อยากลืม ... กลับจำ


ตอนยังเป็นวัยรุ่น จำได้ว่าชอบเพลงของเดอะฮอตเป๊บเปอร์ซิงเกอส์เพลงหนึ่งค่ะ เนื้อเพลงแสดงความสงสัยว่าทำไมเรื่องที่เราอยากจำเรากลับลืม แต่ที่เราอยากลืม กลับจำจนลืมไม่ได้

มีคำอธิบายเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ค่ะว่าทำไมคนเราจึงมักจำเรื่องร้ายๆมากกว่าที่จะจำเรื่องดีๆในหนังสือชื่อ เรื่องเล่าจากร่างกาย ที่เขียนโดย นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ว่า ที่เรามักจำเรื่องร้ายๆก็เพราะว่าหากเราไม่จำเรื่องเหล่านั้นอาจทำให้เราเอาชีวิตไม่รอดหากได้พบเรื่องนั้นๆอีก ต่างจากเรื่องดีๆ ที่อย่างไรเสีย พบแล้ว เราก็ยังมีชีวิตอยู่

นี่จึงเป็นเหตุผลของธรรมชาติค่ะอันทำให้เรามีประสบการณ์ดีๆที่ “อยากจำ กลับลืม” หรือมีเรื่องร้ายๆที่ “อยากลืม กลับจำ”

ลองมาดูคำอธิบายในพุทธศาสนาเกี่ยวกับเรื่องที่ทำไมเราจึงจำเรื่องที่ทำร้ายจิตใจเรา เรื่องที่ทำให้เราเป็นทุกข์ได้อย่างยาวนาน ทั้งๆที่ใจเราอยากจะลืมนั้นกันนะคะ

สมมติว่าเรามีความรู้สึกในทางที่ไม่ดี ในทางที่ไม่สมควรกับใครสักคน กับเรื่องบางเรื่อง

มาใส่ใจที่ตัวบุคคลก็แล้วกันนะคะ เพราะดูเหมือนจะมองเห็นง่ายกว่าหน่อย พักเรื่องที่ไม่ควรใส่ใจไว้ก่อน

หากเรามีสัมมาทิฏฐิ ก็จะรู้ว่าความรู้สึกไม่ดีต่อใครหรือเรื่องอะไรนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่พาใจให้ไหลลงต่ำ เพราะเป็นบ่อเกิดอกุศลธรรมหลากหลายตามมา

เช่น

ความริษยา,การผูกโกรธ, การดูหมิ่น, การโกรธตัวเองที่ทำไมลืมความรู้สึกนั้นหรือวางใจเป็นกลางกับบุคคลนั้น ไม่ได้สักที, ความเครียดกับการที่ต้องคอยระวังไม่ให้ความรู้สึกในใจก้าวล่วงออกมาทางกิริยา วาจา จนบุคคลในสังคมรับรู้จนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีและตำหนิเรา, การไม่สามารถรักษาความงดงามในจิตใจเอาไว้จนทำให้เราเฉยเมยเมื่อเห็นผู้นั้นตกทุกข์ได้ยาก, การไม่สามารถมีจิตเป็นกุศลจนอนุโมทนาในสิ่งดีๆที่บุคคลนั้นทำได้, การเห็นทุกข์ของผู้นั้นเป็นเรื่องน่ายินดีหรือของตน ,การซ้ำเติมเมื่อเห็นผู้นั้นได้ทุกข์ เหล่านี้เป็นต้น

เมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เกิดตามมาได้หากไม่ละความรู้สึกที่ไม่สมควรนั้นออกไปจากใจ เราจึงคิดว่าจะละอกุศลธรรมนี้

แต่ ..... การณ์กลับไม่ง่ายอย่างนั้นค่ะ

เพราะทำอย่างไร ก็ลืมความรู้สึกที่ไม่สมควรกับบุคคลนั้นไม่ได้สักที ยังสะดุ้งเมื่อได้เห็น ได้ยินข่าวของเขา เมื่อสะดุ้งแล้วยังต้องคอยระวังใจไม่ให้เกิดทุกข์ที่เกิดจากทั้งกามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก หรือก็คือเรื่องที่มีอยู่ก็ก่อให้เกิดทุกข์พออยู่แล้ว ยังเกิดทุกข์ใหม่ซ้อนขึ้นมาอีก

ซึ่งทุกข์ที่มีอยู่แล้วก็คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเผลอใจปล่อยให้อกุศลธรรมครอบงำจิตจนก็คิดฟุ้งซ่านไปต่างๆในทางที่ชอบใจไม่ชอบใจ ส่วนทุกข์ที่ซ้อนขึ้นมาก็คือ ความกระวนกระวายเพราะอยากละอกุศลธรรมที่จรมาเผาใจนั้นแต่ทำไม่ได้ หรือ ความเสียใจหรือการโกรธตนเองที่บังคับจิตให้ไม่สนใจเรื่องที่จรเข้ามาไม่ได้ เป็นต้น

จนบางที บางท่านถึงกับทานไม่ได้ นอนไม่หลับ เกิดโรคภัยต่างๆตามมามากมาย เช่น โรคกระเพาะอาหาร ไมเกรน ร้อนใน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เป็นต้น จนบางทีอยากจะให้ตัวเองหายไปจากโลกนี้เพื่อหนีทุกข์

มีหลายเหตุผลค่ะที่ทำให้เราที่เป็นอย่างนี้ ซึ่งเหตุผลเหล่านั้นก็มาจากเจตนา ความคิด การทรงจำ การกระทำของเราเอง ที่ทำให้เรา “ไม่ควรแก่การเป็นผู้สิ้นทุกข์”

ตัวอย่างของการคิดที่ทำให้เรารักษาความทุกข์นั้นไว้ก็เช่น

1. การคิดว่า “นี่เป็นความคิดที่ไม่ดีของฉันที่ฉันจะต้องกำจัดมันให้ได้”

การคิดอย่างนี้ยิ่งจะทำให้ไม่สามารถกำจัดความคิดนี้ได้ค่ะเพราะหมายถึงการยึดในการมีความเห็นว่าเป็นตน เป็นของตน คือ สิ่งที่ต้องการละเป็นตัวตนเที่ยงแท้ถาวร มองอกุศลวิตกหรือความตริที่ไม่เป็นกุศลอันจรมาเป็นครั้ง จรมาแล้วก็จรไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ว่าเป็นตัวตนที่ตั้งอยู่เที่ยงแท้ถาวร เป็นการมองสภาวะเกิดดับว่าเป็นอะไรบางอย่างที่เป็น “ของฉัน” ทำให้ “ฉัน” มีหน้าที่ต้องกำจัดมันออกไป

จึงทำให้ยิ่งยึดความรู้สึกที่ไม่ดีนั้นเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น ยึดบุคคลนั้นมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อมีการยึดมั่นในความพยายามที่จะการทำลาย ก็เท่ากับมีการยึดมั่นในเรื่องที่จะต้องถูกทำลายด้วยนั่นเอง จึงทำให้วิภวตัณหาคือความอยากในการดับสูญ กลับจะยิ่งรุนแรงขึ้น จนทำให้ไม่สามารถวางใจเป็นกลางกับอกุศลวิตกนั้นได้สักที

2. การที่เราคิดว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะละความคิดนั้นได้

คือแม้จะรู้ว่าความรู้สึกอย่างนั้น การตามคิดอย่างนั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็ไม่รู้ว่าจะดับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร จึงมักเผลอปรุงแต่งต่อในยามที่อกุศลวิตกจรเข้ามา ครั้นรู้ตัวก็ได้แต่ทุกข์ใจที่ระงับการปรุงไม่ได้เสียที

การมีความคิดอย่างนี้ ก็เพราะ ไม่รู้ขั้นตอนในการดับอกุศลวิตกบ้าง, ไม่รู้ว่าตนกำลังเบียดเบียนตน ขาดเมตตาต่อตนบ้าง, การที่ยังไม่มีดำริที่จะออกจากความเบียดเบียนอย่างแท้จริงจึงทำให้มีเจตนาที่จะรักษาความรู้สึกนั้นอยู่ในบางครั้ง มีเจตนาที่จะละในบางคราวบ้าง, ยังมีความพอใจที่จะรักษาเรื่องที่คิดไว้เพราะมีความเพลิดเพลิน ในการคิด พูด ทำ อย่างนั้นอยู่บ้าง ดังที่เรียกว่าการมีกิเลสซ้อนกิเลส

เช่น มีราคะซ้อนบนโทสะ ราคะซ้อนบนราคะ โมหะซ้อนบนโทสะ เป็นต้น อันที่จริง พอเกิดราคะ โทสะ ก็แสดงว่ามีโมหะร่วมด้วยอยู่แล้ว เพราะไม่รู้ตามที่เป็นจริง หรือ รู้ผิด จึงทำให้เกิดราคะ โทสะ ขึ้นมาค่ะ เช่น การที่เราโกรธใครสักคนก็แสดงว่าเกิดอกุศลมูลคือโมหะร่วมกับโทสะ (เพราะไม่รู้ตามที่เป็นจริงจึงโกรธ) ต่อมาเรากลับโกรธตัวเองที่ทำใจให้เลิกโกรธเขาไม่ได้สักที ก็คือมีโทสะซ้อนบนโมหะและโทสะที่เกิดขึ้นในครั้งแรกอีกทีนั่นเอง

อันที่จริง การเกิดขึ้นของธรรมต่างๆเหล่านี้ ไม่ทราบว่าอะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลังนะคะ ดูราวกับทั้งหมดเป็นปัจจัยให้กันและกัน หรือเกิดพร้อมๆกัน อย่างนั้นแหละค่ะ

3. การคิดว่า “ขอแค่ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย”

เช่น ขอให้ได้ว่ากล่าวให้ “สะใจ” อีกสักครั้งแล้วจะเลิกทำอย่างนั้นเด็ดขาด หรือ ขอให้ได้คิดถึงให้ “รัญจวนใจ” อีกสักครั้งจากนั้นจะไม่คิดอย่างนี้อีกแล้ว หรือ ขอให้ได้พูดกระทบกระเทียบให้ผู้นั้น “ได้รู้ตัวบ้าง” อีกสักครั้ง เป็นต้น

ถ้ามีความคิดอย่างนี้รับรองได้ค่ะ ร้อยทั้งร้อย ทำไม่สำเร็จ เพราะเมื่อมี “ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย” ก็จะมีครั้งสุดท้ายของสุดท้ายตามมาได้อีกหลายๆครั้ง เหตุก็เพราะไม่ยอม “ข่ม” ใจจากอกุศลวิตก ไม่ตัดสินใจว่าจะละอกุศลวิตกนั้นนั่นเอง เนื่องจากรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่น่ารื่นรมย์นั้น หากเราหวังอยู่ เสาะหาอยู่ เสพอยู่ เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ขวนขวายในกาม

การ ขวนขวาย กับการ ละ นั้น ไกลกันจนแทบจะเป็นคนละขั้วเลยนะคะ

การแก้ไข

1. มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ

เพราะเชื่อมั่นอย่างนี้จึงทำให้ศึกษาธรรมที่ตรัสไว้และนำธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสมาใช้อย่างเต็มความสามารถ ดังเช่นการนำวิธีการละอกุศลวิตกตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะไว้เป็นขั้นๆมาใช้ อกุศลวิตกที่จรเข้ามาเผาตนให้เร่าร้อนได้เสมอๆจึงดับได้เป็นครั้งๆไป

การเชื่อมั่นนี้เกิดจากการยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ คือ เชื่อมั่นในพระพุทธ เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีตัวตนจริงๆ หาทางพ้นทุกข์ได้ด้วยพระองค์เองจริงๆ, เชื่อมั่นในพระธรรม เชื่อว่าธรรมเป็นสภาวะเกิดดับ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย สร้างปัจจัยอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น ซึ่งถ้าผลนั้นเกี่ยวกับสภาวะของจิต ธรรมก็เป็นอกาลิโก คือ ปฏิบัติเมื่อไรก็ได้ผลทันที แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอกหรือการให้ผลของกรรม ผลการปฏิบัติอาจไม่เป็นอกาลิโกได้, เชื่อมั่นในพระสงฆ์ เชื่อว่ามีผู้ปฏิบัติตามพระองค์จนพ้นทุกข์ตามได้มาแล้ว หรือก็คือหมดความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั่นเองค่ะ

แล้วความเชื่อนี้ก็ยังสัมพันธ์กับความเชื่อในตถาคตโพธิสัทธาและกฏแห่งกรรมด้วยค่ะ เพราะหากเราเลื่อมใสในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอย่างแน่วแน่แล้ว จะเชื่อมั่นในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่สามารถนำตนให้พ้นทุกข์ได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว มีผู้ปฏิบัติตามจนพ้นตามพระองค์มาแล้ว และเราเองก็จะพ้นได้เหมือนกับผู้ที่พ้นตามพระองค์เหล่านั้น ด้วยการปฏิบัติตามธรรมที่ทรงนำมาแสดงได้จริงๆโดยไม่ต้องพึ่งพิงสิ่งอื่น เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม บุคคลทำกรรมอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น

เช่น ถ้าเราหลงใหลในทุกข์ เราก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น ถ้าเราหาทางออกจากทุกข์และปฏิบัติตามทางที่เห็น วันหนึ่งก็ต้องพ้นจากทุกข์

2. มีการตัดสินใจที่จะ “ละ” เพื่อสิ่งดีๆสำหรับตนเอง

ในที่นี้มีบทว่า บุญ และ บาป ที่ควรสนใจค่ะ บุญ หรือ ปุญฺญ แปลว่าเครื่องชำระสันดาน ความผ่องแผ้วของจิต ความสุข ความดี เพราะบุญมีคำแปลได้อย่างนี้ บุญจึงเป็นธรรมที่เป็นส่วนเหตุ และ ธรรมที่เป็นส่วนผล ดังนั้น การทำบุญ จึงมีได้หลายวิธีนอกเหนือไปจากการทำทาน เช่น การฝึกสมาธิเพื่อให้จิตไม่ฟุ้งซ่านและนำจิตที่เหมาะแก่การใช้งานไปพิจารณาเรื่องต่างๆให้พบคำตอบ การกำหนดรู้อกุศลมูลที่จรเข้ามาในใจแล้วมีเจตนาละ บรรเทา ทำให้ถึงกับการไม่มีอีกต่อไป การพยายามตามเห็นถึงความไม่เป็นตนของธรรมต่างๆเพื่อละความยึดมั่นดันจะนำความสุขที่ถาวรมาให้

ดังที่ตรัสว่า

“สิ่งใดไม่ใช่ของเธอ จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน”

ส่วนที่ว่าสิ่งที่ไม่ใช่ “ของเธอ” คืออะไรนั้น สิ่งเหล่านั้นก็คือขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเองค่ะ ดังที่ตรัสว่า

“อะไรเล่ามิใช่ของเธอ ภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ของเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสียเถิด รูปนั้นเสียเถิด

(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตรัสในทำนองเดียวกัน)

ดังนั้น หากมีความคิดว่า “ขอแค่อีกครั้ง” ขึ้นมาเมื่อไร แสดงว่ายังไม่มีการฝึกตนในการละ ไม่มีการกระทำที่เป็นบุญ เลื่อนการทำบุญออกไปเรื่อยๆ ผลก็คือ ใจยินดีในบาปดังที่ได้ตรัสไว้ตามที่ปรากกในในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเย

ทนฺธํ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺมึ รมตี มโน.

บุคคลพึงรีบขวนขวายในกรรมอันงาม พึงห้ามจิตจากบาป

เพราะว่าถ้าบุคคลทำบุญช้าไป ใจจะยินดีในบาป.

การคิดถึงผู้อื่นด้วยความรัก เสียใจ โกรธ ผูกโกรธ พยาบาทนั้น ยิ่งทำก็ยิ่งทุกข์ จะไม่ทุกข์ก็ต้องละ ซึ่งพระสารีบุตรได้อธิบายไว้ในคัมภีร์มหานิทเทสว่า กาม นั้น บุคคลละได้ 2 วิธี คือ ด้วยการข่ม และ การตัดขาด

การละด้วยการข่มก็เช่น พิจารณาว่ากามเหมือนหลุมถ่านเพลิงเพราะร้อนแรง ซึ่งพอพิจารณาไป พิจารณาไป อกุศลวิตกเกี่ยวกับกามก็ดับ ก็เรียกว่าละกามได้ด้วยการข่มไว้ หรือพิจารณาอนุสติต่างๆเช่นพุทธานุสติ พอพิจารณาไป พิจารณาไปปีติก็เกิด กามวิตกก็ดับ ก็คือการละกามด้วยการข่มไว้ หรือกำลังเจริญฌานขั้นต่างๆ ก็ละกามได้ด้วยการข่มไว้เช่นกัน

ส่วนการละด้วยการตัดขาดนั้น ตัดขาดได้ด้วยมรรค เช่น บุคคลที่กำลังเจริญโสดาปัตติมรรคละกามที่นำไปสู่อบายได้ด้วยการตัดขาด บุคคลกำลังเจริญสกทาคามิมรรคละกามหยาบได้ด้วยการตัดขาด เป็นต้น

ปุถุชนอย่างเราๆยังไม่สามารถละ “สิ่งที่ไม่ใช่ของเรา” ทั้งหมดได้ เพราะเมื่อกิเลสกามยังมีอยู่ อย่างไรเสียก็มักมีการขวนขวายหาวัตถุกาม ขอเพียงเริ่มละกิเลสที่นำไปสู่อบายได้ก็นับว่าเลิศแล้ว การละกิเลสที่นำไปสู่อบายนี้ก็คือการฝึกตนตามสิกขาบท ๕ หรือศีลห้านั่นเองค่ะ การฝึกตนนี้อย่าคิดว่าง่ายๆนะคะเพราะศีลข้อ ๔ (มุสาวาท : การพูดเท็จ ที่ในความหมายที่ลึกลงไป รวมถึงการพูดเพ้อเจ้อ การพูดส่อเสียดโดยหวังว่าเขาจะแตกกัน หรือ เราจะเป็นที่รักด้วยอุบายนี้ด้วย) เป็นศีลข้อที่เราฝึกตนได้ยากมาก เพราะความที่ต้องพบปะ ติดต่อกับผู้คนรอบตัวอยู่ทุกๆวัน

การตัดสินใจละสิ่งที่ไม่ดีนี้ หากตั้งใจมากๆ บางท่านถึงกับ “ตั้งอธิษฐาน” จิต เลยทีเดียว ว่าจะทำอย่างนี้บ้าง จะไม่ทำอย่างนี้บ้าง ซึ่งการตั้งอธิษฐานจิตนี้ จัดเป็นสมาธิในระดับหนึ่ง

คำว่าอธิษฐานนี้ คนเราส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นตั้งใจวอนขออะไรสักอย่างจากสิ่งที่มองไม่เห็น อันที่จริงเป็นการตั้งใจของเราเองค่ะ เป็นการตั้งใจด้วยจิตที่เป็นสมาธิที่จะทำอะไรบางอย่าง คล้ายๆเป็นการกำหนดเป้าหมายที่แน่นอน จากนั้นก็เพียรทำตามโดยนำองค์ธรรมในอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ – ความพอใจ, วิริยะ – ความทุ่มเท, จิตตะ – ความใส่ใจ, วิมังสา – ความคอยตรวจสอบวิธีการที่ใช้เพื่อให้สำเร็จ) มาช่วยหนุน

3. การพยายามตามเห็นความดีของสิ่งที่ไม่อยากจำได้นั้น

ทุกๆอย่างมีสองด้านเสมอ หากเราเห็นแต่ด้านไม่ดีของบางคน บางสิ่ง บางเรื่อง อันนำความรู้สึกไม่ดีกระทั้งปรุงไปเป็นความชอบใจและทรงจำไว้อย่างนั้น เราก็ไม่อยากจะพบเจอสิ่งเหล่านั้นอีก สิ่งที่เรารับรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้น รวมเรียกว่า “อารมณ์” และความที่จำไว้ว่าไม่ชอบใจอารมณ์เหล่านั้นไว้นั่นเองค่ะ พอมาเจออารมณ์เก่าๆเหล่านั้นใหม่ เห็นปุ๊บ หรือรับรู้ปั๊บ ความรู้สึกไม่ดีก็เกิดขึ้นทันที เมื่อเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบ เราก็อยากผลักสิ่งเหล่านั้นออกไปจากใจ

แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม รับรู้ปุ๊บก็รู้สึกดีปั๊บ อยากได้อารมณ์ “ดีๆ” อย่างนี้อีก เราก็จะยึดอารมณ์นั้นไว้ในใจ ไว้เสพความอิ่มใจในเวลาต่อๆมา

ดังนั้นหากเรามองเห็นความเป็นไปทั้งสองด้าน เมื่ออยากทั้งผลักและอยากทั้งดึง ในที่สุด เราก็จะไม่ทำทั้งการผลักและการดึง จึงวางใจเป็นกลางกับอารมณ์นั้นได้

เพียงแต่ กว่าจะตามเห็นจนใจเป็นกลางได้ ก็เหนื่อยหน่อยค่ะ แต่ถ้าเราตั้งใจทำ ในช่วงเวลาที่เรายังทำไม่สำเร็จ เราก็ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำน้อยลงเรื่อยๆ และในวันหนึ่งซึ่งอาจจะใช้เวลาหนึ่งวัน หนึ่งปี สิบปี หรือ ยี่สิบปี .... ถ้าเราทำสำเร็จ สิ่งดีๆก็จะอยู่กับเราตลอดไป และนอกจากนี้ ยังอาจได้ใช้เป็นอีกเหตุปัจจัยในการแก้ปัญหาใหม่ๆก็ได้

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) เคยบรรยายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว จะประกอบกับจิตอยู่อย่างนั้น ไม่มีวันเลือนหาย

ซึ่งก็หมายความว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นไม่เคยหายไปจากใจเพียงแต่เราจะจำได้หรือไม่เท่านั้น หากสติเรามีกำลัง สติเราตั้งมั่นพอ เราก็ตามระลึกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นแม้นานมาแล้วได้ แต่หากเราตามระลึกไม่ได้ บางที เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ดูราวไม่เคยเกิดขึ้นกับเรามาก่อนเลย

สิ่งนั้นจะทำร้ายเราหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่าเราจำเรื่องนั้นได้หรือเปล่า หรือ หากเรายังจำเรื่องนั้นได้ เราวางใจเป็นกลางกับเรื่องนั้นๆได้แล้วหรือยังค่ะ

มองในแง่ดี การที่เราเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีขึ้นมาได้นั้น ก็เพราะว่าเรามีความอยากได้ในบางอย่าง (โลภะ) และยึดมั่นในความอยากนั้น (อุปาทาน) เมื่อความอยากได้รวมกับความยึดมั่น จึงกลายเป็นราคะ ความติดใจยินดี ครั้นความติดใจยินดีถูกขัด เราจึงเกิดความโกรธ (โทสะ) ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่เป็นกิเลส อันที่จริง การที่กิเลสตัวใดมาปรากฏให้เราเห็น ยังดีกว่ามันแอบซ่อนเร้นอยู่ในใจ จนทำให้เราคิดว่าตัวเราไม่มีอะไร เราสะอาดบริสุทธิ์นะคะ เพราะทำให้เรารู้ว่าว่าเรามีกิจที่ต้องทำอย่างไรต่อไป

4. เพียรฝึกสติปัฏฐาน

การที่ราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตได้ในบางครั้งก็เพราะการพลั้งเผลอ เนื่องจากเมื่อไม่ได้ตั้งจิตว่าจะตั้งสติติดตามอิริยาบถบ้าง ความรู้สึกต่างๆบ้าง การปรุงแต่งต่างๆบ้าง ธรรมต่างๆบ้าง เพื่อให้จิตสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เพื่อที่จะกำหนดจับเวทนาต่างๆได้ไวพอที่จะไม่เป็นเหตุให้มีการปรุงแต่งต่อไป เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นอกุศลธรรมได้จรมาครอบงำจิตแล้ว จึงคิดไปต่างๆในการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น และเบียดเบียนทั้งสองฝ่ายได้ กว่าจะรู้ตัวว่าคิด ว่าพูด ว่าทำอะไรลงไป ก็เสียหายไปถึงไหนๆ

ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งใจค่ะว่าจะคอยติดตามกาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของสติปัฏฐาน ๔ ดังกล่าว และการปฏิบัติสติปัฏฐานนั้นสัมพันธ์กับการการฝึกอื่นๆอีกค่ะ เช่นในขณะที่ใจเรายังไม่แข็งแรงพอ เราก็ไม่”แส่ส่ายอายตนะ” คือ หู ตา เป็นต้นไปรับอารมณ์อันจะทำให้ปรุงแต่งต่อไปอันเป็นการป้องกันตัวเองไว้ก่อน, ต้องปฏิบัติสติปัฏฐานอย่าง ฉลาดในโคจร (โคจรในที่นี้หมายถึงสติปัฏฐาน) หรือก็คือต้องหา “แดนเกิด” หรือหาเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้น ความคิดอย่างนั้น เกิดความทรงจำอย่างนั้นขึ้นมา, แต่หากบังเอิญตา หู เป็นต้น รับอารมณ์โดยไม่ต้องตั้งใจ ก็ต้อง สำรวม คือ การกระทำที่ตรัสว่าหมายถึง “เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในรูปที่ไม่น่ารัก” ดังเช่นเมื่อรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่ พอดับความโกรธได้แล้ว ก็ต้องหาเหตุผลว่าโกรธเพราะเหตุอะไรตามมา เมื่อรู้แล้วก็จดจำไว้ พอเห็นอีกก็พยายามพิจารณาตามเหตุผลที่ได้หาพบแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกเดิมๆขึ้นมาอีก

จุดนี้ บางท่านเข้าใจว่าสิ่งที่ดับไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ไม่ควรนำมาคิดถึง ควรคิดถึงสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า ควรอยู่กับปัจจุบันเท่านั้น หากมีความเข้าใจอย่างนี้ก็เท่ากับไม่ได้มีการคิดที่อันเป็นจุดเริ่มต้นของสัมมาทิฏฐิ เพราะการไม่คิดถึงอดีตนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนไม่ให้นำอดีตมาคิดอย่างหวนละห้อยอาลัยหา คิดถึงเพราะอยากให้อดีตกลับคืนมา แต่ตรัสให้นำมาพิจารณาอย่างโยนิโสมนสิการ คือ การกระทำหรือคิดในใจอย่างแยบคายเพื่อการคิดสอบสวนหาต้นเค้าของปัญหาหรือสมุทัยอันทำให้เกิดทุกข์

อีกทั้งการอยู่กับปัจจุบัน มีสิ่งที่ควรสนใจอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ปัญญาที่รู้เห็นตามที่เป็นจริงของธรรมต่างๆปัจจุบัน และจิตที่อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน

ปัญญาที่รู้เห็นธรรมอันเป็นปัจจุบัน คือ เข้าใจสถานการณ์ที่ปรากฏ หากอยากได้ผลอย่างไร ก็สร้างเหตุปัจจัยที่เอื้อต่อการได้ผลนั้น หรือก็คือ กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานของความเป็นจริงในปัจจุบันอย่างถูกต้องตามธรรม แล้วก็ปฏิบัติตามวิธีการที่ได้กำหนดแล้วนั้นอย่างทุ่มเท อย่างเอาใจใส่ คอยตรวจสอบผลการปฏิบัติว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยที่ทำแค่ไหนก็หวังผลแค่นั้น การ “ทำได้แค่ไหนก็พอใจผลแค่นั้น” นั่นเองค่ะที่เป็นจิตที่อยู่กับปัจจุบัน เพราะหวังผลเกินกำลังจึงไม่หวังอะไรที่เกินกว่าเหตุปัจจัยที่เราใส่เข้าไปในกระบวนการ, ไม่เสียใจที่ยังไม่สำเร็จสักที, หรือ ไม่ท้อใจที่ยังทำไม่สำเร็จ

เหล่านี้เป็นบางเหตุปัจจัยที่ทำให้เราลืมเรื่องที่อยากลืมไม่ได้และวิธีการแก้ไขที่รวบรวมมาได้ค่ะ

แต่ความสำเร็จของการแก้ไขจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อเราเชื่อมั่นว่า ศาสนาพุทธมีเมตตาเป็นพื้นฐานและต้องหมั่นอบรมเมตตา ดังที่ตรัสว่าเมตตาธรรมค้ำจุนโลก ซึ่งโลกในที่นี้ก็คือกายใจนี้นี่เอง เพราะเมตตาจึงเป็นที่มาของศีลเพื่อที่จะไม่เบียดเบียนทุกฝ่าย เพราะเมื่อเราคิดเบียดเบียนใคร ผู้ที่ได้รับผลคือความร้อนรุ่มเป็นคนแรกก็คือตัวเรา ผลของการอบรมเมตตาก็จะส่งให้วิถีชีวิตไม่มีเรื่องชวนให้ร้อนใจ จนใช้โอกาสที่สภาพแวดล้อมเป็นไปอย่างเรียบร้อยนี้ฝึกสมาธิเพื่อให้จิตตั้งมั่น มีกำลังพอที่จะใช้งานทางปัญญาต่อไปได้

หมายเลขบันทึก: 570653เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2014 18:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2016 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สาธุ...

ขอบคุณธรรมะดีๆครับ จะมาอ่านบ่อยๆครับ

อนุโมทนาด้วยค่ะ สาระมากและแน่นเพียบ จะกลับมาอ่านอีกค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

อ่านเร็ว ๆ ยังไม่สามารถอ่านให้จบในวันนี้ มีงานค้าง..

บันทึกพี่ตุ๊กตาดีมาก ๆ ต้อง copy ต่างหากไว้ในหน้าโน้ตส่วนตัว แล้วกลับมาอ่านโดยละเอียดอีกค่ะ

ขอบคุณความวิริยะในการเขียนค่ะ

<p>มีดอกไม้มาฝาก..มีรักมามอบให้…แลสาธุๆๆ..เจ้าค่ะ..</p>

ขอบพระคุณทุกท่านที่แวะมาค่ะ

สำหรับผมแล้ว...
ให้อภัยกับคนรอบข้าง พอๆ กับการให้อภัยกับตัวเอง..
และให้เวลากับความหม่นมัวอย่างพอประมาณ
ถ้าหนักหน่วงมากๆ ...
ปลอบประโลมตนเองผ่านวาทกรรม  กาลเวลาจะช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น เอง..

ขอบพระคุณบันทึกแห่งชีวิตบันทึกนี้ นะครับ

บันทึกนี้ดีจัง

ขอบคุณสำหรับสาระดีๆจากบันทึกนี้ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท