แย่แล้ว แย่แล้ว


"ถ้ารู็ว่าการใส่ท่อ ต้องทำให้คุยกับเขาไม่ได้อีกตลอดชีวิต จะบอกว่าไม่ต้องใส่หรอก"

                   ไม่คาดคิดว่าวันนี้ต้องมาจัดการ case palliative กับคนใกล้ตัว เป็นญาติแต่ห่างกันมาก แต่เขาเป็นเสมือนเพื่อนของแม่กันเลยทีเดียว  ราวๆ 9 นาฬิกาเศษ ได้รับโทรศัพท์ จับใจความไม่ได้ มีแต่เสียงอู้อี้ ได้ยินแต่ว่า "แย่แล้วๆ" คิดในใจน่าจะเป็นคนไข้ไอซียูเคสไหนสักเคสหนึ่ง จึงถามสวนไปว่า "อยู่ที่ไหน เดี๋ยวไปหานะคะ" ได้ยินคำตอบ บ่งชี้พิกัด ไม่รอช้ารีบออกไปทันที
เมื่อไปถึงสถานที่เป้าหมาย เห็นผู้หญิงน่าตาคุ้นๆ หันมาตกใจหมดเลย ไม่คิดว่าเป็นสองสามีภรรยาที่เรารู้จักมาตั้งแต่เด็ก ภรรยาหน้าตามองเศร้ามาก ร้องไห้ ตัวสามีหายใจตัวโยน ใช้เครื่องช่วยหายใจ มีเลือดกลบปาก ฉันจับมือเธอที่ร้องไห้อย่างหนัก จูงมือกันออกไปคุยข้างนอกตึก เพราะตอนนี้รอบเตียงมีหมอฟังเสียงปอด พยาบาลคนหนึ่งแทงน้ำเกลือ อีกคนวัดความดัน สีหน้าของแต่ละคนไม่สู้ดีนัก 
                  เมื่อเราออกมานอกตึก เธอเล่าความหลังพร้อมกันเสียงสะอื้นเป็นระยะ ประโยคแรกที่เธอพูดรู้ไหม พูดว่าอะไร "ถ้ารู็ว่าการใส่ท่อ ต้องทำให้คุยกับเขาไม่ได้อีกตลอดชีวิต จะบอกว่าไม่ต้องใส่หรอก" นี่คือประโยคแรกยาวๆ ที่เธอระบายออกมา น้ำตาเจ้ากรรมของฉันดันไหลอาบแก้ม ฟังเธอเล่าต่อว่า เย็นวันนั้นหมอบอกให้เธอกลับไปเอาประวัติการรักษาที่ตรัง ระหว่างรอเอกสารคืนนั้นได้รับโทรศัพท์แจ้งว่าสามีหายใจไม่ไหวต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แม้ฉันจะเคยเล่าให้เธอฟังตั้งแต่หลายเดือนก่อน แต่มั่นใจว่าเธอไม่รู้เรื่องท่อช่วยหายใจ เธอรับทราบการช่วยเหลือสามีในคืนนั้น แต่เมื่อวานกลับมาจากตรังเอาประวัติให้หมอแล้ว เธอถึงกับเข่าทรุด เพราะจำสามีไม่ได้ เพียงชั่วข้ามคืนเขาเปลี่ยนไปมาก เลือดกลบปาก มีท่อจ่อที่ปาก หายใจตัวโยน สามีทำปากขมุบขมิบ อ่านได้ว่า พาเขากลับบ้านเดี๋ยวนี้ เธอทำได้เพียงจับมือเขาไว้ และบอกว่าอย่าดึงสาย บอกตามที่พยาบาลสั่งไว้ อนิจฉาเธอมืดแปดด้าน แม้แต่ฉันที่เคยสนิทกันเธอก็คิดไม่ออกว่าต้องโทรหาในยามนี้ แม่ฉันโทรหาเธอ เธอจึงได้คิดถึงฉัน โทรตามให้ไปช่วยหน่อย 
                    ฟังมาถึงตรงนี้เราจึงปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไรต่อดี ฉันพูดความจริงเอาเป็นว่าตอนนี้เรามีทางเดิน 2 ทาง ทางหนึ่งเอากลับบ้านตามที่เขาขอร้องมาตลอด อีกทางให้เขาจากไปอย่างสงบที่นี่ ถามว่าต้องปรึกษาใครอีกไหม เราช่วยกันโทรถามลูกชาย น้องสาว โทรหาอีก 4 - 5 คน ระหว่างรอการตัดสิน ฉันไปคุยกับหมอได้ความว่า เขาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่กลับเป็นซ้ำครั้งที่ 3 แล้ว ตอนนี้ในปอดเป็นเชื้อราแน่ๆ ปอดแฟบอย่างรุนแรง เลือดเป็นกรด ความดันตกอย่างมาก การตัดสินใจของหมอแล้วแต่ญาติ ฉันจึงประชุมญาติทั้งต่อหน้าและทางโทรศัพท์ ฉันพยายามเน้นความต้องการกลับบ้านของผู้ป่วยเป็นสำคัญ แต่ทราบไหมสุดท้ายองค์คณะประชุมตัดสินว่า "ให้เสียที่โรงพยาบาลเนี่ยแหละ เพราะถ้าเอากลับไปเสียที่บ้าน ชาวบ้านจะพูดว่า เมียมันพามาตายบ้าน ถ้าอยู่โรงพยาบาลไม่ตายหรอก เมียมันคงอยากได้สมบัติ อยากได้ประกัน" 
                  หมู่บ้านของญาติฉันเป็นชาวบ้านแท้ ทำสวนยาง โหคิดกันได้ขนาดนี้ ฉันอึ้งไป แต่ก็เอาล่ะ เมื่อองค์ประชุมตัดสินใจแล้ว ฉํนก็เดินหน้าต่อ หลักการเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่เราต้องคิดต่อนะว่า เอายานอนหลับไหม ยากระตุ้นความดันจะเอาไหม จะปั๊มหัวใจไหม นี่คือสิ่งที่เราต้องคิดกันให้ตก สุดท้ายตัดสินว่า รักษาด้วยยาเต็มที่ด้วยยากระตุ้นความดันเลือดเพียงตัวเดียว ไม่นวดหัวใจ เอายานอนหลับ ทุกอย่างทำเพื่อรอลูกชาย มาจากเกาะสมุย
                 หัวค่ำฉันแวะไปประเมินสถานการณ์อีกครั้ง น้องชายมาจากกรุงเทพ ยืนลูบหน้าให้พี่ชายอย่างแผ่วเบา เขาถามสถานการณ์จากฉันอีกครั้ง ฉันเริ่มต้นเล่าให้ฟัง ดูแล้วรอบเตียงทุกคนเริ่มมีสีหน้าผ่อนคลายลง เมื่อล่วงเลยมาถึงสองทุ่มแล้ว ฉันตัดสินใจชวนลูกสาวไปเตรียมเสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้า ผ้าห่ม เพื่อให้คืนนี้ราบรื่น ไม่ว่าเราทั้งหมดจะเจอสถานการณ์อะไรก็ตาม
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้คือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเมื่อในปากมีท่อ การสื่อสารของเขาสิ้นสุดลง ญาติที่เหลือติดค้างในใจว่า เขาอยากพูดอะไรบ้าง เราอาจต้องอธิบายความจำเป็นของการใส่ท่อช่วยหายใจในวินาทีฉุกเฉินให้ญาติเข้าใจ หรือการประเมิน คาดการณ์ล่วงหน้า เตรียมให้เขาทราบถึงอนาคตอันใกล้ว่าเขาต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องเจออะไรบ้าง แล้วสิ่งเหล่านั้นจะมีผลอย่างไรบ้าง           

                 ขอให้น้าชายไปสู่สุคติ ไม่ต้องห่วงคนข้างหลัง เราจะช่วยกันดูแลต่อไป....

หมายเลขบันทึก: 550769เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ

การดูแลแบบประคับประคอง...ยิ่งเป็นคนไกล้ชิด ยิ่งคิดหนัก

เคยร่วมงานกับน้องพยาบาล ในการดูแล และเยียวยา ญาติ

หน่วย ชีวันตาภิบาล มอ. เป็นที่เรียนรู้ของ รพ.ทางภาคใต้

(http://www.gotoknow.org/dashboard/home#/posts/550186) ไปฟังอาจารย์ หมอสกลมาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท