ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๒๒. ชีวิตของทฤษฎี


 

          บทวิจารณ์หนังสือในชื่อเรื่อง In the Shadow of Genius    วิจารณ์หนังสือ The Perfect Theory แต่งโดย Pedro G. Ferreira ศาสตราจารย์วิชาดาราฟิสิกส์ (Astrophysics) แห่งมหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด    ให้ทั้งความสนุก และประเทืองปัญญา     เป็นการจับประเด็นจากหนังสือหนา ๒๘๘ หน้า มาลงในหนังสือพิมพ์หน้าเดียว 

          เป็นการย่นย่อพัฒนาการของฟิสิกส์ทฤษฎีในช่วงเวลากว่าร้อยปี มาให้เราอ่านในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง    โดยมีพระเอกเป็นอัจฉริยะอันดับหนึ่งของโลก คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์    โดยบทความบอกเราว่า อัจฉริยะผิดได้

          ทฤษฎีที่ว่าคือ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (General Theory of Relativity) ซึ่งสร้างชื่อเสียงให้แก่ไอน์สไตน์ จนกลบผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบล (photoelectric effect) โดยสิ้นเชิง

          ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปมีชื่อเสียงได้รับความสนใจมาก เพราะมีประเด็นโต้แย้งมาก    และที่สำคัญ ตัวไอน์สไตน์เองก็บอกว่า ทฤษฎีนี้เป็นเรื่องของสิ่งที่ยังไม่จบ    ยังมีอะไรบางอย่าง ที่ยิ่งใหญ่กว่า    หนังสือ The Perfect Theory เล่มนี้นี่แหละ ที่อธิบายสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า   

          ศ. เฟอร์ไรรา บอกว่า อัจฉริยภาพของไอน์สไตน์อยู่ที่เขามีปัญญาญาณด้านฟิสิกส์ (physical intuition)    คือคิดขึ้นมาได้เอง จากสามัญสำนึก โดยไม่ต้องทดลองอะไรทั้งสิ้น    แล้วต้องหาวิธีอธิบายด้วยภาษาวิทยาศาสตร์ คือเป็นสมการคณิตศาสตร์ non-Euclidian geometry   ซึ่งเขาไม่มีความรู้    จึงต้องศึกษาเพื่ออธิบายทฤษฎีนี้ ให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อ    เป็นการเสนอทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่กลับหัวกลับหางกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไป    นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้น เมื่อไอน์สไตน์อายุเพียง ๒๖ ปี    

          ทฤษฎีนี้ต่อยอดมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะด้าน (Special Relativity Theory) โดยเอาเรื่องแรง โน้มถ่วงเติมเข้าไป    ทำให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์บางอย่างที่ทฤษฎีที่มีอยู่ไม่สามารถอธิบายได้    แต่เมื่อการค้นคว้าทางดาราศาสตร์ก้วหน้าไป    ก็เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปก็มีข้อจำกัด    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกทัศน์ว่าจักรวาลเป็นสิ่งคงที่

          เวลานี้เรารู้ว่า จักวาลเป็นสิ่งที่กำลังขยายตัว    โดยจุดเริ่มต้นของจักรวาลคือ The Big Bang    และเรารู้ว่า จักรวาลส่วนที่เราพอจะรู้จัก เป็นเพียงร้อยละ ๔ ของทั้งหมด    อีกร้อยละ ๙๖ เป็น  “หลุมดำ” หรือ dark matter และ dark energy   ซึ่งหมายความว่าเรายังค้นไม่พบวิธีทำความรู้จักมันนั่นเอง

          ชีวิตของทฤษฎีสัมพัทธภาพ บอกเราว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของความซับซ้อนของจักรวาล    ความรู้ เกี่ยวกับธรรมชาติหลายส่วนมีช่วงชีวิต เกิดมาแล้วก็จางไป   มีความรู้ใหม่เพิ่มเติมเข้ามา หรือเข้ามาแทนที่  

          ศ. เฟอร์ไรรา บอกว่า กำลังจะมีการค้นพบความรู้ใหม่เกี่ยวกับจักรวาล ที่เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ เปลี่ยนโลกทัศน์ของเราเกี่ยวกับจักรวาลโดยสิ้นเชิง

          สำหรับผม ที่เรารู้ว่าส่วนที่เราไม่รู้มีถึงร้อยละ ๙๖   ที่รู้แล้วมีนิดเดียว    ก็ถือเป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่    เพราะมันช่วยเตือนสติให้มนุษย์ลดอหังการ์ลงไป  

          หรือมองในเชิงบวก นี่คือโอกาสทำงานวิจัยหาความรู้ที่ขอบฟ้าใหม่ ที่เรียกว่า Blue Sky Research

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๕๗

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 564193เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2014 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2014 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มาส่งการบ้านเรื่องเล่าที่ระนองค่ะ...

http://www.gotoknow.org/posts/564232

ชีวิตที่พอเพียง vs ทฤษฎี ?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท