๑๕๔.ชื่องานเกษียณควรใช้ว่า "การแสดงกตเวทิตาจิต..." จะเหมาะสมกว่าใช้ "งานแสดงมุทิตาจิต ...."


                       

ช่วงรอยต่อสิ้นปีงบประมาณกับขึ้นปีงบประมาณใหม่ต่อไปดังในช่วงเดือนกันยายนต่อตุลาคมอย่างนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าหน่วยงานต่างๆ ก็มักมีการจัดงานให้กับผู้ที่เกษียณ งานที่จัดขึ้นก็มักจะใช้ชื่องานที่ใช้ตามๆกันมาว่า งานแสดงมุทิตาจิต แด่...(ตามด้วยชื่อบุคคลหรือกลุ่มคนที่เกษียณอายุราชการ) รวมทั้งหนังสือเชิดชูเกียรติและสิ่งต่างๆ ที่อาจจะทำเป็นหมายเหตุและบันทึกเหตุการณ์ไว้ก็เช่นกัน ก็มักจะมีการระบุว่าจัดทำขึ้นเนื่องในงานแสดงมุทิตาจิตแด่.....

ผมเคยได้รับมอบหมายให้จัดงานในหน่วยงาน และเมื่อเห็นชื่องานอย่างนี้แล้ว ก็ขอเปลี่ยนชื่องานเกษียณจากใช้ชื่องานว่า 'งานแสดงมุทิตาจิต' เป็น 'งานแสดงกตเวทิตาจิตแด่ผู้เกษียณ... ' โดยเมื่อให้ข้อสังเกตและชี้แจงให้ทราบความหมายแล้วทุกคนก็เห็นด้วย งานอย่างนี้ หากทำแล้ว ก็ควรทำอย่างมีความหมายที่สุดจะดีกว่า เลยขอนำมาแบ่งปันไว้อีก เพื่อที่ผู้สนใจจะได้นำไปทำสิ่งที่มักต้องทำกันในสังคมอยู่แล้วให้มีความหมายสอดคล้องกับที่ต้องการกว่าเดิมยิ่งๆขึ้น 

ที่เชื่อว่าใช้ว่า 'งานแสดงกตเวทิตาจิต แด่..' จะเหมาะสมกว่า ก็ด้วยเหตุผล ๒-๓ ประการ ดังนี้ครับ ..

๑. คำว่า 'มุทิตาจิต' นั้น มีความหมายว่า ภาวะจิตใจอันน้อมไปสู่การมีความชื่นชมยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือมีความสำเร็จ ดังนั้น หากว่าไปตามความหมายแล้ว การแสดงความยินดีเมื่อผู้เกษียณ ครบวาระเกษียณ ต้องจากหน่วยงาน ต้องอำลาเพื่อนร่วมงาน อำลาผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วทุกคนในงานเลยมาแสดงความยินดีนั้น โดยความหมายแล้วก็จะเห็นว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับความต้องการจัดงานเพื่อมอบเป็นเครื่องแสดงคารวะต่อผู้เกษียณเท่าไหร่นัก  

๒. คำว่า 'มุทิตา' นั้น เป็น ๑ ใน ๔ องค์ธรรมของพรหมวิหารธรรม อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งพรหมวิหารธรรมนั้น ผู้ที่อาวุโสกว่าหรือมีชาติวุฒิและคุณวุฒิสูงกว่า น้อมนำมาแสดงต่อผู้ที่อ่อนอาวุโสน้อยกว่า จึงจะเหมาะสม แต่ถ้าหากผู้อ่อนอาวุโสหรือผู้ที่เสมอกัน นำไปแสดงต่อผู้ที่อาวุโสกว่า โดยความหมายและในบริบทสังคมวัฒนธรรมไทยแล้วก็นับว่าเป็นการทำไม่ถูกกาลเทศะ 

โดยทั่วไปนั้น ในวาระงานเกษียณ คนร่วมงานที่ยังไม่ถึงเกณฑ์เกษียณอายุราชการ ก็ย่อมจะอ่อนอาวุโสกว่าผู้เกษียณเป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่า ดังนั้น การใช้คำว่า 'มุทิตาจิต' ซึ่งมีความหมายเชิงยกตนขึ้นไปใช้พรหมวิหารธรรม กับผู้อาวุโสกว่าในงานอย่างนี้ จึงไม่น่าจะเหมาะสม เพราะมีความนัยถึงการตีเสมอหรือยกตนขึ้นเหนือกว่า ทั้งที่ตนเองอยู่ในอาวุโสที่ต่ำกว่า หากจะใช้โดยไม่คำนึงถึงแง่นี้ ก็แสดงว่าเราจัดงานและใช้ชื่องานที่ดูหรูหราโดยไม่รู้ความหมายหรือจัดอย่างไม่ใส่ใจว่าจะมีความหมายอย่างไร ซึ่งก็จะทำให้การได้จัดงานเกษียณกันไม่สมแก่ประโยชน์ดังที่ควรจะได้

แต่ความหมายอันแท้จริงของงานเกษียณนั้น เป็นงานแสดงความขอบคุณ รำลึกถึงความดีงาม น้อมคารวะต่อผู้อาวุโสที่ครบวาระเกษียณในฐานะที่เป็นคนรุ่นมาก่อน ได้สร้างคุณูปการต่อหน่วยงานและต่อสังคม จึงถือว่าเป็นผู้มีคุณต่อหน่วยงาน ต่อหมู่คณะ และต่อสังคมประเทศชาติ นัยสำคัญของงานจึงเป็นการน้อมรำลึกถึงบุญคุณและคุณูปการของผู้เกษียณ มากกว่าเป็นการแสดงความยินดีที่เขาได้เกษียณและจะไม่ได้อยู่ในองค์กรเป็นเพื่อนร่วมงานกับผู้ที่ยังอยู่ต่อไปอีกแล้ว

การที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงความหมายของงานในแง่มุมที่ว่า การได้เกษียณและไม่ได้ทำงานด้วยกันอีกแล้ว เป็นการบังเกิดสิ่งดี จนต้องมาร่วมแสดงความยินด้วยกัน และจึงใช้ชื่องานว่า 'งานแสดงมุทิตาจิต' เหมือนอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปนั้น ก็สามารถเชื่อมโยงไปได้เหมือนกัน แต่ต้องอาศัยความมีวิธีคิดที่ลึกซึ้งหลายชั้นมาก แต่หากเราถอดความการใช้ชื่องานเกษียณว่าเป็นงานแสดงมุทิตาจิตอย่างตรงไปตรงมาตามคำที่ใช้ โดยไม่ได้คิดหลายชั้นแล้วละก็ ก็จะได้ความหมาย งานแสดงมุทิตาจิตในวาระเกษียณว่า เป็นงานที่มาช่วยกันแสดงความดีใจที่มีเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ได้ครบวาระเกษียณและออกไปจากหน่วยงานสักที นั่นเอง  

 

ดังนั้น จึงไม่ควรใช้คำว่า 'งานแสดงมุทิตาจิต' เหมือนอย่างที่เห็นอยู่ทั่วไป (ในช่วงนี้ ในเฟซบุ๊ค Gotoknow และสื่อออนไลน์ต่างๆ ก็เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว) แต่ควรใช้คำว่า 'งานแสดงกตเวทิตาจิต แด่(ผู้เกษียณ)....' จึงจะเหมาะสมกว่าครับ.

หมายเลขบันทึก: 547832เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

เห็นด้วยกับท่านพี่ครับ ;)...

จริงด้วยต้องใช้ว่า'งานแสดงกตเวทิตาจิต แด่(ผู้เกษียณ)....

ขอบคุผรอาจารย์มากๆครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับอาจารย์ รักและคิดถึงอาจารย์เสมอครับผม

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ
อาจารย์สบายดีนะครับ ด้วยความรำลึกถึงนะครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ขจิตครับ
ผมเคยเห็นการทำบุญของญาติโยมและกลุ่มศรัทธา อยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน ที่จัดงานแสดงมุทิตาจิตกับพระที่สอบนักธรรมและสอบเปรียญต่างๆได้ ซึ่งในงานอน่างนั้น ก็นับว่าถูกต้องครับ เป็นการแสดงมุทิตาจิตหรือแสดงความชื่นชมยินดีจริงๆ ไม่รู้ว่าที่มาจะมาจากงานอย่างนั้นหรือเปล่า แต่พอนำมาใช้นอกเหนือจากงานเช่นว่านั้นแล้ว ก็ดูความหมายจะไม่เข้ากันเท่าไหร่นักนะครับ แต่เป็นโอกาสแสดงกตเวทิตานี่ผมว่าถูกต้องมากกว่าจริงๆ 

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop ครับ
เมื่อไม่นานมานี้ พี่นภามาศ ขึ้นไปหาเพื่อนที่เชียงใหม่ ผมเลยได้แวะไปคารวะและนั่งคุยกันประสาพี่ๆน้องๆด้วย เลยได้นั่งรำลึกอดีต รวมทั้งการได้ทำสิ่งต่างๆด้วยกันในห้วงชีวิตที่ทำงานอยู่มหาวิทยาลัยมหิดลหลายอย่างที่พากันเดินออกมาจากหน่วยงานของแต่ละคนหลายหน่วยงาน แล้วมาทำงานมหาวิทยาลัยกันด้วยจิตอาสา อาจารย์มักได้รับการกล่าวถึงในหลายกิจกรรม พี่นภามาศแกชื่นชมอาจารย์มากจริงๆ ผมก็ด้วย (ประเดี๋ยวพี่นภจะได้หน้าคนเดียว ฮ่า)

ขอบพระคุณท่านอาจารย์วิรัตน์และพี่นภามาศมากครับที่กล่าวชม รักและคิดถึงทั้งสองท่านเสมอครับผม

"What we do with 'old dogs' who can no longer work but depend on our mercy -- to keep alive." This is "western" thinking ;-p

ขอบพระคุณสำหรับความรู้ค่ะอาจารย์...บ่อยครั้งที่เห็นชื่อว่า งานแสดงมุฑิตาจิต เมื่ออ่านบันทึกของอาจารย์ทำให้กระจ่างค่ะ

โอย...อยากกอดและกราบงามๆมายังอาจารย์อย่างมากเลยค่ะ โอ๋คิดทุกครั้งที่เห็นชื่องานนี้ว่า ไม่เห็นเหมาะเลยชื่อนี้ และคิดเหมือนที่อาจารย์บรรยายเลยค่ะว่า น่าจะใช้กตเวทิตาจิตมากกว่า มีน้อยท่านที่เหมาะสมกับงานมุทิตาจิต เช่นพี่ๆที่เป็นแม่บ้าน ทำงานหนักเหนื่อย ที่เราน่าจะยินดีกับท่านที่ได้พักผ่อนเสียที แต่ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยแบบที่โอ๋อยู่) เราควรแสดงความกตเวทิตาที่ท่านได้สร้างสิ่งดีๆอันมีค่าไว้ให้เรารับช่วงทำต่อไปมากกว่า  

ขอบพระคุณอาจารย์ที่แสดงความเห็นให้ได้เอาไปนำเสนอรับเสียงสนับสนุนต่อๆไปค่ะ ความจริงเรื่องนี้ หน่วยงานเกี่ยวกับภาษาไทยของเราน่าจะช่วยออกความเห็นและชี้แนะออกมาบ้างนะคะ อย่างโอ๋แม้จะคิดก็ไม่กล้าที่จะไปนำเสนอเพื่อการเปลี่ยนแปลงใดๆค่ะ 

ความคิดของอาจารย์ลึกซึ้งเสมอ

..

ด้วยความเคารพและระลึกถึง ครับ

เห็นด้วยครับ

มามอบดอกไม้และติดตาม

http://www.gotoknow.org/posts/547941

-สวัสดีครับ

-ตามมารับความรู้นะครับ

-ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณ sr ครับ
มุมมองและวิธีคิดอย่างที่ sr กล่าวถึงนี่ ยากเสียด้วยที่จะปฏิเสธว่าไม่จริงทั้งในสังคมไทยและทั่วไป กระแสสังคมที่อุทิศชีวิตจิตใจให้กับการเป็นกลไกการผลิตแลกกับเงิน เพื่อได้เงินและใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงโอกาสต่างๆในชีวิตอีกทีหนึ่ง รวมทั้งการได้พัฒนาตนเอง สุขภาพ และคุณภาพแหก่งชีวิตทั้งปวง เหมือนกับเป็นหมาล่าเนื้อ ดังนั้น พอหมดแรงล่าเนื้อก็เป็นหมาแก่ บางทีไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และคอยรับ'ความเมตตา' ให้สงเคราะห์จากหน่วยงานและคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งรับวิธีคิดและวิถีปฏิบัติอย่างนี้ได้ยากจริงๆ แต่มันก็เป็นไปแล้วจริงๆ เยอะอีกด้วย เรื่องเล็กๆน้อยๆที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังไหลไปกับวิธีคิดอย่างที่ว่านี้ ผมจึงคิดว่ามีนัยสำคัญมากต่อสังคมที่กำลังจะเคลื่อนตัวไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทั้งจะเปลี่ยนมุมมองและมุมปฏิบัติ จากการเห็นผู้สูงอายุเป็นหมาแก่หรือคนหมดประโยชน์ รอรับความเมตตาและความช่วยเหลือ สู่การเป็นคนมีบุญคุณต่อสังคม เป็นร่วมโพธิ์ร่มไทร สำคัญมากเหมือนกันนะครับ  

สวัสดีครับคุณครู noktalay ครับ
มักได้เห็นกันมาตลอดอยู่ทั่วไปเลยนะครับ ไปการว่าตามๆกันไปจริงๆเลย ขอบพระคุณเช่นกันครับ

สวัสดีครับดร.โอ๋-อโณครับ
ขอบพระคุณเช่นกันครับ จะว่าไปแล้ว ก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลง ให้ความหมายที่ดูเหมือนเป็นการเลี้ยงส่งก่อจากหน่วยงานไป ให้กลายเป็นบรรยากาศของการแสดงความขอบคุณ น้อมคารวะ สืบสานสิ่งดีงาม ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลัง ความหมายต่างกันมากจริงๆเลยนะครับ ทำให้คนทำงานนานๆในหน่วยงานต่างๆมีความสง่างามกว่ากันเยอะ และคนที่จัดงานต่างๆให้ก็ดูงดงามกว่าทำๆไปอย่างไม่มีความหมายเยอะเลย

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ
รำลึกถึงคุณแสงแห่งความดีเช่นกันครับ สบายดีเน้อ

สวัสดีครับคุณณัฐวัฒน์ครับ
ขอบพระคุณครับผม

สวัสดีครับคุณเพชรน้ำหนึ่งครับ
เหมือนมะกรูดกับไข่เป็ดนะครับ พาเด็กๆทำยาสระผมกับไข่เค็มหรือครับ
ขอบพระคุณที่แวะมาเสวนากันนะครับ

เรียนท่านอาจารย์ วิรัตน์ กตเวทิตาจิต งานเกษียณ แทบทุกงานเราใช้คำว่ามุทิตาจิต

สมาคมลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข  จัดงานเกษียณให้ลูกจ้าง ทั่วประเทศมาแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งใช้คำว่า งานแสดงมุทิตาจิตร 

แต่ปีหน้าครั้งที่ 5 น่าจะเปลี่ยนชื่องาน เป็น กตเวทิตาจิต

ลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุข บางคน ทำงานมา 30 ปี ไม่เคยออกจากจังหวัดตัวเอง  แต่พอสมาคมฯ มาจัดงานให้ 

ครั้งที่ 1 และ 2 จัดที่จังหวัดอยุธยา นำไหว้พระ  9 วัด เป็ศิริมงคล ในปลายชิวิตที่พักผ่อน

ครั้งที่ 3 จัดที่ จังหวัดอุดร

และครั้งที่ 4 จัดที่ สุพรรณบุรี ในวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ลูกจ้างผู้เกษียณหลายคน มาบอกว่า เขาไม่เคยรู้เลยในชิวิต มีสิทธิ์ ในการมาประชุม เช่นข้าราชการ บางคนถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความปิติ

แม้การจัดงานเกษียณ จะเป็นเพียงพิธิกรรม แต่สิ่งที่ทำให้เขามีคุณค่า ก็เป็นพันธกิจในนามสมาคม

ขอบคุณอาจารย์ที่ แนะนำ

ถ้าในลักษณะของพี่บังหีม  โอ๋ว่าใช้ มุทิตาจิต น่าจะถูกแล้วนะคะ เพราะพวกท่านทำงานกันมาหนักเหนื่อย ได้พักเสียทีเราน่าจะยินดีด้วย 

คิดว่าจะใช้คำไหนก็น่าจะให้เหมาะตรงกับบริบทของเราน่าจะดีที่สุดค่ะ ภาษาไทยของเราสุดยอดที่สามารถสื่อสารความหมายได้ลึกซึ้ง ถ้าเราใช้อย่างเข้าใจสื่อสารสิ่งที่ต้องการได้ถูกต้องตรงตามจริงได้จะดีที่สุดนะคะ

สวัสดีครับบังวอญ่าครับ
งดงามดีทั้งสองแนวคิดครับ หากถือว่าคนได้บริการสังคม ใช้แรงงานเป็นผู้สร้างโลกสร้างสังคม ผ่านการดูแลในด้านต่างๆขององค์กรสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม ก็นับว่าเป็นผู้มีบุญคุณต่อแผนดิน ต่อสังคม เป็นผู้มีส่วนต่อการก่อเกิดสิ่งสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอยู่เบื้องหลัง ก็นับว่าเป็นโอกาสดีครับที่จะเป็นวาระหนึ่งให้หน่วยงานและผู้คนได้น้อมคารวะและแสดงความขอบคุณ ได้เชิดชูและร่วมทำให้เห็นความสง่างามของการทำดีในสิ่งที่เราเป็น กระทั่งได้บรรลุภารกิจชีวิตและการงานต่อสังคม หากเป็นแนวคิดอย่างนี้ ใช้เป็นวาระแสดงกตเวทิตาก็งดงามดีเหมือนกันนะครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท