นั่งสมาธิไม่ได้อะไร


เช้านี้ผมอ่านเจอจาก subreddit "ZenHabits" หัวข้อ "What have you gained from meditation?" เป็นรูปที่ให้แง่คิดดีเหลือเกินจึงขอเอามาใส่ใน GotoKnow ด้วย เป็น fair use เชื่อว่าคนทำรูปนี้คงยินดีที่ให้จะเผยแพร่ธรรมะนี้ต่อไป

เนื้อความในรูปแปลเป็นไทยบอกว่า

มีคนถามพระพุทธเจ้าว่า "ท่านได้อะไรจากการนั่งสมาธิ?"

ท่านตอบ "ไม่ได้อะไรเลย"

"อย่างไรก็ตาม" ท่านพูดต่อ "อาตมาสูญเสีย ความโกรธ ความกังวล ความเศร้ากดดัน ความไม่มั่นใจ ความกลัวการแก่เฒ่า และความตาย"

ผมไม่รู้ว่าประโยคสนทนาเหล่านี้มีจริงหรือไม่และมาจากพระสูตรใด เป็นไปได้ว่าเป็นสิ่งที่แต่งกันเองด้วยซ้ำเพื่อเล่นคำของคำว่า "gain" กับ "lose"

รูปนี้ตรงกับความเชื่อของผมในการนั่งสมาธิ ที่จริงแล้วผมฝึกสมาธิมาตั้งแต่สมัยเรียนที่อเมริกาแล้ว แต่ฝึกแบบ "on and off" คือไม่ได้มีโอกาสคร่ำเคร่งจริงจังมากมายนัก และเมื่อเริ่มเรียนรู้จากสมัยอยู่อเมริกาความรู้ที่เป็นต้นตอให้ผมก็ย่อมมาจากพุทธสายมหายานเสียส่วนใหญ่

การฝึกฝนที่จะ "ไม่ได้" และ "ไม่มี" เป็นหัวใจสำคัญของพุทธสายมหายาน

บางคนพยายามฝึกสมาธิเพื่อให้ได้ญาณ อันนี้น่าจะได้ แต่บางคนยิ่งกว่านั้นพยายามฝึกให้ได้สุญญตา ผมก็ข้องใจว่าสุญญตามันจะ "ได้" ได้อย่างไร

แต่เอาเถอะเท่าที่ความรู้ที่ผมก็มี ผมรู้แค่เพียงว่าความสุขสงบจากการได้ "gain nothing from meditation" นี่ก็เพียงพอสำหรับผมแล้วครับ

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิ#สุญญตา
หมายเลขบันทึก: 563266เขียนเมื่อ 5 มีนาคม 2014 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มีนาคม 2014 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

การนั่งสมาธิ ทำการสมาธิทำให้เราเย็นลงครับ....

ผมก็ก็ไม่ค่อยนั่งหรอกครับเเต่ผมชอบที่จะนอนสมาธิ...

สิ่งที่เราได้เเต่ละคนนั้นผมก็มองว่าเราได้ไม่เหมือนกันครับ... เพราะวัตถุประสงค์ของเเต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน..

ขอแชร์ความเห็นตามที่ดร.โพสต์ไว้นะครับ

ดังที่ดร.ธวัชชัยโพสต์นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

๑. นั่งสมาธิได้อะไร? ๒. คำตอบของพระพุทธเจ้า ๓. ข้อสงสัยของดร. ว่าจริงหรือไม่ ๔. อุดมคติของมหายาน ๕. สุญญตา ๖. การเข้าใจผิดพลาดของชาวพุทธ

ขอแสดงทัศนะแบบเปิดดังนี้

๑) การนั่งสมาธิได้อะไร คำตอบมิได้หมายถึง ได้เชิงรูปธรรม แต่เป็นนามธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่ (ชาวพุทธ) ไม่สานไปถึงปลายทางคือ การฝึกจิต โดยอาศัยฐาน ๒ ฐานคือ สมถะ และวิปัสสนา เมื่อศึกษาผลทั้งสอง มิใช่ได้เป็นเงินทองหรือสาวก หากแต่เป็นผลที่การพัฒนาปัจเจกบุคคลให้ละเอียดในสุขุมกรรมมากขึ้น หากจะกล่าวแบบใหม่ก็พอพูดได้ว่า ได้พัฒนาวิทยาการด้านจิต ที่ละเอียดมากขึ้น

ในแง่เป้าหมายโดยไม่อิงรูปผลหรือเอาใจบุคคลคือ "ตัดสิ้นวัฏสงสาร" หากจะบอกว่าเป็น "สิ่งที่ได้" ก็พอได้ ซึ้งแย้งกับโลกวิสัย หรือหากจะกล่าวเอาใจโลกวิถีก็พอกล่าวได้ว่า เป็นการสร้างฐานจิตให้เกิดการใช้งานได้หรือฝึกหัดดัดใจให้เป็นได้อย่างที่โลกวิถีต้องการคือ "ความสุข" แต่พึงระลึกเสมอว่า พุทธมีเป้าหมายที่แย้งโลกวิถีอย่างสิ้นเชิง "เป็นอย่างที่รู้ว่าเป็น แต่ไม่ติด"

๒) คำตอบที่กล่าวนั้น เป็นเรื่องของปุถุชนที่จะกล่าวเช่นนั้น ในแง่การฝึกฝน แต่เมื่อผ่านกาลผลของหลักการมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ เป็นเพียงมายาหรือไร้แก่นสาร พระพุทธเจ้าจึงมีเป้าหมายอย่างเดียวคือ "ข้ามพ้นวัฏ" และสอนให้สาวกทั้งหลายสลัดสิ่งที่เป็นเยื่อใยให้น้อยทั้งที่เป็นโลกสมบัติและจิตสมบัติ เพื่อก้าวไปสู่การสิ้นทุกข์ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ (รวมถึงพระพุทธเจ้า) ก็มีทุกข์ปรากฏอยู่

แต่สิ่งที่รับรู้และท่าทีที่แสดงออกต่างกันระหว่างผู้ตรัสรู้แล้วและผู้กำลังฝึกอยู่คือ ผู้รู้ ย่อมมีทุกข์แต่ไม่ถูกทุกข์กดขี่ เพราะรู้ตามและรู้ล้ำทุกข์ ส่วนผู้ฝึก ย่อมถูกทุกข์ข่มเหง กดขี่ตลอดชีพ เพราะจิตไม่ได้ถูกฝึกให้เกิดพลังยืดหยุ่นหรือรู้ตามทุกข์ได้ทัน จึงเอนเอียงหรือกระเทือนไปตามแรงเสียดทาน กล่าวโดยสรุป คือ ผลมาลงที่จิต จิตตรองให้เป็นปัญญา ปัญญานำมาจัดการบริการปัจจุบันกรรมหรือกิริยากรรมทุกขณะนั่นเอง

๓) ในสังคมยุคข่าวสารที่ล้นหลากมากความ ที่ประสาทเรารับรู้อยู่บ่อยๆ หากเราไม่มีหลักการยืนหยัดในตนเอง ย่อมทำให้หลงได้ การรู้จากสื่อจึงอาจไปเจอวาทกรรมซ้ำซากได้ พุทธศาสนามีหลายนิกาย มีพหุนิยมที่ต่างกัน มีเป้าหมายต่างกัน เถรวาทเน้นที่ปัจเจกบุคคล

ส่วนมหายานเน้นที่พหุชน ทั้งสองมีปลายบรรจบกันที่หลุดพ้นวัฏสงสาร ในด้านประชาสัมพันธ์ของแต่ละนิกายย่อมมีกลยุทธ์ในการโน้มให้ผู้คนสนใจต่างกัน อยู่ที่ว่าใครจะใช้ภาษาตรรกะหรือโวหารได้ดีกว่ากัน หลักการหรือปัญญาหรือวิจารณาญาณจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคข้อมูลล้นหลาก ด้วยเหตุนี้ ยุคหลังยุคนวสมัย (PM) จึงยึดคติที่ว่า "สงสัยไว้ก่อน" (Skeptics) เหมือนมุมมองของเดการ์ดสอนไว้ ฉะนั้น ดร.ตั้งข้อสงสัยนั่นสมควรอยู่

๔) หลักการของมหายานคือ ถ่ายทอดญาณจากคนสู่คน ช่วยเหลือสัตว์ให้ได้มาก อาศัยปารมีจากการช่วยคน ไม่มีคำสอนที่ตายตัวหรือยึดตายตัว เปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย ทั้งหมดจึงรวมเอาไว้ใน "ยาน" และต้องขนไปได้มาก เรียกว่า "อภิ" หรือ "มหา" รวมกัน "มหายานหรืออภิยาน" มี ๓ ยานคือ "บุคคลยาน" คือ ใช้ตนเองเป็นยานนำตนไป ซึ่งแคบและขนได้น้อย

"ศิษยยาน" คือ ยานที่อยู่ใกล้คำแนะนำ ข้อฝึกและข้อปฏิบัติการขนสัตว์ ซึ่งกว้างกว่าอันแรก และ "โพธิสัตวยาน" คือ ผู้มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้มาก เพื่อเสริมปารมีตนให้เกิดความเข้มข้นขึ้น ส่วนคำว่า "ไม่ได้ ไม่เป็น" ก้ไม่เชิง เนื่องจากว่า แม้พฤตินัยอาจมองว่า ไม่หวังผล แต่ตนเองนั่นแหละคือ ผล

๕) สุญญตา คือ ๑. ความว่างจากอัตตาที่ยึดถือและเชื่อตามลัทธิของพราหมณ์ ๒. ว่างจากมลทินของจิตทั้งปวง ๓. ว่างจากภาวะแทรกแซงจากสิ่งภายนอก ๔. ว่างที่เต็มไปด้วยธาตุต้นธรรมที่มีนัยว่า "ว่างที่เต็มด้วยความว่าง" ๕. ว่างจากภพ จากชาติ จากวัฏ ๖. ว่างเพราะดับสูญแห่งชีวะ

ส่วนที่ดร.ธวัชชัย สงสัยก็ไม่แปลกครับ เพราะครั้งหนึ่ง (ปี ๒๕๐๗ ณ ประชุมคุรุสภา) หม่อมคึกฤทธิ์ เคยแย้งกับท่านพุทธทาสว่า คำนี้ไม่มีในพระไตรปิฏก และสอนทำให้คนขี้เกียจ ในขณะท่านเสถียร โพธินันทะ กล่าว่า จิตว่างก่อนเกิดไม่มี ทั้งหมดเป็นความเข้าใจผดระหว่างสองกลุ่มคือ กลุ่มคนในศาสนาและกลุ่มคนในโลกวิสัย

ดังนั้น จิตว่าง พุทธทาสหมายถึง จิตที่ว่างจากกิเลสตัณหา ไม่เจือด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่มีสติ ที่ท่านบอกว่า ทำงานด้วยจิตว่าง หมายถึง ทำจิตให้เป้นกลางๆ ไร้อคติ ไม่เน้นหวังผล เพื่อปล่อยให้จิตเป็นกลางแท้หรือจิตเดิมของมัน หากจะนำมาสานในคำว่า สมาธิที่ดร.กล่าว ว่าสมาธิทำให้จิตว่างได้ไหม ก็พอสรุปได้ว่า ไม่ว่าง เพื่อให้ว่าง ที่ไม่.. เพราะอย่างน้อยก็มีหนึ่งอารมณ์หรือตามอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอยู่

ที่่ว่าง เพราะความหมายจริงๆในมหายาน น่าจะหมายถึง ไม่ยึดติดในกิริยา ท่าทาง การแสดงออกของกาย วาจา ใจ เพราะอาจเป็นกลลวงได้ มหายานจึงให้ศิษย์ใช้วิธีการมอง เฝ้าสังเกตมากกว่า ใช้คำพูดหรือภาษา

๖) ชาวพุทธควรแยกให้ออกระหว่าง มหายานกับเถรวาทและควรวิเคราะห์สังเคราะห์ให้ได้ว่า อันไหนเหมือนกัน ต่างกัน มิฉะนั้น ก็จะเชื่อตามข้อมูลยุคใหม่

กล่าวโดยทั่วไปพุทธศาสนาสอนเรื่อง การบริหาร จัดการเรื่องจิตของตนในเบื้องต้น สอนให้รู้จักกิริยากรรมของตน สอนให้ฝึกฝนการใช้จิตหรือพาจิตไปทำงานให้มากขึ้น และสุดท้ายหาทางหลีกพ้นทุกข์ถาวรให้ได้

ขอบคุณดร.ที่โพสต์ให้ได้ต่อยอดความคิด ความเห็นครับ

ขอบคุณคุณ ส.รตนภักดิ์ สำหรับความเห็นครับ ผมได้คำตอบเลยครับว่าสุญญตา "ได้" ได้อย่างไรครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ขอบคุณสำหรับรูปวันนี้

การฝึกสมาธิตามแนวพุทธมีวิธีการอย่างไรเท่าที่ทราบจากการอ่านหรือการบอกเล่าของผู้อื่นยังไม่ค่อยจูงใจให้ตนเองทดลองเข้าฝึกตามคำชักชวนของเพื่อนหรือญาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่จะได้จากการทำสมาธิที่มากกว่าความสงบของจิตใจ จากรูป คำตอบของพุทธองค์เรียบง่ายและจูงใจให้ฝึกสมาธิ แต่การเกิดสมาธิอาจใช้วิธีการง่าย ๆซึ่งแต่ละคนอาจค้นพบด้วยตนเอง ส่วนตัวเคยเรียนวิชาพลังจักรวาลถึงระดับ 4 (รักษาโรค และดูแลสุขภาพ) ซึ่งการทำพลังแต่ละครั้งต้องเริ่มจากการทำสมาธิ ซึ่งง่ายอย่างเหลือเชื่อ เพียงนั่งนิ่ง หลับตา หายใจเข้า-ออกตามปกติ (เข้า-สั้น ออก-ยาว) 5 นาที ก็ได้สมาธิ เมื่อเรียนระดับสูงขึ้นนั่งแบบลืมตา มองไปข้างหน้า และหายใจเข้าออกตามปกติ 5 นาที สมาธิแบบนี้ภายหลังสามารถเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ แม้กระทั่งนอน ชอบมาก รู้สึกนิ่ง และสดชื่น หรือบริหารจิตของตนได้ดี

ที่จริงแล้วผมสนใจเรื่อง meditation อยู่พอประมาณทีเดียวครับ พบว่ารูปแบบนี้มีในทุกศาสนาและมีมานานมากแล้วครับ แต่ก็ได้ศึกษาเพียงผิวๆ ถ้าจะศึกษาจริงๆ นี่ต้องใช้เวลามากทีเดียวครับ

ผมคิดว่าปฎิบัติได้ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนของใครก็น่าจะดีทั้งนั้นครับ

ขอบพระคุณค่ะกับบันทึกนี้...สั้นง่าย..ถึงแก่นแท้..วิถีพุทธ...โดยตรงไม่ยืดยาวเข้าใจได้ง่าย..."นั่งสมาธิไม่ได้อะไร"กลับสูญเสีย..ทุกข์ ที่แบกไว้ อ้ะะๆๆ

ขอบคุณครับ ที่ตั้งหัวข้อซะต้องตามมาอ่าน

เพราะโจทย์ "ได้" มาจากระบบของกิเลสนำทางมั้งครับ

การไม่ได้จึง หักมุม ที่มีทั้งข้อดี และข้อด้อย ขึ้นอยู่กับระดับความคิดของคนอ่านว่ามาแบบไหน

แต่ก็ดีครับ

อิอิอิอิอิอิอิอิอิ

- ได้อ่านข้อความที่หลายท่านนำมาต่อยอดกันแล้วทำให้ "อยาก" รู้ขึ้นเลยครับอาจารย์ :-)

- ชอบครับ หัวข้อสะดุดใจให้มาอ่านครับ "นั่งสมาธิไม่ได้อะไร" หัวข้อนี้ท้าทายผู้ที่นั่งสมาธิและพบว่าได้

- เห็นด้วยครับว่า การนั่งสมาธิไม่ใช่ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งครับ

ขอบคุณทั้งบันทึกและข้อคิดเห็นที่ได้ความรู้มากๆเลยครับ

เข้ามาอ่านค่ะ กำลังฝึกการรู้สึกตัวอยู่เหมือนกันค่ะทำให้ได้เรียนรู้ความจริง

เป็นความสุขที่น่าสนใจจาก "ความว่างเปล่า" ขอบพระคุณมากๆครับ

ลึกรู้-ปฏิบัติ (โคลงสองสุภาพ)

…………………………………ธรรมชาติ พิสุทธิ์ล้ำ
จรุงจิต สิตอกย้ำ…………...โอบเอื้อ คือธรรม

………………………………….กรรมใด ใครก่อไว้
กรรมชักนำ ชดใช้……………ชอบ-ร้าย เช่นนั้น….แน่นา

…………………………………..ทุกวันวาร หมั่นเฝ้า
ตรองตรึก มวลสุขเศร้า………เกิดได้ เหตุไฉน

………………………………….ไยจึ่ง ยังยึด"ร้อน"
ไฟกิเลศ ส่งสะท้อน………..ทุกข์ล้น ปฐพี

………………………………….มีมรรคแปด ดับได้
องค์พุทธะ ตรัสไว้…………..ลึกรู้-ปฏิบัติ….เถิดนา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท