถูกต้องร้อยละ ๕๒.๒ รองลงมาคือมีรายได้เพิ่มร้อยละ ๔๗.๘ ปริมาณขยะในครัวเรือนลดลงร้อยละ ๔๑.๓ ฯลฯ ทั้งนี้ยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มและบริหารจัดการ "ธนาคารขยะแบบมีส่วนร่วม" ที่เป็นระบบระเบียบ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จเล็กๆ ในระยะต้นที่ยังต้องติดตามหนุนเสริม หรือประเมินว่าที่สุดแล้วชุมชนจะเดินต่อในทิศทางใด เช่นเดียวกับเทศบาลจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบและร่วมเรียนรู้ที่จะจัดการขยะอย่างเป็นระบบร่วมกันได้อย่างไร



นี่คือปรากฏการณ์ที่ฉายให้เห็นถึงความเพียรพยายามแห่งการส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์และนักวิชาการได้เห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนงานวิชาการรับใช้สังคม โดยการพัฒนาต่อยอดจากงานบริการวิชาการและงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมมาสู่การเป็นงาน "วิจัยเพื่อชุมชน" หรือ "งานวิจัย มมส เพื่อชุมชน" ตามเอกลักษณ์ของการเป็น "ที่พึ่งของสังคมและชุมชน" ซึ่งบูรณาการผ่านกระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรต่างๆ ที่เชื่อมร้อย "ห้องเรียนสองห้องเรียน" เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ ห้องเรียนมหาวิทยาลัยและห้องเรียนอันเป็นหมู่บ้าน หรือชุมชน นั่นเอง



อ้างอิง : เอกสารประกอบการนำเสนองานประชุมวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ครั้งที่ 10 : MSU to World Class

ภายโดย : สุณีรัตน์ ยั่งยืน นราวิทย์ ดาวเรือง พนัส ปรีวาสนา



หมายเลขบันทึก: 579904เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2014 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขยะทำเงินได้ .... ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม...ช่วยกันแยกขยะดี...ขยะที่เป็นอันตรายเช่นหลดไฟ ขยะจากสารที่เครือบสารปลอท.... ออกจากัน นะคะ .... เป็นการพัฒนา ความคิด + จิตสำนึก ของคนในชุมชน


... ด้วยความชื่นชมค่ะ...การวิจัยนำไปสู่การพัฒนาอย่างมีระบบนะคะอาจารย์<?xml:namespace prefix = o ns = "urn:schemas-microsoft-com:office:office" />

สวัสดีครับ พี่ Dr. Ple

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอนะครับ
ผลพวงเล็กๆ น้อยๆ จากการขับเคลื่อนร่วมกัน ในระยะต้นๆ นั้น ชาวบ้านสามารถต่อรองราคาขยะจากผู้ซื้อภายนอกได้เป็นอย่างดีครับ แต่กระนั้นทั้งมหาวิทยาลัยและชาวบ้าน ก็ไม่หลุดลอยจากหลักคิดของการลดจำนวนขยะ เพราะไม่อยากให้มุ่งไปแค่ขายขยะเป็นเงินเป็นทอง จนเหมือนเพิ่มปริมาณขยะไปโดยเสร็จสรรพ ครับ


ครับ,พี Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

เป็นปีแรก รุ่นแรกที่พัฒนางานบริการวิชาการและงานทำนุบำรุงอันเป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยต่อยอดมาเป็นงานวิจัยเพื่อชุมชน ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ขยับทีละนิดทีละน้อย เพราะเราเชื่อมโยงไว้กับการเรียนการสอน ให้นิสิตมีส่วนร่วมกับกระบวนการวิจัย อะไรๆ จึงยังต้องทำไปเรียนรู้ไป...

ยังต้องเรียนรู้กันอีกมากเลยทีเดียวครับ


มีกิจกรรมที่หลากหลายมาก

การลดขยะน่าสนใจ

ดีใจที่ได้เห็นโครงการอนามัยสิ่งแวดล้อมด้วยครับ

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท