การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้


ความหมายของการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

  เป็นการเชื่อมโยงวิชาหนึ่งเข้ากับวิชาอื่นๆ ในการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดองค์รวมความรู้ที่หลากหลาย และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน เน้นที่การสร้างความรู้ของผู้เรียนมากกว่าการให้เนื้อหาโดยตัวครู

ลักษณะสำคัญของการบูรณาการ

1.  เป็นการบูรณาการระหว่างความรู้และกระบวนการเรียนรู้

ในปัจจุบันปริมาณความรู้มีมากขึ้นและสลับซับซ้อน การเรียนการสอนแบบเดิมจึงอาจไม่เพียงพอ ผู้เรียนจึงควรเป็นผู้สำรวจความสนใจของตนเองว่าตนเองสนใจอะไรอย่างแท้จริง กระบวนการเรียนการสอนลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างบุคคล

2.  เป็นการบูรณาการระหว่างพัฒนาการทางด้านความรู้และด้านจิตใจ

ให้ความสำคัญต่อเจตคติ ค่านิยม ความสนใจ และสุนทรียภาพ ไม่ใช่เน้นแต่องค์ความรู้หรือพุทธิพิสัยเพียงอย่างเดียว

3.  เป็นการบูรณาการระหว่างความรู้และการปฏิบัติ

4.  เป็นการบูรณาการระหว่างสิ่งที่อยู่ในห้องเรียนกับสิ่งที่เป็นอยู่ในชีวิตจริง

การตระหนักถึงความสำคัญแห่งคุณภาพชีวิตของผู้เรียน ว่าสิ่งที่เรียนที่สอนในห้องเรียนต้องมีความหมายและคุณค่าต่อชีวิตของผู้เรียนอย่างแท้จริง

5.  เป็นบูรณาการระหว่างวิชาต่างๆ

เพื่อให้เกิดความรู้และการกระทำที่เหมาะสมกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียนอย่างแท้จริง

ประเภทของบูรณาการ

การสอนแบบบูรณาการมี 2 แบบ คือ

1.  การบูรณาการภายในกลุ่มวิชาหรือสาขาวิชาเดียวกัน โดยกำหนดหัวเรื่องขึ้น แล้วบูรณาการขอบข่ายวิชาต่างๆในการสอนตามหัวเรื่องนั้น

2.  การบูรณาการระหว่างวิชา เป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่ 2 สาขาวิชาขึ้นไปภายใต้หัวเรื่องเดียวกัน เป็นการใช้ความรู้ความเข้าใจในวิชาต่างๆมากกว่า 1 วิชาขึ้นไป เพื่อการแสวงหาความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การจัดกิจกรมการเรียนการสอนแบบบูรณาการระหว่างวิชาจะดีขึ้นถ้าหากมีความสามารถในการจัดกิจกรรมที่ดี

รูปแบบของบูรณาการ

รูปแบบของการจัดบูรณาการการเรียนการสอนมี 4 แบบ คือ

1.  การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก

ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งจะสอดแทรกเนื้อหาวิชาอื่นๆ เข้าไปในเนื้อหาของตน วางแผนการสอนและดำเนินการสอนโดยใช้ครูคนเดียว

2.  การสอนบูรณาการแบบขนาน

มีครู 2 คนขึ้นไปสอนต่างวิชากัน ต่างคนต่างสอนแต่ความคิดสรุปรวบยอดแล้วคือเรื่องเดียวกัน การสั่งงานหรือการบ้านก็จะแยกกันสั่ง แต่ผลลัพธ์รวมแล้วคือหัวเรื่องและความคิดรวบยอดเดียวกัน

3.  การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ

ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสอนวิชาต่างกัน แต่มุ่งสอนหัวเรื่องเดียวกัน การมอบหมายงานร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงสาขาวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน ดังนั้นครูทุกคนจึงต้องวางแผนร่วมกันและกำหนดว่าจะแบ่งโครงการอย่างไร ให้นักเรียนปฏิบัติในแต่ละรายวิชาอย่างไร

4.  การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชา

ครูที่สอนวิชาต่างๆจะร่วมกันสอนเป็นทีม ร่วมกันวางแผนและกำหนดความคิดรวบยอดร่วมกัน แล้วร่วมกันดำเนินการสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน

บรรณานุกรม

การเรียนการสอนแบบบูรณาการ.เข้าถึงได้จาก:

http:// www.kroobannok.com/33356 [3 กรกฎาคม 2556].

จีระ  งอกศิลป์.(2552). มาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา. คู่มือเตรียมทดสอบความรู้: ส.วิทยาการพิมพ์.


หมายเลขบันทึก: 544741เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 21:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท