PLC_CADL_029 : AAR เพื่อพัฒนาบุคลากร GE ปี ๕๗ กลุ่มงานวิชาการ (๒)


บันทึกที่ ๑ ...

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ "การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน" ว่า ที่จริงแล้วก็คือ การเปลี่ยนแปลงของ "ใจ" ซึ่งจะทำให้ "อุปนิสัย" พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม โดยแบ่งวิธีการหรือสาเหตุที่ทำให้ใจเปลี่ยนไป ๓ อย่าง/วิธี ได้แก่  "การบังคับใจ" "ความประทับใจ" และการมีปัญญา "รู้จริงด้วยใจ" ท่านผู้สนใจอ่านได้ที่นี่

คุณตุ้ย พนักงานสายสนับสนุนดีเด่น สะท้อนตอน "ปิดวง" ว่า สิ่งที่ประทับใจในการสัมมนาครั้งนี้ที่สุดคือ วิธีการ "คิดแบบหลุดโลก" ที่เรานำมาใช้ในการ "กระตุก" ให้รุกล้นออกมานอกกรอบคิดเดิมๆ ที่มักติดกับดักว่าทำไม่ได้  การคิดแบบหลุดโลกนี้หมายถึง ไม่ต้องสนใจว่าทำได้ทำไม่ได้ แต่ให้คิดขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ มาปรับหาวิธีให้มีทางเป็นไปได้ในตอนหลัง... 

แนวคิดแบบหลุดโลกของบุคลากรกลุ่มหนึ่ง ที่แสดงถึงวิธีการว่า "จะทำให้อย่างไรให้บริการประทับใจที่สุด" ดังภาพด้านล่าง

ข้อที่ ๑) เพิ่มเพดานการสอนของอาจารย์ 

เพิ่มเพดานการสอน หมายถึง ขยายจำนวนนิสิตต่ออาจารย์ ที่สามารถเปิดให้ลงทะเบียนเรียนได้ในแต่ละเทอม ซึ่งทาง GE กำหนดไว้ที่ ท่านละไม่เกิน ๖๐๐ คน  การขยายเพดาน อาจทำให้ต้องเพิ่มกลุ่มเรียนให้กับอาจารย์ผู้สอนเนื่องจากเก้าอี้เรียนมีจำกัดในแต่ละห้อง  อีกวิธีที่จะทำให้นิสิตมีที่นั่งเรียน คือเพิ่มอาจารย์สอน หรืออีกวิธีคือเปิดวิชาเพิ่ม  แต่วิธีหลังสุดนี้สวนทางกับแนวทางการบูรณาการของ GE ของเกือบทุกมหาวิทยาลัยทีเดียว

สังเกตว่า เป็นความคิดเชิงการบริหารจัดการ ที่หากจะทำ ต้องนำโดยผู้บริหาร  หากไม่บอกว่าให้คิดแบบหลุดโลกหรือหลุดกรอบ บุคลากรระดับปฏิบัติจะไม่กล้าแสดงออกในลักษณะนี้... นี่เป็นสัญญาณที่ดีอย่างหนึ่งของ นำ GE สู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (LO)

ข้อที่ ๒) มีอาจารย์ประจำ สังกัด GE

มีมหาวิทยาลัยเริ่มทำ (ไม่ใช่เพียงเริ่มคิด) ให้ GE มีอาจารย์ประจำสังกัดที่สามารถพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับการสร้างเสริมให้นิสิตเป็นบัณฑิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ตามปรัชญาของ GE ตัวอย่างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ที่เพิ่งจากมาร่วมเรียนรู้ศึกษาดูงานกับเราเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ที่ผ่านมา

ผมเคยเสนอแนวคิดนี้อย่างไม่เป็นทางการกับผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไปแล้ว โดยวิเคราะห์ทั้งปัญหา ปัจจัย และประโยชน์สิ่งที่จะได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมถ้าเรามีอาจารย์ประจำของ GE ของเราเอง พอสังเขป ดังนี้

เป้าหมายสูงสุดของ GE คือ สร้างให้นิสิตเป็นคนที่สมบูรณ์ ที่รู้จักตนเอง เข้าใจ ผู้อื่น และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ภายใน ๓๐ หน่วยกิตที่กำหนดบังคับอยู่ในทุกหลักสูตร  ปัญหาคือ เป้าหมายสูงสุดนี้ไม่สามารถบรรลุได้โดยการ "ถ่ายทอด" (บอก สอน) ส่วนของนามธรรมอย่างคุณธรรม จริยธรรม ที่ไม่ได้เกิดจากการ "จำ จด ท่อง" แต่ครูอาจารย์ผู้สอนจะต้องเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่า  ส่วนทักษะชีวิตหรือทักษะที่จำเป็นต่อการอยู่ในสังคมได้อย่างดี ยิ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ (ที่ไม่ใช่แบบบรรยาย เหมือนตอนนี้) ที่เน้นกระบวนการมากกว่าเนื้อหา เน้นปรัชญาและชีวิตมากกว่าคิดเรื่องเกรดจากรายวิชาต่างๆ ซึ่งจะบรรลุประเด็นนี้ได้ จะต้องใช้กลุ่มหรือทีมอาจารย์ที่เข้าใจ มีใจ มุ่งมั่น และเห็นความสำคัญของ GE จริงๆ .... ถ้าท่านทราบถึงภาระงานและธรรมชาติของ "อาจารย์สอน GE" ที่สังกัดจากหลายคณะวิชาในตอนนี้ ท่านจะเข้าใจทันทีว่า เราจะบรรลุเป้าหมายสูงสุดนั้นแสนยาก ถ้าปราศจาก "ทีมอาจารย์ GE"

ในด้านปัจจัยและโอกาสที่มีอยู่ ผมเสนอว่า ในบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีอยู่ มีอาจารย์ส่วนหนึ่ง ที่รักและถนัดเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้และสร้างให้นิสิตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ผมบอกท่านว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้มาก) อาจารย์เหล่านี้ จะเก่งและมีความสุขกับการจัดการเรียนการสอนและดูแลนิสิต บางทีมากกว่างานวิจัยเฉพาะสาขาของตนเองด้วยซ้ำไป  นอกจากนี้แล้วยังมีอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่มีภูมิรู้และประสบการณ์มาก เข้าถึงองค์รวมของความจริง ความดี และความงามของศาสตร์และศิลป์ต่างๆ อย่างบูรณาการ และเป็นต้นแบบ เยี่ยงแบบที่ดี เป็นแรงบันดาลใจในการฝึกฝนตนสู่ความเป็นคนดี พลเมืองดีของสังคม

อีกประเด็นสำคัญคือ GE มีบุคลากรในสังกัด และกำลังพัฒนาองค์กรสู่องค์กรการเรียนรู้ ที่บุคลากรทุกคนเป็นนักเรียนรู้และรักองค์กร ซึ่งควรได้รับโอกาสในความก้าวหน้าของชีวิต พนักงานสามารถพัฒนาตนเองเป็น อาจารย์ประจำ GE เป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้กับพนักงานรุ่นน้อง  ต่อเนื่องกันเป็นระบบเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ยั่งยืนได้

๓) สร้างคลีนิก GE

สิ่งนี้เป็นความต้องการที่แสดงให้เห็นความพยายามทางความคิดเชิงรุกของบุคลากรหลายคนที่จะแก้ปัญหาความไม่เข้าใจของนิสิตในกระบวนการลงทะเบียนและหลักสูตร และทุกคนเห็นด้วย และมีจิตอาสาที่จะเป็นผู้พัฒนา "หมอ GE" ที่จะทุกคำถามของนิสิตมีคำตอบทันการณ์  โดยให้โอกาสกับนิสิตแกนนำ หรือเจ้าหน้าที่ประจำวันมาทำหน้าที่นี้

ช่วงบ่ายวันที่สองของการสัมมนา เราเปิดโอกาสให้ "คิดแบบหลุดโลก" อีกครั้งโดยตั้งโจทย์ว่า "ทำอย่างไรให้ประทับใจของอาจารย์"  มีกลุ่มหนึ่งคิดเหมือนจะทำคลีนิก GE คือจะสร้างห้องพักของอาจารย์ คาดว่าจะใช้งบประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท ตามผังดังรูป

 
ประโยชน์ที่จะได้จากห้องพักอาจารย์คือ การประสานเครือข่ายภายในอย่างไม่เป็นทางการ ในคลีนิกมีศักยภาพในการให้บริการทั้งเป็นห้องรับรอง ห้องเรียนรู้แลกเปลี่ยน ห้องอ่านเขียนสืบค้น ตลอดทั้งมีเครื่องพริ้นเตอร์สำหรับงานด่วน

๔) ความคิดแบบหลุดโลกจากใจ จะทำให้เราทราบปัญหาที่แท้จริง 

สังเกตข้อเสนอแบบหลุดโลกที่ไม่สนใจว่าตนเองจะทำได้หรือไม่ เช่น

  • ถมสระ สร้างอาคารเรียนรวมใหม่ 
  • สร้างตึกใหม่
  • ทำตึกจอดรถ ๘ ชั้น 
  • ทำบันไดเลื่อน ทำลิท์ฟใหม่ 
  • หักเงินอาจารย์จากค่าสอน หากส่งข้อมูลต่างๆ ไม่ครบ เช่น มคอ. ๓ มคอ. ๕ ส่งข้อสอบช้ามาก ฯลฯ 

เมื่อมองย้อนกลับว่าอะไรคือสาเหตุให้เสนอวิธีเหล่านี้ เราจะรู้ทันทีว่า ขาดอาคารเรียนรวม ตึกเก่ามากแล้วมีปัญหาที่แก้ยาก (เช่น ระบบห้องน้ำ) มีปัญหาเรื่องที่จอดรถ มีปัญหาเรื่องลิท์ฟ และสุดท้ายคือ ปัญหาด้านเอกสาร (ประกันฯ) ที่อาจารย์ไม่ยอมส่ง สังเกตว่า หากไม่หนักหรือเรื้อรังจริงๆ คงไม่ใช่สิ่งที่คิดแบบหลุดโลก...ฮา

กลุ่มหนึ่งเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องที่จอดรถ โดยนำเสนอด้วยแผนภาพด้านล่าง  (ขออภัยครับ ภาพนี้อาจจะเข้าใจเฉพาะบุคลากรและนิสิตใน มมส. ขามเรียง)

ภาพนี้แสดงผังของตึก RN หรือ อาคารราชนครินทร์  ซึ่งมีที่จอดรถด้านตะวันตกติดกับสระน้ำซึ่งจอดได้ประมาณ ๖๐ คน และที่จอดข้างติดตัวตึกด้านตะวันออกซึ่งรับรถได้ประมาณ ๖๐ คัน เช่นกัน พวกเขาวิเคราะห์ว่า ปัญหาคือที่จอดรถไม่ใช่ไม่เพียงพอ แต่ที่จอดข้างตึกฝั่งขวาจะมีคนไปจอดเต็มก่อน ทำให้อาจารย์ที่มาสอนชั่วคราว ไม่ได้รับความสะดวกต้องไปจอดรถไกล ทำให้ไม่ประทับใจในส่วนนี้  จึงเสนอวิธีแก้ไขดังนี้

  • ให้บุคลากร GE มาจอดรถด้านตะวันตกของตึก เพราะเป็นการจอดรถทั้งวัน ปล่อยพื้นที่ให้ด้านตะวันออกของตึก เป็นสถานที่จอดรถชั่วคราวสำหรับผู้มาติดต่อ (ความคิดรองนงนิตย์ครับ ... เจ๋งมาก)
  • จัดทำระบบไอดีหรือบัตรผ่านประตูอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้นิสิตมาจอด ให้นิสิตมาจอดร่วมกับบุคลากรที่ด้านตะวันตก ่และเป็นการป้องกันรถหายด้วย 

หลังจากฟังแล้ว... ทุกคนเห็นด้วย และตั้งใจว่า กลับมาเราจะมาปฏิบัติกัน ... ผมจะรอดูวันนั้นมาถึงครับ...ฮา

ดูภาพทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓๓

ยังไม่จบครับ บันทึกต่อไป ยังมีความท้าทายที่บุคลากรวิชาการ เสนอไว้น่าสนใจ  ซึ่งจะได้นำเสนอในเวทีรวมต่อไปครับ ผมมีตัวอย่างของคุณนนท์ที่เราช่วยกันขยายจนได้แนวคิดที่จะนำมาปฏิบัติต่อไปได้จริงๆ

หมายเลขบันทึก: 566588เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2014 13:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นกิจกรรมที่ดีครับ ไม่เคียด ไม่กดดัน หรือ ไม่วิชาการเกินไป ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวิทยากรที่เป็นคนที่พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้ว ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จึงออกจากความคิดของทุกๆคนรวมกันครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท