เก็บตกวิทยากร (18) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิดชูต้นแบบ (1)


ผมเจตนาโยกกิจกรรมนี้มาจากโปรแกรมพรุ่งนี้ เพราะเวที หรือกระบวนการนี้สำคัญมาก หากต้องทำเวทีพรุ่งนี้รับรองว่าปิดเวทีไม่ลงแน่ เพราะแต่ละคนจะ “ติดลม” โสเหล่ แลกเปลี่ยนฯ (เว้านัวหัวม่วน) กันอย่างถึงพริกถึงขิง

ระยะหลังในเวทีกระบวนการที่ผมรับผิดชอบ ผมมักจะยืดหยุ่น ผ่อนปรนมากกว่าอดีต โดยยึดสถานการณ์ที่ผู้เข้าร่วมกำลังเผชิญอยู่เป็นหัวใจหลักว่าจะปรับแต่งเวลา ยึดหยุ่น ผ่อนคลาย หรือกระทั่งหั่นซอยให้สั้นลง

กรณีดังกล่าวเวทีล่าสุดในเวทีการสัมมนาเสริมทักษะนิสิตนักศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2557 ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นเวทีอีกเวทีหนึ่งที่ปรากฏรูปรอยของการยึดหยุ่นดังที่ว่านั้นอย่างชัดเจน





ปรับแต่งเวลา : โยกย้ายกิจกรรม ซ่อนงำโจทย์การเรียนรู้สู่การสร้างกระบวนกร

การทำเวทีกระบวนการในแต่ละวัน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการ ผมและทีมงานจะสรุปงานกันทุกครั้ง (AAR) อย่างน้อยก็ให้รู้ว่าคณะทำงานได้เรียนรู้อะไรบ้างในแต่ละวัน มีอะไรบ้างที่บรรลุเป้าหมาย และอะไรบ้างที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย พร้อมๆ กับการถอดรหัสเล็กๆ ว่า สาเหตุแห่งความสำเร็จและความล้มเหลวนั้นคืออะไร

และที่สำคัญมากๆ เลยก็คือการถามว่า “มีความสุขกันมั๊ย-มีความสุขกันกี่มากน้อย”

นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงการประเมินการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมเวทีว่าได้อะไรกันไปบ้าง เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การ “ออกแบบกิจกรรม” ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ !





แนวคิดดังกล่าวปรากฏชัดแจ้งเมื่อมีการประเมินผลการเรียนรู้ในเย็นวันที่ 24 ตุลาคม 2557  ผมตัดสินใจโยกกิจกรรม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้...เชิดชูต้นแบบ”  จากเช้าวันที่ 26 ตุลาคม 2557 มาเป็นช่วงบ่ายของวันที่ 25 อย่างไม่ลังเล ซึ่งผมไม่ได้ชี้แจงอะไรลุ่มลึกนัก เพราะเจตนาซ่อนนัยสำคัญบางอย่างไว้เพื่อเป็นโจทย์การเรียนรู้ของทีมงานที่กำลังฝึกปฏิบัติการการเป็น “กระบวนกร” (วิทยากรกระบวนการ)

กิจกรรมที่โยกมานั้น เดิมผมแพลนไว้ในช่วงเช้าและบ่ายของวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมวิเคราะห์ตามประสบการณ์ตนเองว่า การจะให้นิสิตแต่ละสถาบันจับกลุ่ม “โสเหล่” หรือ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” กันในประเด็นกิจกรรม/โครงการจิตอาสาที่เคยทำมา  หรือกระทั่งโครงการ/กิจกรรมที่กำลังจะทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก  ยิ่งเมื่อแต่ละคนเปิดใจ (Open mind)  พูดคุย จะยิ่งสนุกและมีรสชาติ  คงยากยิ่งต่อการที่จะบริหารเวลาและยากยิ่งต่อการจะให้ทำกระบวนการด้วยการคัดเลือกโครงการต้นแบบออกมานำเสนอเพื่อการรับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน

ยิ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการปิดเวที  สมาธิแต่ละคนคงหวนหาการกลับบ้านซะเป็นส่วนใหญ่   คงยากที่จะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้เสียทั้งหมด  ยิ่งกิจกรรมที่ว่านี้สำคัญมากๆ ผมจึงไม่ยอมที่จะเสี่ยงเช่นนั้น จึงตัดสินใจโยกกิจกรรมข้ามห้วงเวลามา

และนั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ผมซ่อนนัยสำคัญไว้-





เปิดเวทีไร้พรมแดน : ลปรร ...โสเหล่ –เว้านัวหัวม่วน


ดังที่กล่าวข้างต้น ผมตัดสินใจโยกกิจกรรม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้...เชิดชูต้นแบบ”  จากวันที่ 26 มาเป็นช่วงบ่ายของวันที่ 25 โดยทันที  ผ่านกระบวนการง่ายๆ  เช่น ทำสมาธิ-เช็คอินในแต่ละกลุ่ม ให้โจทย์การเรียนรู้ มอบหมายพี่ๆ กระบวนกรได้เป็น “พี่เลี้ยง” (ทำหน้าที่สังเกตการณ์) นั่งดู นั่งฟังร่วมในแต่ละกลุ่ม

ผมให้แต่ละกลุ่มที่ประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาคละสถาบัน (เฉลี่ยแล้วกลุ่มละประมาณ 7 คน) ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการ “จิตอาสา” ของตนเองกับเพื่อนๆ  ว่าคิดที่จะทำอะไร  เพราะอะไรถึงต้องทำ  มีวัตถุประสงค์อะไร จะทำอย่างไร ทำที่ไหน คาดหวังอะไร ฯลฯ...




นั่นเป็นคำถามกว้างๆ ที่ผมสร้างเป็นโจทย์ตัวอย่าง  แต่อนุญาตให้แต่ละกลุ่มออกแบบคำถามใหม่ได้ แต่ต้องครอบคลุม “ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร”  เป็นหัวใจหลัก   ซึ่งโครงการเหล่านั้น  มีทั้งที่ดำเนินการผ่านพ้นมาแล้ว และกำลังคิดสานต่อ  หรือไม่ก็เป็นประเภทโครงการใหม่สดเพิ่งคิดขึ้นมา  รวมถึงโครงการที่กำลังลงมือทำอยู่ในปัจจุบัน –

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมให้เงื่อนไขง่ายๆ เพิ่มเติมว่า “เมื่อแลกเปลี่ยนกันแล้ว ขอให้คัดเลือกโครงการหนึ่งโครงการเป็นต้นแบบ (เชิดชูต้นแบบ) จัดทำเป็นแผนผังความคิด เพื่อนำมาเสนอหน้าเวทีให้เพื่อทุกคนได้ร่วมรับรู้ร่วมกันอีกหน"

เวทีดังกล่าวนี้ ผมแบ่งกลุ่มๆ ละประมาณ 7 คน เป็นจำนวนประมาณ 7 กลุ่ม ซึ่งมองดูแล้วมีขนาดพอเหมาะ สามารถโสเหล่ (เว้านัวหัวม่วน) หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างออกรสออกชาติ โดยกำหนดเวลาไว้สังเขปคือ 14.45-16.00 น.






เปิดเวทีไร้พรมแดน : เวลาหลากไหล ยืดหยุ่น ผ่อนปรน


ในช่วงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มย่อยนั้น  ผมอนุญาตให้แต่ละกลุ่มแยกย้ายหาทำเลเพื่อพบปะพูดคุยกันได้ตามอัธยาศัย  ไม่ว่าจะเป็นในห้องสัมมนา  หรือไม่ก็ใต้ถุนตึก  หรือไม่ก็ใต้ร่มไม้ในสวนหย่อมรอบๆ อาคารพัฒนานิสิต  หรืออื่นๆ สุดแท้แต่ละกลุ่มจะพึงใจเลือก

ผมเจตนาให้แต่ละกลุ่มออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ตั้งแต่การเลือกทำเล การบริหารจัดการภายในกลุ่ม โดยฝากให้ทีมกระบวนกร (พี่เลี้ยง)  ได้ช่วยสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนิสิตนักศึกษาในแต่ละกลุ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป...

กระทั่งเวลานัดหมาย 16.00 น. ทุกกลุ่มจึงกลับมายังเวทีกลางร่วมกันกันอีกหน  เห็นได้ชัดว่าแต่ละกลุ่มกลับเข้ามาตรงเวลา  บางกลุ่มทำงานเสร็จแล้ว  บางกลุ่มยังไม่เสร็จ มีทั้งที่คุย-โสเหล่-แลกเปลี่ยนกันยังไม่เสร็จ หรือไม่ก็ติดขัดอยู่กับกระบวนการจัดทำแผนผังความคิดอันเป็นสื่อที่จะต้องนำเสนอ

ที่สุดแล้ว ผมจึงเฉลยอย่างใสซื่อว่า ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ  ผมเจตนาให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ไม่เสร็จคือไม่เสร็จ หรือที่เสร็จแล้ว เป็นการเสร็จแบบ “ด่วนดิบ”  ก็ไม่เป็นไร  ขอให้ทุกคนชัดเจนว่าที่ทำเสร็จนั้น เสร็จพออะไร และที่ยังไม่เสร็จ... มันไม่เสร็จเพราะอะไร






ผมอธิบายอย่างเป็นทางการว่า  ผมเจตนาโยกกิจกรรมนี้มาจากโปรแกรมพรุ่งนี้  เพราะเวที หรือกระบวนการนี้สำคัญมาก หากต้องทำเวทีพรุ่งนี้รับรองว่าปิดเวทีไม่ลงแน่  เพราะแต่ละคนจะ “ติดลม” โสเหล่ แลกเปลี่ยนฯ (เว้านัวหัวม่วน) กันอย่างถึงพริกถึงขิง หรือไม่ก็ค้างๆ คาๆ เพราะถูกบีบเร่งจำกัดด้วยเวลา ไหนต้องพะวงกับการเดินทางกลับบ้าน (กลับสถาบัน) ย่อมส่งผลให้แต่ละคนไม่มีสมาธิเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างที่ควรจะได้ ผลการเรียนรู้ที่ได้ก็อาจได้แบบงั้นๆ ...

ฉะนี้แล้ว ผมจึงปลดล็อคเงื่อนไขที่ซ่อนงำไว้ ด้วยการให้แต่ละกลุ่มกลับไปทบทวนกระบวนการอีกรอบว่าเสร็จสิ้นสมบูรณ์ หรือเสร็จสิ้นดังใจหวังแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่เสร็จสิ้น ก็ขอให้กลับไปขับเคลื่อนกันต่อ พรุ่งนี้ค่อยมานำเสนอร่วมกันอีกที






ส่งท้าย


ที่สุดแล้ว ผมจึงปล่อยให้นิสิตนักศึกษาในแต่ละกลุ่มแยกย้าย ผ่อนคลายปรับโหมดชีวิตเข้าสู่กิจกรรมสังสรรค์ในช่วงเย็น ที่จะมีทั้งการรับประทานอาหารเย็นและการแสดงบนเวทีของแต่ละกลุ่ม ซึ่งก็มีทั้งที่แยกย้ายไปจัดเตรียมการแสดง และแยกย้ายไปสะสางงานที่คั่งค้างอยู่-

ถ้าไม่เข้าข้างตนเองมากนัก ผมถือว่าผมได้ปรับเปลี่ยนโปรแกรมการทำงานได้ทันท่วงที  "รุกและรับ"  ได้อย่างลงตัวโดยใช้สถานการณ์เป็นตัวกำหนดปัจจัยของการสร้างระบบและกลไกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ส่วนบรรยากาศของการ “เชิดชูต้นแบบ” จะเป็นอย่างไร— เอาไว้เล่าในบันทึกต่อไปก็แล้วกันนะครับ !

แต่ที่แน่ๆ การปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นผ่อนปรนเช่นนี้  ทำให้เกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย จวบจนบัดนี้ผมเองก็ยังไม่ได้เฉลยกับนิสิตนักศึกษาเลยว่า นอกจากประเด็นเนื้อหาแห่งการแบ่งปันกันเรื่องราวต่อกันและกันแล้ว  ผมยังซ่อนนัยสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างทักษะต่างๆ ไว้เงียบๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น 

  • การสื่อสารผ่านการเล่าเรื่อง/เรื่องเล่าเร้าพลัง (Story telling) 
  • การฟังอย่างลุ่มลึก (deep listening) 
  • สุนทรียสนทนา (Dialogue)
  • สนทนานากลุ่ม (Focus group) 
  • การประชุมกลุ่ม (Group meeting) 
  • หรือกระทั่งการปลุกเร้าให้เกิดการเปิดใจ (Open mind) ไปในตัวอย่างเนียนๆ 


ประเด็นเหล่านี้ ผมจะเฉลยอีกครั้งในการปิดเวทีวันสุดท้ายอย่างเป็นทางการ


หมายเหตุ : 
       เวที : 
สัมมนาเสริมทักษะนิสิตนักศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชน ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม 2557 ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดย ม.มหาสารคามและโครงการรากแก้ว (มูลนิธิรากแก้ว)
       ภาพโดย : นิสิตฝึกงาน และงานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต


หมายเลขบันทึก: 579659เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2014 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2014 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

จัดกิจกรรมได้ดี  ผู้เรียน .... เรียนอย่างมีความสุข  .... ผลลัพธ์  ===>  ดีเยี่ยม นะคะ

ครับ พี่ อ.Dr. Ple

เรียนอย่างมีความสุข
เรียนแบบบันเทิง เริงปัญญา
เรียนแบบมีส่วนร่วม...
เรียนแบบกระบวนการ...ฯลฯ

ผมเชื่อว่ากระบวนการจะกำหนดผลลัพธ์
จึงใจเย็นให้กระบวนการได้ไหลลื่นไปเรื่อยๆ...ให้เวลากับมันพอสมควร เหมือนค่อยๆ บ่ม
ซึ่งผลลัพธ์ในวันสุดท้ายก็ได้คืนกลับมาเป็นรูปเป็นร่าง น่าชื่นใจ ครับ

กว่าที่จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกและได้เรียนรู้จริงๆ  อาจารย์ต้องเตรียมการกันอย่างมาก  แต่เป็นการทำงานที่มีความสุข  พี่ชอบที่อาจารย์พูดว่า "กระบวนการกำหนดผลลัพธ์" ค่ะ

เพราะมันใช่จริงๆ 

เวลา  ผู้คน  สถานการณ์  ประสบการณ์ .... สัมผัสได้ด้วยหัวใจ

กระบี่อยู่ที่ใจ    หาใช่ไร้กระบวนท่า

ผลต้องออกมาดีแน่นอนค่ะ  มีกลุ่มทำการบ้านต่อแน่ ๆ  อิ อิ

ชอบมากค่ะอาจารย์..."กระบวนกร” (วิทยากรกระบวนการ)

ครับ  พี่nui..

ผมเชื่อว่า กระบวนการ เป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ ด้วยเหตุนี้จึงได้โยกย้ายโปรแกรมมาอย่างที่บอก และให้เวลากับการทำกระบวนการของแต่ละกลุ่มเต็มที่  เพียงแต่ไม่ได้เฉลยว่าสามารถยืดหยุ่นได้จนถึงพรุ่งนี้  เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น บางทีบางกลุ่มอาจไม่ใส่ใจ จริงจังกับกระบวนการบนหน้าตักของเวลาที่กำหนดให้ก็เป็นได้...

นั่นคือสิ่งที่ผมคิด และออกแบบไว้อย่างสังเขป   เหมือนขันน็อตไว้เสร็จสรรพ แต่ขันล็อกไม่แน่นนัก เพื่อให้สามารถผ่อนคลายได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ --

สวัสดครับ อ. tuknarak

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียนนะครับ...
เวทีในครั้งนี้  ผมใจเย็นมากครับ ปล่อยให้กระบวนการไหลลื่น หลากไหลไปเนียนๆ  เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ลุ่มลึก และเกิดบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรมชาติ  ไม่เร่งรีบ จนดูแดกดิบ -ไม่มีความเป็นชีวิตชีวาใดๆ ....ครับ

มาอ่านบันทึก แบ่งปันเรื่องราวดี ๆ จ้ะ  ขอบคุณจ้าา

ขอบคุณครับท่านอาจารย์แผ่นดิน ที่นำสิ่งดีๆมาแบ่งปันเสมอครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท