ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

ชุมชนแนวปฏิบัติกับการคิดเพื่อความยั่งยืน


การที่จะเป็นชุมชนแนวปฏิบัติที่ดีได้นั้นคนในชุมชนต้องมีความจริงใจและเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน

บ่อเกิดแห่งแนวคิด  ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ คุณพี่ธวัช  หมัดเต๊ะ จาก สคส. เป็นอย่างยิ่งครับที่ได้กรุณาให้ข้อ Comment เกี่ยวกับการสร้างชุมชนแนวปฏิบัติ (Community of Practices : CoPs) ที่ผมมีความตั้งใจว่าจะไปสร้างชุมชนแนวปฏิบัติให้เกิดขึ้นในชุมชนของผม และสมาชิกเครือข่ายที่ผมไปทำงานด้วย เนื่องจากทำให้ผมได้กลับไปทบทวน (Reviews) แนวทางในการสร้างเพื่อให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น  

คิดๆๆๆ อย่างรอบครอบ  เป็นการคิดแบบทบทวน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อหาจุดเริ่มต้น เพื่อให้งานพัฒนาของเราสามารถที่จะดำเนินการไปได้ด้วยดี โดยไม่มีจุดจบ หรือที่เราเรียกกันว่ายั่งยืน (Sustainable) นั่นเอง แต่เราจะต้องคิดเร็วทำเร็วด้วยนะครับ เพราะหลายๆ ท่าน คิดๆๆๆ แต่หาจุดเริ่มต้นไม่ได้ซักที สุดท้ายไม่ได้ทำอะไรเลย แถมเสียเวลาเปล่าอีกต่างหาก 

ชุมชนแนวปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (CoPs)  ในฐานะที่เราเป็นนักวิชาการ หรือนักพัฒนา หรือนักวิชาการพัฒนา ก็แล้วแต่เราจะเรียกนะครับ แต่ที่สำคัญในการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ที่สำคัญที่สุดก็คือชุมชน และเป็นชุมชนที่พร้อมที่จะเปิดรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (รับรู้แล้วปฏิบัติ)  และรองลงมาคือความเอาจริงเอาจังของนักวิชาการหรือนักพัฒนา ไม่เช่นนั้นกระบวนการพัฒนาจะไม่เกิดความต่อเนื่อง และยั่งยืน  จากประสบการณ์อันน้อยๆ ของผมนั้น ผมมองว่าในการที่จะสร้างชุมชนให้เป็นชุมชนแนวปฏิบัติ (CoPs) ให้สำเร็จนั้น น่าจะมีองค์ประกอบดังนี้

1.      ผู้นำชุมชน (Leader Ship) หรือที่ สคส. เรียก หัวปลา สำหรับผู้นำนั้นมีทั้งผู้นำที่เป็นทางการ และผู้นำโดยธรรมชาติ โดยปกติทั่วไปนั้นผู้นำที่มักจะประสบผลสำเร็จในกระบวนการขับเคลื่อนกลุ่มแล้วมีความยั่งยืนมักจะเป็นผู้นำทางธรรมชาติ  ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความศรัทธา ของคนในชุมชน เวลาขับเคลื่อนกระบวนการจะสามารถดำเนินให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้เร็ว แต่ถ้าหากผู้นำที่เป็นทางการกับผู้นำทางธรรมชาติเป็นคนคนเดียวกันก็ยิ่งจะส่งผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น

 2.      ประเด็นเนื้อหา (Issue) คือเรื่องที่เราจะขับเคลื่อน หรือจะจัดการความรู้ร่วมกัน ดังนั้นในประเด็นนี้คนส่วนใหญ่ในชุมชนต้องเห็นด้วย และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน

3.      ชุมชน (Community) คนในชุมชน หรือที่ สคส. เรียกว่า คุณกิจ ต้องเป็นคนที่ใฝ่ในการที่จะเรียนรู้ และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบริบทของตนเองให้เข้ากับบริบทของสังคม อีกทั้งต้องใฝ่เรียนรู้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองตลอดเวลา

4.      นักพัฒนา (Developer) คือผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการความรู้ในแต่ละเรื่องที่ชุมชนมีความต้องการ หรือที่ สคส. เรียกว่า คุณอำนวย (Facilitator) ต้องมีความเอาจริงเอาจังและมีความต่อเนื่อง ต้องเป็นกัลยาณมิตรที่ดีกับคนในชุมชน มีภูมิรู้ ไม่เจ้ายศเจ้าอย่าง และที่สำคัญต้องมีความจริงใจด้วย

5.      การสนับสนุน (Supporter) ในกระบวนการขับเคลื่อนสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญคือการให้การสนับสนุน ซึ่งการสนับสนุนอาจจะมีทั้งในเรื่องของปัจจัยอำนวยความสะดวกในการทำงาน หรืออาจะเป็นงบประมาณ (Budget)  ซึ่งหากมีปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สนับสนุนจะให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วงได้เร็วยิ่งขึ้น 

ความยั่งยืนของชุมชนแนวปฏิบัติ   แน่นอนครับในการพัฒนาอาชีพนั้น สิ่งที่เราคาดหวังคือความสำเร็จของคนในชุมชน คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถปรับตัวได้ให้เข้ากับทุกบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลงไป สุดท้ายมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ดังนั้นผมจึงมองว่าเมื่อผมจะไปดำเนินการในการพัฒนาอาชีพในชุมชนสิ่งที่ผมจะต้องไม่ลืมและช่วยกันผลักดันอันประกอบด้วย

1.      การพัฒนาขีดความสามารถ ตลอดทั้งความเข้าใจของคนในชุมชนทั้งในด้านความคิดและแนวทางในการปฏิบัติ

2.      การกระตุ้น พร้อมให้กำลังใจสำหรับประชาชนได้มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะสามารถทำให้เขามีทักษะในการเรียนรู้ได้ดีขึ้น

3.      ต้องสร้างความเข้าใจใน สังคม วัฒนธรรมในการทำงานเป็นกลุ่ม และผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน

4.      ร่วมกำหนดเงื่อนไขที่ดี (ระเบียบ) เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานกลุ่ม เช่นโครงสร้าง วัฒนธรรม และสิ่งกระตุ้น) เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนความรู้ 

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

3 พ.ย. 49

หมายเลขบันทึก: 57083เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2006 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
การทำงานแบบราชการนี่ยากครับที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติระดับชุมชน เนื่องจากเราไม่ค่อยมีเวลาทุ่มเทจนเสร็จกระบวนการ เรามักจะทำงานฉาบฉวยกันเป็นปกติ บางคนก็ขอแค่ได้ถ่ายรูปกับผู้นำ เพื่อไปอวดคนอื่นก็ถือว่าสำเร็จแล้ว  บางทีผู้ประเมินผลงานก็บ้าจี้เชื่อตามรูปถ่ายหลอกๆไปให้ดูอีกต่างหาก เพราะเขาก็ไม่มีเวลามาตรวจสอบเหมือนกัน เรียกว่าลงตัวทุกอย่างแบบไม่เอาไหนเลย  มุมนี้พูดไปก็กระทบคนเยอะ ก็ต้องขอโทษไว้ ณ ที่นี้ ถือว่าติเพื่อก่อก็แล้วกันนะครับ ไม่มีเจตนาอย่างอื่นเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท