ความก้าวหน้าในวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา


ความก้าวหน้าในวิชาชีพของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

โดย ยืนยง ราชวงษ์

บทนำ

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา สามารถก้าวหน้าโดยอาศัยการปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่ง และมาตรฐานวิทยฐานะที่สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้กำหนด จนงานนั้นประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ วิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ สามารถก้าวหน้าได้หลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ตามหนังสือที่ ศธ 0206.4/ว 17 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 ซึ่งสามารถเลื่อนวิทยฐานะได้จนวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษตามแต่ละสายงาน ด้วยการปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งและมีคุณภาพตามมาตรฐานวิทยฐานะที่กำหนด และตามหนังสือที่ ศธ 0206.3/ว 13 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ซึ่งสามารถเลื่อนวิทยฐานะได้จนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และตามหนังสือดังกล่าว ผู้ขอรับการประเมินจะต้องมีผลงานทางวิชาการที่เกิดจากการปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่ง

ความหมาย

ผลงานทางวิชาการ เป็นรายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัย หรือผลงาน

ทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาและหรือพัฒนางานในหน้าที่ความรับผิดชอบ

ผลงานทางวิชาการของสายงานการสอน หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัยในชั้นเรียน หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียนและสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนโดยมีลักษณะดังนี้

1. ตรงกับสาขาวิชาที่ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ

2. เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

3. เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน

ผลงานทางวิชาการของสายงานบริหารสถานศึกษา หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัย หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการสถานศึกษา มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษาและสถานศึกษา

ผลงานทางวิชาการของสายงานบริหารการศึกษา หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัย หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการบริหารและการจัดการศึกษา มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษาและหน่วยงาน

ผลงานทางวิชาการของสายงานนิเทศการศึกษา หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า วิจัย รายงานการนิเทศการศึกษา รายงานโครงการ หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่นที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนของครูและบุคลากรในสถานศึกษามีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาการนิเทศการศึกษา

ประเภทของผลงานทางวิชาการ

ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอต้องแสดงถึงความรู้ความสามารถ ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แบ่งตามลักษณะของผลงานทางวิชาการเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ผลงาน งานแต่งเรียบเรียง งานแปล หนังสือ หรือบทความทางวิชาการซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

2. ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3. ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น เช่น

3.1 การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่

3.2 สื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบนวัตกรรมที่นำ มาใช้ในการปฏิบัติงานทำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3.3 เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเอกสารที่สามารถใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนา ประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถเท่านั้น มิให้นำมาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ

3.4 กรณีผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอรับการประเมินมิได้จัดทำแต่ผู้เดียว แต่ได้ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าผู้ขอรับการประเมินมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกคนรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้ทำส่วนใดบ้าง

3.5 ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอรับการประเมินต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

เกณฑ์การประเมินผลงานทางวิชาการ

ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

1. คุณภาพของผลงานทางวิชาการ พิจารณาจาก

1.1 ความถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลงานทางวิชาการต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและรูปแบบของผลงานประเภทนั้น ๆ เช่น งานวิจัยจัดทำถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย รายงานการประเมินโครงการจัดทำถูกต้องตามวิธีการและรูปแบบของการประเมินโครงการ หรือ รายงานการพัฒนานวัตกรรมจัดทำถูกต้องตามวิธีการและรูปแบบของการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น

1.2 ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ ผลงานทางวิชาการต้องมีเนื้อหาสาระสมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาการ ทันสมัย มีการค้นคว้าอ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้ การเรียบเรียงถูกต้องตามหลักภาษา และจัดหัวข้อเป็นระบบเดียวกัน ฯลฯ

1.3 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผลงานทางวิชาการต้องแสดงให้เห็นถึงการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาและการประยุกต์ใช้ โดยไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

1.4 การจัดทำ การพิมพ์และรูปเล่ม ผลงานทางวิชาการต้องมีการจัดทำอย่างประณีต การพิมพ์ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสวยงาม เช่น การพิมพ์หัวข้อ การย่อหน้า การพิมพ์ตาราง การพิมพ์เชิงอรรถ บรรณานุกรม การจัดทำรูปเล่มถูกต้อง มีปกหน้า ปกใน คำนำ สารบัญ เนื้อหาบรรณานุกรม ภาคผนวก ปกหลัง เป็นต้น

2. ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ พิจารณาจาก

2.1 ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษาหน่วยงานการศึกษา และชุมชน พิจารณาจาก ผลที่ปรากฏต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษาหน่วยงานการศึกษา และชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.2 ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการเผยแพร่ในวงวิชาการ พิจารณาจากประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ สามารถเป็นแบบอย่างใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นแบบในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี มีการนำผลงานไปเผยแพร่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์ในรายงานประจำปี เอกสาร วารสาร การนำเสนอต่อที่ประชุม สัมมนา การจัดนิทรรศการ การเผยแพร่ ทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือ website เป็นต้น

กระบวนการพัฒนาผลงานทางวิชาการ

กระบวนการพัฒนาผลงานทางวิชาการ ขึ้นอยู่กับประเภทของผลงานทางวิชาการ ว่าจะพัฒนาผลงานทางวิชาการประเภทใด แต่โดยทั่วไปมีกระบวนการพัฒนาผลงานที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีกระบวนการ ดังนี้

1. การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานที่รับผิดชอบหรือได้รับมอบหมาย

ความหมายของปัญหา

ปัญหา คือความแตกต่างระหว่างสิ่งที่คาดหวังหรือผลที่ต้องการให้เกิด กับสิ่งที่เป็นจริงหรือผลที่เกิดขึ้นจริง หรือกล่าวได้ว่า สภาพที่เกิดขึ้นจริงไม่ตรงกับสภาพที่ต้องการให้เกิด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุงต่อไป

ที่มาของปัญหา

มาจากสภาพการปฏิบัติงานของแต่ละตำแหน่งหรือสายงาน เช่น ครูมาจากสภาพการจัดการเรียนการสอน การใช้สื่อประกอบการเรียนการสอน วิธีสอนที่ใช้ในวิชาต่าง ๆ หรือพฤติกรรมของนักเรียนที่เป็นปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนี้อาจมาจาก ผลสัมฤทธิ์ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ในรายวิชาหรือจากบันทึกหลังการสอน หรือมาจากการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานของสถานศึกษา ซึ่งโดยสรุป หากตราบใดที่ครูยังไม่หยุดดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอน จะมีประเด็นปัญหาที่ให้ครูดำเนินการวิจัยในชั้นเรียนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าในตำแหน่งของผู้บริหารโรงเรียน ที่มาของปัญหานั้นมาจากกรอบภาระงาน คือ งานวิชาการ งานบริหารทั่วไป งานบริหารงานบุคคล งานบริหารงบประมาณ อาจมีการเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน

ถ้าในตำแหน่งของผู้บริหารการศึกษา ที่มาของปัญหานั้นมาจากกรอบภาระงาน คือ งานวิชาการ งานบริหารทั่วไป งานบริหารงานบุคคล งานบริหารงบประมาณ อาจมีการเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน นักเรียน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของหน่วยงาน

ถ้าในตำแหน่งของศึกษานิเทศก์ ที่มาของปัญหานั้นมาจากกรอบภาระงานที่ได้รับมอบหมายในเชิงวิชาการตามมาตรฐานตำแหน่งเป็นงานงานวิชาการ อาจมีการเชื่อมโยงปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ครู และนักเรียน ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของหน่วยงาน

บางครั้งที่มาของปัญหานั้น อาจจะได้จากการวิจัยเชิงสำรวจจากลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อปัญหาดังกล่าว ก็ได้

2. การศึกษาหลักการ แนวคิด ทฤษฎี งานวิจัย ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อได้ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุของปัญหา นำไปสู่ประเด็นการพัฒนา และการกำหนดวัตถุประสงค์ของการพัฒนา/วิจัย ต้องศึกษา หลักการ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้องและงานวิจัยในเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับปัญหา เพื่อให้การแก้ปัญหาหรือพัฒนาผลงานทางวิชาการมีความเชื่อมโยงกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เป็นการยืนยันความต่อเนื่องทางวิชาการจากการศึกษาหลักการ แนวคิดทฤษฎีทำให้ได้รูปแบบวิธีในการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับหลักการ โดยนำทฤษฎี หรืองานวิจัยที่มีผู้ศึกษาไว้แล้วมาประกอบหรืออ้างอิง จะทำให้แนวคิดของครูผู้ทำการวิจัยน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

3. การสร้างและพัฒนารูปแบบการพัฒนาผลงานทางวิชาการ

รูปแบบหรือเทคนิควิธีการแก้ปัญหาที่สร้างขึ้นมา หรือนำรูปแบบ เทคนิค วิธีการที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุง พัฒนาต่อยอด ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาที่ต้องการแก้ไขตามสภาพบริบทของหน่วยงานหรือของงานของแต่ละบุคคล ซึ่งทำให้ปัญหาหรือข้อบกพร่องประสบผลสำเร็จ

สิ่งสำคัญของรูปแบบการพัฒนา

การนำรูปแบบการพัฒนาผลงานทางวิชาการไปใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน จะต้องส่งผลต่อผู้รับบริการหรือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการแก้ปัญหาหรือพัฒนา เช่น ถ้าเป็นครู ต้องส่งผลให้นักเรียนได้พัฒนาการเรียนรู้ตามจุดประสงค์การเรียนรู้ ตัวชี้วัดของรายวิชาแล้ว ยังมีประโยชน์ดังนี้

1.ช่วยทำให้นักเรียนเรียนรู้บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ ตัวชี้วัดได้เร็วขึ้น

2.ช่วยทำให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนที่เป็นรูปธรรม

3.ช่วยสร้างบรรยากาศให้การเรียนรู้ที่สนุกสนาน

4.ช่วยทำให้หน่วยการเรียนมีความน่าสนใจ

5.ช่วยลดเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

6.ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ลักษณะของรูปแบบการพัฒนาผลงานทางวิชาการที่ดี

1. ตรงกับปัญหาความต้องการจำเป็นของสถานการณ์ โดยมุ่งการแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในระบบการศึกษา

2. มีความน่าเชื่อถือและเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเหตุผลที่สนับสนุนว่ารูปแบบการพัฒนาที่คิดค้น มีความน่าเชื่อถือนั้นมาจากแนวคิดทฤษฎีหรือผลการวิจัยรองรับ

3. สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้ มีวิธีการใช้หรือแนวปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้กับสถานศึกษาหรือหน่วยงาน ในปกติปฏิบัติได้ง่ายและสะดวก โดยไม่จำเป็นต้องจัดปัจจัยทรัพยากรสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ และควรประหยัด

4. มีผลการพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่าได้ผ่านกระบวนการทดลองในสถานการณ์จริงแล้วสามารถแก้ปัญหาหรือปรับปรุงคุณภาพของการจัดการศึกษาได้เป็นที่พอใจ โดยมีหลักฐานที่ได้จากการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและเสนอรายงานผลอย่างชัดเจน

กระบวนการสร้างรูปแบบการพัฒนา

1. กำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนา/แก้ปัญหา

เมื่อได้วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาเพื่อพัฒนาแล้ว ก็ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ กำหนดวัตถุประสงค์การพัฒนา ที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น ความรู้ความสามารถด้านทักษะกระบวนการ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านพัฒนาเจตคติ ค่านิยมเกี่ยวกับอาชีพ เป็นต้น

2. กำหนดกรอบแนวคิด

เมื่อได้กำหนดวัตถุประสงค์แล้ว ต้องศึกษา ค้นคว้า หลักวิชาการแนวคิดทฤษฎี ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์และนำมาผสมผสานกับความคิดและประสบการณ์ของตนเองแล้วกำหนดเป็นกรอบแนวคิดขึ้นเพื่อสร้างต้นแบบของรูปแบบการพัฒนาขึ้น ที่ใช้แก้ปัญหาหรือพัฒนา

3. สร้างต้นแบบของรูปแบบการพัฒนา

เมื่อตัดสินใจได้ว่าจะเลือกรูปแบบการพัฒนาแบบใด ต้องศึกษาวิธีการจัดทำ/สร้างหรือพัฒนาชนิดนั้น ๆ อย่างละเอียด เช่น จะจัดทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ในรายวิชาหนึ่ง ต้องศึกษาค้นคว้าวิธีการจัดทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้ว่ามีวิธีการจัดทำอย่างไรจากเอกสารตำราที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำต้นแบบชุดกิจกรรมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ตามข้อกำหนดของวิธีการทำชุดกิจกรรมการเรียนรู้

สำหรับเครื่องมือที่ต้องใช้ในการวัดผลสัมฤทธิ์หรือเครื่องมืออื่น ๆ ต้องมีการพัฒนาเครื่องมือตามวิธีการทางวิจัยด้วย

4. หาประสิทธิภาพหรือพิสูจน์ รูปแบบ

4.1 ขั้นตอนการการหาประสิทธิภาพของรูปแบบ อย่างง่าย ๆ ดังนี้

4.1.1 การหาคุณภาพของนวัตกรรมเบื้องต้น จากการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ (panel expert) เพื่อหาประสิทธิภาพเชิงเหตุผล (rational approach) ซึ่งเป็นความตรงเชิงเนื้อหา (content validity) และความเหมาะสมในด้านความถูกต้องของการนำไปใช้ (usability) ของรูปแบบ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นจริงๆ ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและการสื่อความหมาย โดยนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นพร้อมแบบประเมินที่มีแนวทางหรือประเด็นในการพิจารณาคุณภาพให้ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 5 คน ประเมินคุณภาพ

4.1.2 นำข้อมูลในข้อที่ 4.1.1 ซึ่งเป็นข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข หลังจาก นั้นจึงนำนวัตกรรมที่สร้างขึ้นไปทดลองเพื่อหาประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ (empirical approach) ตามลำดับดังนี้ โดยดำเนินการดังนี้

1) การทดลองใช้แบบหนึ่งต่อหนึ่ง (1:1) โดยนำรูปแบบที่สร้างขึ้นไปทดลองกับกลุ่มทดลอง (เป็นกลุ่มที่มีลักษณะบริบทเช่นเดียวกัน และยังไม่เคยรู้จักหรือเคยใช้รูปแบบการพัฒนานี้มาก่อน) จำนวน 3 คน ซึ่งมีระดับความสามารถที่หลากหลายหรือแตกต่างกัน (ถ้าเป็นนักเรียนก็มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3 ระดับ คือ เก่ง ปานกลางและอ่อน โดยทำการทดลองด้วยตนเองครั้งละคน จากนักเรียนที่เรียนอ่อนไปหานักเรียนที่เรียนเก่ง) ทำการสังเกต สัมภาษณ์และซักถามอย่างใกล้ชิด แล้วนำผลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไข

2) การทดลองใช้แบบกลุ่มเล็ก (1:10) โดยนำรูปแบบที่สร้างขึ้นไปทดลองกับกลุ่มทดลอง (เป็นกลุ่มทดลองที่มีลักษณะบริบทเช่นเดียวกัน ไม่ซ้ำกับข้อ 1) และยังไม่เคยรู้จักหรือเคยใช้รูปแบบการพัฒนานี้มาก่อน) จำนวนประมาณ 6-10 คน ซึ่งมีระดับความสามารถที่หลากหลายหรือแตกต่างกัน (ถ้าเป็นนักเรียนมีระดับความสามารถทางการเรียน 3 ระดับ คือ เก่ง ปานกลาง และอ่อน จำนวนใกล้เคียงกัน) โดยผู้ศึกษาทำการทดลองด้วยตนเองพร้อมสังเกต สัมภาษณ์และซักถามอย่างใกล้ชิด แล้วนำผลที่ได้มาปรับปรุงแก้ไข

3) การทดลองใช้กลุ่มใหญ่ (ภาคสนาม) โดยนำรูปแบบที่สร้างขึ้นไปทดลองกับกลุ่มทดลอง (เป็นกลุ่มทดลองที่มีลักษณะบริบทเช่นเดียวกัน ไม่ซ้ำกับข้อ 1) และ 2) และยังไม่เคยรู้จักหรือเคยใช้รูปแบบการพัฒนานี้มาก่อน) จำนวน ประมาณ 30-40 คน โดยผู้ศึกษาทำการทดลองด้วยตนเอง และทำการทดสอบหาค่าประสิทธิภาพ ด้วยการหาค่าร้อยละของกระบวนการ การใช้รูปแบบและผลสำเร็จคือผลการสอบหลังการใช้รูปแบบ (ผลลัพธ์) ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ ที่กำหนดไว้

4.1.3 นำผลการทดลองใช้รูปแบบจากข้อ 4.1.2 มาปรับปรุงข้อบกพร่องอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างที่ต้องการแก้ปัญหา/พัฒนางาน

4.2 การพิสูจน์ประสิทธิภาพของรูปแบบ

การพิสูจน์ประสิทธิภาพของรูปแบบ โดยทั่วไปจะใช้ทดลองกับกลุ่มทดลองกลุ่มหนึ่งตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถใช้วิธีการหาประสิทธิภาพได้ ดังนี้

4.2.1 วิธีบรรยายเปรียบเทียบสภาพก่อนและหลังการใช้รูปแบบ โดยการบันทึกหรือเก็บข้อมูลที่ได้จากการวัดผลด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ทั้งก่อนและหลังการใช้รูปแบบ แล้วจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการบรรยายเชิงคุณภาพเพื่อแสดงให้เห็นว่าหลังการใช้รูปแบบแล้ว กลุ่มทดลองมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจมากน้อยเพียงใด

4.2.2 วิธีนิยามตัวบ่งชี้ที่แสดงผลลัพธ์ที่ต้องการ แล้วเปรียบเทียบข้อมูลก่อนใช้และหลังใช้นวัตกรรม เช่น กำหนดผลสัมฤทธิ์ไว้ ร้อยละ 65 แสดงว่าหลังจากการใช้รูปแบบแล้ว กลุ่มทดลองทุกคนที่เป็นกลุ่มทดลองจะต้องผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ ร้อยละ 65 จึงจะถือว่ารูปแบบนั้นมีประสิทธิภาพ

4.2.3 วิธีคำนวณหาอัตราส่วนระหว่างร้อยละของจำนวนกลุ่มทดลองที่สอบแบบทดสอบอิงเกณฑ์ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (P1) ต่อร้อยละของคะแนนเต็มที่กำหนดเกณฑ์การผ่านไว้ (P2) เช่น P1 : P2 = 70 : 60 หมายความว่า กำหนดเกณฑ์การผ่านไว้ต้องมีคนร้อยละ 70 ของจำนวนคนทั้งหมด ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ของคะแนนเต็ม จึงจะแสดงว่ารูปแบบนั้นมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การสร้างและพัฒนารูปแบบ อาจใช้วิธีการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) หรือการสัมมนาอิงผู้เชี่ยวชาญ (Connoisseurship) จำนวนประมาณ 12-15 คน ซึ่งจะทำให้การพัฒนารูปแบบมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

5. ทดลองใช้รูปแบบ

การดำเนินการทดลองใช้รูปแบบกับกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มที่ต้องการแก้ปัญหา ในสภาพจริงวิธีดำเนินการเหมือนกับวิธีการทดลองหาประสิทธิภาพทุกอย่างต่างกันที่จุดประสงค์ของการใช้รูปแบบ ซึ่งการทดลองในที่ผ่านมาถือว่าเป็นการกระทำเพื่อหาข้อบกพร่องที่ควรแก้ไขผู้ทดลองเปรียบเสมือนที่ปรึกษา และรูปแบบที่ใช้ก็เป็นเพียงการยกร่าง เมื่อผ่านการหาประสิทธิภาพแล้ว จึงจะถือว่ารูปแบบเป็นบทเรียนฉบับจริง การทดลองภาคสนามก็เป็นการทดลองโดยเป็นการนำไปใช้จริง

ก่อนเริ่มใช้รูปแบบควรแนะนำผู้ทดลองให้เข้าใจเสียก่อน และให้ทำแบบทดสอบก่อนและเมื่อใช้รูปแบบเสร็จแล้วก็ต้องมีการทดสอบหลังอีกครั้ง

6. เผยแพร่รูปแบบ

เมื่อนำรูปแบบไปขยายผลโดยให้ผู้อื่นทดลองใช้และให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้วก็จัดทำรูปแบบนั้นเผยแพร่เพื่อบริการให้ใช้กันแพร่หลายต่อไป

การอกแบบการทดลองรูปแบบการพัฒนา

การทดลองรูปแบบการพัฒนาทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับลักษณะของรูปแบบการพัฒนา จำนวนกลุ่มที่ใช้ทดลอง และจำนวนครั้งของการวัดตัวแปรที่ศึกษา แต่ละแบบมีการดำเนินการที่แตกต่างกัน ฉะนั้นผู้พัฒนาจะต้องออกแบบการทดลองให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หรือสมมุติฐานการวิจัย

ความหมายของการออกแบบการทดลอง

การออกแบบการทดลอง หมายถึง การวางแผนเพื่อพิสูจน์ว่า รูปแบบที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง(กับกลุ่มตัวอย่าง) แล้วเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินนวัตกรรมนั้นสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ หรือสามารถพัฒนางานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่

ความสำคัญของการออกแบบการทดลอง

การออกแบบการทดลองเป็นการวางแผนกำหนดวิธีการและเทคนิคในการทดลอง ถ้ามิได้กำหนดไว้ล่วงหน้า อาจเกิดปัญหาระหว่างดำเนินการทดลอง หรือภายหลังดำเนินการทดลองในช่วงการวิเคราะห์และแปลผล กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่การวางแผนการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่จะนำมาใช้ ควรจะต้องมีความเด่นชัด มีทฤษฎีรองรับ เพื่อมั่นใจว่ามีโอกาสแก้ปัญหาที่มีอยู่ หรือพัฒนางานได้จริง ต้องกำหนดและเตรียมเครื่องมือที่ใช้วัด/ประเมินนวัตกรรมให้เหมาะสมโดยเครื่องมือต้องมีคุณภาพ และกำหนดช่วงเวลาในการวัดว่าจะวัดเมื่อใด วัดตัวแปรใดบ้าง จะใช้ใครเป็นกลุ่มตัวอย่าง แนวทางการเก็บรวบรวมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้วิธีใด ในการวางแผนดังกล่าวต้องคำนึงถึงความถูกต้องตามหลักวิชาการ และหลักคุณธรรม แต่ถ้ามิได้วางแผนอาจทำให้ได้ข้อมูลที่ได้มาไม่ถูกต้อง ส่งผลให้การสรุปผลการทดลองผิดพลาดด้วย

การสร้างและพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

หลังจากที่ผู้พัฒนาได้ออกแบบการทดลองมีการวางแผนการวิจัย โดยกำหนด ประชากรกลุ่มตัวอย่างเครื่องมือนวัตกรรมวิธีรวบรวมข้อมูล และ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วขั้นต่อไปคือการพัฒนาเครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระดับการวัดเสียก่อน จากนั้นจึงเลือกชนิดของเครื่องมือที่จะใช้ในการรวบรวมข้อมูลลงมือสร้างหรือพัฒนาโดยทั่วไปแล้ววิธีการวัดค่าตัวแปร อาจแบ่งได้เป็น4 วิธีใหญ่ ๆ ได้แก่ การสอบ การสอบถาม การสังเกตและการสัมภาษณ์

1. การทดสอบ เป็นการวัดที่กำหนดเงื่อนไข หรือสถานการณ์ ให้ผู้ถูกวัดแสดงความสามารถสูงสุด(maximumperformance)ของตนเองออกมาโดยที่ผู้ถูกวัดรู้ตัวว่า กำลังถูกวัดและรู้ว่าถูกวัดความสามารถในเรื่องใดสิ่งที่ผู้ถูกวัดตอบ สามารถตัดสินได้ว่า ถูกหรือผิด ตัวแปรที่วัดค่าได้ด้วยวิธีนี้โดยมากจะเป็นตัวแปรที่เกี่ยวกับความสามารถด้านสติปัญญาเช่นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความถนัดความคิดสร้างสรรค์ความคิดวิเคราะห์เป็นต้น

2.การสอบถาม การสอบถามเป็นการกำหนดเงื่อนไขหรือสถานการณ์ให้ผู้ถูกวัดแสดงคุณลักษณะเฉพาะตัว (typicalperformance)หรือความเป็นจริงของตนเองออกมาโดยไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่ผู้ถูกวัดตอบหรือแสดงออกมานั้นไม่มีถูกหรือผิดตัวแปรที่วัดได้ด้วยวิธีนี้จะเป็นตัวแปรเกี่ยวกับความคิด จิตใจ เช่นความสนใจความคิดเห็น ความต้องการ ความพึงพอใจบุคลิกภาพ เจตคติ เป็นต้นเครื่องมือที่ใช้กับวิธีนี้เป็นพวกแบบสอบถามแบบสำรวจ แบบวัด หรือแบบบันทึก

3. การสังเกต เป็นการเฝ้าดูพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ที่ถูกวัดตามสภาพที่เป็นจริงส่วนใหญ่การวัดด้วยวิธีสังเกตมักไม่ให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวเพราะจะทำให้เกิดพฤติกรรมเสแสร้งได้เช่นการสังเกตพฤติกรรมความซื่อสัตย์ความจริงใจความเสียสละความเป็นผู้นำเป็นต้นบางกรณีก็ยอมให้ผู้ถูกสังเกตรู้ตัวว่ากำลังสังเกตเช่นการสังเกตการกระบวนการทดลอง การทำงาน การฝึกปฏิบัติกิจกรรม เป็นต้นตัวแปรที่วัดค่าได้จากวิธีสังเกต มีทั้งตัวแปรที่เป็นความสามารถทางสมอง ความคิดจิตใจและทางทักษะต่าง ๆเครื่องมือที่ใช้จะเป็นพวกแบบสังเกตแบบบันทึกเป็นต้น

4. การสัมภาษณ์เป็นการใช้ภาษาในการสื่อสาร พูดคุย จะได้ข้อมูลข้อเท็จจริง ข้อมูลความคิดเห็น และเจตคติ เป็นการเจาะลึกประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้สัมภาษณ์สนใจ รูปแบบการสัมภาษณ์นั้นมีตั้งแต่การสัมภาษณ์ที่เป็นทางการ มีคำถามทั้งที่มีโครงสร้างและกึ่งโครงสร้างเพื่อค้นหาความหมาย ความจริง จากผู้ให้สัมภาษณ์หรือที่เรียกว่า “การสัมภาษณ์เชิงลึก” อาจใช้สัมภาษณ์เป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่มก็ได้ มีหลายประเภท อาจแบ่งได้ดังนี้

การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ (Formal interview) หรือการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างเป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้สัมภาษณ์ได้เตรียมคำถามและข้อกำหนดไว้แน่นอนตายตัว

การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal interview) มักจะใช้ควบคู่ไปกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม โดยเตรียมคำถามกว้าง ๆ มาล่วงหน้า การสัมภาษณ์แบบนี้ อาจแบ่งได้ คือ

การสัมภาษณ์โดยเปิดกว้างไม่จำกัดคำตอบการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) การสัมภาษณ์เชิงลึก เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น การสัมภาษณ์เจาะลึก การสัมภาษณ์ลุ่มลึก การสัมภาษณ์แนวลึก เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลโดยไม่ใช้แบบสอบถาม จะมีแนวของข้อคำถามให้ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้สอบถามผู้ให้สัมภาษณ์ในลักษณะการเจาะลึก และต้องอาศัยความสามารถพิเศษของผู้สัมภาษณ์ในการค้นหารายละเอียดในประเด็นที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการสัมภาษณ์เชิงลึกมักจะศึกษากับประชากรกลุ่มเล็กๆ เช่น ผู้บริหาร ผู้นำทางวิชาการ นักเรียนที่ออกกลางคัน นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ เป็นต้น โดยที่การสัมภาษณ์เชิงลึกนั้นมิได้มุ่งหวังว่าจะให้ถูกสัมภาษณ์เลือกคำตอบที่ผู้สัมภาษณ์คิดไว้ก่อนหรือสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวแต่ต้องการให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เลือกคำตอบที่ผู้สัมภาษณ์คิดไว้ก่อนหรือสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวแต่ต้องการให้ผู้ถูกสัมภาษณ์แสดงความคิดเห็น ให้คำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญของเรื่องและสถานการณ์ตลอดจนความเชื่อ ความหมายต่างๆ อย่างลึกซึ้งในแง่มุมต่างๆ การตะล่อมกล่อมเกลา (probe) เป็นการซักถามที่ล้วงเอาส่วนลึกของความคิดออกมา และการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key informant interview) โดยกำหนดตัวผู้ตอบบางคนแบบเจาะจงเพราะมีข้อมูลที่ดี ลึกซึ้ง กว้างขวางเป็นพิเศษ รวมถึงการเงี่ยหูฟัง (eavesdropping) จากคำสนทนาของผู้อื่นโดยผู้สัมภาษณ์ไม่ต้องตั้งคำถามเองก็เป็นเทคนิคของการวิจัยเชิงคุณภาพอีกอย่างหนึ่ง

การสนทนากลุ่ม (focus group discussion)เป็นการรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในประเด็นที่เฉพาะเจาะจง โดยมีผู้เข้าร่วมการสนทนาในแต่ละกลุ่มประมาณ 8-12 คน ซึ่งมาจากประชากรเป้าหมายที่กำหนดไว้ ที่มีคุณลักษณะบางประการคล้ายคลึงกัน มีวิธีการเดียวกัน ในการสนทนากลุ่มมีขั้นตอนที่สำคัญคือการแนะนำตัวการสร้างความสัมพันธ์การบันทึกคำตอบการใช้ภาษาตลอดจนเวลาและสถานที่ที่ใช้สนทนา โดยมีผู้ดำเนินการสนทนา (Moderator) เป็นผู้คอยจดประเด็นในการสนทนาเพื่อชักจูงให้กลุ่มเกิดแนวคิดและแสดงประเด็นหรือแนวทางการสนทนาอย่างกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง

การทดลอง การเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ และสรุปผลข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล

ผู้พัฒนา ต้องระบุให้ชัดเจนในขั้นตอนที่ได้ดำเนินการทดลอง ว่าดำเนินการเมื่อไร สถานที่ใดมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง เขียนเป็นข้อ ๆ การเก็บรวบรวมข้อมูลก็คือการวัดผล จึงขอนำเสนอการวัดผล ดังนี้

การวัดผลหมายถึง การกำหนดตัวเลขแทนปริมาณ ระดับคุณภาพ หรือคุณลักษณะ โดยข้อมูลที่ได้จะแบ่งลักษณะของข้อมูลเรียกว่า ระดับการวัด หรือ มาตรวัด ระดับมาตรวัดผลทางการศึกษามีลักษณะแตกต่างกัน ดังนี้

1. มาตรานามบัญญัติ (Nominal Scale) เป็นระดับการวัดระดับแรก เบื้องต้น หรือเป็นระดับการวัดที่ต่ำสุด เป็นการกำหนดตัวเลขแทนชื่อคน แทนคุณลักษณะต่าง ๆ เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น สถานที่ทำงาน เพศชาย เพศหญิง อาชีพ สัญชาติ เป็นต้น

2. มาตราเรียงลำดับ (Ordinal Scale) เป็นมาตราวัดที่สูงกว่ามาตรานามบัญญัติ เป็นการกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์เพื่อชี้ลำดับ หรือจัดลำดับ แต่บอกไม่ได้ว่าแต่ละอันดับที่เรียงไว้นั้นมีความแตกต่างกันปริมาณเท่าใด เช่น การจัดลำดับความสวยของนางงามจากสวยที่สุดไปหาขี้เหร่ที่สุด เป็นต้น

3. มาตราอันตรภาค (Interval Scale) เป็นระดับการวัดที่สูงกว่าสองมาตราที่กล่าวมา สถิติที่เหมาะสมกับข้อมูลที่มีการวัดในระดับนี้ ได้แก่

-การวัดแนวโน้มสู่ส่วนกลาง ใช้ ค่าเฉลี่ย มัธยฐาน ฐานนิยม

-การวัดการกระจายใช้ ค่าความแปรปรวน ค่าสัมประสิทธิ์การกระจายและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

-การวัดความสัมพันธ์ใช้ สหสัมพันธ์อย่างง่ายของเพียร์สัน

4. มาตราอัตราส่วน(Ratio Scale) เป็นระดับการวัดที่สูงสุดและมีความสมบูรณ์มากกว่ามาตราอันตรภาค จึงสามารถนำข้อมูลที่ได้มาบวก ลบ คูณ หาร กันได้ สถิติและวิธีทางสถิติในการทดสอบสามารถทำได้ทุกชนิด

ข้อมูลที่ได้จากการวัดผลอาจเป็นตัวเลขหรือข้อความ หรือทั้งสองลักษณะร่วมกัน

หลังจากที่ผู้พัฒนาได้เก็บรวบรวมข้อมูล จากเครื่องมือวัดผลต่าง ๆ ที่ประกอบด้วย แบบสอบถามแบบทดสอบแบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ เพื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติต่าง ๆ

การวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยนั้นผู้พัฒนา ดำเนินการวิเคราะห์อย่างไร วิเคราะห์ด้วยตนเองหรือทำการวิเคราะห์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปอะไร ได้ใช้ค่าสถิติใดบ้าง การวิเคราะห์ข้อมูล หรือผู้วิจัย อาจนำเสนอแยกการวิเคราะห์ทีละรายการ ก็ได้ เช่นการวิเคราะห์และสถิติที่ใช้หาคุณภาพของรูปแบบ ประกอบด้วย ค่าสถิติใด และการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้ในการหาคุณภาพเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย ค่าสถิติใดบ้าง รวมทั้งการวิเคราะห์สรุปผลการวิจัยเป็นต้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวิเคราะห์ข้อมูลคือลักษณะมาตรวัดของข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้ต้องวิเคราะห์ให้สอดคล้อง

สำหรับการสรุปผล

ผลการสรุปครั้งนี้ ผู้พัฒนา ต้องสรุปผลให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เป็นหลัก และต้องสรุปให้สอดคล้องกับเกณฑ์การแปลความหมาย/ เกณฑ์การประเมิน ที่ได้กำหนดไว้

การเขียนรายงาน

การเขียนรายงานเป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการพัฒนาผลงานทางวิชาการ เป็นการเขียนรายงานตั้งแต่เริ่มต้นวิเคราะห์และสำรวจปัญหา การพัฒนารูปแบบ การทดลองใช้รูปแบบเพื่อแก้ปัญหาจนกระทั่งถึงการวิเคราะห์ผล สรุปผล อภิปราย และข้อเสนอแนะการเขียนรายงานเป็นการนำเสนอสิ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบให้ผู้อื่นทราบ

องค์ประกอบของการเขียนรายงาน ส่วนใหญ่ใช้รูปแบบการวิจัย ในรายงานการวิจัยมีส่วนประกอบสำคัญ3 ส่วน ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง/เนื้อหา และส่วนอ้างอิง ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. ส่วนนำเป็นส่วนก่อนเนื้อหาของการวิจัย (ก่อนบทที่ 1) ไม่ต้องใส่เลขหน้า

1.1 ปกนอก ประกอบด้วย ชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย ชื่อหน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลงานวิจัย

1.2 ปกใน เหมือนปกนอกทุกประการ

1.3 บทคัดย่อ เป็นการสรุปย่องานวิจัยทั้งหมด (ไม่ควรเกิน 1 หน้ากระดาษ) โดยมีหัวข้อสำคัญดังนี้

1) ชื่อเรื่อง

2) ชื่อผู้ทำวิจัย

3) ปีที่ทำวิจัย

4) วัตถุประสงค์ของการวิจัย ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย และผลการวิจัย

1.4 คำนำหรือกิตติกรรมประกาศ เขียนถึงความเป็นมาของการทำวิจัย (ไม่ใช่ความเป็นมาของปัญหาการวิจัย) การขอบคุณผู้ช่วยเหลือในการทำวิจัย

1.5 สารบัญ เป็นตัวชี้ให้ผู้อ่านทราบว่า หัวข้อสำคัญต่าง ๆ อยู่ในรายงานหน้าใด มักจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1)สารบัญเนื้อเรื่อง(ต้องมี)

2) สารบัญตาราง(ถ้ามีตาราง)

3) สารบัญภาพประกอบหรือแผนภูมิ (ถ้ามีภาพหรือแผนภูมิ)

2. ส่วนเนื้อเรื่อง/เนื้อหา ประกอบด้วยบทสำคัญ บทที่ ดังนี้

2.1 บทที่ 1 บทนำ ในบทนำมีหัวข้อที่สำคัญดังนี้

-ประกอบด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย เป็นการกล่าวถึงสภาพการเรียนการสอนทั่วไป ความสำคัญของวิชาและเนื้อหาที่สอน ปัญหาการเรียนการสอน แล้วโยงมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่จะต้องทำการวิจัยพร้อมนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการเรียนการสอน(นวัตกรรม)เป็นการเขียนจากสภาพกว้าง ๆ แล้วสรุปเป็นปัญหาการวิจัยที่เล็ก

-วัตถุประสงค์การวิจัยเป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผู้วิจัยต้องการจะทำวิจัยเพื่อตอบคำถามใดวัตถุประสงค์การวิจัยจะต้องสอดรับกับปัญหาการวิจัยและหัวเรื่อง

-ขอบเขตของการวิจัย เป็นการบอกให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีขอบเขตของประชากรเพียงใดหรือ เป็นการศึกษาเฉพาะรายกรณี ตัวแปรที่ศึกษา เนื้อหาวิชามีมากน้อยเพียงใด ระยะเวลานานเพียงใดในการศึกษาทดลอง

-นิยามศัพท์เฉพาะเป็นการให้ความหมายของตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยโดยเขียนให้เป็นนิยามเชิงพฤติกรรมซึ่งมีตัวชี้วัดเพื่อประโยชน์ในการสร้างเครื่องมือวัดตัวแปรนั้น

-ข้อจำกัดของการวิจัยเป็นการบอกให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีตัวแปรใดที่ผู้วิจัยควบคุมและจัดกระทำไม่ได้เช่น“ในการวิจัยนี้ไม่สามารถจะสุ่มแยกนักเรียนออกจากห้องเรียนมาเข้ากลุ่มทดลองได้เพราะต้องทำการทดลองตามตารางเรียนปกติจึงจำเป็นต้องสุ่มเป็นห้องเรียน”

-สมมติฐานการวิจัยเป็นการคาดคะเนคำตอบปัญหาการวิจัยที่ผู้วิจัยได้ศึกษามาอย่างรอบคอบจากเอกสารเกี่ยวข้องและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

-ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย เป็นการเขียนให้ทราบว่าการวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อใครอย่างไร

2.2บทที่ 2ชื่อบทว่าวรรณคดีที่เกี่ยวข้องหรือเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นการศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการวิจัยการค้นคว้าเอกสารเป็นการแสดงถึงศักยภาพทางวิชาการของผู้วิจัยผู้เขียนต้องจัดหัวข้อให้เกี่ยวเนื่องกัน แล้วสรุปในทุกหัวข้อ ทุกประเด็น เพื่อเขียนกรอบความคิดในการวิจัยหลักการและแนวทางของนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหาหรือทดลองนอกจากนี้ยังสามารถสรุปเลือกตัวแปรต่าง ๆ ที่ใช้ในการวิจัยได้อย่างเป็นวิชาการสามารถนิยามตัวแปรและการวัดตัวแปรได้และที่สำคัญที่สุดสามารถตั้งสมมติฐานการวิจัยได้อย่างเหมาะสม

2.3 บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย ควรประกอบด้วย

-ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับ ระเบียบวิธีวิจัย ประชากรเป็นการบอกว่าประชากรที่ศึกษาคือ คนกลุ่มใด

-กลุ่มตัวอย่างเป็นการเขียนเพื่อจะบอกว่ากลุ่มตัวอย่างมีจำนวนเท่าใดได้มาจากประชากรกลุ่มใด โดยใช้วิธีการใดจึงได้กลุ่มตัวอย่างมา ใช้วิธีการสุ่มหรือวิธีการเลือก

-เครื่องมือในการวิจัย ประกอบด้วย เครื่องมือในการดำเนินการวิจัยและเครื่องมือวัดตัวแปรหรือเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้เขียนต้องเขียนบอกให้ชัดเจนว่าเครื่องมือมีกี่ชุดอะไรบ้างมีการสร้าง/ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมืออย่างไร

-การเก็บรวบรวมข้อมูล(หรือวิธีการทดลองในกรณีทำการวิจัยเชิงทดลอง)ให้เขียนบอกให้ชัดเจนว่ามีวิธีการเก็บข้อมูลอย่างไรหรือมีวิธีการทดลองและวัดผลอย่างไร

-การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเขียนเพื่อบอกให้ทราบว่าในการวิเคราะห์ข้อมูลหรือทดสอบสมมติฐานใช้สถิติใด

2.4 บทที่ 4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ/เชิงคุณภาพ

2.5 บทที่ 5 สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะเป็นการเขียนสรุปรวมการวิจัยตั้งแต่บทที่ 1ถึง4มาไว้ด้วยกันประกอบด้วยหัวข้อต่อไปนี้

-ความนำเป็นการเขียนปัญหาการวิจัยอย่างย่อวัตถุประสงค์การวิจัย วิธีดำเนินการวิจัยอย่างย่อเขียนเป็นข้อความต่อเนื่องกันได้ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นหัวข้อเป็นการเกริ่นนำก่อนขึ้นหัวข้อก็ได้

-ผลการวิจัยและข้อสรุปเป็นการเขียนผลการวิจัยตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยทีละข้อ(ไม่ต้องมีตาราง)โดยนำผลจากบทที่4มาสรุปรวมให้กระชับ

-อภิปรายผลการวิจัยการอภิปรายผลเป็นการชี้แจงเหตุและผลให้ผู้อ่านทราบว่าผลการวิจัยสอดคล้องกับผลการวิจัยของใครสอดคล้องกับทฤษฎีใดขัดแย้งกับผลการวิจัยของใครหรือขัดแย้งกับทฤษฎีใดผู้วิจัยสามารถสอดแทรกความคิดของตนเองเข้าไปได้อย่างเต็มที่ในการอภิปรายผล

-ข้อเสนอแนะเป็นการเขียนแนะนำผู้อ่านให้ทราบว่าจากผลการวิจัยนี้สามารถนำผลไปประยุกต์ใช้ภาคปฏิบัติอย่างไร เขียนให้ครอบคลุม เสนอให้ใคร เสนออะไร อย่างไร และสามารถจะวิจัยต่อในประเด็นใดได้มาก

3. ส่วนอ้างอิง เป็นการแสดงให้ทราบว่าผู้วิจัยได้ค้นคว้าหามวลความรู้ เพื่อการทำการวิจัยครั้งนี้มากน้อยเพียงใด การอ้างอิงอาจประกอบด้วย

3.1 การอ้างอิงในเนื้อเรื่อง เป็นการแสดงให้ผู้อ่านทราบว่าแนวคิด หรือทฤษฎี หรืองานวิจัยที่ผู้วิจัยศึกษามานั้นเป็นของใคร พิมพ์ปีใด อยู่หน้าใด หรืออ้างแบบใช้เชิงอรรถ

3.2 บรรณานุกรม เป็นการเขียนว่า หนังสืออ้างอิงมีอะไรบ้าง เมื่ออ้างในเนื้อเรื่องแล้ว ต้องมีการอ้างอิงในบรรณานุกรมด้วยทุกเล่ม มีวิธีการเขียนดังนี้ (เขียนเรียงตามลำดับอักษรของชื่อผู้แต่ง)

3.3 ภาคผนวก เป็นการนำรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ในเนื้อหามารวมไว้ เพื่ออ้างอิงรายละเอียด เช่น

ภาคผนวกก.สื่อ นวัตกรรม

ข. เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล

ค. ตารางวิเคราะห์ข้อมูล

ง. รายชื่อผู้เชี่ยวชาญ

จ. กลุ่มตัวอย่าง

เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการ. การวิจัยเชิงพัฒนาระดับโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2535.

___________. ครูกับการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์

คุรุสภา, 2538.

__________. วิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์กรมการศาสนา, 2542.

กระทรวงศึกษาธิการ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. กรุงเทพมหานคร :

โรงพิมพ์คุรุสภา, 2542.

เกษมสาหร่ายทิพย์. การวิจัยและเครื่องมือสำหรับการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และ

สังคมศาสตร์. ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร,

2539.

บุญชมศรีสะอาด. การวิจัยเบื้องต้น. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์สุวีริยาสาสน์, 2543.

บุญธรรมกิจปรีดาบริสุทธิ์. คู่มือการวิจัย การเขียนรายงาน การวิจัยและวิทยานิพนธ์.

2540.

บุญเรียงขจรศิลป์. วิธีวิจัยทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : ฟิสิกส์เซนเตอร์การพิมพ์,2530.

ยืนยงราชวงษ์. สนทนาภาษาวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 1. พระนครศรีอยุธยา: ร้านเจ็ทพริ้น, 2543.

__________. สถิติที่น่าสน. พิมพ์ครั้งที่ 1. พระนครศรีอยุธยา: ร้านเจ็ทพริ้น, 2543.

วัฒนาพรระงับทุกข์. แผนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพมหานคร :2542.

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. การวิจัยปฏิบัติการ : ผลงานวิชาการสำหรับครู.

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2541.

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ร่วมกับคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า

เจ้าคุณทหารลาดกระบัง. เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการวิจัยใน

ชั้นเรียน. อัดสำเนา, 2543.

หน่วยศึกษานิเทศก์ เขตการศึกษา 8 กรมสามัญศึกษา. เอกสารประกอบการอบรมการวิจัยใน

ชั้นเรียน. อัดสำเนา, 2544.

อุทุมพรจามรมาน. เอกสารประกอบการอบรมการวิจัยในชั้นเรียน. อัดสำเนา, 2545.

หมายเลขบันทึก: 573852เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2014 09:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท