กินผักอะไร สมองดี


คนสูงอายุที่กินผักอย่างน้อยวันละ 2.8 ทัพพี (servings) มีปัญหาความจำเสื่อม และสมรรถนะสมองเสื่อมน้อยกว่า

พวกเราคงจะชื่นชอบพืชผักกันบ้างไม่มากก็น้อย ผู้เขียนมีข่าวดีสำหรับท่านที่ชอบผักมาฝากครับ...

สมองคนเรามีความเสื่อมถอยไปตามวัย อายุมากเสื่อมมาก อายุน้อยเสื่อมน้อย ทว่า... ผักช่วยให้สมองของเราเสื่อมช้าลงได้

อาจารย์มาร์ธา แคลร์ มอร์ริส แห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยรัช ชิคาโก สหรัฐฯ ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า

คนสูงอายุที่กินผักอย่างน้อยวันละ 2.8 ทัพพี (servings) มีปัญหาความจำเสื่อม และสมรรถนะสมองเสื่อมน้อยกว่าคนที่กินผักน้อยกว่าวันละ 1 ทัพพีมากถึง 40%

อาจารย์ท่านทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอายุ 75 ปีขึ้นไป 3,718 คน และติดตามกลุ่มตัวอย่างไป 6 ปี

เมื่อศึกษาชนิดของพืชผักปรากฏผลในการปกป้องสมองต่างกันดังต่อไปนี้...

  1. กลุ่มดีที่สุดได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักปวยเล้ง ฯลฯ
  2. กลุ่มดีรองลงไปได้แก่ ผักสีออกเหลือง หรือเขียวไม่เข้มนัก เช่น กะหล่ำ บรอคโคลี ฯลฯ
  3. กลุ่มที่ดีน้อยได้แก่ ถั่ว เช่น ถั่วลิสง ฯลฯ
  4. กลุ่มที่ไม่ช่วยอะไรเลยได้แก่ ผลไม้

การศึกษานี้ได้ผลต่างจากคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยทัฟทส์ ในบอสตัน ซึ่งพบว่า ผลไม้ตระกูลเบอรี่ เช่น บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ แครนเบอรี่ ฯลฯ ช่วยปกป้องสมองหนูทดลองจากความเสื่อมได้

การศึกษาอื่นๆ พบว่า การกินน้ำมันพืชที่ดีพอประมาณมีส่วนช่วย ลดปัญหาความจำ และสมรรถภาพสมองเสื่อมตามอายุ(ที่เพิ่มขึ้น) ลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

 

น้ำมันพืชที่ดีในที่นี้หมายถึงน้ำมันพืชที่มีไขมันอิ่มตัวต่ำได้แก่ ไม่ใช่น้ำมันปาล์มและกะทิ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันถั่วลิสง(นิยมใช้ในพม่า) ฯลฯ

อาจารย์มอร์ริสท่านสันนิษฐานว่า ผลการปกป้องสมองของผักใบเขียวเข้มน่าจะเป็นจากวิตะมินอีในผัก

วิตะมินอีเป็นวิตะมินกลุ่มที่ละลายในน้ำมัน อาจารย์ท่านแนะนำว่า การกินผักใบเขียวเข้มให้ได้ผลดีที่สุดควรกินพร้อมกับน้ำมันพืชเล็กน้อย เพื่อให้การดูดซึมวิตะมินอีดีขึ้น

ถึงตรงนี้ขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านกินเนื้อให้น้อยหน่อย เพิ่มพืชผักหลากหลายเข้าไปแทน โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้มนี่... พลาดไม่ได้เลย

    มหัศจรรย์สารสีเหลือง:                         

ครั้งแรกผู้เขียนแปลคำ "spinach" ว่า ผักขม อาจารย์นันทิกา ปริญญาพล ท่านไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ออสเตรเลีย  (PhD. Candidate in Information Systems, University of Wollongong, Australia) ได้ทักท้วงมาว่า ไม่น่าจะเป็นผักขม

ผู้เขียนค้นหนังสือเพิ่มเติม อาจารย์เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์ท่านเขียนว่า 'spinach' แปลว่า ผักปวยเล้ง

spinach = ผักปวยเล้ง ช่วยป้องกันโรคจอตาเสื่อมในคนสูงอายุ (age-related macular degeneration / AMD / ARMD) เนื่องจากมีสารพฤกษเคมี(สารเคมีจากพืช)สีเหลืองได้แก่ ลูทีน (lutein) และซีแซนทิน (zeaxantin)

ส่วนกลางจอตาของคนเรา (macula) เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนเราเห็นภาพชัด โดยเฉพาะภาพสีล

ส่วนนี้บอบบางต่อรังสียูวี (ultraviolet / UV) และแสงสีฟ้า โดยเฉพาะแสงแดด หรือแสงจ้า

สารสีเหลืองออกฤทธิ์คล้ายเป็น "ฟีล์มกรองแสง" หรือ "แว่นกันแดด" ให้ส่วนกลางจอตา โดยช่วยปกป้อง UV และแสงสีฟ้าให้ผ่านไปได้น้อยลง

อาหารที่มีสารสีเหลืองมากได้แก่...

  • ผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง คะน้า บรอคโคลี ฯลฯ
  • ข้าวโพด

เรียนเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านหาข้าวโพดมาผสมข้าวกล้อง และกินผักใบเขียวเข้มเป็นประจำกัน เพื่อสุขภาพตาที่ดีครับ...

    แหล่งที่มา:                                      

  • Thank > Vegetables slow memory loss in old age: study.  http://today.reuters.com/news/articlenews.aspx?type=&storyid=2006-10-23T201308Z_01_N23277456_RTRUKOC_0_US-VEGETABLES.xml&src=nl_ushealth1400 > October 25, 2006. // source: Journal of Neurology.
  • ขอขอบพระคุณ > ท่านอาจารย์เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์. พลังมหัศจรรย์ในน้ำผักผลไม้. ซีเอ็ดยูเคชั่น. กรุงเทพฯ. 2549:168-176.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก "บ้านสุขภาพ" มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี + อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ > สนับสนุนเทคิค IT
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๒๖ ตุลาคม ๔๙ > แก้ไขปรับปรุง ๓๐ ตุลาคม ๔๙.
หมายเลขบันทึก: 55811เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2006 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ขอบพระคุณค่ะ ได้ความรู้อย่างมาก

ผักขมเนี่ย คือผัก spinach เลยรึเปล่าคะ เพราะชื่อผักขมที่เมืองไทย กับที่ออสเตรเลีย ดูจะเป็นคนละผักกัน

  • ขอบพระคุณอาจารย์หมอมากเลยค่ะ
  • ไม่ผิดหวังที่รออ่านบันทึกของอาจารย์หมอค่ะ
  • โดยปกติดิฉันก็ชอบทานผักค่ะ  ส่วนใหญ่จะเป็นผักที่ปลูกเองมากกว่า  กล่ำ ดิฉันก็ชอบและมีประโยชน์ แต่ผู้ขายเขาใส่ยาฆ่าแมลงเยอะมากค่ะ 
  • ขออนุญาตปริ๊นไปให้คุณพ่ออ่านด้วยเช่นเดิมค่ะ  ได้ความรู้เพิ่มเติมจากอาจารย์หมออีกว่าวันหนึ่งต้องบริโภคผักจำนวนเท่าไหร่

ขอขอบคุณอาจารย์ iS และท่านผู้อ่าน+ลปรร.ทุกท่าน...

  • ต้นฉบับยกตัวอย่าง 'spinach' ครับ
  • ต้นฉบับเรื่องนี้มาจาก Reutershealth.com
  • (เริ่มต้นข้อความคัดลอก) People who ate the most green leafy vegetables such as lettuce and spinach had the least memory loss, on average. Next best were yellow vegetables such as squash and cruciferous vegetables such as broccoli (จบข้อความคัดลอก)

ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ iS ตรวจสอบ + เปรียบเทียบกับผักไทย-ผักฝรั่ง

  • ถ้าเป็นคนละชนิดกัน > ขอความกรุณาถ่ายภาพมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นวิทยาทานครับ...
  • ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง

 

ขอขอบคุณอาจารย์อ้อ-สุชานาถ และท่านผู้อ่าน+ลปรร.ทุกท่าน...

  • ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านครับ
  • เรียนเชิญอ่านบันทึกที่ผ่านมาได้ >
    (1). เลือกเดือนจากปฏิทินทางขวามือของบล็อก
    (2). ใช้การค้นหา (search) เช่น google > เลือกหัวข้อเรื่องสุขภาพที่สนใจใน gotoknow+สุขภาพ+...

ต้นฉบับพิมพ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตครับ... ความจริงผู้เขียนน่าจะขอบคุณผู้อ่านมากกว่า เพราะผู้อ่านเป็นนาบุญ

  • ถ้าเลือกผักได้ > ปลูกเอง หรือเลือกผักไม่ใช้สารเคมีดีกว่าผักทั่วไป
  • ถ้ามีผักมากพอ > ควรทานผัก+ผลไม้ให้ได้อย่างน้อย 5 ทัพพี/วัน (ลดลงหน่อยสำหรับคนสูงอายุ เพื่อป้องกันท้องอืด)
  • ควรทานข้าวซ้อมมือ หรือข้าวกล้อง เนื่องจากจะได้เส้นใย สารต้านอนุมูลอิสระ วิตะมิน และแร่ธาตุดีๆ มากมาย...
  • มีประโยชน์มากเลยครับ
  • ชอบกินผักบุ้ง ผักคะน้าครับคุณหมอ
  • ตอนนี้ที่บ้านกำลังทำแปลงผักโดยไม่ใช้สารพิษครับ
  • ขอบคุณมากครับผม

ขอขอบคุณอาจารย์ขจิต และท่านผู้อ่าน+ลปรร.ทุกท่าน...

  • ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์มีแปลงผักไม่ใช้สารพิษ...
  • ผักคะน้า และผักสีเขียวเข้มดูจะมีอะไรดีหลายอย่าง เช่น วิตะมินอี สารต้านอนุมูลอิสระ แคลเซียม แมกนีเซียม ฯลฯ ...(มากมาย)
  • เรียนอาจารย์หมอ
  • เมื่อก่อนที่บ้านผมตอนเด็ก เรากินผักกันครับ แต่เป็นความคิดที่ว่าเพราะเราอด หาของดีกินไม่ได้เพราะอยู่บ้านนอก
  • หารู้ไม่ว่านั้นคืออาหารชั้นดี
  • ขอบคุณมากครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ชาญวิทย์-นครศรีฯ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์ และญาติพี่น้องมีโอกาสกินผักตั้งแต่เด็ก...
    (1). ได้วิตะมิน แร่ธาตุมากมาย > ผักใบเขียว เช่น คะน้า ฯลฯ มีแคลเซียมค่อนข้างมากด้วย
    (2). ได้เส้นใย (ไฟเบอร์) > ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
    (3). ได้เส้นใยชนิดละลายน้ำ > ช่วยลดโคเลสเตอรอล
    (4). ได้สารพฤกษเคมี (phytochemical) ที่ช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น จอตาเสื่อมในคนสูงอายุ
    (5). ได้สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ช่วยป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น เส้นเลือดแตก-ตีบตัน ฯลฯ

คนทางใต้จะมีโอกาสกินเครื่องเทศ โดยเฉพาะขมิ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ ฯลฯ นับว่า โชคดีมากๆ เลย...

ขอให้อาจารย์และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดี มีสมองดีไปนานๆ ครับ...

เรียน อาจารย์ iS & ท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • เรื่อง spinach = อะไร
  • อาจารย์ ภก.สรจักรท่านเขียนไว้ว่า spinach = ผักปวยเล้งครับ...

ที่มา: อาจารย์เภสัชกรสรจักร ศิริบริรักษ์. พลังมหัศจรรย์ในน้ำผักผลไม้. ซีเอ็ดยูเคชั่น. 2549. หน้า 168-176.

  • ขออภัยอาจารย์ iS และท่านผู้อ่านทุกท่าน เนื่องจากพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยส่วนใหญ่จะแปล spinach = ผักขม

ท่านที่มีโอกาสไปเรียน ทำงาน หรือพักในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษนานๆ ดูจะได้ "ภาษา" ดีกว่าคนที่ไม่ค่อยได้ไปไหน (ไปไม่ถึงไหน เช่นผม เป็นต้น)

  • ขอขอบพระคุณอาจารย์ iS และท่านผู้อ่านที่แลกเปลี่ยนข้อคิด ความเห็นกันทุกท่าน
  • นี่เป็นโอกาสดีที่ผมจะได้แก้ไขต้นฉบับให้ถูกต้องยิ่งขึ้นครับ... สาธุ สาธุ สาธุ
  • ขอบคุณอ.หมอมากๆค่ะ กลับมาจากเนปาลก็มีบันทึกดีๆมาให้อ่านติดต่อกันหลายบันทึก
  • ตามอ่านตลอดถึงแม้จะไม่ได้เขียน comment ทุกอันนะคะ

ขอขอบคุณอาจารย์มัทนา และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

  • อ่านจากข้อคิดเห็นของอาจารย์...
  • คำว่า "Google" กลายเป็นคำกิริยาแล้ว ต่อไปคำนี้คงจะกลายเป็นคำกิริยา หรือการกระทำมาตรฐานไปเลยก็ได้
  • อย่างเมื่อวานนี้... ผม Google ไปสิบกว่าครั้งได้(ประมาณ)

ขอขอบคุณครับ...

ขอขอบคุณอาจารย์มัทนา...

  • ผมขออนุญาตคัดลอกคำอธิบายเกี่ยวกับ spinach หรือปวยเล้งที่อาจารย์แนะนำมาครับ...
  • ที่มาจาก > ขอขอบพระคุอาจารย์แห่ง "ครัวไกลบ้าน.com"
  • [ www.kruaklaibann.com ]
  • ลิ้งค์เรื่องนี้โปรดคลิกที่นี่... [ Click ]

[ เริ่มต้นข้อความคัดลอก ]

  • อาหารยอดฮิตติดอันดับสามของเด็กอเมริกัน (รองจาก ไก่งวง และไอศกรีม) ที่เรียกชื่อกันเป็นภาษาฝรั่งว่า "Spinach" นั้น ถ้าจะแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ต้องใช้คำว่า "ปวยเล้ง" ถึงจะถูกต้อง หาใช่แปลว่า "ผักโขม" ดังที่คนไทยเข้าใจไม่ ความเข้าใจไขว้เขวอย่างผิด ๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ กัสซี่ขอกล่าวโทษแก่ผู้ที่แปลบทภาพยนต์การ์ตูนชุด Popeye the Sailor ในภาษาไทย ที่แปลคำว่า "Spinach" ในประโยคภาษาอังกฤษที่ Popeye พูดก่อนที่ จะยกกระป๋อง Spinach ขึ้นกิน ก่อนที่จะกลายร่างจากกะลาสีผอมกะหร่องเป็นนักสู้กล้ามใหญ่เข้าต่อสู้กับเหล่าร้าย โดยใช้คำว่า "ผักโขม" เพื่อแทนคำว่า "Spinach" ซึ่งเป็นคำแปลที่ "ไม่ถูกต้อง"

    "ปวยเล้ง" หรือ "Spinach" ผักใบใหญ่หนาทรงกลม สีเขียวเป็นมัน แต่ก้านผอมนิดเดียวนั้น ถึงจะมีชื่อออกไปในทางหมวย ๆ หน่อย แต่ความจริงแล้ว เป็นผักที่มีถิ่นกำเนิดจากเปอร์เซีย (อิหร่าน) หาใช่เป็นผักของจีนตามที่คนไทยเราเข้าใจ ตามประวัติบอกว่า ชื่อเดิมของ "ปวยเล้ง" นั้นคือ "Aspanakh" เป็นผักที่ชาวอาหรับชอบกินกับมาก จนถึงขนาดให้สมญานามว่าเป็น "Prince of Vegetables" เป็นผักที่ชาวอาหรับนำติดตัวไปด้วยในคราวยกทัพบุกสเปน ในศตวรรษที่ 11 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สเปนกลายเป็นศูนย์กลางการปลูก "ปวยเล้ง" และแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคในยุโรป และชื่อเดิม Aspanakh ก็ถูกเรียกผิดเพี้ยนไปในภาษาละตินว่า "Spinachia" และถูกเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Spinach" ในศตวรรษที่ 14 และ "ปวยเล้ง" เข้าไปสู่ประเทศจีนเป็นครั้งแรก โดยกษัตริย์แห่งเนปาลเป็นผู้นำเข้ามาถวายจักรพรรดิแห่งจีน ต่อมาเป็นผักที่ได้รับความนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย ชื่อ "poh ts'ai" ในภาษาจีนของปวยเล้ง บอกถึงถิ่นที่มาของปวยเล้งได้เป็นอย่างดี เพราะคำว่า "poh ts'ai" มีความหมายว่า "ผักจากเปอร์เซีย"

    "ปวยเล้ง" เป็นผักที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม โปรตีน วิตามินซี และ วิตามินบี 2 ในปริมาณที่สูง อีกทั้งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีนและซาโปนิน (สารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้) อีกด้วย สามารถทานได้ทั้งแบบสด ๆ ในจานสลัด หรือใช้จิ้มกับน้ำพริก หรืออาจจะนำไปทำให้สุกในอาหารจานต่าง ๆ จะเป็นต้มจืด ผัด หรืออบก็ได้ทั้งนั้น

[ สิ้นสุดข้อความคัดลอก ]

  • น่าสังเกตว่า พืชผักที่มาจากเปอร์เซียหรือตุรกีที่ไปโด่งดังที่อื่นได้แก่...
  • (1). ทิวลิป... กลายเป็นของดีเนเธอร์แลนด์
  • (2). ปวยเล้ง... กลายเป็นของดีอเมริกัน + จีน
  • (3). กาแฟ... กลายเป็นของดีอเมริกัน-ยุโรป + ทั่วโลก (ไปจ้างปลูกที่อเมริกาใต้)
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท