สานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว : อีกหนึ่งทางเลือกและทางออกของการพัฒนาศักยภาพของชาววงแคน


“วงแคน” มีสถานะมากกว่าการเป็น “องค์กรนิสิต” (ชมรม) ทั่วๆ ไป ตรงกันข้ามกลับเป็นเสมือนโครงสร้างหลักที่มีอยู่ในกองกิจการนิสิตที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับกลุ่มคนจากโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (โควตาศิลปวัฒนธรรม) หรือแม้แต่กลุ่มคนที่รักและใส่ใจกับมรดกวัฒนธรรมของชนชาวอีสาน

มมีหลักคิดการทำงานผ่านวาทกรรมหลายวาทกรรม โดยส่วนใหญ่ผมมักบัญญัติ หรือสร้างวาทกรรมขึ้นมาเป็น “ธง” ของการทำงาน หรือการเรียนรู้เสมอ  หนึ่งในวาทกรรมที่ว่านั้นก็คือ “ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า, ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้...เว้นแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้” 

หรือไม่ก็ “เราล้วนเติบโตจากการเดินทาง”

 

 

 


โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๑ ที่เพิ่งจัดขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ถึงแม้ผมจะถอนตัวออกจากการเดินทาง เพราะมีภารกิจเกี่ยวกับการจัดเวทีการสะท้อนผลการเรียนรู้โครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนแต่ก็ยังพอได้มีส่วน “ร่วมคิด” เล็กๆ น้อยๆ บ้างเหมือนกัน

 

 

 



 

 

ปฐมนิเทศ : ปฐมบทของการสร้างการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมของการเรียนรู้


การมีส่วนร่วมคิดเล็กๆ น้อยๆ ที่ว่านั้น ประกอบด้วยเรื่องเล็กๆ เพียงไม่กี่เรื่อง เช่น  การเสนอแนะให้มีการปฐมนิเทศนิสิตและบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง  เพราะผมเชื่อว่าการปฐมนิเทศนั้น  เป็นกระบวนการของการเตรียมความพร้อมผู้คนสู่การเรียนรู้ที่สำคัญอย่างยิ่งยวด  เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้คนเราได้เข้าใจตัวเองว่า "มีอะไร"  และเข้าใจในบริบท หรือจุดมุ่งหมายของการไปเรียนรู้ว่าจะไป "ทำอะไร- ทำอย่างไร" หรือแม้แต่ "ที่นั่นมีอะไร" 

ทั้งนี้ทั้งนั้นในประเด็นของการปฐมนิเทศนั้น  ผมสะท้อนประมาณว่า  ควรนำเรื่องราวความเป็นมาของโครงการที่ว่านี้มาสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า ความเป็นมาของโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทยลาว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของสถาบันการศึกษาของตนเอง
ที่ก้าวเข้าไปเป็นภาคีในเวทีดังกล่าว จุดมุ่งหมายของโครงการใหญ่ จุดมุ่งหมายของเจ้าภาพ จุดมุ่งหมายโครงการของสถาบันตัวเอง รวมถึงการสื่อสารภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมดให้นิสิตและบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจ เพื่อใช้เป็น “ทุน” ในการก้าวไปสู่การเรียนรู้ มิใช่ไปตายเอาดาบหน้า หรือไปโดยไม่รู้ว่าเวทีแห่งการเรียนรู้นั้น มีประเด็นแห่งการเรียนรู้มีอะไรรอให้เก็บเกี่ยวบ้างฯลฯ

 

โดยเฉพาะประเด็น “จุดมุ่งหมายโครงการของสถาบันตัวเอง” นั้น  ผมได้พูดในที่ประชุมและพูดกับผู้รับผิดชอบหลักอย่างชัดแจ้งในหลายประเด็น เช่น นอกจากการไปเรียนรู้ หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับสถาบันอื่นๆ แล้ว จุดมุ่งหมายอันสำคัญที่ผมพยายามหว่านเพาะลง ก็คือการสร้างกระบวนการพัฒนาศักยภาพของ “วงแคน” และนิสิต “โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม”  ด้วยการผูกโยงไว้ตั้งแต่การเข้าร่วมสังเกตการณ์เป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยสุภานุวงศ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (๒๕๕๒) หรือเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (๒๕๕๓) รวมถึงการเป็นเจ้าภาพ ครั้งที่ ๑๐ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

 

 

 

พัฒนาผ่านเครือข่ายคนบ้านเดียวกัน  

 

การพัฒนาศักยภาพดังกล่าวนั้น เป็นการพัฒนาในเชิงบูรณาการผ่านการทำงานเชิงเครือข่าย กล่าวคือ เป็นการเชื่อมประสานกับคณะศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์มาร่วมเป็นทีมหลักในการทำงาน ทั้งในระดับอาจารย์ และนิสิต เพราะทั้งสองคณะนั้นล้วน “เชี่ยวชาญ” และ “สันทัด” ด้านดนตรีและนาฏศิลป์กว่าชาววงแคนอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะร่ำเรียนในศาสตร์เหล่านี้โดยตรง  ผิดกับชาว “วงแคน” ที่ส่วนใหญ่ร่ำเรียนในสาขาอื่นๆ หากแต่ใช้ความสามารถพิเศษในด้านเหล่านี้เป็นใบเบิกทางเข้ามาศึกษาต่อในวิชาชีพที่ตนเองอยากจะเรียน ยิ่งหากปีใดมหาวิทยาลัยฯ ไม่มีระบบและกลไกสนับสนุนการเรียนรู้ หรือพัฒนาศักยภาพโดยตรง ยิ่งพลอยให้วงแคน อ่อนแรงลงเรื่อยๆ เสมือนถูกปล่อยให้เรียนรู้ตามมีตามเกิด  

 

ด้วยเหตุนี้การเชื่อมประสานทั้งสองคณะมาเป็นทีมทำงานเช่นนี้  จึงเป็นการหนุนเสริมการพัฒนาชาว “วงแคน”  ไปในตัว เพราะชาววงแคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดนตรีและนาฏศิลป์ของตนเองผ่านอาจารย์และนิสิตจากคณะศิลปกรรมศาสตร์-วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ  ซึ่งเมื่อครั้งที่ผมยังดูแลด้านแนวคิดนั้น  จะเห็นได้ว่าอาจารย์จากทั้งสองคณะได้มาดูแลการฝึกซ้อมอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาร่วมเดือน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นกระบวนการพัฒนาศักยภาพของชาววงแคนในอีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกันมิใช่เล่นเอง -ซ้อมเองตามใจรัก แต่ไม่มีระบบและกลไกจากมหาวิทยาลัยมาหนุนเสริมอย่างจริงๆ จังๆ

 และการพัฒนาผ่านเครือข่ายเช่นนี้  จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการพัฒนา หรือเรียนรู้จากคนบ้านเดียวกันก็ไม่ผิด  เป็นการเรียนรู้จากคนใกล้ตัวในครัวเรือนเดียวกัน  จากนั้นจึงปเรียนรู้จากคนในครัวเรือนอื่น-  อันหมายถึงการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  เรื่องบางเรื่อง ตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยฯ ยังไม่มีนโยบายตั้งอัตราใหม่ หรือบรรลุบุคลากรมากำกับดูแลชาว “วงแคน” โดยตรง “วิธีการ” หรือ “กระบวนการ” เช่นนี้ย่อมเป็น “ทางเลือก” ที่ “ต้องเลือก” หรือต้องร่วมแรงใจเชื่อมโยงประสานใจให้เกิดขึ้นให้จงได้  ซึ่งสองสามปีย้อนหลัง จึงเห็นได้ชัดว่าการนำพาวงแคนไปเผยแพร่การแสดงยังต่างประเทศนั้น  ผมจึงกำกับทีมงานให้เรียนเชิญอาจารย์และนิสิตจากทั้งสองคณะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ  เพราะเชื่อว่านี่คือทางเลือกและทางออกของการพัฒนาศักยภาพของชาววงแคนมิใช่ปล่อยไปตามยะถากรรม  หรือปล่อยให้เคลื่อนตัวไปตามวิถีชมรมทั่วๆ ไป เพราะ “วงแคน” มีสถานะมากกว่าการเป็น “องค์กรนิสิต” (ชมรม) ทั่วๆ ไป  ตรงกันข้ามกลับเป็นเสมือนโครงสร้างหลักที่มีอยู่ในกองกิจการนิสิตที่ถูกสร้างขึ้นมารองรับกลุ่มคนจากโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม (โควตาศิลปวัฒนธรรม) หรือแม้แต่กลุ่มคนที่รักและใส่ใจกับมรดกวัฒนธรรมของชนชาวอีสาน

 

แน่นอนครับ การพัฒนาศักยภาพผ่านกระบวนการเช่นนี้  ย่อมไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้  หรือการพัฒนาศักยภาพผ่านอาจารย์ที่สอนในศาสตร์เหล่านี้โดยตรงเท่านั้น  หากแต่ยังสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตชาววงแคนกับนิสิตจากทั้งสองคณะอย่างเสร็จสรรพไปในตัว  และนั่นคือการสร้างเครือข่ายไว้ในโครงสร้างหรือระบบที่ไม่อาจละข้ามไปได้  ที่เหลือผมเชื่อว่านิสิตจะสานต่อยึดโยงกันไปเป็นระยะๆ ได้เอง

 

 

 

 

ครับ, สำหรับผมแล้ว เวทีบางเวทีอาจเต็มไปด้วยจุดมุ่งหมายอันหลากหลาย   มีทั้งจุดมุ่งหมายหลัก จุดมุ่งหมายรอง แต่สำหรับโครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทยลาวฯ   ผมถือว่าการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของชาววงแคนผ่านเครือข่ายทั้งสองคณะเช่นนี้ถือเป็นจุดมุ่งหมายหลัก   เป็นจุดมุ่งหมายหลักที่ไม่จำนนต่อชะตากรรมจากระบบว่าจะมาหนุนเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมเมื่อไหร่ และอย่างไร

 

ส่วนการเรียนรู้เรื่องราวนานาประการ ณ เวทีของเจ้าภาพนั้น (ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า,ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้)  ผมไม่กังวลใดๆ เลยก็ว่าได้   เพราะเชื่อว่านิสิตจะสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ด้วยตนเอง  รวมถึงเชื่อมั่นว่านิสิต หรือแม้แต่อาจารย์และบุคลากรที่กำกับดูแลจะดึงเอาพลังที่มีอยู่ใน “ตัวตนของนิสิต"  ออกมานำเสนอความเป็น “มรดกวัฒนธรรมอีสาน”  ให้ใครๆ ได้ดูได้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่อิดออด หรือเขินอาย  เพราะนั่นคือการทำหน้าที่ของการเป็นตัวแทนของ "มหาวิทยาลัยฯ"   หรือเป็นตัวแทนของ “ชาวอีสาน” ดีๆ นั่นเอง

 

 

หมายเหตุ 

๑.โครงการสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๑ ระหว่างวันที่ ๗-๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

๒.ภาพโดย จันเพ็ญ ศรีดาว และคณะ

หมายเลขบันทึก: 558360เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2014 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 11:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

มีโอกาสได้ร่วมการเดินทางในครั้งนี้ การแวะเยี่ยมเยือนร่วมเรียนรู้ระหว่างเส้นทางนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมีการต่อยอดกิจกรรมดีๆแบบนี้ยิ่งๆขึ้นไป นั่นไม่เพียงการเีรียนรู้ชีวิตการอยู่ร่วมกันแต่เป็นแรงผลักดันให้นิสิตเองต้องรู้จักการพัฒนาความคิด การพัฒนาตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาสังคมภายนอกด้วย...และไม่ควรลืมรากเหง้าของประวัติศาสตร์การมาเยือนในแต่ละครั้ง.....

และนอกจากนี้ ไม่ว่ากิจกรรมการงานใดๆก็แล้วแต่ควรมีการทำงานกันเป็นทีม ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมรับรู้กระบวนการทุกๆอย่าง การประสานพูดคุยให้เกิดความชัดเจนทุกบทบาทและหน้าที่..ไม่ใช่นั่งเพียรนึกเองตามประสบการณ์ที่เคยผ่านมาเท่านั้น....เพราะหากเดินโดยลำพัง เด่นดังเพียงคนเดียว คงไม่สามารถรองรับสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงได้เท่าที่ควรจะเป็น...

....ขอบคุณที่ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้อะไรหลายๆในครั้งนี้ค่ะ....

ทุกเรื่องเล่าที่ได้อ่าน จากทุกกิจกรรมที่ลูกแผ่นดินได้มีส่วนร่วม มีหลักคิดที่ลุ่มลึกและบูรณาการเสมอ ภาคภูมิใจแทนทุกภาคส่วนที่มีอาจารย์รุ่นใหม่ไฟแรงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนะคะ

มีความสุขถ้วนหน้า เลยนะคะ


"(ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่า,ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้")

สวัสดีอจารย์แผ่นดิน เรียนรู้ผ่านวัฒนธรรม เป็นการเรียนรู้จากฐานรากของสังคม

สวัสดีปีใหม่ค่ะ อาจารย์พนัส

ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะอาจารย์

สวัสดีปีใหม่ค่่ะอาจารย์ มรดกอีสานน่าภาคภูิิมิใจเสมอนะคะ

เป็นเรื่องราว และบันทึกที่ดีมีคุณค่ามาก ๆ จ้ะ ขอบคุณมาก ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท