ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๕๑. ตามเสด็จเชียงราย ๑. หอแห่งแรงบันดาลใจ และโครงการพัฒนาดอยตุง


 

          หลังการประชุมคณะกรรมการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งประชุมระหว่างวันที่ ๒๓ - ๒๕ ต.ค. ๕๖   สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ โปรดนำคณะกรรมการไปทัศนศึกษา จังหวัดเชียงรายระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๘ ต.ค. ๕๖   เป็นกำหนดการหนีน้ำท่วมจังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา ที่เป็นเป้าหมายของกำหนดการเดิม

          เราไปขึ้นเครื่องบินที่บริษัทบางกอก แอร์เวย์ส จัดถวาย ที่สนามบินกองทัพอากาศ    เหมือนทุกๆ ปี    แต่ปีนี้กองทัพอากาศไม่อนุญาตให้เอารถไปจอดทิ้งค้างคืนเหมือนปีก่อนๆ    นัยว่าเพราะมีวีไอพีไปมีวังที่นั่น  

          ก่อนไป ๒ วัน สมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์   คนไทยจึงต้องปรับเครื่องแต่งกาย    เราส่งกระเป๋าเสื้อผ้ากับทางเจ้าหน้าที่ในวังไปก่อนแล้ว    จึงต้องเพิ่มกระเป๋าเสื้อผ้าชุดไว้ทุกข์ในวันเดินทาง

          เมื่อไปถึงสนามบินแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ก็ขึ้นรถตรงไปดอยตุงทางถนนพหลโยธิน    แยกเข้าถนน ๑๑๔๙ ไปอีก ๑๓ ก.ม. ก็ถึงพระตำหนักดอยตุง    และเข้าชมหอแห่งแรงบันดาลใจ  ที่แสดงพระราชประวัติของราชสกุลมหิดล ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่กันและกันในสมาชิกของราชสกุล    ในการประพฤติดี ปฏิบัติดี  ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง และแก่คนที่ยากลำบาก    โดยสมเด็จพระเทพรัตน์ ทรงนำชมและอธิบายด้วยพระองค์เอง     แต่สถานที่แคบ คนไทยจึงตามไปห่างๆ ไม่ได้ยินคำอธิบาย    ที่ผมหมายมั่นปั้นมือจะฟังคำอธิบายก็ไม่สมหวัง    เช้าวันที่ ๒๗ ต.ค. ลองค้น อินเทอร์เน็ตที่ห้องพักหมายเลข ๘ บนชั้น ๒ ของเรือนรับรองโครงการดอยตุง พบข่าวเสด็จหอแห่งแรงบันดาลใจที่นี่   และ นสพ. เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ ๒๗ ต.ค. ๕๖ ลงเรื่องหอแห่งแรงบันดาลใจอ่านได้ที่นี่

          อ่านข้อมูลของโครงการพัฒนาดอยตุงได้ที่นี่   และอ่านเรื่องราวของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ที่นี่    ที่น่าภาคภูมิใจคือ โครงการพัฒนาดอยตุงสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔   โดยมีธุรกิจ ๔ ด้านคือ อาหาร  หัตถกรรม  ผลิตภัณฑ์การเกษตร  และการท่องเที่ยว    

          ผมเคยมาชมกิจการปลูกป่าแก้จนของโครงการพัฒนาดอยตุงเมื่อกว่า ๕ ปีมาแล้ว ตามในบันทึกนี้   และที่นี่   และคุณใหญ่ นงนาท สนธิสุวรรณ ได้เขียนเล่าการไปเยี่ยมดูงานโครงการพัฒนาดอยตุง เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ที่นี่

          เราพักที่เรือนรับรอง    สาวน้อยกับผมพักห้อง ๘ ชั้นบน    ตอนที่ผมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ ไปดูโครงการปลูกป่า ผมนอนที่ห้อง ๑ ชั้นล่าง     ห้องพักสุขสบายเหมือนนอนโรงแรม    อากาศก็เย็นสบาย

          เช้าวันที่ ๒๗ ต.ค. เราไปเยี่ยมชมกิจการมะคาเดเมีย    และศูนย์จำหน่ายสินค้าหัตถกรรม    แต่ก่อนไป ตอนรับประทานอาหารเช้า เขามีกาแฟดอยตุงให้สั่ง    ในรายการมีกาแฟมะคาเดเมีย    คนชอบลองของแปลกอย่างผมได้โอกาสลอง    พบว่ามีรสมันดี แต่เขาปรุงหวานไปหน่อย    พอบ่นกับสาวน้อยก็ได้ความคิดว่าน่าจะเอาผสมกับกาแฟ    พอเปิดฝากาแฟมะคาเดเมียก็พบเนื้อมะคาเดเมียลอยอยู่    จึงรู้ว่าจริงๆ แล้วเขามีเนื้อมะคาเดเมียให้ด้วย    จึงได้กินทั้งเนื้อมะคาเดเมีย และได้กาแฟที่รสชาติตรงกับที่ผมชอบ คือออกรสขม

          เรื่องโครงการพัฒนาดอยตุง ผมชอบข้อความสั้นๆ จากเอกสารดอยตุง ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง    ได้พยายามค้น ก็ไม่พบ    พบเว็บไซต์ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มีเรื่องราวน่าสนใจมาก ที่นี่    มรว. ดิศนัดดา ดิศกุล เล่าว่า เวลานี้ที่ดอยตุงมีชาวเขา ๖ ชนเผ่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติ    ได้แก่ อาข่า  ลาหู่  ไทใหญ่  ไทลื้อ  ไทลัวะ  และจีนก๊กมินตั๋ง    อบต. ที่นี่มีการเลือกตั้งโดยไม่มีการซื้อเสียง

          ในวันที่ ๒๗ ต.ค. ๕๖ คณะดูงานไปเยี่ยมชื่นชม ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ   โรงคั่วกาแฟ   และโรงงานผลิตกระดาษสา

          ที่ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ เราไปดูการทอผ้าเป็นหลักใหญ่    มีการคิดประดิษฐ์เครื่องติดตั้งเส้นด้ายยืน กำหนดลวดลาย    สำหรับส่งต่อให้คนทอเอาไปทอต่อไป    และมีการแสดงการติดตั้งเส้นด้ายยืนโดยคนที่เชี่ยวชาญด้วย    เขาบอกว่าคนนี้ต้องเชี่ยวชาญจริงๆ    มีการแสดงการสาวไหมแบบดั้งเดิมใช้วงล้อจักรยาน ปั่นด้วยมือ    และสาวไหมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า     ที่ outlet มีสินค้ามากมายหลายชนิด รวมทั้งพรมปูพื้น และเครื่องเคลือบ    แต่คณะดูงานชุดนี้ซื้อของไม่เก่ง     เราได้รู้จักผ้าที่ทำจากใยของต้นไผ่ ที่นุ่มมากอย่างไม่น่าเชื่อ   และคุณหญิงพวงร้อยบอกว่าไม่ซับความชื้น    เส้นใยของใผ่นำเข้าจากจีน    ราคาจึงสูงถึงผืนละ ๒,๕๐๐ บาท

          โรงงานผลิตกระดาษสา มี ๒ ฝั่ง ที่ใช้วิธีการผลิตต่างกัน   ฝั่งหนึ่งใช้วิธีดั้งเดิมแบบไทย    เมื่อได้แผ่นกระดาษก็ตากแห้งด้วยแดด   อีกฝั่งหนึ่งใช้เทคนิคที่เรียนมาจากญี่ปุ่น   ทำแผ่นได้เร็วกว่า และอบแห้งด้วยความร้อนจากลมร้อนที่เป่าผ่านแผ่นให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า   

          เช้าวันสุดท้าย คือวันที่ ๒๘ ต.ค. เขาพาเราไปซื้อของที่ร้านในดอยตุง    หลังจากไปดูการผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพ สินค้าจึงขายดีมาก    คู่สมรสของกรรมการบางท่านซื้อผ้า หลายชิ้น เป็นเงินหลายหมื่นบาท   สินค้าที่นี่เป็นสินค้าคุณฺภาพ 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ต.ค. ๕๖

 

สาวน้อยที่ระเบียงห้องพัก หมายเลข ๘

 

 

 

โรงงานแปรรูปเมล็ดมะคาเดเมีย

 

 

 

ทรงเล่าเรื่อการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาทรงงานที่นี่

 

ภาพที่ทรงใช้ประกอบการเล่าเรื่อง

 

ดอกผลและเมล็ดมะคาเดเมีย

 

ผลิตภัณฑ์จากมะคาเดเมีย ใช้ได้ทุกส่วน

 

เนื้อมะคาเดเมียหลากรส

 

โรงงานกระดาษสาฝั่งเทคนิคญี่ปุ่น

 

โรงงานกระดาษาสาฝั่งเทคนิคดั้งเดิมของไทย

 

ศูนย์ผลิตและจำหน่ายงานมือ

 

งานมือแบบดั้งเดิม

 

Outlet ผลิตภัณฑ์งานมือ

 

โรงคั่วกาแฟ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 556009เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท