​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๕. ไปชายแดนตาก : ๒. อำเภอพบพระ ๑๒ ก.ค. ๕๗


เช้าวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ที่ บี.พี. รีสอร์ท อำเภอท่าสองยางฝนตก คือฝนตกทั้งคืน ผมนอนฟังเสียงฝนตกลงกระทบน้ำในสระด้วยความสดชื่น บรรยากาศอย่างนี้หายาก เพราะบังกาโล เอื้องดอยที่ผมนอนอยู่กลางสระที่มีน้ำเต็ม

ผมรอจนฝนซาลงมาก เวลาประมาณ ๖.๔๕ น. ก็ออกไปวิ่ง เป้าหมายหลักคือไปชมบรรยากาศในรีสอร์ท และชมภูมิประเทศ ปรากฎว่า รีสอร์ท ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำเมย แต่อยู่ริมถนนใหญ่สาย ๑๐๕ ผิดหวังนิดหน่อย ที่ไม่ได้ไปเดินริมเมย

ตอนกินอาหารเช้า ผมได้เรียนรู้ว่า อาจารย์แหววกำลัง fight the battle เรื่องสถานะบุคคล และยังไม่อยู่ในฐานะที่จะหวังได้ว่าจะ win the war เพราะฟังดูแล้ว การมีปัญหาสถานะบุคคล เป็นผลประโยชน์ของคนหลายกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีอิทธิพล เสียด้วย

วันนี้เราสลับคนขึ้นรถ ผมโดนจับขึ้นคันที่ ๑ รถของ รพ. พบพระ มี อ. แหวว, เตือน, แมว นั่งกับกลุ่ม NGO ได้แก่ เชษฐ์, โอ๊ต, และประกาศิตจาก สสส. เดิม อ. แหววกำหนดให้ผมเป็น BAR facilitator แต่เธอก็พากลุ่มเข้าสู่ discussion mode โดยอัตโนมัติ เป็นการพูดคุยเชิงปรึกษาหารือใน ๔ ประเด็นคือ (๑) การปรับกระบวนการของเวทีทำงาน ในวันนี้และวันต่อๆ ไป (๒) การไปทำงานที่ระนอง เดือนพฤศจิกายน (๓) งานสถานะบุคคล และ (๔) โครงการรับทุน สสส.

ผมชอบความเห็นของคุณประกาศิต กายะสิทธิ์ ผอ. สำนัก ๙ สสส. ใน ๒ เรื่อง คือ (๑) การเพิ่ม player ในการทำงานสถานะบุคคล (๒) การจัดระบบชุมชน สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

เส้นทางถนนสาย ๑๐๕ ลงใต้ จากท่าสองยางไปแม่สอด ผ่านทิวทัศน์ที่สวยงาม บ้านเป็นบ้านหลังคามุงใบตองตึง และชาวนากำลังดำนา ผมสังเกตว่าระบบลงแขกน่าจะยังมีอยู่ที่นี่ รถผ่านด่านทหาร ๒ ด่าน และด่านตำรวจ ๑ ด่าน เมื่อเลยอำเภอแม่สอด มีตำรวจมาตั้งด่าน คุณแมวแห่งโรงพยาบาลอุ้มผาง ร้องว่า “ด่านลอย" ถามกันว่าจับอะไร ตอบว่าจับแรงงาน และเมื่อรถบรรทุกแรงงานมาเจอด่านลอย ก็จะจอดให้คนลงเดินเลี่ยงด่าน ไปขึ้นรถที่จุดเลยด่านไปแล้ว

ผมนั่งฟังการสนทนาด้วยความเพลิดเพลิน และสรุปว่า รถคันนี้เต็มไปด้วย masochist ที่มีความสุขจากการโดน อาจารย์แหววสอนแกมด่า แกมสั่งงาน แต่ทุกคนจะรู้ว่า ทั้งหมดนั้นคือการแสดงความรักความหวังดีของอาจารย์แหววต่อศิษย์ และต้องการให้ศิษย์ทำงานเก่ง เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ ขาดโอกาส

เราถึง รพ. พบพระ เวลา ๑๑ น. และใช้เวลา ๒ ชั่วโมงฟังคุณหมอศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพบพระ เล่าเรื่องของโรงพยาบาล ที่สะท้อนความอึดอัดขัดข้องจากการที่กระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. ใช้กฎระเบียบ one-size-fits-all ด้านการเงิน ทำให้โรงพยาบาลในเขตที่พื้นที่กว้าง มีความหนาแน่นของประชากรเบาบาง และอยู่ห่างไกล เสียเปรียบ ยิ่งเป็นพื้นที่ ชายแดนที่มีคนไม่มีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาลมารักษาเป็นจำนวนมาก ยิ่งมีปัญหาการเงิน

แล้วเราก็ได้ฟังเรื่องราว และพบตัวน้องผักกาด เด็กเป็นโรค hydrocephalus ที่พ่อแม่ทิ้ง อายุ ๙ ขวบ ที่ยังไม่มีสถานะ บุคคล แต่ก็กำลังจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ให้ไปรักษาที่ รพ. จุฬาฯ

หลังกินอาหารเที่ยง เวลา ๑๓.๑๕ น. ที่ห้องครัวของโรงพยาบาล ที่อาหารอร่อยมาก เรารีบออกเดินทางไปสถานที่นัดพบ คือศาลาวัดหมื่นฤๅชัย อ. พบพระ ตามเอกสารที่ผมได้รับแจ้ง เราจะไปศึกษาเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่น ที่ไม่ได้รับสถานะ ความเป็นคนไทยตามกฎหมาย เมื่อไปถึง ชาวบ้านมาชุมนุมกันกว่า ๒๐๐ คน แต่ละคนถือเอกสารหลักฐานมาแสดงสถานะ บุคคลของตน

ตามแผนเดิม มีการจัดชาวบ้านเป็นกรณีศึกษา ๕ คน เริ่มด้วยการให้ชาวบ้านพูดบอกปัญหาของตนทีละคน เป็นภาษา กะเหรี่ยง แล้วมี อสม. แปลเป็นภาษาไทย ทำไปได้ไม่นานชาวบ้านที่มาประชุมเริ่มไม่ฟัง แสดงท่าทีต้องการเอาเอกสารของตน มาแสดง เพื่อขอความช่วยเหลือให้ตนได้บัตรประชาชน คุณเตือน ผู้ดำเนินการเวทีจึงตัดสินใจแบ่งชาวบ้านออกเป็นกลุ่มๆ และแยกให้ไปคุยกับนักกฎหมาย ผมนั่งสังเกตการณ์โดยไม่ทราบแผน ก็นึกชมว่าวันนี้วางแผนการทำงานมาดี มีการแยกแยะ คนที่มาขอความช่วยเหลือ ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของคุณเตือน

เนื่องจากทีม อ. แหวว แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงมีทหารหนุ่มๆ ๔ คนมาสังเกตการณ์ มีการถ่ายรูป เหตุการณ์ เดาว่าเพื่อนำไปรายงานผู้บังคับบัญชา ผมจึงเข้าไปคุย ให้เขาเข้าใจว่าเรามาจากไหน มาทำอะไร สักครู่ก็มีปลัดอำเภอ ฝ่ายปกครองมาร่วมด้วย ว่านายอำเภอให้มา อ. แหววถามว่าทำไมไม่ให้ปลัดฝ่ายทะเบียนมา ได้ความว่าไปทำงานอื่น ผมหลบออกมานั่งสังเกตการณ์ห่างๆ ไม่ทราบว่า อ. แหวว ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ (ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แห่งชาติ) ช่วยกันพูดจนท่านปลัดโทรศัพท์ไปประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะที่เทศบาล ให้โรงพยาบาลแจ้งเกิด แก่เด็กที่พ่อแม่ไม่มีสถานะคนสัญชาติไทยได้

สรุปว่า เวทีโกลาหล แต่ทุกคนก็สมหวัง คุณหมอเต้ ประกาศตอนจบว่า คณะที่มาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทะเบียน จึงไม่มีอำนาจ ในการออกบัตร แต่ก็จะดำเนินการต่อไป จนทุกคนได้สิทธิตามความเป็นจริงของตน

วันนี้เราเสร็จงานเวลาประมาณ ๑๖ น. มีเวลาไปชมริมน้ำเมย ในฤดูฝน การข้ามน้ำจึงต้องใช้เรือเหล็กหางยาว แต่หน้าแล้งแม่น้ำจะกว้างเพียงสามวา และคนเดินข้ามได้ ฝั่งข้างโน้นเป็นดินแดนพม่า แต่มีคนไทยข้ามไปทำสวนทำไร่ หลังจากนั้นเราไปชมสวนกุหลาบชื่อ ไร่ปฐมเพชรมีกุหลาบสีและลายแปลกๆ ที่ผมไม่เคยเห็น เรากินอาหารเย็นที่ร้านกุหลาบดอย อาหารอร่อยทุกอย่าง

ช่วงของการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือ KM ที่เรียกว่า AAR ในค่ำวันนี้ มีพลังที่สุด เริ่มด้วย BAR ของทีม รพ. พบพระ ๓ คน และทีมของ Thai PBS หนึ่งคน ตามด้วย AAR ของ doer ในเวทีที่ศาลาวัดหมื่นฤๅชัย ในตอนบ่าย ซึ่งสรุปได้ว่า เวทีที่ออกแบบ เพื่อให้ความรู้ ถูกสถานการณ์บังคับให้เปลี่ยนกระทันหัน มาเป็นคลินิกกฎหมาย ให้บริการคำปรึกษาแก่ผู้ไร้สถานภาพพลเมือง ในหลากหลายรูปแบบ

เราได้เรียนรู้จากความล้มเหลวในการออกแบบและเตรียมเวทีให้ความรู้ และได้เรียนรู้วิธีการแก้สถานการณ์ของคุณเตือน และทีมงาน ๕ คน โดยมีนักกฎหมายภาคีกระโจนลงไปเป็น doer โดยไม่ได้ตั้งตัว เกิดสถานการณ์จริงที่งดงาม (แม้จะขลุกขลัก เพราะเตรียมตัวมาทำอย่างอื่น) และเกิดการเรียนรู้หลายชั้น

ความล้มเหลวกลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

เราออกเดินทางจากโรงพยาบาลพบพระเวลาเกือบสามทุ่ม ไปถึงอำเภอแม่สอด และเข้าพักที่โรงแรมควีน พาเลส ถนนชิดวนา


หมายเหตุ

ขอขอบคุณ อ. แหวว ที่กรุณาแก้ไขต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย


ทางเข้า บีพี รีสอร์ท อ. ท่าสองยาง

ทางขวามือคือบังกาโลเอื้องดอยที่ผมนอนฟังเสียงฝน

ถนนสาย ๑๐๕ ที่หน้า บีพี รีสอร์ท


กินอาหารเช้าที่บีพีรีสอร์ท อาหารมาจาก รพ. ท่าสองยาง


รถจากท่าสองยางไปพบพระผ่านค่ายอพยพ

ช่วงหยุดเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน ทีมงานทำ BAR เตรียมเปลี่ยนแผนเวทีชาวบ้านในวันนี้


บรรยากาศในห้องประชุม รพ. พบพระ

ถ่ายจากอีกมุมหนึ่ง คนนั่งหันหน้าจากขวา ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์
ถัดมาคือ หมอเต้ นพ. ศักดิ์บัญชา สมชัยมงคล


น้องผักกาด กับพี่เลี้ยง

บรรยากาศชาวบ้านที่มาประชุมที่ศาลาวัดหมื่นฤาชัย

ทหารมาสังเกตการณ์ และถ่ายรูปไว้ด้วย

ผมไปนั่งสังเกตการณ์หลังเวที

แยกกลุ่มย่อย ให้บริการชาวบ้านเป็นกลุ่มๆ

อีกวงหนึ่ง

นี่ก็อีกวง

แม่น้ำเมยกับเรือข้ามฟาก

ส่วนหนึ่งของคณะเดินทางดูงาน

ไร่กุหลาบปฐมเพชร

ดอกกุหลาบสีและลายแบบนี้ผมเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิต



วง AAR หลังอาหารเย็น

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ค. ๕๗

570818, ชีวิตที่พอเพียง, ตาก, พบพระ, สถานะบุคคล

หมายเลขบันทึก: 574753เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 07:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ไปร่วมงาน TAF ครั้งที่ 3 ของมูลนิธิสยามกัมมาจล /สสส. และภาคีร่วมเมื่อ 16/8/2557 ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท