ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

CKM ภาคีเครือข่ายที่มาแรง


CKM (College Knowledge Management) เป็นภาคีร่วมของการจัดการจัดการความรู้ในเครือข่ายสถาบันวิชาการสาธารณสุข ซึ่งประกอบไปด้วยวิทยาลัยการสาธรณสุขสิรินทรทั่วประเทศ นับเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้ที่ไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้เพื่อยกระดับการบริหาร การบริการ และเพื่อพัฒนาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม

 เช้ารุ่งมุ่งชลบุรี  ตอนเช้า (ไม่ตรู่) ของวันที่ 30 ตุลาคม  2549 ผมได้มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับท่าน อาจารย์ประพนธ์   ผาสุขยืด เพื่อมุ่งหน้าไปประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ณวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัชลบุรี  ผมนั่งไปบนรถกับอาจารย์ ใจผมมันก็เต้น ตุ๊บๆ ตั้บๆ ด้วยความดีใจที่จะได้เห็นตัวจริง เสียงจริงในการทำ Work shop ของท่านอาจารย์ประพนธ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่ได้เข้าร่วม กิจกรรม KM ที่เต็มรูปแบบเช่นนี้ จึงมีความคาดหวังในใจลึกๆ ว่ากลับไปที่อุบลราชธานี คราวนี้แหละเราจะได้มีโอกาสได้ลุยเรื่อง KM เสียที ถึงแม้จะถูกบ้าง ผิดบ้าง แล้วเราค่อยๆ ปรับกันไป แก้กันไปอีกที   

การเป็นวิทยากรที่ดีกับการต้อนรับที่อบอุ่น เวลา 08. 00 น.ทีมเราเดินทางไปถึงซึ่งอาจารย์บอกว่านี่อุทัย... รู้ไหมเราเดินทางมาถึงก่อนกำหนดนะ เพราะจริงๆ แล้วเขานัดไว้ 08.30 น. ผมจึงตอบว่าครับอาจารย์ จึงทำให้ผมได้เข้าใจได้ว่านี่เป็นการเตรียมพร้อมของวิทยากรที่ดี ที่จะไม่ให้ทีมเจ้าภาพเขากังวลใจ และเห็นความตั้งใจของวิทยากร หลังจากนั้นเวลาผ่านไปซักพัก คุณดนัย  ซึ่งเป็น Intern  ใน สคส. เช่นเดียวกันกับผมก็เดินทางมาสมทบ แล้วได้พบกับท่านอาจารย์อัจฉรา   อาศิรพจน์มนตรี ผู้รับผิดชอบโครงการ และ อาจารย์ จงดี   ภวภูตานนท์  ณ มหาสารคาม ผู้อำนวยการวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี ที่เป็น ผอ.นักพัฒนา และเอาจริงเอาจัง ได้มาต้อนรับตามธรรมเนียมด้วยความอบอุ่น และเป็นกัลยานมิตร

  KM ที่ประทับใจ  09.00 น. เป็นเวลาที่ทุกคนกว่า 40 ชีวิตรวมทั้งผมด้วยรอคอยผู้อำนวยการได้เล่าถึงความเป็นมาเล็กน้อย แล้วจึงมอบเวทีให้กับท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์   ผาสุขยืด เท่านั้นแหละครับตัวจริงเสียงจริงของอาจารย์ประพนธ์ ทำให้ที่ประชุมเงียบ แบบชนิดตาไม่กระพริบ ซึ่ง สคส. เราเรียกว่า Deep Listening ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ จากที่ผมได้มา Intern ใน สคส. สองสัปดาห์ผมก็เคยได้คุย ได้ปรึกษาอาจารย์อยู่บ้าง ก็เห็นอาจารย์ เป็นคนสุขุม รอบครอบ พูดน้อยพร้อมกับน้ำเสียงที่นุ่มนวล แต่พอได้มาฟังอาจารย์บรรยายแล้วทำให้ผมได้เข้าใจมากขึ้นครับว่าในการมองคนนั้นอย่ามองด้านเดียว และอย่าพึ่งด่วนสรุป (Absolute) เราต้องเห็นด้วยตา เหมือนสุภาษิตอีสาน

ที่ว่า สิบปากเว้า บ่ท่อตาเห็น 

สิบตาเห็น กะบ่ท่อมือคำ

 สิบมือคำ กะบ่ท่อเฮ็ดเอง

เพราะการนำเสนอของอาจารย์นั้น เป็นการนำเสนอที่มีพลังมาก พร้อมกับการใช้สื่อที่ดีเยี่ยม ที่ผมพึ่งเคยเห็นครั้งแรกในชีวิตของผม เมื่อเราได้ดู ได้ฟังแล้วสามารถจินตนาการตาม และเข้าใจได้ และนอกจากนั้นยังทำให้ผมเข้าใจในกระบวนการ KM มากยิ่งขึ้นหลังจากที่งง มาตั้งสองสัปดาห์ 

บรรยากาศ Storytelling  หลังจากที่ท่านอาจารย์ประพนธ์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดการความรู้ในด้านเนื้อหาเสร็จในภาคเช้า ตอนบ่ายได้แบ่งกลุ่มเพื่อทำกิจกรม KM โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้แต่ละกลุ่มได้กำหนดหัวปลากัน (Share Vision) แต่ละกลุ่มก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควรเนื่องจากยังงงๆ อยู่เหมือนกัน อีกทั้งมาจากต่างสถานกัน ไม่รู้จะเอาอันไหนดีที่ทุกคนสามรถ Share ร่วมกันได้ สุดท้ายก็ได้หัวปลามา 3 หัว คือ เราจะทำ KM เพื่อ

กลุ่มที่ 1.จะเรียนอย่างไรให้มีความสุข

กลุ่มที่ 2 พฤติกรรม และการปฏิบัติตัวในวัยเรียน และ

กลุ่มที่ 3 การพัฒนากระบวนการเรียนของนักศึกษา

ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้เล่าเรื่องของตนเองที่เคยทำแล้วประสบความสำเร็จ (Tacit Knowledge) ให้เพื่อนๆ ในกลุ่มอย่างเมามัน และคนฟังก็เป็นผู้ฟังที่ดี (Deep Listening) บางท่านถึงกับน้ำตาซึมไปเลยครับ  

KM กับการปรับใช้ จากประสบการณ์ดังกล่าวผมคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางในการนำกระบวนการ KM ไปประยุกต์ใช้ในองค์กรของผม หรือขับเคลื่อนในชุมชนที่ร่วมทำงานด้วย เพื่อจะได้ช่วยในการพัฒนาองค์กร และชุมชน ให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ต่อไป ซึ่งประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวเสริมให้ KM ประสบความสำเร็จได้เร็วน่าจะประกอบด้วย  

1.    ในการที่เราจะนำ Model ปลาทู ไปประยุกต์ใช้ เพื่อขับเคลื่อน KM  ในองค์กรนั้นเราต้องเข้าใจในบริบทขององค์กรเป็นอย่างดี

2.    ในกระบวนการกำหนดเรื่องที่จะ Share ก็ต้องเลือกให้ดี มีวามเหมาะสม

3.    บรรยากาศ สำหรับบรรยากาศในการ Share ก็มีความสำคัญไม่น้อย เราต้องเลือกให้เหมาะสมและเข้ากับบริบทด้วยเช่นกัน

4.    ในการ Share นั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือคุณอำนวย (Facilitator) และคุณอำนวยต้องศึกษาและต้องทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้า และเราจะทำอย่างไรที่เราจะได้คุณอำนวยที่เป็นธรรมชาติ  

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

30 ตุลาคม  2549

หมายเลขบันทึก: 56515เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
กระทัดรัด เข้าใจง่าย และเห็นภาพค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่ให้กำลังใจครับ

 

ขณะนี้กิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่กำลังขับเคลื่อนด้วย KM เช่นกันโดยในขั้นต้น ได้จัดพื้นความรู้ เรื่อง "ขบวนการการจัดการความรู้และการประยุกต์การจัดการความรู้ในองค์กร" ให้กับบุคลากรกองกิจฯ โดยวิทยากรได้นำ MODEL ปลาทูนำเสนอเช่นกันค่ะ

ผมว่า KM น่าจะหลากหลาย เช่นเดียวกับการมีปลาหลายชนิด จึงจะเป็นระบบที่อุดมสมบูรณ์ ปลาทูก็มีข้อดีในตัวมันเอง แต่คงไม่ทนเท่าปลาไหล และว่ายไม่เร็วเท่าปลาช่อน ปีนคันนาไม่เก่งเท่าปลาหมอ

ผมหมายความว่า KM จะต้องมีความหลากหลายไปตามสถานการณ์ ผมไม่ปฏิเสธปลาทูนะ แต่ผมไม่อยากให้นัก KM มีแค่ปลาทูในหัวใจ บางทีปลาหมึกก็น่าสนใจนะว่ามันเคลื่อนที่ได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งยามน้ำลด ปลาตีนก็ยังใช้ครีบเป็นกำลังสำคัญ การมองแบบนี้จะทำให้คนทั่วไปเริ่มหาศักยภาพตัวเอง โดยไม่ต้องคอยสร้างปลาทูให้ครบตัวเสียก่อน KM ในโลกแห่งความเป็นจริงก็เหมือนรูปร่างปลานั่นแหละ ผมขอฝากบอกอาจารย์ประพนธ์ด้วยว่า ปลาอื่นๆก็ว่ายน้ำเป็นเหมือนกันนะครับ บางทีว่ายเร็วกว่าปลาทูด้วยครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์แสวงครับ ....ตรงใจผมจริงๆ เพราะที่ผมกลัวที่สุดในตอนนี้ ก็คือพวกที่ "ติดกรอบ"  ถูก "ปลาทู" ครอบจนทำให้มองไม่เห็นสิ่งอื่นๆ "ปลาทู" เป็นเพียง "กุศโลบาย" ที่ใช้กับผู้ที่ไม่รู้ว่าจะ "เริ่มต้น" KM อย่างไรดี "ปลาทู" เป็นเพียง Model เพื่อใช้ "สื่อสาร" ทำความเข้าใจ ถ้าเข้าใจ "สาระสำคัญ" แล้ว จะเป็น "ปลาไหล ปลาตีน ปลาบึก ........" ปลาอะไรๆ ก็ได้ทั้งนั้นแหละครับ ...ยิ่งเป็น "ปลาร้า" ก็ยิ่ง "แซบอีหลี เด้อ! ขอขอบคุณอาจารย์แสวงอีกครั้งครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท